“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
Agoraphobia คือ อะไร ? ชวนรู้จักและเข้าใจโรคกลัวที่ชุมชนให้มากขึ้นกัน !
ปัญหาทางสุขภาพจิตและโรคทางจิตเวชนั้น มีอยู่หลายกลุ่มอาการด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือกลุ่มอาการ phopia หรือโรคกลัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการกลัวสัตว์ กลัวสิ่งของ กลัวรู หรือกลัวสถานการณ์ต่างๆ เช่น โรคกลัวการเข้าสังคม ทั้งนี้ มีกลุ่มอาการกลัวการอยู่ท่ามกลางที่สาธารณะหรือกลัวการอยู่ในที่ชุมชน จนไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ และได้รับความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งก็คือโรค Agoraphobia หรือโรคกลัวที่ชุมชนนั่นเอง ในบทความนี้ เราจะพาไปรู้จักกับโรคนี้กันให้มากขึ้น โรค Agoraphobia คือ อะไร ? มีอาการอย่างไร ? โรคกลัวที่ชุมชนคล้ายกับโรคกลัวการเข้าสังคมหรือไม่ ? มีวิธีการรักษาอย่างไรบ้าง ไปอ่านกันเลยค่ะ
Agoraphobia คือ อะไร ?

Agoraphobia หรือโรคกลัวที่ชุมชน/ โรคกลัวสถานการณ์/ โรคกลัวที่โล่ง เป็นโรควิตกกังวลชนิดหนึ่ง ซึ่งมีจุดเด่นที่สังเกตเห็นได้ชัดคือ จะมีความรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ ทำให้เกิดความวิตกกังวลอย่างรุนแรง และยังรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองได้ หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น และรู้สึกไม่สบายใจเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานที่ที่คนเยอะ เช่น การเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน การไปห้างสรรพสินค้า การเข้าคิว การอยู่ท่ามกลางคนเยอะๆ ทั้งนี้ โรคกลัวที่ชุมชนไม่ได้เกิดความกลัวเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่มีคนจำนวนมากเท่านั้น แต่อาจเกิดความรู้สึกวิตกกังวลเมื่ออยู่ในสถานที่ปิด เช่น ในลิฟต์ ในห้องปิด รวมถึงการถูกทิ้งให้อยู่คนเดียวในสถานที่ที่หนีลำบาก เช่น ในรถ ในบ้าน เป็นต้น
อาการของโรค Agoraphobia คืออะไร ?
อาการของคนที่เป็นโรค Agoraphobia อาจมีความแตกต่างและมีความรุนแรงมากน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละคน แต่โดยทั่วไปแล้ว มักจะมีอาการดังนี้
- เมื่ออยู่ในที่ชุมชน จะมีอาการทางกายภาพคือ มีภาวะแพนิค หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ รู้สึกร้อน เหงื่อออก อาจมีการเจ็บหน้าอก ตัวสั่น รู้สึกวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ ไม่มีแรง เป็นต้น
- มักจะหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความรู้สึกตื่นกลัว เช่น หลีกเลี่ยงการใช้ขนส่งสาธารณะ การต่อคิว การไปห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่เปิดโล่ง เช่น บนสะพาน ลานจอดรถ ลานกว้างต่างๆ
- รู้สึกกลัวและหลีกเลี่ยงการอยู่ท่ามกลางผู้คนจำนวนมาก
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ปิดหรือคับแคบ เช่น ลิฟต์ ห้องปิด โรงภาพยนตร์ เป็นต้น
- รู้สึกกลัวเมื่อต้องอยู่บ้านคนเดียวเป็นเวลานาน
- กลัวการออกจากบ้านคนเดียว หากต้องไปที่สาธารณะจะต้องมีคนไปด้วย บางคนมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นไม่สามารถออกจากบ้านได้เลย
- เมื่อต้องเข้าสังคม จะรู้สึกอึดอัด ไม่สบายใจ ไม่มีความสุข รู้สึกเครียด และอยากหลีกหนีจากสถานการณ์นั้น
เกร็ดสุขภาพ : ความแตกต่างระหว่างโรคกลัวการเข้าสังคมกับ Agoraphobia คือ โรคกลัวการเข้าสังคมจะกลัวการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน มักจะรู้สึกว่าถูกจับจ้องและกำลังถูกจับผิดอยู่ ทำให้เกิดความรู้สึกประหม่า วิตกกังวล ไม่สบายใจ และอึดอัดใจเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน แต่โรคกลัวที่ชุมชนหรือ Agoraphobia ผู้ป่วยจะรู้สึกกลัวและวิตกกังวลเนื่องจากรู้สึกว่าตนเองไม่ปลอดภัยในที่สาธารณะ และมีความคิดกังวลว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น จะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และจะตกอยู่ในอันตราย ซึ่งกลุ่มอาการของสองโรคนี้ เป็นความกลัวที่เกิดจากสาเหตุแตกต่างกัน แม้จะมีลักษณะอาการที่หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่สาธารณะเหมือนกันก็ตาม
สาเหตุของโรค Agoraphobia คืออะไร ?
