X

ฮีลใจ คืออะไร ? ในวันที่เจอเรื่องร้ายๆ จะฮีลใจตัวเองอย่างไรให้กลับมาสดใสอีกครั้ง

เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡

ฮีลใจ คืออะไร ? ในวันที่เจอเรื่องร้ายๆ จะฮีลใจตัวเองอย่างไรให้กลับมาสดใสอีกครั้ง

ในวันที่รู้สึกแย่ หม่นหมอง เศร้าสร้อย หงอยเหงา ใจพัง รู้สึกดาวน์ มีแต่อารมณ์ขุ่นมัวอยู่ในใจ เชื่อว่าหลายๆ คนอยากจะกำจัดความรู้สึกลบๆ เหล่านี้ออกไปจากใจให้เร็วที่สุด และไม่อยากให้พลังงานลบๆ ติดค้างอยู่ในใจของเรานานๆ เพราะอาจทำให้เรารู้สึกแย่ไปตลอดจนพาลไม่อยากจะทำอะไร คล้ายกับการพกพาเอาก้อนเมฆดำๆ ติดตัวไปด้วยตลอดเวลา จึงต้องมีการฮีลใจให้กลับมารู้สึกสดใสได้อีกครั้ง ฮีลใจ คืออะไร ? ฮีลใจคือการฟื้นฟูเยียวยาและรักษาจิตใจตัวเอง เพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น สบายใจมากขึ้น คล้ายกับการยกเมฆดำออกจากตัว และมูฟออนจากความรู้สึกลบๆ เหล่านั้นไปได้ แล้วเราจะฮีลใจตัวเองได้อย่างไร ? บทความนี้มีคำตอบค่ะ

ฮีลใจ คืออะไร ? ทำไมการฮีลใจจึงสำคัญ ?

ฮีลใจ คืออะไร, ฮีลใจ หมายถึง
Image Credit : freepik.com

ในบางวันที่เราเจอเรื่องราวชวนขุ่นข้องหมองใจมา หรือมีเรื่องที่ทำให้เราไม่สบายใจ ทำให้เรารู้สึกหงุดหงิด โมโห โกรธ เสียใจ เศร้าใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียน เรื่องที่ทำงาน เรื่องแฟน เรื่องภายในครอบครัว หรือเรื่องเหตุการณ์บ้านเมืองต่างๆ ที่ส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของเรา เราก็ไม่อยากจะรู้สึกแย่หรือจมดิ่งอยู่กับความรู้สึกลบๆ แบบนั้นนาน เพราะทำให้เรารู้สึกทุกข์ใจ และไม่สามารถทำอะไรต่อได้ จึงต้องมีการฮีลใจตัวเราเองเพื่อให้รู้สึกดีขึ้น การฮีลใจ คืออะไร ? การฮีลใจคือการรักษาอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง เพื่อให้เกิดความรู้สึกเชิงบวกมากขึ้น พูดง่ายๆ ก็คือ การรักษาเยียวยาหัวใจของเรานั่นเองค่ะ เพื่อเป็นการปลดปล่อยความรู้สึกลบๆ ออกไป และทำให้ใจของเราเบาสบายมากยิ่งขึ้น มีอารมณ์ผ่อนคลายมากขึ้น และรู้สึกแย่น้อยลงนั่นเอง

ถ้าไม่มีการฮีลใจ เราก็จะไม่ได้ฟื้นฟูเยียวยาอารมณ์และความรู้สึกของเรา และปล่อยให้ความรู้สึกลบๆ เหล่านั้นยังคงค้างคาอยู่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเครียดสะสม และพัฒนาไปเป็นปัญหาด้านอารมณ์และสุขภาพจิตในภายหลังได้ เช่น มีภาวะซึมเศร้า มีอารมณ์ก้าวร้าวรุนแรง วิตกกังวลเรื้อรัง และการที่ไม่ได้คลายปมบางอย่างในใจออก ก็ก่อเกิดเป็นความรู้สึกค้างคา ติดข้างอยู่ในใจตลอด ไม่อาจทำให้สบายใจได้เต็มที่ แล้วเราจะมีวิธีฮีลใจได้อย่างไร ? ไปดูกันเลยค่ะ

