“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
Burnout Syndrome คืออะไร ? มาเช็กกันว่าคุณเป็นหรือไม่ แล้วมีวิธีการป้องกันยังไง ?
ด้วยสภาวะต่างๆ ในยุคปัจจุบัน รวมกับความเครียดเรื้อรังในการทำงาน อาจส่งผลให้เราเกิดอาการที่เรียกว่า ภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ Burnout Syndrome ได้ ซึ่งโรคนี้เป็นผลมาจากความเครียดจากการทำงานโดยตรง ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนทางด้านจิตใจ รู้สึกเบื่อหน่าย เหนื่อยล้าทางอารมณ์ ขาดความสนุกสนานในการทำงาน และขาดแรงจูงใจ หากปล่อยไว้นานๆ จะไม่ดีต่อทั้งตนเองและต่องานที่ทำ เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานต่ำลงอีกด้วย และถ้านานวันไปก็เสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้าด้วย และเพื่อสำรวจตัวเองรวมถึงรู้ถึงสาเหตุและวิธีป้องกัน เราจะพาทุกคนไปรู้จักว่า burnout syndrome คืออะไรกันค่ะ
- burn out syndrome คือ อะไร มารู้จักโรคนี้ให้ดี พร้อมรู้ถึงวิธีป้องกัน
อาการ burnout syndrome คือความเหนื่อยหน่ายและหมดไฟในการทำงาน เป็นสภาวะของความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ เนื่องมาจากร่างกายและจิตใจที่มีความเครียดมากเกินไปและสะสมเป็นเวลานาน และเป็นอาการเรื้อรังที่ยังไม่สามารถจัดการได้สำเร็จ ซึ่งอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อคุณรู้สึกหนักใจ หมดพลังงาน อยากระบายอารมณ์ และไม่สามารถตอบสนองความต้องการอย่างต่อเนื่องได้ เมื่อความเครียดดำเนินต่อไปก็จะเริ่มสูญเสียความสนใจและแรงจูงใจที่เคยมี และส่งผลต่อการทำงานในที่สุด
นอกจากนี้ผลเสียของ burnout syndrome คือความเหนื่อยหน่ายนั้นจะแผ่ซ่านไปทั่วทุกด้านของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่ทำงาน และชีวิตทางสังคม ซึ่งความรู้สึกหมดไฟ คืออาการที่ยังสามารถทำให้ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวได้ ซึ่งจะทำให้คุณเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เช่น หวัดและไข้หวัดใหญ่ และด้วยผลที่ตามมามากมายนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรจะต้องจัดการกับอาการหมดไฟนี้ให้ได้เร็วที่สุด
เกร็ดสุขภาพ : เช็กลิสต์ดูว่าคุณมีความรู้สึกแบบนี้หรือไม่ถ้าหากมีนั่นแปลว่าคุณกำลังเข้าข่ายที่จะมีความเสี่ยงในการเป็น burnout syndrome คือทุกวันเป็นวันที่เลวร้าย การดูแลเกี่ยวกับที่ทำงาน หรือชีวิตในบ้านของคุณ ดูเหมือนจะเป็นการสิ้นเปลืองพลังงานโดยสิ้นเชิง คุณหมดแรงตลอดเวลา วันของคุณส่วนใหญ่หมดไปกับงานที่คุณรู้สึกว่าน่าเบื่อหน่ายหรือน่าหนักใจ คุณรู้สึกว่าไม่มีสิ่งใดที่ทำให้รู้สึกถึงความแตกต่าง หรือรู้สึกได้รับการชื่นชม
- สัญญาณและอาการของความเหนื่อยหน่ายหมดไฟ คืออะไรบ้าง
อาการเหนื่อยหน่ายต่องาน หรือหมดไฟในการทำงาน อย่าง burnout syndrome คือ กระบวนการที่ค่อยๆ เกิดอย่างช้าๆ มันไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน แต่มันสามารถคืบคลานเข้ามาหาคุณได้ ซึ่งอาการที่แสดงออกจะดูไม่หนักหนาในตอนแรก แต่จะแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งหากว่าคุณสังเกตได้ถึงอาการผิดปกติด้านล่างนี้ ก็ควรต้องได้รับการแก้ไข เพราะหากคุณใส่ใจและลดความเครียดลงอย่างจริงจัง คุณจะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายได้ แต่หากคุณเพิกเฉยต่อสิ่งเหล่านี้คุณจะเกิดอาการหมดไฟในที่สุด และอาการของ burnout syndrome คืออาการดังนี้
สัญญาณและอาการทางกายภาพ
- รู้สึกเหนื่อยเกือบตลอดเวลา
- ภูมิคุ้มกันลดลง เจ็บป่วยบ่อย
- ปวดหัวบ่อย หรือปวดกล้ามเนื้อ
- ไม่มีความอยากอาหาร
- มีพฤติกรรมการนอนหลับที่เปลี่ยนไป
สัญญาณและอาการทางอารมณ์
- มีความรู้สึกล้มเหลวและสงสัยในตนเอง
- รู้สึกหมดหนทาง ติดกับดักและพ่ายแพ้
- มีความรู้สึกโดดเดี่ยวในโลก
- สูญเสียแรงจูงใจ
- มีทัศนคติเชิงเหยียดหยามและเชิงลบที่เพิ่มมากขึ้น
สัญญาณทางพฤติกรรม
- ขาดความรับผิดชอบ
