“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
ศิลปะบำบัด คือ อะไร ? แล้วศิลปะบำบัดในเด็ก ดียังไง ? ชวนเสริมพัฒนาการที่ดีให้กับลูกน้อยด้วยการสร้างงานศิลปะ !
Art therapy หรือ ศิลปะบำบัด คือ ศาสตร์ที่มีการผสมผสานระหว่างศิลปะกับการบำบัดทางจิตวิทยา โดยกระบวนการสร้างสรรค์ หรือการใช้เทคนิค วิธิการทางศิลปะ เพื่อเป็นสิ่งที่สนับสนุนให้บุคคลมีการตระหนักรู้ในตนเอง เป็นการสำรวจอารมณ์ภายในจิตใจ หรือเป็นการแสดงความรู้สึกนึกคิดที่อยู่ในใจออกมา ซึ่งศิลปะบำบัดทุกแขนงจะช่วยให้ผู้ที่ทำกิจกรรมได้เปิดเผยตัวตนและสื่อสารผ่านงานศิลปะอย่างเป็นอิสระ ช่วยลดความเครียด ความเศร้า หรือความเจ็บปวดภายในจิตใจ เพื่อเป็นการฟื้นฟูพัฒนาจิตใจ และเกิดกระบวนการพัฒนาภายในตัวเอง
นอกจากจะมีการนำเอาศิลปะมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการบำบัดเพื่อเป็นการเยียวยาและฟื้นฟูความเจ็บปวดในจิตใจแล้ว ศิลปะบำบัด คือแขนงหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กๆ เพื่อการพัฒนาทักษะการเข้าสังคม เสริมสร้างจินตนาการ สร้างความรู้สึกสนุกและผ่อนคลาย และเพิ่มความมั่นใจในตัวเองอีกด้วย ทำให้เด็กๆ มีสมาธิมากขึ้น มีพฤติกรรมและอารมณ์ที่ดีขึ้น
เกร็ดสุขภาพ : ศิลปะบำบัดต่างจากศิลปะทั่วไปคือ ศิลปะบำบัด มีเป้าหมายเพื่อการบำบัด รักษาและฟื้นฟูทั้งทางกายและจิตใจ มุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในตนเอง ซึ่งการสร้างสรรค์ผลงานจะไม่ได้คำนึงถึงความสวยงามหรือองค์ประกอบทางศิลปะใดๆ แต่เน้นไปที่การสำรวจอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด ความเข้าใจ และการอธิบายตัวตนผ่านการสร้างชิ้นงานของผู้ที่เข้ารับการบำบัด ทั้งนี้ ในกระบวนการของศิลปะบำบัด นักศิลปะบำบัดจะเป็นผู้ประเมินและวางแผนการรักษาร่วมกับนักจิตวิทยา จิตแพทย์และวิชาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนักศิลปะบำบัดจะต้องเรียนจบเฉพาะทางในการบำบัดรักษาอีกด้วย
ศิลปะบำบัด เสริมสร้างพัฒนาการของลูกน้อยได้อย่างไร ?
เราทราบกันแล้วว่า ศิลปะบำบัด คือกระบวนการบำบัดในเชิงจิตวิทยาผสานกับการสร้างสรรค์งานศิลปะ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพจิตของเด็ก โดยเด็กๆ ไม่จำเป็นจะต้องมีพื้นฐานทางศิลปะมาก่อนก็สามารถทำกิจกรรมนี้ได้ และไม่อยากให้มองว่า เพราะเด็กมีปัญหาถึงต้องรับการบำบัด อันที่จริงแล้ว ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมศิลปะบำบัดได้ เปรียบเสมือนการเล่นอย่างหนึ่งที่จะเสริมสร้างทักษะ ความคิด จินตนาการ และอารมณ์ของลูกน้อย มาดูกันว่า ศิลปะบำบัดส่งเสริมพัฒนาการของบุตรหลานในด้านใดบ้าง ?
