X

โรคกลัวการสูญเสีย และกลัวความตายเป็นยังไง ? กลัวมากแค่ไหน ถึงเข้าขั้นโรคนี้ ?!

เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡

โรคกลัวการสูญเสีย และกลัวความตายเป็นยังไง ? กลัวมากแค่ไหน ถึงเข้าขั้นโรคนี้ ?!

หากพูดถึงความตายและการสูญเสีย ไม่ว่าใครต่อใครก็ต้องรู้สึกเป็นกังวลและรู้สึกไม่สบายใจกับสถานการณ์นั้นๆ แค่เพียงนึกถึงความตายก็อาจทำให้รู้สึกหนักอึ้งที่อก รู้สึกมวนท้อง หายใจไม่สะดวก และคิดมากเกี่ยวกับความตายเสียแล้ว แม้ว่าความตายจะเป็นเรื่องธรรมชาติและเป็นสิ่งที่สิ่งมีชีวิตทุกชนิดจะต้องประสบพบเจอ รวมถึงมนุษย์เราเองด้วยเช่นกัน และในบางคนก็อาจจะมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับความตายและการสูญเสียจนถึงขั้นมีปัญหาสุขภาพใจ หรือมีอาการของ โรคกลัวการสูญเสีย เกิดขึ้น แม้ว่าคนเราจะกลัวความตายกันได้ทุกคน แล้วความกลัวในระดับไหนถึงเรียกได้ว่าเข้าข่ายเป็นโรคนี้ ? ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการเป็นอย่างไร มีความร้ายแรงแค่ไหน ? สามารถรักษาได้หรือไม่ ไปอ่านกันได้เลยค่ะ

โรคกลัวการสูญเสีย คืออะไร ? ชวนมารู้จักโรคนี้ให้มากขึ้นกัน

โรคกลัวการสูญเสีย, Thanatophobia
Image Credit : freepik.com

อาการกลัวความสูญเสีย หรือ Thanatophobia เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า โรคกลัวความตาย ซึ่งเป็นความกลัวต่อความตายและมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับความตายและการสูญเสียอย่างรุนแรง โดยผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีความคิดกังวลเกี่ยวกับความตายของตัวเองหรือการตายของคนที่รัก แม้จะรู้ว่าความตายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และทุกคนต้องตาย แต่เมื่อนึกถึงความตาย ผู้ที่มีอาการของโรคนี้ก็มักจะเกิดความกลัวอย่างรุนแรงจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน นอกจากการกลัวความตายแล้ว ก็ยังกลัวการสูญเสีย กลัวการถูกพลัดพราก รวมถึงมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการทิ้งคนรักไว้ตามลำพังหากตัวเองไม่อยู่หรือเสียชีวิตไป และไม่สามารถควบคุมความกลัว ความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นได้

เกร็ดสุขภาพ : Thanatophobia มาจากคำว่า Thanatos ที่แปลว่า ความตาย กับคำว่า Photos ที่แปลว่า ความกลัว ตามความหมายในภาษากรีก จึงหมายถึง การกลัวความตายนั่นเอง ซึ่งโรคกลัวความตายหรือกลัวการสูญเสีย ถูกพูดถึงเป็นครั้งแรกโดย Sigmund Freud บิดาแห่งทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ที่เชื่อว่าการกลัวความตายนั้น เกิดจากบาดแผลทางใจในวัยเด็ก ทั้งนี้ ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับโรคกลัวความตายเพิ่มเติมโดยนักจิตวิทยาและนักมานุษยวิทยา เกิดเป็นทฤษฎีต่างๆ อีกมากมาย

อาการของโรคกลัวการสูญเสียคืออะไร กลัวมากขนาดไหนจนถึงขั้นเรียกได้ว่าเป็นโรคนี้ ?!

โรคกลัวการสูญเสีย, Thanatophobia
Image Credit : freepik.com

เป็นเรื่องปกติที่คนเราจะต้องกลัวความตาย ไม่ว่าจะเป็นเพราะยังมีห่วง กลัวความเจ็บปวด กลัวการถูกลืม กลัวในสิ่งที่ไม่รู้ เพราะไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า ชีวิตหลังความตายเป็นอย่างไร รวมถึง อาจกลัวพลัดพรากจากคนในครอบครัวหรือคนรัก หรือกลัวการที่ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ต่อไปเพราะยังมีสิ่งที่อยากทำอยู่อีกมากมาย แต่คนที่มีอาการของโรคกลัวการสูญเสียหรือโรคกลัวความตายนั้น จะมีอาการดังต่อไปนี้