- แยกตัวเองจากผู้อื่น
- ผัดวันประกันพรุ่ง และใช้เวลานานกว่าจะทำงานเสร็จสิ้น
- มีการใช้อาหาร ยา หรือแอลกอฮอล์เพื่อรับมือกับอาการที่เป็น
- เริ่มมาทำงานสายและออกก่อนเวลา
เกร็ดสุขภาพ : ความแตกต่างระหว่างความเครียดและความหมดไฟ คือ ความรู้สึกหมดไฟอาจเป็นผลมาจากความเครียดที่ไม่ลดละ ซึ่งต่างจากความเครียดทั่วไปที่เรายังสามารถควบคุมทุกอย่างได้ และเมื่อช่วงเวลานั้นผ่านไปก็จะรู้สึกดีขึ้น ในทางกลับกัน burn out syndrome คืออาการที่มีความรู้สึกว่างเปล่า เหนื่อยล้าทางจิตใจ และปราศจากแรงจูงใจ จนเกิดความเครียดมากเกินไป และมักจะไม่สังเกตเห็นความหมดไฟนี้เมื่อมันเกิดขึ้น
- สาเหตุของ burnout syndrome คืออะไร
ความรู้สึกหมดไฟนั้นมักเกิดจากงานของคุณ แต่ความเหนื่อยหน่ายไม่ได้เกิดจากการทำงานที่เครียดหรือความรับผิดชอบมากเกินไปเพียงอย่างเดียว ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกรวมถึงวิถีชีวิตและลักษณะบุคลิกภาพของคุณด้วย ซึ่งสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ได้แก่ รู้สึกเหมือนคุณควบคุมงานของได้น้อยหรือไม่ได้เลย ขาดการยอมรับหรือให้รางวัลสำหรับการทำงานที่ดี ความคาดหวังในงานที่ไม่ชัดเจนหรือเรียกร้องมากเกินไป ทำงานที่ซ้ำซากจำเจหรือไม่ท้าทาย และทำงานในสภาพแวดล้อมที่วุ่นวายหรือมีความกดดันสูง
ส่วนสาเหตุจากวิถีชีวิต ได้แก่ ทำงานมากเกินไปไม่มีเวลาเพียงพอสำหรับการสังสรรค์หรือพักผ่อน ขาดความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด มีความรับผิดชอบมากเกินไปโดยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากผู้อื่น มีการนอนหลับไม่เพียงพอ นอกจากนี้ลักษณะบุคลิกภาพสามารถนำไปสู่ความหมดไฟได้ คือ เป็นคนที่มีแนวโน้มสมบูรณ์แบบ มองตัวเองและโลกในแง่ร้าย หรือบุคลิกภาพคนที่ประสบความสำเร็จสูง
- จัดการกับความหมดไฟได้อย่างไรบ้าง
ไม่ว่าคุณจะรับรู้สัญญาณเตือนของความหมดไฟที่กำลังจะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่การพยายามฝ่าฟันความเหนื่อยล้าและทำต่อไปอย่างที่เคยเป็นจะทำให้เกิดความเสียหายต่อทั้งร่างกายและจิตใจมากขึ้น ลองจัดการกับภาวะหมดไฟ ดังต่อไปนี้
- รับรู้และระวังสัญญาณเตือนของความหมดไฟ
- จัดการกับความเสียหายที่เกิด โดยมองหาการสนับสนุนและจัดการความเครียดนั้น
- สร้างความยืดหยุ่นต่อความเครียดด้วยการดูแลสุขภาพกายและอารมณ์
- วิธีแก้ไขป้องกัน
- นอนหลับพักผ่อนให้เป็นเวลา อย่าใช้เวลาในการคิดและกังวลในเรื่องงานมากจนเกินไป
- กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และกินแต่อาหารที่มีประโยชน์
- ลดความเครียดลงด้วยการหากิจกรรมทำ ไม่ว่าจะดูหนัง ฟังเพลง หรือออกกำลังกาย
- ปรับทัศนคติในการทำงานใหม่ ด้วยการทำความเข้าใจในเนื้องานที่รับผิดชอบ และเข้าใจถึงองค์กรที่ทำงานอยู่ 5. เปิดใจให้กับคนรอบข้างบ้าง หากมีปัญหาในเรื่องงานอย่าลังเลที่จะปรึกษาเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างาน และพยายามใช้วิธีมองโลกในแง่ดี เปิดใจรับฟังไม่อคติ
ภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ burnout syndrome คืออาการที่เรารู้สึกเบื่อหน่ายต่องาน หมดแรงจูงใจ และส่งผลกระทบต่อทั้งหน้าที่การงานและชีวิตส่วนตัว ซึ่งจะยังไม่ถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้า แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่รู้สึกเศร้า หดหู่ เบื่อหน่ายกับสิ่งรอบตัว ไม่มีความสุข และทุกข์ทรมานกับการใช้ชีวิต อาการเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะเป็นถึงขั้นโรคซึมเศร้าได้ เพื่อความปลอดภัยหากพบว่าตนเองมีอาการที่รุนแรง ควรรีบไปพบจิตแพทย์เพื่อจะได้ทำการรักษาต่อไป นอกจากนี้การมีสุขภาพจิตดี จะทำให้เราไม่เสี่ยงกับการเป็นทั้งภาวะ burn out syndrome และโรคซึมเศร้านั่นเองค่ะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : helpguide.org, paolohospital.com, bangkokhospital.com
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