หนังสือ ฮุกกะ ปรัชญาความสุขฉบับเดนมาร์ก

8 วิธีฮีลใจ ฟื้นฟูเยียวยาหัวใจให้กลับมาสดใสได้เหมือนเดิม

เราทราบแล้วว่าการฮีลใจ คืออะไร ซึ่งเราสามารถฮีลใจตัวเองได้หลายวิธีด้วยกัน และแต่ละวิธีนั้น ก็สามารถทำด้วยตัวเองได้ไม่ยากเลย ในวันที่รู้สึกแย่ แทนที่จะปล่อยให้อารมณ์ลบๆ นั้นอยู่กับตัวเรา มาฟื้นฟูใจตัวเองด้วยวิธีเหล่านี้กันดีกว่าค่ะ

1. เล่นกับสัตว์เลี้ยง

ฮีลใจ คืออะไร, ฮีลใจ หมายถึง
Image Credit : freepik.com

ถ้าใครมีสัตว์เลี้ยงอย่างน้องหมาน้องแมว หรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ละก็ ขอบอกว่าเป็นสิ่งที่ช่วยเยียวยาหัวใจของเราได้ดีทีเดียวค่ะ เพราะการฮีลใจ หมายถึงการทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น และการเล่นกับสัตว์เลี้ยงที่สุดแสนจะน่ารักของเรานั้น ย่อมทำให้เรารู้สึกดีขึ้นอย่างแน่นอน เพราะมันคือสิ่งที่เรียกว่า Pet therapy หรือการใช้สัตว์เลี้ยงบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับสภาวะทางจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นอาการเศร้าหมอง เครียด วิตกกังวล ไปจนถึงคนที่มีภาวะซึมเศร้า ซึ่งมีการศึกษาว่าการใช้เวลาอยู่กับสัตว์เลี้ยงนั้น ทำให้เรามีอารมณ์เชิงบวกมากขึ้น แค่เห็นความน่ารักของน้องหมาน้องแมวที่บ้าน ก็ทำให้เรายิ้มออกมาได้แล้วใช่มั้ยคะ ?

2. ออกไปเจอกับคนที่ทำให้เรารู้สึกสบายใจเมื่ออยู่ด้วย

เคยได้ยินไหมคะว่า ภาระปัญหาจะหนักน้อยลงเมื่อมีคนช่วยแบก ซึ่งอันที่จริงแล้ว การบอกเล่าความทุกข์ใจของเราให้คนอื่นฟังก็ไม่ใช่การเอาปัญหาไปให้เขาแต่อย่างใด แต่เป็นวิธีที่ทำให้เรารู้สึกสบายใจมากขึ้น การฮีลใจ คืออะไรที่ทำให้เรารู้สึกเบาสบายมากขึ้น ซึ่งการระบายความทุกข์ใจให้คนที่เราไว้ใจฟัง ก็เป็นวิธีที่ช่วยฮีลใจได้ดี และไม่แน่ว่าเราอาจจะได้รับคำแนะนำหรือคำปลอบใจดีๆ กลับมาด้วยก็ได้ ซึ่งกับบางคนนั้น เราไม่จำเป็นจะต้องเล่าอะไรให้ฟังเลย แค่มีเขาอยู่ข้างๆ ก็ทำให้เรารู้สึกดีมากขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคนรัก คนในครอบครัว หรือเพื่อนสนิทก็ตาม ถ้ารู้สึกไม่สบายใจ ลองใช้เวลาอยู่กับคนที่เรารักดูนะคะ