สาเหตุของการเกิดโรคกลัวที่ชุมชนหรือ Agoraphobia นั้น มีอยู่หลายสาเหตุด้วยกัน ซึ่งทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าเกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง แต่ได้มีการคาดการณ์ไว้ว่า สามารถเกิดจากหลายปัจจัยด้วยกัน ดังนี้
- เป็นโรคที่พัฒนามาจากโรค Panic Disorder โดยคนที่เป็นโรคแพนิคอยู่แล้ว อาจจะสามารถพัฒนาไปเป็นโรคกลัวที่ชุมชนได้ด้วย หากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทำให้เกิดอาการแพนิคได้ เช่น เมื่อต้องออกไปพูดในที่สาธารณะ หรือเมื่อเจอเหตุการณ์ชุลมุนในที่ชุมชนและเกิดความกลัวจนมีอาการแพนิค ซึ่งสามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่าง Agoraphobia ได้ รวมถึงอาการป่วยทางสุขภาพจิตอื่นๆ ที่สามารถก่อให้เกิดโรคนี้ได้เช่นกัน เช่น โรคซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ อาการ phobia อื่นๆ โรคกลัวการเข้าสังคม และโรควิตกกังวล แบบทดสอบทางสุขภาพจิตต่างๆ จะช่วยแยกกลุ่มอาการของโรคต่างๆ ได้ชัดเจนมากขึ้น
- มีประสบการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจในวัยเด็ก เช่น การสูญเสียบุคคลสำคัญในครอบครัว การถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกทำร้ายร่างกาย เป็นต้น
- อยู่ในความสัมพันธ์ที่ไม่มีความสุข หรือเป็น Toxic Relationship มีการถูกข่มขู่ บังคับและบงการ ทำให้เกิดความกลัวอย่างรุนแรง
- เป็นเหยื่อของอาชญากรรมรุนแรงหรือเคยถูกทำร้ายร่างกายจากโจรในขณะที่อยู่ในที่สาธารณะหรืออยู่นอกบ้าน
- มีการใช้แอลกอฮอล์หรือสารเสพติด
จะทราบได้อย่างไรว่าตัวเองเป็นโรค Agoraphobia
สำหรับผู้ที่มีอาการวิตกกังวลและหวาดกลัวการอยู่ในที่สาธารณะอยู่บ่อยครั้ง และกำลังสงสัยว่าตนเองมีความผิดปกติและเข้าข่ายเป็นโรคกลัวที่ชุมชนหรือไม่ แพทย์อาจนำเอาหลักเกณฑ์การวินิจฉัยความผิดปกติทางจิตที่เรียกว่า Statistical Manual of Mental Disorders (DSM-5) ซึ่งจัดทำโดยสมาคมจิตแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกามาใช้เป็นแนวทางวินิจฉัยโรคควบคู่กับวิธีอื่นๆ ทั้งนี้ โรคกลัวที่ชุมชน โรคกลัวอื่นๆ หรือโรควิตกกังวล แบบทดสอบต่างๆ จะสามารถวินิจฉัยได้เบื้องต้น สำหรับโรค Agoraphobia แพทย์อาจทำการประเมินเบื้องต้นด้วยการสอบถามอาการที่เกิดขึ้น ถ้ามีอาการดังต่อไปนี้ ก็อาจจะต้องทำการวินิจฉัยอย่างละเอียดต่อไป เพราะมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้ได้ โดยมีคำถามคือ
- รู้สึกเครียดและกดดันเมื่อต้องออกจากบ้าน
- ไม่สามารถออกจากบ้านตามลำพังได้ ต้องมีคนไปด้วยเสมอ
- มีอาการตื่นกลัวเมื่อต้องใช้บริการขนส่งมวลชน ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ รถไฟฟ้า รถตู้ รถบัส แม้ว่าจะเป็นระยะทางสั้นๆ ก็ตาม
- ฝากคนอื่นซื้อของเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน
- รู้สึกอึดอัดไม่สบายใจเมื่อต้องอยู่ในสถานปิด เช่น ในลิฟต์ ในโรงภาพยนตร์ ในโรงละคร
- รู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่อต้องอยู่ท่ามกลางชุมชนหรือที่สาธารณะต่างๆ
ถ้าหากมีอาการดังกล่าวมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป ก็อาจจะต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมว่าเป็นโรคกลัวที่ชุมชนหรือโรควิตกกังวลทางสังคมอื่นๆ ซึ่งจะต้องทำการวินิจฉัยทางการแพทย์โดยละเอียดต่อไป จึงจะสามารถระบุได้ว่าเป็นโรค Agoraphobia หรือโรคทางสุขภาพจิตอื่นๆ ที่มีกลุ่มอาการคล้ายกัน
วิธีการรักษาโรค Agoraphobia คืออะไร ?
