“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
TIA คือโรค อะไร ? ชวนรู้จักโรคสมองขาดเลือดชั่วคราวให้มากขึ้นกัน !
บางคนอาจจะเคยได้ยินชื่อของโรค TIA กันมาบ้าง และเกิดความสงสัยว่า คือโรคอะไรกันแน่ ? TIA คือโรค สมองขาดเลือดชั่วคราว บางครั้งก็เรียกว่า “มินิสโตรก” แต่คำว่า “มินิ” นั้น ไม่ได้หมายความว่าเป็นเพียงอาการเล็กน้อยแต่อย่างใด ซึ่งความจริงแล้ว ไม่มีอะไรเป็นเรื่องเล็กน้อยเลยกับโรคสมองขาดเลือด ไม่ว่าจะเป็นเพียงระยะเวลาชั่วคราวก็ตาม และการเกิด TIA ยังเป็นสัญญาณเตือนของ โรคหลอดเลือดสมองที่ร้ายแรงอื่นๆ ที่อาจตามมาได้ TIA ถือเป็นเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ต้องไม่ละเลย เพราะเป็นโอกาสสำคัญที่จะสามารถป้องกันความรุนแรงของโรคหลอดเลือดสมองได้ มารู้จักโรคนี้ให้มากขึ้นกันเลยค่ะ
TIA คือโรค อะไร ? ชวนรู้จักโรคสมองขาดเลือดชั่วคราวให้มากขึ้น
TIA คือโรคหลอดเลือดสมองอย่างหนึ่ง แต่เกิดจากการที่สมองขาดเลือดชั่วคราว จึงเรียกว่าTransient Ischemic Attacks (TIAs) อาการเหมือนกับโรคหลอดเลือดสมองตีบทุกประการ แต่อาการ TIA จะหายไปภายใน 24 ชั่วโมง (ส่วนใหญ่จะหายในไม่กี่นาที) และส่วนมากตรวจไม่พบความผิดปกติของร่างกายใดๆ ทั้งนี้ TIA คือโรคฉุกเฉินทางการแพทย์เช่นเดียวกับโรคหลอดเลือดสมองอื่นๆ ที่ไม่มีทางคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด และอาการจะคงอยู่นานเท่าใด จึงต้องเร่งรีบให้การรักษา เพราะถึงแม้ว่าสมองจะขาดเลือดไปเลี้ยงบางส่วนเพียงชั่วคราว แต่ถ้าหากเลือดไม่มีการไหลเวียนไปเลี้ยงเซลล์สมองได้อย่างทันท่วงที ก็ทำให้เซลล์สมองทำงานผิดปกติและเริ่มตายในที่สุด จึงต้องขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ทันทีหากมีสัญญาณของโรคหลอดเลือดสมอง เช่น เสียการทรงตัว การมองเห็นเปลี่ยนไป ใบหน้าและแขนขาอ่อนแรง หรือแม้กระทั่งการพูดผิดปกติ เป็นต้น
ชวนสังเกต อาการของ TIA หรือโรคสมองขาดเลือดชั่วคราว
อาการหลักของ TIA ย่อได้ว่า FAST ตรงตามความเป็นเหตุเร่งด่วนทางการแพทย์ ดังนี้
- Face ใบหน้า – การทำงานของใบหน้าอาจมีความผิดปกติ 1 ข้าง เช่น ยิ้มเบี้ยว หน้าเบี้ยว ปากตก ตาตก หรืออัมพาตครึ่งซีก เป็นต้น
- Arm แขน/ขา – อาจยกแขนไม่ขึ้นข้างหนึ่งหรือสองข้าง แขนขาอ่อนแรงหรือชาแขนขาครึ่งซีก
- Speech /การพูด – พูดไม่ออกหรือพูดไม่เป็นคำ พูดไม่ชัด อาจรวมถึงความเข้าใจภาษาหายไป อ่านไม่ได้ ไม่เข้าใจภาษาพูด
- Time /เวลา – หลงลืมเวลา ไม่สามารถรู้ได้ว่าเป็นช่วงกลางวันหรือกลางคืน รวมทั้งหลงลืมสถานที่ อาจหมดสติชั่วคราว จำเหตุการณ์ไม่ได้ เป็นต้น
เกร็ดสุขภาพ : TIA คือโรคที่รุนแรงและอันตราย ถ้าเกิดขึ้นต้องรีบโทรแจ้ง 1669 ทันที (หรือหมายเลขบริการฉุกเฉินอื่นๆ ในพื้นที่) อย่ารีรอให้อาการดีขึ้นเอง และถึงแม้ว่าอาการจะดีขึ้นหลังจากพักไม่กี่นาที TIA ก็ยังเป็นสัญญาณของโรคหลอดเลือดสมองอยู่ดี จึงควรไปพบแพทย์ทันทีแม้ว่าอาการผิดปกติต่างๆ จะหายไปแล้วก็ตาม เพื่อที่จะได้ทำการวิเคราะห์วินิจฉัย รวมทั้งรับการประเมินต่างๆ จากแพทย์เพื่อทำการรักษาและป้องกันการเกิดโรคสมองขาดเลือดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต
TIA เกิดจากอะไร ?