นายอินทร์ หนังสือ ATOMIC HABITS เพราะชีวิตดีได้กว่าที่เป็น

3. ออกไปหาธรรมชาติ

สังเกตมั้ยคะว่า เวลาเราอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอย่างน้ำตก ภูเขา หรือทะเล เราจะรู้สึกสบายใจมากขึ้น รู้สึกเป็นอิสระและลืมความเครียดความกังวลไปชั่วขณะเลยทีเดียว เพราะธรรมชาตินั้นช่วยฮีลใจของเราได้จริง เรียกว่า ธรรมชาติบำบัด หรือ Nature Therapy (เรียกอีกอย่างว่า Ecotherapy) ที่เป็นการบำบัดอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจะช่วยในเรื่องสุภาพใจของเราโดยเฉพาะ ลองนึกถึงช่วงเวลาที่เราเป็นเด็กแล้วได้เล่นสนุกนอกบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการเล่นน้ำ ปั่นจักรยาน หรือเล่นสนุกกลางแจ้ง ซึ่งทำให้เราเพลิดเพลินและผ่อนคลายได้เป็นอย่างดี บางทีแล้ว การฮีลใจ คืออะไรง่ายๆ อย่างการออกไปเดินเล่นในสวน ไปปั่นจักรยานรับลม หรือแม้แต่การนั่งเล่นปล่อยใจในสวนสาธารณะ ก็ทำให้เราอารมณ์ดีขึ้นแล้วค่ะ

4. ฝึกการหายใจ ด้วยการหายใจเข้าลึกๆ

ฮีลใจ คืออะไร, ฮีลใจ หมายถึง
Image Credit : freepik.com

การหายใจเข้าลึกๆ จะทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนมากขึ้น และทำให้เรารู้สึกสงบมากขึ้น และเป็นวิธีที่ทำให้เราใจเย็นขึ้นด้วย เพราะเมื่อเราอยู่ในภาวะเครียด โมโห มีความวิตกกังวล ร่างกายของเราจะเปิดโหมดเอาตัวรอดที่เรียกว่า “fight-of-flight” หรือ “สู้หรือหนี” อันเป็นปฏิกิริยาตอบสนองโดยอัตโนมัติจากร่างกาย ทำให้ฮอร์โมนความเครียดต่างๆ หลั่งออกมา เช่น อะดรีนาลีน นอร์อะดรีนาลีน ซึ่งการหายใจเข้าออกลึกๆ นั้น เป็นการผ่อนคลายตัวเอง ร่างกายและสมองก็จะผ่อนคลายมากขึ้น และไม่เข้าสู่โหมด “fight-of-flight” ทำให้เรารู้สึกสงบลง ค่อยๆ ผ่อนคลายความเครียด ความวิตกกังวลลงไป เป็นการฮีลใจที่จะทำให้เราอารมณ์ดีขึ้นได้ค่ะ

นายอินทร์ หนังสือ Mini Habits นิสัยจิ๋ว ของคนที่ประสบความสำเร็จ

เกร็ดสุขภาพ : นอกจากการสูดลมหายใจเข้าออกลึกๆ ที่จะทำให้เราใจเย็นและสงบมากขึ้นแล้ว การดื่มชาจำพวกชาคาโมมายล์ ชามะลิ ชาเปปเปอร์มินต์ ชาลาเวนเดอร์ และชาโรสแมรี่ ก็จะช่วยให้เราสงบมากขึ้นและวิตกกังวลน้อยลง ทั้งยังช่วยให้เศร้าน้อยลงด้วย เนื่องจากกลิ่นหอมๆ ของชาต่างๆ จะช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ช่วยให้รู้สึกสดชื่นและอารมณ์ดีขึ้นได้

