“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
Histrionic Personality Disorder คือ ? ต่างจาก Borderline และ Antisocial ยังไง ? มาดูบุคลิกภาพที่ใช้อารมณ์ และหาวิธีแก้กัน !
ถ้าพูดถึงเรื่องปัญหาด้านสุขภาพจิต นอกจากภาวะซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือโรคกลัวสิ่งต่างๆ ที่เรียกว่า Phobia แล้ว ยังมีปัญหาเชิงสุขภาพจิตอีกกลุ่มหนึ่งที่ถือว่าเป็นกลุ่มใหญ่และแยกย่อยได้หลายโรค ซึ่งก็คือ กลุ่มบุคลิกภาพผิดปกติ (Personality Disorders) ในบทความนี้ เราจะมาทำความรู้จักกับกลุ่มบุคลิกภาพผิดปกติชนิดที่ใช้อารมณ์เป็นหลัก (Dramatic Personality Disorders) ได้แก่ Histrionic Personality Disorder คือ บุคลิกภาพแบบฮิสทีเรีย Borderline Personality Disorder คือ บุคลิกภาพผิดปกติแบบก้ำกึ่ง และ Antisoacial Personality Disorder คือ บุคลิกภาพต่อต้านสังคม (บุคลิกภาพแบบหลงตัวเอง หรือ Narcissistic Personality Disorder หรือโรคหลงตัวเอง ก็อยู่ในกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน
มาทำความเข้าใจกันให้มากขึ้นว่า Histrionic Personality Disorder คืออะไร ? ใช่โรคฮิสทีเรียที่เคยเข้าใจกันหรือไม่ และต่างจากโรคบุคลิกภาพผิดปกติอย่าง Antisocial Personality Disorder หรือบุคลิกภาพแบบต่อต้านสังคมหรือเปล่า ? แล้ว Borderline Personality Disorder คืออะไร ? หากมีอาการป่วยด้วยโรคกลุ่มนี้จะสามารถรักษาได้อย่างไรบ้าง แล้วสามารถป้องกันได้ไหม ? ไปหาคำตอบพร้อมกับเราทีมงานเพื่อสุขภาพได้เลยค่ะ
ทำความรู้จักให้มากขึ้นกับโรคฮิสทีเรียหรือ Histrionic Personality Disorder คือ อะไรกันแน่ ? ใช่โรคที่คิดกันไว้หรือเปล่านะ
ในยุคก่อน จะมีตัวละครที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นโรคฮิสทีเรีย ซึ่งในละครจะเรียกโรคนี่ว่า “โรคบ้าผู้ชาย” ทำให้โรคฮิสทีเรียถูกเข้าใจผิดกันไปว่า เป็นโรคที่ขาดผู้ชายไม่ได้ และมีความต้องการทางเพศสูง แต่ความจริงแล้ว ผู้ที่มีบุคลิกภาพแบบฮิสทีเรียหรือ Histrionic Personality Disorder คือ เป็นคนที่มีอารมณ์อ่อนไหวสูง และมีอารมณ์แปรปรวนบ่อย มีปัญหาด้านการควบคุมอารมณ์ และมีการรับรู้เกี่ยวกับตนเอง (Self – Image) ที่ไม่เป็นจริง ขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ต้องการที่จะเป็นจุดสนใจ ต้องการได้รับความรักจากผู้อื่น และต้องการดึงดูดความสนใจจากผู้คนรอบข้าง
คำว่า Histrionic แปลว่า การแสดง หรือ การเล่นละคร ทำให้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบฮิสทีเรียมีการแสดงออกที่เกินจริง หรือเล่นใหญ่ เช่น แสดงความสนใจต่อผู้อื่นแบบเกินจริง ต้องการเป็นจุดสนใจอย่างรุนแรง ซึ่งพฤติกรรมนี้ทำให้ถูกเข้าใจไปว่า มีความต้องการทางเพศสูงหรือชอบยั่วยวนผู้อื่น และโดยส่วนใหญ่แล้ว มักจะพบในเพศหญิง ดังนั้น จึงถูกตรีตราว่าเป็นโรคบ้าผู้ชาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีรายละเอียดปลีกย่อยกว่านั้นมากมาย
อาการของ Histrionic Personality Disorder
มาดูกันค่ะว่า อาการของความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบ Histrionic Personality Disorder มีอาการอะไรบ้าง