1. พัฒนาการด้านทักษะทางสังคม
หากเด็กๆ มีทักษะในการเข้าสังคมตั้งแต่อายุน้อยๆ เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วจะรู้สึกสบายใจเมื่อต้องเข้าสังคมหรืออยู่ร่วมกับคนหมู่มาก คลาสศิลปะบำบัด คือการทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น อย่างน้อยเด็กๆ ก็ต้องมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักจิตวิทยาหรือผู้ปกครองของตัวเอง และบางคลาสก็จะเป็นการทำกิจกรรมร่วมกับเด็กคนอื่นๆ ซึ่งจะเสริมสร้างการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น เรียนรู้ที่จะแบ่งปัน เรียนรู้ที่จะช่วยเหลือผู้อื่น อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้เรียนรู้และยอมรับความแตกต่าง ไม่ตัดสินผลงานของคนอื่น นักจิตบำบัดอาจฝึกให้เด็กๆ รู้จักชื่มชมความสวยงามที่แตกต่างกันในชิ้นงานของแต่ละคน ก่อให้เกิดการสร้างความสัมพันธ์และสร้างความไว้วางใจต่อกัน
2. พัฒนาการทักษะด้านการรู้คิด
อาจกล่าวได้ว่า ศิลปะบำบัด คือการสร้างประสบการณ์ทางศิลปะควบคู่ไปกับการเรียนรู้ทักษะอื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งการสร้างผลงานศิลปะ เช่น การวาดภาพ การปั้นชิ้นงานจากดินน้ำมัน การขีดเขียนลายเส้นต่างๆ จะทำให้เด็กๆ เรียนรู้ในเรื่องของสี รูปทรง องค์ประกอบต่างๆ ไปในตัว ในขณะเดียวกัน นักจิตวิทยาก็จะทำการสอบถาม สำรวจความคิดของเด็กๆ ว่า เหตุผลในการวาดภาพนี้ หรือการสร้างผลงานชิ้นนี้คืออะไร รู้สึกอย่างไร แล้วถ้าผลงานผิดพลาดขึ้นมาจะแก้ไขอย่างไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดพัฒนาการด้านการรู้คิด ความเป็นเหตุเป็นผล การแก้ไขปัญหา เป็นต้น
นอกจากนี้ ศิลปะยังส่งผลต่อการทำงานของสมอง ทั้งในแง่ของการใช้ประสาทสัมผัส และการใช้ความคิดอย่างลึกซึ้ง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาทักษะต่างๆ เช่น การรับรู้ถึงความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม รวมไปถึงการสังเกตสิ่งรอบตัว ซึ่งศิลปะบำบัด คือการแสดงออกผ่านการสร้างงานศิลปะ และช่วยให้เด็กๆ พัฒนาทักษะการคิดที่ซับซ้อนมากขึ้น
3. พัฒนาทักษะการสื่อสารและการสื่อความหมาย
ในทางสากลแล้ว การสร้างผลงานศิลปะถือเป็นการสื่อสารอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นการสื่อสารที่ไม่ได้มีข้อจำกัดทางภาษา เพียงแต่เป็นการส่งสารผ่านรูปภาพ หรืองานจิตรกรรม ประติมากรรมต่างๆ สำหรับเด็กๆ แล้ว ศิลปะบำบัดคือการฝึกการสื่อสารและการสร้างความหมายผ่านสิ่งที่เป็นภาพ เป็นการนำเสนอจินตนาการให้ออกมาอยู่ในรูปแบบที่จับต้องได้
การเล่าเรื่องเกี่ยวกับภาพวาด หรือการให้ความหมายว่าภาพนี้สื่อถึงอะไร ? เป็นตัวแทนของสิ่งใด? จะทำให้เด็กมีทักษะการสื่อสารและสื่อความหมายได้ดีมากขึ้น เช่น การวาดรูปหัวใจแสดงถึงความรักที่มีให้กับพ่อแม่ หรือการวาดภาพผีเสื้อแสดงถึงความสวยงาม อิสระ เป็นต้น
4. พัฒนาการทักษะด้านอารมณ์