  • เมื่อนึกถึงความตายแล้วจะรู้สึกกลัวและมีความวิตกกังวลในทันที 
  • หลีกเลี่ยงสถานการณ์ใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับความตาย เช่น การไปงานศพ การดูภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการตาย 
  • เมื่อนึกถึงความตาย อาจมีอาการทางกายภาพคือ รู้สึกหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ ร้อนวูบวาบ เหงื่อออก หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ หรืออาจรู้สึกปวดท้อง รู้สึกไม่สบาย หากคิดถึงความตายขึ้นมา
  • คิดถึงความตายจนทำให้นอนไม่หลับหรือมีปัญหาเรื่องการนอนหลับ 
  • มีภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวลร่วมด้วย

หากมีอาการเหล่านี้เกือบทุกครั้งเมื่อคิดเกี่ยวกับการตายและการสูญเสีย และมีอาการคงอยู่มานานกว่า 6 เดือน รวมถึงส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ไม่กล้าออกจากบ้าน ไม่กล้าสัมผัสสิ่งรอบตัวที่คิดว่าจะเป็นอันตราย เพรากลัวว่าจะติดเชื้อจากสิ่งของสาธารณะจนทำให้เสียชีวิต หรือกลัวจะมีคนมาทำร้าย ก็อาจมีแนวโน้มที่จะเป็นโรค Thanatophobia หรือโรคกลัวความสูญเสียได้ ซึ่งโรคนี้อาจนำไปสู่ความรู้สึกโดดเดี่ยว และมีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการติดต่อกับเพื่อนและครอบครัวเป็นระยะเวลานานอีกด้วย

ใครบ้างที่เสี่ยงจะเป็นโรคกลัวการสูญเสียมากว่าคนอื่นๆ

ดังที่กล่าวไปว่า การกลัวความสูญเสียหรือการกลัวความตายนั้น เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ก็มีบางคนที่เสี่ยงจะเป็นโรค Thanatophobia ได้มากกว่าปกติ ดังนี้

  • ผู้ที่มีสุขภาพไม่ดีหรือได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคร้ายแรง 
  • ผู้ที่รู้สึกไม่พอใจในชีวิตของตัวเอง
  • ผู้ที่มีความนับถือในตัวเองต่ำ 
  • มีโรคกลัวอื่นๆ หรือมีความผิดปกติทางสุขภาพจิตอื่นๆ เช่น เป็นโรคซึมเศร้า เป็นโรควิตกกังวล
  • มีพ่อแม่หรือบุคคลอันที่รักแก่ชรา มีความเจ็บป่วย หรือกำลังจะเสียชีวิต 
  • ขาดที่พึ่งทางใจหรือไม่มีคนสนิทในชีวิต อยู่ตัวคนเดียว
  • พบเห็นความเจ็บป่วย การบาดเจ็บ หรือพบเห็นการเสียชีวิตในงานที่ทำอยู่ เช่น ผู้ที่ทำงานในโรงพยาบาล ผู้ที่เป็นนักสังคมสงเคราะห์

สาเหตุของการเกิดโรคกลัวการสูญเสียคืออะไร ?

โรคกลัวการสูญเสีย, Thanatophobia
Image Credit : freepik.com

สาเหตุของการเกิดโรคกลัวการสูญเสียนั้น มีอยู่หลายสาเหตุด้วยกัน ซึ่งในทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของโรคได้อย่างเฉพาะเจาะจง แต่มีการสันนิษฐานว่า อาจเกิดจากประสบการณ์ในวัยเด็กที่มีเหตุการกระทบกระเทือนจิตใจ พบเจอกับความสูญเสีย พ่อแม่หรือผู้ปกครองเสียชีวิตก่อนวัยอันควร หรืออาจเกิดจากการตายของคนที่รักในวัยผู้ใหญ่ รวมถึงการประสบกับเหตุการณ์เฉียดตายหรือเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นทั้งกับตัวเองหรือกับคนใกล้ชิดก็ตาม ทำให้มีอาการ PTSD คือ มีความเจ็บป่วยทางใจหลังพบเจอเหตุการณ์รุนแรง และพัฒนามาเป็นโรคกลัวความตายและกลัวการสูญเสียได้

โรคกลัวความตายหรือกลัวการสูญเสีย สามารถรักษาได้หรือไม่ ?