5. ปลอบโยนตัวเองและใจดีกับตัวเอง

เวลาเราทำผิดพลาดหรือล้มเหลวขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน หรือเรื่องอะไรก็ตาม บางคนก็มักจะโทษตัวเองก่อนเสมอว่าเป็นความผิดของตัวเอง และอาจจะโกรธตัวเองด้วยซ้ำที่ทำผิดพลาดได้ ทำให้เกิดความรู้สึกผิดหวังกับตัวเอง ไม่พอใจกับตัวเอง และมีความรู้สึกแย่ๆ เกิดขึ้น อยากให้ลองมองกลับกันว่า ถ้าเป็นเพื่อนของเรา เราคงไม่ไปตำหนิหรือต่อว่าให้เพื่อนรู้สึกผิดยิ่งกว่าเดิม แต่จะพูดให้กำลังใจ และปลอบใจเพื่อนคนนั้นใช่มั้ยคะ ? เช่นกันค่ะ เราก็ต้องทำแบบนั้นกับตัวเองเช่นกัน ถ้าเรามีความเห็นอกเห็นใจต่อคนอื่นได้ เราก็ต้องมี Self – Compassion หรือมีความเห็นใจตัวเองด้วย และไม่ใจร้ายกับตัวเองจนเกินไป ไม่กล่าวโทษตัวเองหรือตำหนิตัวเอง แต่ให้กำลังใจตัวเองเยอะๆ เพราะการฮีลใจ หมายถึงการรักษาฟื้นฟูจิตใจ ที่เราเองจะต้องเป็นคนทำด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้น ใจดีกับตัวเองเยอะๆ นะคะ

6. ฮีลใจด้วยการจดบันทึก

ฮีลใจ คืออะไร, ฮีลใจ หมายถึง
Image Credit : freepik.com

การฮีลใจ หมายถึง การทำให้เรารู้สึกดีขึ้น และวิธีที่จะทำให้เรารู้สึกดีขึ้นได้ หนึ่งในนั้นก็คือ การระบายความรู้สึกแย่ๆ ออกมาค่ะ และถ้าเราไม่อยากเอาไปเล่าให้ใครฟัง หรือยังไม่อยู่ในอารมณ์ที่พร้อมจะคุยกับใคร การระบายอารมณ์ออกมาด้วยการเขียน ก็จะทำให้เรารู้สึกดีขึ้นและจิตใจสงบลงได้ ไม่ต้องไปเคร่งเครียดว่าเราจะเขียนออกมาอย่างไร แต่ให้เขียนตามความรู้สึกที่มีอยู่ ณ ตอนนั้น ทั้งความคิด อารมณ์ที่เกิดขึ้นต่างๆ และเรื่องราวที่เกิดขึ้นอันเป็นต้นเหตุที่ทำให้เรารู้สึกแย่ขึ้นมา และนอกจากจะทำให้เราได้ระบายพลังงานที่ไม่ดีออกมาจากใจแล้ว การเขียนยังทำให้เราได้ทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้นด้วยว่า เกิดจากอะไร แล้วเพราะอะไรทำไมเราถึงรู้สึกแบบนั้น หรือมีการแสดงพฤติกรรมนั้นๆ ออกไป จะทำให้เราได้เข้าใจตัวเองมากขึ้น และสามารถแก้ไขปัญหาได้จากต้นตอที่แท้จริงด้วย

ยกตัวอย่างเช่น เรารู้สึกเสียใจกับเรื่องงานเพราะเราผิดหวังกับตัวเอง และคิดว่าเราน่าจะทำได้ดีกว่านี้ พอรู้แบบนี้แล้ว เราก็ต้องปลอบใจตัวเองหน่อย บอกกับตัวเองว่าไม่เป็นไร คนเราผิดพลาดกันได้ แต่อย่างน้อยเราก็รู้แล้วว่าเราทำผิดเพราะอะไร คราวหน้าก็ปรับปรุงตัวเอง รอบคอบมากขึ้น อะไรแบบนี้เป็นต้น

