“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
ปรึกษาสุขภาพจิต กับ App ไหนดี ? ที่ช่วยเยียวยาได้จริง ?!
หลายคนมีความเครียด ความกังวล จนทำให้มีปัญหาทางสุขภาพจิต แต่ยังไม่พร้อมที่จะเข้าไปพบหมอ หรือไม่สะดวกในการเดินทาง และอยากหาช่องทางในการปรึกษาจิตแพทย์เบื้องต้น เพื่อคัดกรองอาการของตนเองว่าเข้าข่ายในการเป็นโรคทางจิตเวชหรือไม่ เพื่อเตรียมตัวเข้ารับการรักษากับจิตแพทย์ต่อไป ซึ่งปัจจุบันก็มีแอพปรึกษาจิตแพทย์ฟรีหลายแอพด้วยกัน ที่ช่วยให้เราได้พูดคุยและปรึกษาผ่านช่องทางออนไลน์ที่ง่าย สะดวก และรวดเร็ว แถมยังเก็บข้อมูลของเราเป็นความลับอีกด้วย ใครที่กำลังรู้สึกว่ามีปัญหาทางสุขภาพใจ ลอง ปรึกษาสุขภาพจิต ฟรีจากแอพพลิเคชั่นต่างๆ เหล่านี้กันค่ะ
รวม 7 แอพ ปรึกษาสุขภาพจิต ใช้งานง่าย สะดวกสบาย เหมือนมีหมออยู่ใกล้ๆ
ปัจจุบันมีแอพพลิเคชั่นที่ใช้สำหรับการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตมากมาย ทั้งยังใช้งานง่าย สะดวกสบาย ไม่ต้องเดินทาง สามารถทำได้ที่ไหนก็ได้ และได้พูดคุยกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาโดยตรง ปัจจุบันปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตเป็นเรื่องใกล้ตัวที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน และเป็นเรื่องที่ควรใส่ใจ จึงมีแอพพลิเคชั่นสำหรับการปรึกษามากมาย มาดูกันค่ะว่าจะมีแอพฯ อะไรบ้าง
1. Mental Health Check Up
Mental Health Check Up เป็นแอพฯ ปรึกษาสุขภาพจิตที่จะช่วยประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้นของเรา และช่วยคัดกรองความเสี่ยงต่างๆ ต่อปัญหาทางจิตเวชได้ เป็นแอพพลิเคชั่นที่ทางกรมสุขภาพจิต ร่วมกับสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ได้พัฒนาขึ้นเพื่อให้ประชาชนและผู้มีความเสี่ยงต่อปัญหาทางสุขภาพจิตสามารถประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้นได้อย่างรวดเร็ว โดยสามารถประเมินอาการได้ 6 รายการ คือ ความเครียด ภาวะซึมเศร้า ภาวะสมองเสื่อม ดัชนีวัดความสุข พลังสุขภาพจิต และความฉลาดทางอารมณ์ หากลองทำแบบประเมินเสร็จแล้วมีระดับความเครียดหรือความเสี่ยงสูง ก็สามารถโทร.หาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้เลยทันที
เกร็ดสุขภาพ : หลายคนมีความกังวลใจว่ากำลังมีปัญหาสุขภาพจิตอยู่รึเปล่า ลองสำรวจตัวเองเบื้องต้นว่าเรามีอาการเหล่านี้บ่อยๆ หรือไม่ เช่น มีความกลัวหรือความกังวลมากเกินไป หรือมีความรู้สึกผิดอย่างรุนแรง อารมณ์แปรปรวนขึ้นลงสูงสุดและดิ่งสุด เอาตัวเองออกจากเพื่อน สังคม และการทำกิจกรรมต่างๆ มีความเหนื่อยล้า มีปัญหาในการนอนหลับ รู้สึกเศร้า มีสมาธิลดลง ไม่สามารถรับมือกับปัญหาหรือความเครียดในชีวิตประจำวันได้ มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกิน ทั้งกินมากขึ้นและกินน้อยลง และสุดท้ายคือคิดฆ่าตัวตาย ซึ่งหากใครที่มีอาการเหล่านี้มากกว่า 5 อย่าง และติดต่อกันนานเกินกว่า 2 สัปดาห์ แนะนำให้รีบไปพบจิตแพทย์เพื่อพูดคุยและปรึกษา เพื่อที่จะได้รักษาได้อย่างตรงจุด เพราะความเจ็บป่วยทางจิตใจส่วนใหญ่จะไม่ดีขึ้นเอง และหากไม่ได้รับการรักษาความเจ็บป่วยทางจิตใจอาจแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป และก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรงได้