- ต้องการเป็นที่สนใจ จะรู้สึกอึดอัดคับข้องใจ และรู้สึกว่าตนเองไม่มีค่า หากไม่ได้รับความสนใจจากผู้อื่น
- มักหมกมุ่นอยู่กับรูปลักษณ์ภายนอกของตนเองอยู่เสมอ
- ขาดความเห็นอกเห็นใจและไม่สนใจความรู้สึกของผู้อื่น
- อารมณ์แปรปรวน ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ มีอารมณ์ไม่มั่นคง เช่น รู้สึกโกรธมากหรือเสียใจมากกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ
- พยายามเข้าหาผู้อื่นด้วยพฤติกรรมไม่เหมาะสม ใช้ลักษณะภายนอกของตัวเองดึงดูดความสนใจจากผู้อื่น
- แสดงออกถึงความสนิทสนมกับผู้อื่นเกินจริงอย่างไม่ถูกกาลเทศะ บางครั้งอาจทำให้อีกฝ่ายอึดอัดเนื่องจากไม่ได้รู้สึกสนิทสนมด้วยอย่างที่ผู้ป่วยเข้าใจ
- รู้สึกเบื่อง่าย ไม่มีสมาธิ ความอดทนต่ำ ไม่สามารถทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จได้
- ขาดการตัดสินใจที่รอบครอบ ขาดความไตร่ตรอง
- ถูกชักจูงได้ง่ายหรือถูกโน้มน้าวใจได้ง่าย โดยเฉพาะจากบุคคลที่ผู้ป่วยชื่นชมหรือต้องการได้รับการยอมรับจากบุคคลนั้นๆ
- ขู่ว่าจะฆ่าตัวตายเพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้อื่น
เกร็ดสุขภาพ : ถ้าใครกำลังสงสัยว่า ทำไมผู้ที่มีอาการฮิสทีเรียถึงต้องเรียกร้องความสนใจจากผู้อื่น สาเหตุหนึ่งมาจาก ผู้ป่วยจะมีการนับถือตนเองที่ขึ้นอยู่กับการยอมรับของผู้อื่น และไม่ได้มาจากความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองอย่างแท้จริง ดังนั้น อาการที่เด่นชัดของ Histrionic Personality Disorder คือ มีความปราถนาอย่างแรงกล้าที่จะเป็นจุดสนใจและแสวงหาการยอมรับจากคนอื่นๆ จนทำให้มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมได้ และไม่ทราบว่าการแสดงออกของตนเองสร้างความลำบากใจให้กับผู้อื่น
สาเหตุของการมีบุคลิกภาพแบบฮิสทีเรียหรือ Histrionic Personality Disorder
เมื่อรู้แล้วว่า บุคลิกภาพแบบฮิสทีเรียคืออะไร มีอาการอย่างไรบ้าง และไม่ใช่โรคบ้าผู้ชายอย่างที่เคยเข้าใจกัน มาดูกันค่ะว่า สาเหตุที่ทำให้มีบุคลิกภาพแบบฮิสทีเรีย หรือ Histrionic Personality Disorder คืออะไรบ้าง
• พันธุกรรม
ผู้ที่มีประวัติว่า สมาชิกในครอบครัวมีความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบฮิสทีเรีย ก็มีความเสี่ยงที่จะมีบุคลิกภาพเช่นเดียวกันได้
• ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม
หากเด็กในครอบครัวถูกเลี้ยงดูอย่างไม่เหมาะสมหรือไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่เท่าที่ควร ทำให้ต้องการได้รับความสนใจ อยากได้รับความรักความใส่ใจ และมีความนับถือในตนเองต่ำ จนมีบุคลิกภาพแบบเรียกร้องความสนใจและพัฒนามาเป็น Histrionic Personality Disorder ได้ หรือในกรณีที่สมาชิกในครอบครัวมีบุคลิกภาพแบบฮิสทีเรีย ก็มีแนวโน้มที่เด็กจะเลียนแบบพฤติกรรมโดยไม่รู้ตัว และเติบโตมาโดยที่นำเอาลักษณะนั้นๆ เป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพตนเองได้
ถ้ามีอาการของ Histrionic Personality Disorder สามารถรักษาได้หรือไม่ ?
