X

โรคชอบขโมยของ หรือ Kleptomania คือ โรคอะไรกันแน่ ? ไม่อยากได้แต่ก็ขโมย ! ชวนรู้จักอาการป่วยทางใจที่แปลกแต่มีอยู่จริง

เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡

โรคชอบขโมยของ หรือ Kleptomania คือ โรคอะไรกันแน่ ? ไม่อยากได้แต่ก็ขโมย ! ชวนรู้จักอาการป่วยทางใจที่แปลกแต่มีอยู่จริง

บนโลกนี้มีโรคที่เกี่ยวกับสุขภาพจิตซึ่งอาจดูแปลกอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคกลัวต่างๆ หรือที่เรียกว่า Phobia เช่น โรคกลัวรู โรคกลัวกระจก บางคนก็กลัวปลาทอง กลัวสับปะรด หรือในบางรายก็เป็นโรคที่มีความผิดปกติทางบุคลิกภาพที่เราไม่คิดว่าจะมีจริง แต่ก็มีคนที่เป็นโรคนี้จริงๆ ซึ่งได้รับการวินิจฉัยทางการแพทย์มาแล้ว เช่น โรคหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder)และยังมีอีกโรคหนึ่งที่อาจไม่ค่อยคุ้นหูกันนัก หรือไม่แน่ใจว่านั่นเป็นโรคหรือเป็นนิสัยกันแน่ ซึ่งเรียกว่า Kleptomania คือ โรคชอบขโมยของนั่นเอง ผู้ที่ป่วยเป็นโรคชอบขโมยของ จะต้องได้รับการวินิจฉัยทางการแพทย์แล้วว่า ป่วยด่วยโรคทางสุขภาพจิตจริงๆ ไม่ใช่การมีนิสัยชอบลักเล็กขโมยน้อยแต่อย่างใด

โรคชอบขโมยของ ไม่นับรวมกับพฤติกรรมลักขโมยหรือการกระทำทางอาชญากรรม หรือการโจรกรรมต่างๆ ซึ่งสิ่งนั้นมีเป้าหมายเพื่อช่วงชิงเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินมีค่าไปโดยวิธีมิชอบ แต่โรคชอบขโมยของ เป็นการขโมยเพราะบุคคลนั้นแสวงหาความรู้สึกตื่นเต้นท้าทาย หรือทำเพราะแรงขับเคลื่อนภายในจิตใจตัวเอง บางครั้งก็ขโมยสิ่งของเล็กน้อยซึ่งแทบจะไม่มีมูลค่าเลยด้วยซ้ำ เช่น สิ่งของตามร้านสะดวกซื้อ หรือของชิ้นเล็กๆ น้อยๆ ในร้านอาหารอย่างช้อน ส้อม มีด เป็นต้น แล้วจะขโมยไปเพื่ออะไร ? เพราะอะไรถึงมีพฤติกรรมแบบนั้น ? แล้วโรคชอบขโมยของรักษาได้ไหม ? ถ้าใครอยากรู้มากกว่านี้ บทความนี้มีคำตอบให้ค่ะ

โรคชอบขโมยของ หรือ Kleptomania คือ โรคอะไรกันแน่ ?

kleptomania คือ, คุมตัวเองไม่ได้
Image Credit : freepik.com

โรคชอบขโมยของ หรือ Kleptomania (อ่านว่า เคลปโตเมเนีย) เป็นอาการป่วยทางสุขภาพจิตชนิดหนึ่ง ถูกค้นพบในปี 1816 และถูกกล่าวถึงในแง่ของความผิดปกติในการควบคุมความต้องการของตนเองจากสิ่งยั่วยุ ซึ่งเกิดจากความผิดปกติทางสมอง โดยสมองมีการหลั่งสาร Serotonin น้อยลง ทำให้คุมตัวเองไม่ได้ และไม่สามารถยับยั้งชั่งใจต่อความต้องการที่จะหยิบฉวยของมา แม้ว่าจะรู้สึกผิดหรือรู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำก็ตาม ซึ่งผู้ที่ป่วยโรคนี้ อาจมีปัญหาทางสุขภาพจิตอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โรคซึมเศร้า โรคหวาดระแวง อารมณ์แปรปรวน มีอาการแพนิค (อ่านเพิ่มเติม โรคแพนิค วิธีการรักษา) หรือมีพฤติกรรมแยกตัวออกจากสังคม เป็นต้น

