X

Mysophobia คือ อะไร ? เกิดจากอะไร มีผลอย่างไรต่อชีวิตของเรา !

เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡

Mysophobia คือ อะไร ? เกิดจากอะไร มีผลอย่างไรต่อชีวิตของเรา !

สมัยที่หมอต้องสอบเข้าเรียนแพทย์ ก็จะต้องทดสอบทางจิตวิทยา จำได้แม่นว่ามีคำถามข้อหนึ่ง ถามว่า “คุณกังวลที่จะจับลูกบิดประตูใช่ไหม” ในใจก็คิดว่า เค้ารู้ได้อย่างไรว่ากังวล แต่ถ้าจะตอบว่าใช่ ก็จะเป็นคนที่หวาดระแวงเกินกว่าเหตุ มีใครที่เป็นแบบเดียวกันบ้างไหมคะ ? และก็ในตอนนี้ มีเพิ่มสองอย่างคือ ไม่กล้าใช้มือเปล่ากดชักโครกและจับประตูห้องน้ำสาธารณะ ต้องใช้ทิชชูรองมือ และต้องอาบน้ำทันทีที่ออกจากบ้านไปสถานที่อื่นๆ มาทุกครั้ง (อันหลังนี้ได้มาหลังการระบาดโควิดค่ะ ยังไม่หายไป ยังระแวงอยู่ ) สงสัยแล้วล่ะค่ะว่าอาการแบบนี้ เราเป็นโรค Mysophobia หรือเปล่า แล้ว Mysophobia คือ อะไร ? ชวนมารู้จักความกลัวแบบนี้ให้มากขึ้นกันค่ะ

Mysophobia คือ อะไร ? กลัวเชื้อโรค กลัวความสกปรกจนเรียกว่าเป็นโรคได้หรือเปล่า ?!

mysophobia คือ, โรคกลัวเชื้อโรค, โรคกลัวความสกปรก
Image Credit : freepik.com

Mysophobia คือโรคกลัวชนิดหนึ่ง เหมือนโรคกลัวการอยู่คนเดียว แต่มีศูนย์กลางความกลัวอยู่ที่เชื้อโรค สิ่งสกปรก แบคทีเรีย หรือการปนเปื้อนต่างๆ โดยปกติในเรื่องของสุขอนามัย คนเราก็ควรจะกังวลเกี่ยวกับความสะอาดของอาหาร การสัมผัสของเหลว สารคัดหลั่งจากร่างกายคนอื่น  การสัมผัสปฎิกูลต่างๆ เพื่อที่จะได้ระวังไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรค หรือติดเชื้อโดยไม่จำเป็น แต่ถ้าหากมีความกังวลมากเกินปกติ โดยมีความกลัวระดับรุนแรงและไม่มีเหตุผล ลุกลามจนรบกวนชีวิตประจำวัน เช่น การยึดติดกับความสะอาดจนสร้างความรำคาญใจให้กับผู้อื่น ล้างมือบ่อยๆ แม้จะไม่ได้สัมผัสอะไร หรือใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อมากเกินไปจนมือลอกตามมา อาจร้ายแรงลุกลามไปถึงการเป็นโรคผิวหนัง บางคนกลัวเผื่อแผ่เลยมาถึงคนรอบข้าง คนมีลูกเล็กกลัวว่าลูกจะสัมผัสเชื้อโรค กลัวลูกปนเปื้อนสิ่งสกปรกจนอาจไม่อนุญาตให้ผู้มาเยี่ยมมีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก จนทำให้เกิดความกระทบกระทั่งหรือขุ่นข้องหมองใจกันได้

ทั้งนี้ คนที่เป็นโรคกลัวเชื้อโรคหรือกลัวความสกปรก จะไม่สามารถนึกถึงสิ่งอื่นใดได้นอกจากเชื้อโรค และมักกังวลเสมอว่าเชื้อโรคจะนำไปสู่การเจ็บป่วย บางทีก็รู้ตัวว่าความกลัวนั้นมากเกินไปหรือไม่สมควร แต่ไม่สามารถหยุดหรือควบคุมพฤติกรรมตัวเองได้  ซึ่งโรคกลัวความสกปรก กลัวเชื้อโรคอย่างรุนแรงมักพบว่าเป็นส่วนหนึ่งของโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) แต่ในคนที่เป็น Mysophobia อาจจะไม่มี OCD ร่วมก็ได้ อาการกลัวนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จะพบได้จากทุกสาขาอาชีพ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นโรคนี้ค่ะ

อาการของ Mysophobia เป็นแบบไหน ?