สำหรับการรักษาโรคกลัวที่ชุมชนหรือ Agoraphobia นั้น อาจจะต้องใช้หลากหลายวิธีควบคู่กันไป เช่นเดียวกับการรักษาความเจ็บป่วยทางสุขภาพจิตอื่นๆ โดยมีวิธีรักษาดังนี้
- รักษาโดยวิธีจิตบำบัด โดยการใช้วิธีการบำบัดพฤติกรรมการรู้คิดหรือ Cognitive Behavioral Therapy (CBT) เพื่อเรียนรู้วิธีรับมือกับความรู้สึกกลัวที่เกิดขึ้น โดยการพูดคุยกับนักจิตบำบัดเพื่อให้ผู้ป่วยได้ปรับวิธีการคิดและเปลี่ยนพฤติกรรมในการเผชิญสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความกลัว – ความวิตกกังวล และรับมือกับสถานการณ์นั้นๆ ได้ดีขึ้น
- รักษาด้วยการใช้ยา เช่น ยาต้านอาการซึมเศร้าที่จะช่วยลดความวิตกกังวลและรักษาอาการแพนิคได้ ร่วมกับยาคลายกังวล เพื่อบรรเทาอาการวิตกกังวลที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความกลัว ทั้งนี้ ควรใช้ในปริมาณที่แพทย์แนะนำเท่านั้น หากใช้มากเกินไปจะทำให้เสพติดได้
- รักษาด้วยการปรับพฤติกรรม เช่น การพยายามเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความกลัว ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพื่อเป็นการค่อยๆ ปรับพฤติกรรมตัวเองให้รับมือกับความกลัวได้ดีขึ้น หรือปรับพฤติกรรมโดยการเบี่ยงเบนความสนใจตนเองในขณะที่มีอาการแพนิค เช่น ใช้วิธีกำหนดลมหายใจเพื่อให้มีสมาธิอยู่กับตัวเอง หรือใช้วิธีทำให้ใจเย็นขึ้น เพื่อลดอาการตื่นตระหนกที่เกิดขึ้น
เกร็ดสุขภาพ : ในต่างประเทศได้มีการทำการศึกษาวิจัยการใช้เทคโนโลยี VR (Virtual Reality) หรือเทคโนโลยีการจำลองสภาพแวดล้อมเสมือนจริงเพื่อใช้บำบัดผู้ป่วยโรค Agoraphobia โดยการจำลองสถานการณ์เสมือนว่าผู้ช่วยกำลังออกไปนอกบ้าน และเผชิญสถานการณ์ต่างๆ ตามระดับความยาก – ง่ายที่แตกต่างกันไป โดยศาสตราจรย์แดเนียล ฟรีแมน หัวหน้านักวิจัยจากแผนกจิตเวช มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด กล่าว่า การบำบัดโดยการใช้ VR จะช่วยให้ผู้ป่วยสร้างความมั่นใจและบรรเทาความกลัวได้ และช่วยให้เผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เคยหลีกเลี่ยงมาก่อนได้
โรค Agoraphobia คือโรคทางสุขภาพจิตชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับอาการป่วยทางสุขภาพจิตอื่นๆ ที่จะต้องได้รับการรักษา ที่สำคัญคือ คนใกล้ตัวควรมีความเข้าใจในตัวผู้ป่วยเป็นอย่างมาก และพร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างเต็มที่ เนื่องจากผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะไม่สามารถไปไหนมาไหนด้วยตัวเองหรืออยู่ตามลำพังในที่สาธารณะได้ การดูแลเอาใจใส่ผู้ป่วยด้วยความเข้าใจ ให้กำลังใจผู้ป่วย จะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น และทำให้มีอาการดีขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ ตัวผู้ป่วยเองก็ไม่ควรกดดันตัวเองหรือกล่าวโทษตัวเอง เพราะการเจ็บป่วยทางสุขภาพนั้น ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพกายและใจ ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน นอกจากการรักษาทางการแพทย์แล้ว การดูแลตัวเองด้วยการผ่อนคลายอารมณ์ให้ไม่เครียด การทำสมาธิเพื่อควบคุมอารมณ์ให้มีความมั่นคงมากขึ้น รวมถึงการพักผ่อนอย่างเต็มที่และดูแลตัวเองแบบองค์รวม ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เราสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ และหายจากโรคนี้ได้ในที่สุด และถ้าใครสงสัยว่าตัวเองอาจจะมีอาการวิตกกังวลเมื่อต้องอยู่ในที่ชุมชน สามารถทำแบบประเมิน โรควิตกกังวล แบบทดสอบ เพื่อประเมินอาการตัวเองเบื้องต้นได้ที่เว็บนี้ค่ะ manarom.com
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : plus.thairath.co.th, nhs.uk, mayoclinic.org, my.clevelandclinic.org
Featured Image Credit : freepik.com/pvproductions
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