ทั้งนี้ พฤติกรรมการฉกฉวยสิ่งของหรือขโมยของนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับฐานะทางการเงินแต่อย่างใด ในบางรายที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือมีฐานะร่ำรวย มีสถานะทางสังคม และไม่ได้มีการวางแผนว่าจะขโมยสิ่งของหรือเตรียมการมาล่วงหน้าเหมือนนักฉกชิงวิ่งราวทรัพย์หรือกลุ่มมิจฉาชีพ แต่เป็นการขโมยของตามแรงกระตุ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน ณ ขณะนั้น และส่วนใหญ่จะพบว่า สิ่งของที่หยิบฉวยหรือขโมยมาไม่ได้มีมูลค่ามากมายเลย เช่น แก้วน้ำ จาน ชามในร้านอาหาร ผ้าเช็ดตัวในโรงแรม หรือแม้กระทั่งรีโมทโทรทัศน์ หรืออาจเป็นขนม หมากฝรั่งตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป เป็นต้น จากสถิติของผู้ที่ถูกจับกุมในข้อหาขโมยของตามร้านรวงต่างๆ พบว่า มีบุคคลที่เป็นโรค kleptomania จำนวน 4% – 5% และจำนวนผู้ป่วยคิดเป็น 0.3% – 0.6% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นโรคทางสุขภาพใจที่ไม่ได้พบบ่อยนัก แต่มีอยู่จริงค่ะ

อาการของโรคชอบขโมยของ หรือ Kleptomania

kleptomania คือ, คุมตัวเองไม่ได้
Image Credit : unsplash.com

พฤติกรรมที่เห็นได้อย่างชัดเจนของผู้ที่เป็นโรคชอบขโมยของคือ มีพฤติกรรมฉกฉวยสิ่งของ ลักเล็กขโมยน้อย ซึ่งผู้ที่เป็นโรค Kleptomania จะมีอาการดังนี้

  • คุมตัวเองไม่ได้ โดยอาการของ Kleptomania คือ ไม่สามารถต่อต้านหรือต้านทานต่อแรงกระตุ้นอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ ให้มีการขโมยของ และรู้ว่าการขโมยของเป็นสิ่งที่ผิด ไม่ควรทำ แต่ไม่สามารถควบคุมตัวเองไม่ให้ขโมยของได้ ซ้ำยังเป็นการขโมยสิ่งของที่ผู้ป่วยไม่ต้องการอีกด้วย และเป็นสิ่งของที่ผู้ป่วยสามารถซื้อได้โดยไม่เดือดร้อนอะไร 
  • มักมีความรู้สึกเครียด วิตกกังวล หรือหวาดระแวง ตื่นตระหนก ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้ จะกระตุ้นให้ผู้ป่วยระบายความเครียดด้วยการหยิบฉวยสิ่งของติดมือมานั่นเอง
  • เวลาขโมยของจะรู้สึกพึงพอใจ รู้สึกโล่งใจ รู้สึกเหมือนได้ระบายความเครียด หรือรู้สึกสะใจที่ได้ขโมยของมา เรียกง่ายๆ ว่า รู้สึกฟินเวลาที่ได้ขโมยของนั่นเองค่ะ 
  • หลังจากที่ขโมยของมาแล้ว คนที่เป็นโรค Kleptomania คือ จะรู้สึกผิดอย่างมากที่ได้ทำพฤติกรรมแบบนั้นไป จะสำนึกผิดไปจนถึงเกลียดชังตัวเอง รู้สึกอับอาย หรือกลัวว่าจะถูกแจ้งความหรือถูกจับได้ 
  • มีพฤติกรรมควบคุมตัวเองไม่ได้ และทำการขโมยของอีกครั้ง ซึ่งเป็นอาการของ Kleptomania คือ เป็นการวนลูปพฤติกรรมฉกฉวยสิ่งของซ้ำไปซ้ำมาเนื่องจากไม่สามารถห้ามตัวเองได้

เกร็ดสุขภาพ : คนที่เป็นโรค Kleptomania จะมีความแตกต่างจากนักลักเล็กขโมยน้อยทั่วไป กล่าวคือ จะไม่ลักขโมยเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว แต่ทำไปเพราะต้องการระบายความรู้สึกบางอย่าง เช่น ความวิตกกังวล ความเครียด ต้องการแก้แค้น หรือเป็นการต่อต้านคนใกล้ชิด และมักจะขโมยของจากสถานที่สาธารณะ เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือในงานปาร์ตี้ และสิ่งของที่ขโมยมาจะไม่ถูกนำไปใช้ บางครั้งถูกนำไปวางไว้เฉยๆ ตามบ้าน ซ่อนเอาไว้ตามที่ต่างๆ หรือเอาไปบริจาคตามงานการกุศล หรือมอบให้กับคนในครอบครัว เพื่อน แม้กระทั่งแอบส่งคืนไปยังสถานที่ที่ขโมยมา

สาเหตุของการเกิดพฤติกรรมฉกฉวยสิ่งของ

kleptomania คือ, คุมตัวเองไม่ได้
Image Credit : freepik.com

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรค Kleptomania มีความเป็นไปได้อยู่หลายประการ อาทิ เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง โดยเฉพาะ Serotonin ที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ ความคุมความต้องการ การยับยั้งชั่งใจ ทำให้ผู้ป่วยห้ามตัวเองไม่ได้ และขโมยของในที่สุด และอีกประการหนึ่งคือ เป็นผลพวงจากอาการป่วยทางสุขภาพจิตอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคเกี่ยวกับการกินผิดปกติ เช่น Binge Eating Disorder หรือการใช้สารเสพติด ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการทางสุขภาพจิตอื่นๆ ร่วมด้วยและมีอาการหนัก อาจมีแนวโน้มที่จะทำร้ายตัวเองหรือพยายามฆ่าตัวตายร่วมด้วย