นายอินทร์ หนังสือ ใช้คลื่นพลังบวกดึงดูดพลังสุข

7. ออกไปขับรถเล่น

วิธีนี้ เหมาะสำหรับคนที่เจอเรื่องหนักๆ มา แล้วอยากเอาตัวเองออกจากสภาพแวดล้อมเดิมๆ เช่น กำลังอกหัก ถูกเลิกจ้างกระทันหัน ถูกไล่ออก หรือมีเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต ในวันที่ยังไม่รู้ว่าจะเอายังไงกับชีวิตต่อ ก็ปล่อยให้เส้นทางบนถนนนำทางเราไปค่ะ หาวันว่างๆ สักวัน แล้วออกไปขับรถเล่นอาจจะไปจังหวัดใกล้ๆ ก็ได้ ถ้าใครอยู่กรุงเทพฯ ก็อาจจะขับรถไปทะเลใกล้ๆ ออกไปเจอผู้คนใหม่ๆ หรือไปในสถานที่ที่เราไม่เคยไปมาก่อน ไปย่านสถานที่ชุมชนต่างๆ ไปดูวิถีชีวิตของคนต่างที่ต่างถิ่น ซึ่งจะทำให้เราได้รู้ว่า ความจริงแล้วเราก็เป็นเพียงคนตัวเล็กๆ บนโลกนี้ ท่ามกลางผู้คนมากมาย และยังมีเรื่องราวอื่นๆ มากมายที่เกิดขึ้น ที่ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องราวของเราเท่านั้น การจมอยู่กับความคิดของตัวเอง อาจทำให้เรารู้สึกดิ่งลงเรื่อยๆ การได้เห็นชีวิตของคนอื่นๆ ในมุมที่เราไม่เคยรู้มาก่อน อาจทำให้เรามีมุมมองต่อเรื่องของเราเปลี่ยนไป และมองเห็นทางออกได้ พร้อมกับทำใจยอมรับมันได้มากขึ้น เพราะการฮีลใจ คืออะไรที่เป็นการฟื้นฟูหัวใจตัวเอง แม้เราอาจไม่ได้รู้สึกว่าหายดีแล้ว 100% แต่มันก็ทำให้เราสบายใจมากขึ้น แค่นี้ก็ถือว่าได้ฮีลใจตัวเองแล้วค่ะ

8. ลดการใช้โซเชียล

ฮีลใจ คืออะไร, ฮีลใจ หมายถึง
Image Credit : freepik.com

เวลารู้สึกอารมณ์ไม่ดี เศร้า เสียใจ บางคนอาจจะเลือกไถหน้าจอมือถือตัวเองเพื่อเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจอารมณ์ขุ่นมัวที่เกิดขึ้น แต่ถ้าเกิดเราดันไปเจอกับคอนเทนต์ที่ชวนกระตุ้นให้อารมณ์ปะทุขึ้นมาอีก ก็จะทำให้ยิ่งไปกันใหญ่ เช่น กำลังรู้สึกผิดหวังกับงาน แล้วดันไปเจอฟีดของคนรู้จักที่กำลังโพสต์ประสบความสำเร็จในเรื่องงาน ก็อาจจะชวนให้เราคิดน้อยใจ หรือคิดว่าตัวเองไม่เก่งเหมือนคนนั้น เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น และคิดลบมากกว่าเดิม และทำให้อารมณ์เสียไปกันใหญ่ เพราะฉะนั้น ในช่วงที่อารมณ์ไม่ดี อย่างเพิ่งเล่นโซเชียลค่ะ ถ้าอยากเบี่ยงเบนความรู้สึก ให้ลองทำอะไรที่ได้อยู่กับตัวเองจะดีกว่า เช่น ฟังเพลง ดูหนัง เล่นเกม ออกไปเดินเล่น เป็นต้น เพราะการฮีลใจ หมายถึงการเยียวยาตัวเอง การเสพสื่อหรือเสพข้อมูลที่จะทำให้เรารู้สึกแย่ก็เดิม ก็คงไม่ทำให้ฮีลใจได้สำเร็จ และอาจจะทำให้รู้สึกแย่กว่าเดิม