mysophobia คือ, โรคกลัวเชื้อโรค, โรคกลัวความสกปรก
Image Credit : freepik.com

ผู้ที่เป็นโรค Mysophobia  คือจะมีอาการทางพฤติกรรมและอารมณ์ได้หลายอย่าง เช่น การหลีกเลี่ยงสิ่งสกปรก มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับเชื้อโรค และมีสัญญาณทางสรีรวิทยาของความกลัวและความตื่นตระหนก อาการทั่วไปที่เห็นได้คือ มีพฤติกรรมที่หลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อโรคหรือการปนเปื้อน รวมทั้งการแสดงออกของความวิตกกังวล เช่น

  • หลีกเลี่ยงสถานที่ที่คิดว่ามีเชื้อโรคหรือสิ่งสกปรก
  • กลัวอย่างยิ่งที่จะปนเปื้อน ปฎิเสธ การหยิบ การจับ การสัมผัสสิ่งอื่นๆนอกร่างกายตนเอง
  • การล้างมือมากเกินไป
  • หมกมุ่นอยู่กับความสะอาด
  • การใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดหรือยาฆ่าเชื้อมากเกินไป

นอกจากนี้ อาจเกิดสัญญาณทางสรีระวิทยาเมื่อสัมผัสกับสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรค อาการเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อมองเห็นสิ่งที่สกปรก หรืออยู่ในสถานะการณ์ที่เข้าใจว่าตนเองสัมผัสเชื้อโรค เช่น เมื่อจับมือกับผู้อื่นหรือใช้ลูกบิดประตู มือเปื้อนดิน หรือสัมผัสขยะ อาจมีอาการ ร้องไห้ ใจสั่น ตัวสั่น เหงื่อออก เป็นต้น ซึ่งเป็นอาการของโรคกลัวเชื้อโรคที่เห็นได้อย่างชัดเจน

เกร็ดสุขภาพ : คนที่เป็น Mysophobia คือจะพยายามหลีกเลี่ยงการรวมตัวที่อาจมีการแพร่เชื้อโรค เช่น งานปาร์ตี้ งานสังสรรค์ต่างๆ แม้แต่การประชุม ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็จะหลีกเลี่ยงการสัมผัสร่างกาย การสัมผัสสิ่งอื่นๆ รอบตัว พร้อมกับการย้ำคิดย้ำทำกับการล้างมือ ถ้าไม่รู้ตัว สะสมอาการไว้เรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป พฤติกรรมเหล่านี้อาจนำไปสู่การกลัวการพบปะกับผู้อื่น และแยกตัวเองออกจากสังคม การสังเกตตนเองและคนรอบข้างพร้อมไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ จะช่วยให้ได้รับคำวินิจฉัยและรักษาแต่เนิ่นๆ ก่อนจะส่งผลกระทบต่อการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันในสังคม

การวินิจฉัยโรค Mysophobia ทำได้อย่างไร ?

mysophobia คือ, โรคกลัวเชื้อโรค, โรคกลัวความสกปรก
Image Credit : freepik.com

ผู้เชี่ยวชาญจัดประเภท Mysophobia ว่าเป็นความหวาดกลัวแบบเฉพาะเจาะจง  เกณฑ์เฉพาะที่ใช้วินิจฉัย Mysophobia คือ

  • มีความกลัวต่อวัตถุหรือสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเชื้อโรคอย่างต่อเนื่องและรุนแรง 
  • ประสบกับความวิตกกังวลหรือตื่นตระหนกอย่างไม่สมเหตุผลเมื่อเผชิญกับวัตถุหรือสถานการณ์ดังกล่าว
  • มีอาการคงอยู่ต่อเนื่องเป็นเวลามากกว่า 6 เดือน
  • นอกจากนี้อาการเหล่านี้ต้องส่งผลต่อความสามารถในการทำงานได้ตามปกติในด้านต่างๆ ของชีวิต 
  • และพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้เกิดจากความผิดปกติทางจิตอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ไม่มีการทดสอบเฉพาะเพื่อวินิจฉัยโรคกลัวเชื้อโรคหรือกลัวความสกปรก ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตจะถามเกี่ยวกับอาการและผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน และซักประวัติเกี่ยวกับการป่วยทางจิตของครอบครัว รวมทั้งตรวจสอบความผิดปกติทางจิตอื่นๆ เพื่อวินิจฉัยว่าเข้าข่ายอาการของโรคกลัวความสกปรกหรือไม่

สาเหตุของ Mysophobia คืออะไร

mysophobia คือ, โรคกลัวเชื้อโรค, โรคกลัวความสกปรก
Image Credit : freepik.com

สาเหตุที่แน่ชัดยังไม่ชัดเจน แต่การศึกษาพบว่ามีปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อ Mysophobia เช่น

  • ประวัติครอบครัวที่มีความวิตกกังวล ซึมเศร้า หรือโรคกลัวอื่นๆ
  • ประสบเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจที่ทำให้บุคคลเพ่งความสนใจไปที่เชื้อโรค สิ่งสกปรก หรือการปนเปื้อนมากเกินไป
  • มีโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD)

การรักษาโรคกลัวความสกปรก กลัวเชื้อโรค ทำได้อย่างไร ?