TIA คือโรคที่มีสาเหตุเดียวกันกับการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบ ซึ่งมักเกิดขึ้นเนื่องจากลิ่มเลือดไปอุดตันในหลอดเลือดแดงที่ทำหน้าที่ส่งเลือดไปเลี้ยงสมอง เมื่อไม่มีการไหลเวียนของเลือดอย่างสม่ำเสมอ สมองจะขาดออกซิเจนและไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้มีอาการ FAST ดังที่กล่าวมา เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือพูดอ้อแอ้ เปรียบเหมือนกับท่อน้ำมันอุดตันในเครื่องยนต์รถ รถก็ไม่สามารถขับเคลื่อนได้นั้นเอง
เกร็ดสุขภาพ : หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยอย่างรวดเร็วก็จะเพิ่มโอกาสในการรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยแพทย์จะทำการตรวจหาความผิดปกติและตรวจหาสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) ด้วยการตรวจเลือด การตรวจเอกซเรย์ทรวงอก การทำ CT Scan ตรวจอัลตราซาวด์ และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการวางแผนการรักษาต่อไป
ใครมีแนวโน้มที่จะมี TIA มากที่สุด?
TIA คือโรคหลอดเลือดสมองชนิดหนึ่ง ปัจจัยเสี่ยงก็เช่นเดียวกับของโรคหลอดเลือดสมองทุกอย่าง ซึ่งมีการแบ่งปัจจัยเสี่ยงออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
1. ความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น
- อายุ อัตราการเกิด TIA หรือภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราวจะสูงขึ้นมาก เมื่ออายุมากกว่า 55 ปี
- ประวัติครอบครัว แม้ว่าโรค TIA จะเป็นโรคที่ไม่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ แต่จะมีโอกาสสูงมากขึ้นเมื่อมีปู่ย่าตายาย พ่อแม่ หรือพี่น้องคนใดคนหนึ่งเป็นเคยโรคหลอดเลือดสมอง
- เชื้อชาติ ชาวแอฟริกัน – อเมริกัน รวมถึงผู้ที่อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์เอเชียใต้และแคริบเบียน มีโอกาสเกิด TIA สูงกว่ากลุ่มอื่นๆ
- เพศ ผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองและ TIA มากกว่าผู้ชาย
2. ความเสี่ยงที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น
- น้ำหนักเกิน อ้วนลงพุง
- โรคหลอดเลือดแดงคาโรติด (หลอดเลือดแดงหลักจากหัวใจไปยังสมอง) ตีบหรืออุดตัน
- โรคเบาหวาน
- โรคหัวใจรวมถึง ความบกพร่องของหัวใจและปัญหาเกี่ยวกับจังหวัการเต้นของหัวใจ เช่นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ความดันโลหิตสูง
- คอเลสเตอรอลสูง
- โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน
จะป้องกันการเกิดโรค TIA ได้อย่างไร ?
จะเห็นว่า TIA คือโรคที่มีสาเหตุมาจากทั้งตัวบุคคลเอง เช่น เพศ เชื้อชาติ อายุ และเกิดการดำเนินชีวิตด้วยเช่นกัน ดังนั้น TIA สามารถป้องกันได้ด้วยการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดี สิ่งที่ดีที่สุดที่สามารถทำได้คือ การตรวจสุขภาพเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพตัวเอง ตามนี้
- อย่าสูบบุหรี่ การหยุดสูบบุหรี่ช่วยลดความเสี่ยงของTIA และโรคหลอดเลือดสมองได้
- ควบคุมระดับคอเลสเตอรอลและไขมันในร่างกาย หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีคอเลสเตอรอลและไขมัน โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ จะช่วยลดการสะสมของคราบจุลินทรีย์ในหลอดเลือดแดง และช่วยให้เลือดไหลเวียนสะดวกได้มากขึ้น
- รับประทานผักและผลไม้ให้มาก อาหารเหล่านี้ประกอบด้วยวิตามินแร่ธาตุต่างๆ เช่น โพแทสเซียม โฟเลต และสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งอาจช่วยป้องกันการเกิดโรค TIA หรือโรคหลอดเลือดสมองได้
- จำกัดปริมาณโซเดียมหากมีความดันโลหิตสูง การหลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มและการไม่เติมเกลือลงในอาหารช่วยให้ความดันโลหิตไม่สูงขึ้นได้ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดสมองได้
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายเป็นประจำเป็นหนึ่งในไม่กี่วิธีที่สามารถลดความดันโลหิต และป้องกันโรคได้โดยไม่ต้องใช้ยา
- จำกัดปริมาณแอลกอฮอล์ ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอเหมาะ ขีดจำกัดที่แนะนำคือไม่เกินหนึ่งแก้วต่อวันสำหรับผู้หญิง และไม่เกิน 2 แก้วต่อวันสำหรับผู้ชาย
- รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม การมีน้ำหนักเกินทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด และเบาหวาน การลดน้ำหนักด้วยการควบคุมอาหารและออกกำลังกายอาจลดความดันโลหิตและลดระดับคอเลสเตอรอลได้
- อย่าใช้สารเสพติด ยาเสพติด เช่น โคเคน มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของ TIA และโรคหลอดเลือดสมองอื่นๆ
- ควบคุมเบาหวาน การเป็นโรคเบาหวานจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรค TIA ได้ ซึ่งทำได้โดยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก และใช้ยาเมื่อจำเป็น
โรค TIA คือโรคสมองขาดเลือดชั่วคราวซึ่งมีความรุนแรงและอันตรายไม่แพ้กับโรคหลอดเลือดสมองอื่นๆ เมื่อมีอาการแล้ว ควรนำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด และถึงแม้ว่าจะหายได้เองก็จำเป็นที่จะต้องไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยโดยละเอียดและหาทางป้องกันความรุนแรงอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ทั้งนี้ สามารถป้องกันได้โดยการดูแลสุขภาพตนเองเป็นอย่างดี หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการใช้สารเสพติด จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายเป้นประจำและรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ค่ะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : nhs.uk, webmd.com, mayoclinic.org
Featured Image Credit : vecteezy.com/stockdevil
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