ถ้าอาการกลัวความสูญเสียส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ และส่งผลกระทบต่อการเรียน การทำงาน รวมถึงมีผลต่อการเข้าสังคม ก็สามารถปรึกษาจิตแพทย์เพื่อทำการบำบัดและรักษาได้ ซึ่งวิธีการรักษามีดังนี้

  • Cognitive behavioral therapy คือ การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (CBT) ทำให้ผู้ที่ได้รับการบำบัดมีมุมมองเกี่ยวกับความตายที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น มองความตายเป็นเรื่องของธรรมชาติมากขึ้น และเห็นว่าความตายอาจไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพื่อให้สามารถรับมือกับการคิดถึงความตายได้ดีขึ้น
  • Exposure Therapy เป็นการบำบัดทางจิตวิทยาอย่างหนึ่ง โดยจะให้ผู้ที่เป็นโรคนี้สัมผัสกับสถานที่ ความคิด หรือสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความตาย โดยอาจจะเริ่มจากการเขียนอธิบายว่า มีการนึกภาพความตายของตัวเองหรือคนที่รักอย่างไร รวมไปถึงการมีประสบการณ์ที่เชื่อมโยงกับการตายและการสูญเสียอื่นๆ เช่น การไปโรงพยาบาล การเขียนพินัยกรรม การอ่านข่าวที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิต หรือพูดคุยกับผู้ป่วยระยะสุดท้าย เป็นต้น 
  • รักษาด้วยการใช้ยา : หากมีอาการวิตกกังวลอย่างรุนแรงเมื่อนึกถึงความตาย แพทย์อาจมีการจ่ายยาที่ช่วยรักษาอาการวิตกกังวลได้ เช่น ยาเบนโซไดอะซาพีน หรือสารจำพวก SSRIs เป็นต้น ทั้งนี้ ควรใช้ยาที่ได้ใบสั่งจ่ายยาจากแพทย์เท่านั้น ไม่ควรซื้อยามารับประทานเองเพราะอาจมีอันตรายต่อสุขภาพได้

วิธีรับมือกับความโศกเศร้าเมื่อเกิดการสูญเสีย ดูแลใจตัวเองยังไง เมื่อมีการสูญเสียเกิดขึ้น

โรคกลัวการสูญเสีย, Thanatophobia
Image Credit : freepik.com

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความตายและการสูญเสียเป็นส่วนหนึ่งของการมีชีวิต ฟรานซิส เบคอนกล่าวว่า “การตายเป็นเรื่องของธรรมชาติ เช่นเดียวกับการเกิด” และ Haruki Murakami กล่าวว่า “ความตายไม่ใช่สิ่งที่ตรงกันข้ามกับชีวิต แต่คือส่วนหนึ่งของชีวิต” การมองความตายให้เป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นสัจธรรมของโลก จะทำให้เรามีมุมมองเกี่ยวกับความตายตามความเป็นจริงมากขึ้น ทั้งนี้ หากมีการสูญเสียเกิดขึ้น เราจะรับมือกับสถานการณ์นั้นๆ ได้อย่างไร มีข้อแนะนำดังต่อไปนี้ค่ะ