เป้าหมายของการรักษา Mysophobia คือการลดความวิตกกังวลและช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้ที่จะจัดการกับความกลัวของตนเอง การรักษามักรวมถึงการบำบัดทางจิตและการรับประทานยา โดยทำได้ดังนี้

  • การบำบัด : พฤติกรรมบำบัดเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาที่มีประสิทธิผลสูงสุด  โดยนักพฤติกรรมบำบัดจะค่อยๆแนะนำการสัมผัสกับสิ่งที่กลัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนกว่าผู้ป่วยจะรู้สึกเคยชิน และไม่วิตกกังวลอีกต่อไป นอกจากนี้แพทย์ยังใช้วิธี Cognitive behavioral therapy  หรือ CBT เพื่อสอนเทคนิคต่างๆ ให้กับผู้คนในการจัดการกับความวิตกกังวลอีกด้วย 
  • การใช้ยา : แม้ว่าการรักษาหลักจะเน้นไปที่การบำบัดความคิดและพฤติกรรม อย่างไรก็ตาม ในบางกรณี ยาอาจช่วยบรรเทาอาการวิตกกังวลได้ในระยะสั้น แพทย์อาจสั่งยา beta-blockers และยาแก้ซึมเศร้า เพื่อหวังผลของสารเบต้าบล็อคเกอร์ที่ช่วยควบคุมอาการทางสรีระวิทยาของความวิตกกังวล เช่น หัวใจเต้นเร็วและตัวสั่น  ส่วนยาแก้ซึมเศร้าอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์จึงจะออกฤทธิ์ แต่อาจเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่มีความวิตกกังวลอย่างรุนแรง สิ่งสำคัญที่ต้องทราบก็คือ การใช้ยาไม่ใช่วิธีรักษาที่เจาะจง จึงยังต้องรับการบำบัดต่อไปเพื่อจัดการกับอาการให้เผชิญกับสิ่งที่กลัวได้

เกร็ดสุขภาพ : แม้ว่าโรคกลัวเชื้อโรค หรือ Mysophobia จะสร้างความทุกข์ทรมานและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน แต่สิ่งสำคัญคือมีวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ การได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและการรักษาที่เหมาะสมสามารถช่วยให้หายได้ นอกจากนี้ยังสามารถฝึกกลยุทธ์การรับมือด้วยตนเองที่จะช่วยคลายความเครียดและความวิตกกังวลได้  เมื่อเผชิญเหตุการณ์ต่างๆ เช่น การหายใจลึกๆ ตั้งสติ หรือนับเลขช้าๆในใจ พร้อมกับออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับให้เพียงพอ ทำสมาธิในระหว่างวัน รวมถึงลดปริมาณคาเฟอีน อันเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความกระสับกระส่าย หรือรู้สึกตื่นตัวมากขึ้น

ได้รู้กันไปแล้วว่า Mysophobia คืออะไร มีการวินิจฉัยอย่างไร สามารถรักษาได้หรือไม่ คงช่วยคลายข้อสงสัยไปได้บ้างแล้วนะคะ ส่วนใครที่แอบกังวลว่าเราจะเป็นโรคกลัวเชื้อโรค หรือเป็นโรคกลัวความสกปรกไหม คงโล่งใจไปตามๆ กันแล้วใช่ไหมคะ ทั้งนี้ หากมีภาวะย้ำคิดย้ำทำ หรือมีโรค OCD อยู่ก่อนแล้ว ให้ไปพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเพื่อรับการวินิจฉัยเพิ่มเติม ก็จะทำให้รักษาได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น มีเรื่องราวใดสนใจอยากรู้ อยากให้พี่หมอมาเล่าให้ฟัง ทักทายมาบอกกันได้เลยนะคะ

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : osmosis.org, verywellhealth.com, medicalnewstoday.com

Featured Image Credit : freepik.com

ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ

ติดต่อโฆษณา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้การวิเคราะห์

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

Save