ทั้งนี้ นอกจากสาเหตุที่กล่าวมาแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค Kleptomania คือการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมในวัยเด็ก ทำให้เกิดพฤติกรรมต่อต้านผู้ปกครอง เช่น เด็กบางคนขโมยของเพื่อเป็นการแสดงความไม่พอใจต่อพ่อแม่ของตัวเอง หรือแสดงการมีตัวตนในกรณีที่พ่อแม่อาจเลี้ยงดูอย่างไม่สนใจหรือไม่มีเวลาให้ หรือในบางครอบครัวที่ถูกเลี้ยงดูอย่างเข้มงวด จนทำให้เด็กเครียดและกดดัน เด็กก็อาจมีพฤติกรรมขโมยของเพื่อเป็นการระบายความเครียด หรือต้องการสร้างความอับอายให้กับผู้ปกครอง เป็นต้น

เกร็ดสุขภาพ : พฤติกรรมขโมยของ พบได้ในอาการผิดปกติทางสุขภาพจิตอื่นๆ อีก เช่น ผู้ที่มีบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder) แต่จะแตกต่างกันตรงที่ ผู้ที่มีบุคลิกภาพต่อต้านสังคมจะไม่รู้สึกผิดเมื่อขโมยของ และทำพฤติกรรมนั้นเพราะว่าอยากทำ ซึ่งขาดความรู้สึกผิดชอบชั่วดีและไม่ทำตามกฎเกณฑ์ของสังคม แต่โรค Kleptomania เกิดจากการที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ แม้จะรู้ว่าผิดก็ตาม

โรคชอบขโมยของ สามารถรักษาได้หรือไม่ ?

kleptomania คือ, คุมตัวเองไม่ได้
Image Credit : freepik.com

โรคชอบขโมยของสามารถรักษาได้ค่ะ เช่นเดียวกับอาการป่วยทางสุขภาพจิตอื่นๆ ซึ่งวิธีการรักษาโรค  Kleptomania คือ

1. รักษาโดยการใช้ยา

เนื่องจากสาเหตุหนึ่งของโรค Kleptomania คือการหลั่งสารเคมีในสมอง Serotonin ต่ำกว่าปกติ ดังนั้น แพทย์อาจรักษาโดยการเพิ่ม Serotonin ในสมองเพื่อช่วยในการควบคุมอารมณ์ ความรู้สึก และสามารถหักห้ามใจตัวเองไม่ให้มีพฤติกรรมขโมยของได้ หรืออาจจ่ายยากล่อมประสาท ยาลดความวิตกกังวล ยาต้านเศร้า ยาคลายเครียด ในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาด้านสุขภาพจิตอื่นๆ ร่วมด้วย เพื่อควบคุมอารมณ์เชิงลบเหล่านั้น อันเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมขโมยของ

2. รักษาด้วยวิธีจิตบำบัด

โดยการรักษาเชิงพฤติกรรมบำบัด แบบวิธีการบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy : CBT) เพื่อหาต้นตอของสาเหตุที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการขโมยของเพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าใจถึงสาเหตุของพฤติกรรมชอบฉกฉวยสิ่งของของตนเอง เพื่อให้จัดการกับความรู้สึกเหล่านั้น และสามารถเอาชนะแรงกระตุ้นที่อยู่ในใจได้ รวมถึง พูดคุยกับผู้ป่วยเพื่อหาวิธีหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเหล่านั้น และปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น หรืออาจใช้การสะกดจิตร่วมด้วย

โรคชอบขโมยของหรือ Kleptomania คือภาวะการผิดปกติของสุขภาพจิต ไม่ใช่มิจฉาชีพหรืออาชญากรแต่อย่างใด และเป็นความเจ็บป่วยที่จะต้องได้รับการรักษา หากพบเจอหรือสงสัยว่าคนรอบข้างมีอาการเข้าข่ายคล้ายโรค Kleptomania ควรพูดคุยกับบุคคลนั้นด้วยความเข้าใจ ไม่ตำหนิหรือทำให้อับอาย และบอกว่าเราเป็นห่วงสุขภาพใจและสถานการณ์ที่เขากำลังเผชิญอยู่ ซึ่งการฉกฉวยสิ่งของมีความผิดทางกฎหมาย และอาจส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานได้ พร้อมทั้งชักชวนให้ไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือจิตแพทย์เพื่อทำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยที่ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกประจานหรือทำให้อับอาย หรือถูกดำเนินคดี ซึ่งหากทำการรักษาอย่างเหมาะสม ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น และใช้ชีวิตได้อย่างปกติมากขึ้น มีความสุขมากขึ้นค่ะ

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : webmd.com, mayoclinic.org, my.clevelandclinic.org

Featured Image Credit : freepik.com/user18526052

ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ

ติดต่อโฆษณา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้การวิเคราะห์

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

Save