เกร็ดสุขภาพ : นอกจากจะดูแลหัวใจตัวเองแล้ว ก็อย่าลืมดูแลสุขภาพกายของตัวเองด้วย เพราะกายและใจนั้นมีความสัมพันธ์กัน อย่าลืมพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพราะการอดนอนนั้นจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง และทำให้ร่างกายรักษาตัวเองได้ยากขึ้น ทั้งนี้ การนอนหลับไม่เพียงพอยังส่งผลทำให้ระดับฮอร์โมนความเครียดสูงขึ้น เช่น นอร์เอพิเนฟริน และอะดรีนาลีน ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้อาจทำให้เรารู้สึกวิตกกังวล และมีภาวะหมดไฟได้มากขึ้นด้วย ดังนั้น การนอนหลับให้เพียงพอจึงสำคัญสำหรับการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจด้วยเช่นกัน

Nanmeebooks หนังสือ The 7 Habits of Highly Effective People 7 อุปนิสัยสำหรับผู้มีประสิทธิผลสูง

และนอกจาก 8 วิธีข้างต้นแล้ว การฮีลใจ คืออะไรอื่นๆ ที่เราสามารถลงมือทำเพื่อให้เกิดความเพลิดเพลินและผ่อนคลายความเครียดลงได้ทั้งสิ้น เช่น ออกไปทำสวน ออกไปรถน้ำต้นไม้ ไปออกกำลังกาย ออกไปกินอาหารอร่อยๆ เป็นต้น เพราะการฮีลใจ หมายถึงการเยียวยาหัวใจตัวเอง เพราะฉะนั้น เราสามารถใช้หลากหลายวิธีเพื่อฮีลใจตัวเราเอง และทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นได้ ทั้งนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่แนะนำให้ทำคือ การเขียนบันทึกขอบคุณตัวเอง และขอบคุณสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต ก็จะทำให้เราได้มีการตกตะกอนความคิดว่า ก็ยังมีสิ่งดีๆ อื่นๆ ในชีวิตเกิดขึ้นมากมาย เรื่องร้ายๆ ที่เกิดขึ้น ที่เป็นสาเหตุในการทำให้เราต้องฮีลใจ ก็อาจจะกลายเป็นเรื่องแย่ๆ เพียงไม่กี่เรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิต ที่เราไม่จำเป็นจะต้องเก็บมาใส่ใจก็ได้ค่ะ อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ การมี Self Care ที่ดีกับตัวเอง โดยเฉพาะในวันที่รู้สึกแย่หรือใจพัง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดูแลตัวเองดีๆ เพื่อให้ตัวเราเองฟื้นฟูทั้งกาย ใจ และจิตวิญญาณ จะได้กลับมาสดใสในเร็ววันค่ะ

“It’s Just a Bad Day, Not a Bad Life” เป็นธรรมดาที่คนเราจะต้องเจอกับวันแย่ๆ บ้าง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าทั้งชีวิตเราเป็นชีวิตที่โหดร้าย มันก็เป็นแค่เพียงวันแย่ๆ วันหนึ่งเท่านั้น ถ้าวันไหนเจอเรื่องแย่ๆ มา ก็กลับบ้านมาฮีลใจตัวเองให้เต็มที่ กินข้าวให้อิ่ม อาบน้ำให้ร่างกายรู้สึกสบาย และนอนหลับให้เต็มที่ พรุ่งนี้ตื่นเช้ามา ก็เป็นวันใหม่ ให้เราได้มีโอกาสได้เริ่มต้นใหม่ และกลับมาสดใสได้ยิ่งกว่าเดิม

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : wikihow.com, berkeleywellbeing.com, psychologytoday.com

Featured Image Credit : freepik.com/jcomp

ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ

ติดต่อโฆษณา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้การวิเคราะห์

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

Save