บุคลิกภาพแบบฮิสทีเรีย เป็นความผิดปกติทางบุคลิกภาพชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยวิธีทางการแพทย์และทางจิตวิทยา โดยรักษาด้วยวิธีจิตบำบัด ซึ่งเป็นการบำบัดแบบพูดคุยกับผู้ป่วยเพื่อค้นหาสาเหตุของการเกิดพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่างๆ พร้อมทั้งปรับกระบวนการคิด และให้ผู้ป่วยมีการเรียนรู้ที่จะสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างเหมาะสม รวมถึงฟื้นฟูความรู้สึกยอมรับนับถือในตนเองอย่างแท้จริง
และแล้วเราก็ได้ทราบว่า บุคลิกภาพแบบฮิสทีเรียหรือ Histrionic Personality Disorder คืออะไร มีอาการเป็นอย่างไร และสามารถรักษาได้ด้วยวิธีการใดบ้าง ต่อมา เรามาทำความรู้จักกับความผิดปกติของบุคลิกภาพอีก 2 ประเภทในกลุ่มที่ใช้อารมณ์เป็นหลัก (Dramatic Personality Disorders) ซึ่งก็คือ Borderline Personality Disorder และ Antisocial Personality Disorder ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร
ภาวะบุคลิกภาพผิดปกติแบบก้ำกึ่ง หรือ Borderline Personality Disorder
Borderline Personality Disorder คือภาวะบุคลิกภาพผิดปกติแบบก้ำกึ่ง ซึ่งเป็นความผิดปกติทางจิตที่มีผลกระทบต่อความคิดความรู้สึกของผู้ป่วยมีต่อตัวเองและผู้อื่น โดยส่วนใหญ่จะปัญหาด้านการควบคุมอารมณ์และการกระทำของตัวเอง และมีรูปแบบความสัมพันธ์ที่ไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์ระยะยาวได้ เนื่องจากผู้ป่วยจะมีความคิดและพฤติกรรมที่ไม่คงที่ มีอารมณ์เหวี่ยงขึ้นลงไปมา บางครั้งมีอารมณ์รุนแรง ขาดความยั้งคิด และแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมา เช่น ควบคุมความโกรธไม่ได้ อาละวาด พูดจาถากถางหยาบคาย ประชดประชัน และถึงขั้นใช้กำลัง ทำร้ายผู้อื่น ทำให้มีปัญหาในด้านการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นและคนรอบข้าง และส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน บางครั้งอาจถึงขั้นทำร้ายตัวเองและมีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตายด้วย
จะเห็นว่า ผู้ที่มีบุคลิกภาพผิดปกติแบบก้ำกึ่ง จะมีการทำร้ายตัวเองและมีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตาย ดังนั้น ถ้าพบว่ามีบุคคลใกล้ชิดที่ป่วยด้วยโรค Borderline Personality Disorder อาจจะต้องมีการเฝ้ามองอย่างใกล้ชิด โน้มน้าวให้ผู้ป่วยไปพบจิตแพทย์และทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งต้องมีความเข้าใจในอาการของผู้ป่วย ไม่กล่าวโทษผู้ป่วย และให้กำลังใจผู้ป่วยว่า ที่เป็นอยู่นั้นคืออาการของโรค แต่ถ้าตนเองถูกทำร้ายร่างกายหรือถูกทำร้ายจิตใจ ก่อให้เกิดความเครียดหรือรู้สึกวิตกกังวล ก็อาจจะต้องปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ร่วมด้วย เพื่อหาทางป้องกันและหาทางออกร่วมกันค่ะ
เกร็ดสุขภาพ : ผู้ที่มีอาการของ Borderline Personality Disorder มักมีพฤติกรรมที่ขาดความยั้งคิดและไม่สามารถควบคุมตนเองได้ เช่น มีพฤติกรรมเสี่ยงโดยการขับรถประมาท ไม่เกรงกลัวอันตราย ใช้สารเสพติด มีเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยงและไม่ปลอดภัย ติดการพนัน ตัดสินใจผิดพลาดโดยขาดความยั้งคิด และมีพฤติกรรมกินไม่หยุด (Binge Eating Disorder) เนื่องจากควบคุมตัวเองไม่ได้
Antisocial Personality Disorder หรือบุคลิกภาพต่อต้านสังคม
Antisocial Personality Disorder หรือบุคลิกภาพต่อต้านสังคม เป็นความผิดปกติทางจิตอีกรูปแบบหนึ่ง ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้มักจะมีพฤติกรรมก้าวร้าว แข็งกระด้าง ขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ไม่เคารพในกฎเกณฑ์ของสังคม ขาดสำนึกผิดชอบชั่วดี ไม่เคารพในสิทธิ์ของผู้อื่น ยึดเอาความต้องการของตัวเองเป็นหลัก และมีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรง ใช้กำลัง ทำลายข้าวของ ทำร้ายร่างกายผู้อื่น อีกทั้งขาดความรับผิดชอบต่อตนเอง ส่งผลต่อการใช้ชีวิตทั้งเรื่องการเรียน การทำงาน และชีวิตส่วนตัว มีพฤติกรรมโกหก หลอกลวง ลักขโมย เพื่อให้ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ เคยได้รับการวินิจฉัยว่ามีพฤติกรรมเกเรอันธพาล (Conduct Disorder) และยังคงมีพฤติกรรมต่อเนื่อง