การขีดๆ เขียนๆ หรือการละเลงสีลงบนกระดาษว่างเปล่า นอกจากจะเป็นการให้เด็กๆ ได้ระบายอารมณ์ความรู้สึกที่มีอยู่ในใจแล้ว ศิลปะบำบัด คือการสร้างความเข้าใจในด้านอารมณ์ของเด็กๆ โดยจะทำให้เด็กรับรู้และเข้าใจความรู้สึกของตัวเองได้ดีขึ้น เด็กๆ บางคนอาจถูกสอนให้ไม่แสดงความรู้สึกออกมา ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์โกรธ โมโห หรืออารมณ์ทางบวกอย่าง รู้สึกดีใจ มีความสุข เป็นต้น ในเด็กบางคนที่ไม่เข้าใจอารมณ์ที่เกิดขึ้น ก็อาจทำให้เกิดปัญหาใน การจัดการอารมณ์ได้ แต่การแสดงออกทางภาพวาดหรือลักษณะการขีดเขียน จะทำให้นักจิตวิทยาเข้าใจความรู้สึกของเด็กๆ ได้มากขึ้น รวมถึงตัวเด็กเองด้วย
ในการบำบัดทางจิตวิทยา มักใช้การวาดรูปเป็นตัวกลางในการเปิดบทสนทนา บางครั้งการบำบัดก็ทำได้ยากเนื่องจากเด็กไม่ยอมพูดคุยหรือเล่าเรื่องราวต่างๆ อาจเป็นเพราะกลัว กังวล หรือไม่สามารถอธิบายออกมาเป็นคำพูดได้ แต่การวาดรูปนั้นจะทำให้นักจิตวิทยาสามารถประเมินความคิด ความรู้สึกของเด็กในเบื้องต้นได้ โดยประเมินจากภาพวาดที่เด็กแสดงออกมานั่นเอง
เกร็ดสุขภาพ : ศิลปะบำบัด ไม่ได้เหมาะกับเด็กๆ เท่านั้น ผู้ใหญ่ก็สามารถเข้าคอร์สศิลปะบำบัดได้ ซึ่งมีมากมาย หรือที่เห็นกันอย่างแพร่หลายอย่าง สมุดระบายสีสำหรับผู้ใหญ่ ก็ถือเป็นศิลปะบำบัดได้เช่นกัน เพราะการระบายสีในภาพวาดที่มีรายละเอียดมากๆ นั้นจะทำให้เรามีสมาธิมากขึ้น จิตใจสงบขึ้น ซึ่งเป็นการผ่อนคลายสมองและระบายความเครียดได้อีกด้วย
5. พัฒนาการทักษะทางกายภาพ
นอกจากจะเสริมสร้างพัฒนาการด้านความคิด จิตใจแล้ว ศิลปะบำบัด คือการสร้างทักษะทางกายด้วยเช่นกัน เช่น การวาดรูป ระบายสี การขีดเส้น การปั้นดิน การทำภาพตัดแปะ ซึ่งจะเป็นการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กผ่านการหยิบจับในเด็กอายุน้อยๆ รวมถึง ทักษะการประสานงานระหว่างอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย เช่น ระหว่างมือกับตา หรือระหว่างสมองกับมือ เพื่อที่จะวาดภาพออกมาได้ตรงกับความคิด จินตนาการ อีกทั้งยังทำให้เด็กมีสมาธิในการฝึกบังคับร่างกาย หรือการเคลื่อนไหวของข้อมือและนิ้วมืออีกด้วย เป็นการฝึกประสาทสัมผัสแบบบูรณาการให้กับเด็กๆ นั่นเอง
ผู้ปกครองของเด็กๆ ก็คงจะได้ทราบกันแล้วว่า ศิลปะบำบัดคืออะไร ? แล้วช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านใดของบุตรหลานบ้าง อย่างที่บอกไปว่า บุคคลทั่วไปก็สามารถเข้าคอร์สศิลปะบำบัดเพื่อฟื้นฟูหรือต้องการจะพัฒนาด้านอารมณ์ สมาธิของตนเองได้ หรือในกรณีที่บุคคลมีปัญหาทางสุขภาพจิตหรือมีความเจ็บปวดในใจ จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาก็อาจจะใช้ศิลปะบำบัดเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบำบัดรักษาได้ค่ะ และในกรณีที่เด็กๆ มีพฤติกรรมอันเป็นปัญหา เช่น ก้าวร้าว ติดเกม สมาธิสั้น เป็นไฮเปอร์ หรือแม้กระทั่งเด็กที่มี ภาวะออทิสติก ก็สามารถใช้ศิลปะบำบัดเพื่อเสริมสร้างและฟื้นฟูพัฒนาการ รวมถึงแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาในส่วนนั้นๆ ได้เช่นกัน
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : positivepsychology.com, georgetownbehavioral.com, psychologytoday.com
Featured Image Credit : pexels.com/Alexander Grey
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