  1. ตั้งสติและทำใจยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น แม้ความจริงนั้นจะทำให้เรารู้สึกแย่แค่ไหนก็ตาม แต่การยอมรับความรู้สึกที่เกิดขึ้น ทั้งความรู้สึกโกรธ โศกเศร้าเสียใจ ความรู้สึกคิดถึง และความรู้สึกอื่นๆ จะช่วยให้ชีวิตไปต่อได้ การหลีกหนีความจริงหรือหลอกตัวเองจะทำให้สถานการณ์แย่ลง และความเศร้าโศกที่เกิดขึ้นก็จะไม่ได้รับการเยียวยา ซึ่งอาจก่อให้เกิดแผลในใจและมีปัญหาทางสุขภาพใจได้
  2. อนุญาตให้ตัวเองเสียใจและร้องไห้ได้ตามที่ต้องการ ความรู้สึกเศร้าโศกเสียใจจากการสูญเสียนั้น เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น และไม่ควรไปบังคับหรือผลักไสความรู้สึกเหล่านั้น และแสร้งทำเป็นเข้มแข็ง หรือกดดันตัวเองว่าต้องเข้มแข็ง ไม่ร้องไห้ ซึ่งการทำแบบนั้นจะทำให้เรารู้สึกแย่ยิ่งกว่าเดิม การแสดงความรู้สึกออกมา เป็นหนึ่งในวิธีการเยียวยาตัวเองและช่วยให้รู้สึกดีขึ้นได้ 
  3. ระบายความรู้สึกกับคนที่เข้าใจ การแสดงความอ่อนแอหรือปลดปล่อยความรู้สึกเศร้าโศกเสียใจที่เกิดขึ้นกับคนที่เรารักและไว้ใจ จะช่วยให้เราได้ปลดปล่อยความเจ็บปวดที่อยู่ในใจออกมาได้ นอกจากนี้ ยังทำให้รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้อยู่คนเดียวอีกด้วย และรับรู้ได้ว่ายังมีคนที่จะคอยช่วยเหลือ คอยให้กำลังใจ และคอยอยู่ข้างๆ เราในวันที่เราอ่อนแอ ซึ่งจะช่วยให้เรารู้สึกสบายใจและรู้สึกอุ่นใจมากขึ้น
  4. ปรับมุมมองเกี่ยวกับการสูญเสียที่เกิดขึ้น ในกรณีที่คนที่เรารักจากไปเพราะความเจ็บป่วยหรือเผชิญกับโรคร้ายแรง การมีมุมมองว่า การสูญเสียที่เกิดขึ้นจะทำให้คนที่เรารักไม่ต้องเจ็บป่วยและทรมานอยู่กับโรคภัยไข้เจ็บอีกต่อไป ก็อาจจะทำให้สามารถทำใจยอมรับความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้มากขึ้นกว่าเดิม
  5. ให้กำลังใจกันและกัน การให้กำลังใจผู้ที่กำลังเผชิญกับความสูญเสียเหมือนกันจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้นได้ รวมถึงการแบ่งปันเรื่องราวของกันและกันก็จะช่วยให้รู้สึกสบายใจมากขึ้นด้วย เป็นการแสดงความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน 
  6. จดจำและระลึกถึงบุคคลที่จากไปด้วยวิธีการต่างๆ เช่น วางรูปภาพของคนที่เรารักในช่วงเวลาที่มีความสุขเอาไว้ในบริเวณที่สามารถมองเห็นได้ เพื่อเป็นการระลึกถึงช่วงเวลาดีๆ ที่มีร่วมกัน หรืออาจทำการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นการแแสดงความคิดถึง เช่น การวาดรูป การแต่งเพลง การทำสมุดภาพ การเขียนบันทึกถึงบุคคลนั้น หรือปลูกสวนดอกไม้เพื่อระลึกถึงบุคคลที่จากไป ก็เป็นวิธีที่เราสามารถจดจำบุคคลอันเป็นที่รักด้วยความรู้สึกดีๆ ได้

ความรู้สึกกลัวตายหรือกลัวความตายและกลัวความสูญเสียนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ถ้าหากมีความกลัวมากเกินไปจนทำให้รู้สึกวิตกกังวล มีความผิดปกติเกิดขึ้นเมื่อนึกถึงความตาย เช่น หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออก รู้สึกเหมือนจะเป็นลม หรือหมกมุ่นครุ่นคิดอยู่กับความตายและการสูญเสียจนทำให้นอนไม่หลับ มีภาวะซึมเศร้า ปลีกตัวออกจากสังคม และความรู้สึกกลัวที่เกิดขึ้นนั้นส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ก็อาจเป็นสัญญาณของโรคกลัวการสูญเสียหรือ Thanatophobia ได้ ซึ่งการไปปรึกษาจิตแพทย์หรือพูดคุยกับนักจิตบำบัด ก็จะทำให้เราสามารถรับมือกับความกลัวที่เกิดขึ้นได้ และแม้ว่าความสูญเสียและการตายจะเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ก็เชื่อว่าเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจของทุกคนอย่างแน่นอน ทั้งนี้ การมีวิธีรับมือกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมนั้น จะช่วยให้เราสามารถก้าวผ่านความโศกเศร้าเสียใจที่เกิดขึ้น และใช้ชีวิตต่อไปได้ในที่สุด แม้ว่าจะต้องใช้เวลาเยียวยาจิตใจนานแค่ไหนก็ตาม แต่ท้ายที่สุดแล้ว มันจะดีขึ้นกว่าดิมในทุกๆ วันอย่างแน่นอนค่ะ

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : manarom.com, medicalnewstoday.com, my.clevelandclinic.org, verywellmind.com, medicalnewstoday.com

Featured Image Credit : vecteezy.com/oporty786

ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ

ติดต่อโฆษณา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้การวิเคราะห์

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

Save