จะเห็นว่า ทั้งบุคลิกภาพแบบฮิสทีเรีย บุคลิกภาพผิดปกติแบบก้ำกึ่ง และบุคลิกภาพต่อต้านสังคม แม้จะอยู่ในกลุ่มบุคลิกภาพผิดปกติแบบใช้อารมณ์เป็นหลัก แต่ก็มีอาการที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งจะมีจุดร่วมเดียวกันคือ มีปัญหาด้านการควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตนเอง และแสดงพฤติกรรมในรูปแบบรุนแรง หากไม่ได้ทำการรักษาอย่างท่วงที ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายกับคนใกล้ชิดและตัวผู้ป่วยเองได้
วิธีป้องกันและรักษาโรคบุคลิกภาพผิดปกติชนิดที่ใช้อารมณ์เป็นหลัก (Dramatic Personality Disorders)
เนื่องจากสาเหตุของการเกิดบุคลิกภาพผิดปกติชนิดต่างๆ นั้น ไม่สามารุระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ บางครั้งอาจเป็นพันธุกรรม หรือวิธีการเลี้ยงดู หรือสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ส่งผลให้เกิดบุคลิกภาพที่ผิดปกติต่างๆ ดังนั้น จึงไม่มีวิธีป้องกันที่ตายตัว ผู้ปกครองอาจจะต้องดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ให้ความรัก ความเอาใจใส่อย่างเหมาะสม และถ้าสังเกตได้ว่าบุตรหลานมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง หรือมีการแสดงออกทางด้านอารมณ์ที่ผิดปกติก็สามารถปรึกษานักจิตวิทยาหรือปรึกษาจิตแพทย์เด็กได้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีบุคลิกภาพผิดปกติเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่
หากเป็นในวัยผู้ใหญ่ ถ้าพบว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวมีพฤติกรรมดังกล่าวและมีบุคลิกภาพที่มีแนวโน้มว่าจะอยู่ในภาวะบุคลิกภาพผิดปกติในรูปแบบต่างๆ ก็สามารถไปปรึกษานักจิตวิทยาหรือไปปรึกษาจิตแพทย์ได้เช่นกัน เพื่อทำการวินิจฉัยโดยผู้เชี่ยวชาญและได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม โดยการรักษาส่วนใหญ่คือ วิธีการทางจิตบำบัดในรูปแบบต่างๆ และถ้าหากผู้ป่วยมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีภาวะซึมเศร้า เป็นโรควิตกกังวล หรือมีอาการไบโพลาร์ (มักพบในผู้ที่มีบุคลิกภาพผิดปกติแบบก้ำกึ่ง) แพทย์ก็อาจจะสั่งยาเพื่อรักษาอาการเหล่านั้นร่วมด้วย
แม้ภาวะบุคลิกภาพผิดปกติบางชนิดจะดูน่ากลัว และเป็นภัยต่อคนรอบข้าง เช่น ชอบใช้กำลัง มีอารมณ์ก้าวร้าวรุนแรง ชวนให้เข็ดขยาด ไม่อยากเข้าใกล้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อาการดังกล่าวก็เป็นอันตรายต่อตัวผู้ป่วยเองด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะผู้ที่มีพฤติกรรมทำร้ายตัวเองและมีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตาย อีกทั้งตัวผู้ป่วยเองก็ต้องเป็นทุกข์อยู่กับอาการผิดปกติของตัวเอง การไปพบนักจิตวิทยาเพื่อพูดคุยเบื้องต้น หรือพบจิตแพทย์เพื่อที่จะได้รับการวินิจฉัยและรักษาได้โดยเร็ว ก็มีโอกาสทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น มีการแสดงอารมณ์และพฤติกรรมอย่างเหมาะสม และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง ดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขทั้งตัวผู้ป่วยเองและผู้ใกล้ชิด อีกประการหนึ่งคือ ถ้าถูกผู้ป่วยทำร้ายทั้งทางร่างกายหรือจิตใจ ก็สามารถขอความช่วยเหลือหรือขอคำปรึกษาจากหน่วยงานทางสุขภาพจิตได้เช่นกันค่ะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : webmd.com, verywellmind.com, mayoclinic.org, my.clevelandclinic.org
Featured Image Credit : pexels.com/Samad Ismayilov
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