2. Ooca
แอพพลิเคชั่นปรึกษาจิตแพทย์ออนไลน์ ที่เราสามารถปรึกษาสุขภาพจิตได้กับทั้งนักจิตวิทยาและจิตแพทย์โดยตรงผ่านการ Video call โดยสามารถทำได้ในบ้านหรือในห้องส่วนตัวของตัวเอง มีความเป็นส่วนตัว สะดวก ปลอดภัย ใช้งานได้ทั้งอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ เพียงเข้าไปที่แอพฯ ลงทะเบียนสมัครการใช้งาน จากนั้นก็ทำการนัดหมายจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาได้เลย และสามารถเลือกหัวข้อที่ต้องการจะปรึกษาได้ ซึ่งมีมากถึง 20 หัวข้อ และมีผู้ให้คำปรึกษามากกว่า 90 ราย ทั้งนี้ จะมีค่าบริการสำหรับการรับคำปรึกษา โดยจะเริ่มต้นที่ 1,000 บาท ในเวลา 30 นาทีค่ะ
3. Chiiwii
Chiiwii แอพพลิเคชั่นที่จะทำให้เราสามารถพูดคุยกับบุคลากรทางสุขภาพจิตได้ โดยให้บริการปรึกษาสุขภาพจิตทั้งตัวผู้ป่วยเอง รวมถึงคนดูแล และสมาชิกในครอบครัวด้วย ซึ่งจะมีทั้งรูปแบบฟรีและเสียเงินค่าบริการ ในส่วนของบริการฟรีจะมีแพทย์อาสาคอยให้คำปรึกษา และสามารถคุยกับหมอผ่านแอพฯ ได้เลยไม่ยุ่งยาก หรือหากใครต้องการรับปรึกษาผ่านทางเว็บไซต์ ก็สามารถทำได้เช่นกันค่ะ
4. Doctor Anywhere
อีกหนึ่งแอพพลิเคชั่นปรึกษาสุขภาพจิตที่บริการให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญ สามารถใช้งานได้ง่าย เพียงดาวน์โหลดแอพฯ และลงทะเบียนใช้งาน ก็สามารถเลือกได้เลยว่าจะปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตหรือจิตแพทย์ และหลังจากเลือกแล้ว ก็สามารถเลือกบุคลากรที่เราต้องการจะปรึกษาได้ด้วย โดยจะมีประวัติการทำงานของเจ้าหน้าที่คนนั้นๆ อย่างละเอียดซึ่งเราสามารถเลือกคนที่เหมาะสมกับการรับฟังปัญหาเรื่องนั้นๆ ของเราได้อย่างตรงจุดมากที่สุด ทั้งนี้ การใช้งานแอพฯ นี้จะมีค่าบริการ โดยเริ่มที่ 1,000 บาทต่อครั้งค่ะ
เกร็ดสุขภาพ : การเลือกใช้แอพพลิเคชั่นสำหรับการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตนั้นมีข้อดีคือ สะดวกในการใช้บริการ ไม่ต้องเดินทาง ประหยัดค่าใช้จ่าย ทั้งยังให้คำแนะนำปรึกษาได้ในเวลารวดเร็ว มีข้อมูลทางการแพทย์ต่างๆ เกี่ยวกับโรคทางสุขภาพใจ ให้เราเข้าใจได้อย่างถูกต้อง ผ่านการให้ความรู้และคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เราได้สังเกตตนเองเบื้องต้น และหากมีอาการที่น่ากังวล แพทย์ก็จะแนะนำให้เราไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล หรือมีการแนะนำในเรื่องของการบำบัดอาการต่างๆ เพื่อให้เรารู้สึกดีขึ้นได้ค่ะ อย่างเช่น ดนตรีบำบัด คือการบำบัดสุขภาพจิตได้อย่างหนึ่งเช่นกัน
5. Clicknic
แอพฯ ที่ให้บริการปรึกษาแพทย์แบบครบวงจร ตั้งแต่ปรึกษาอาการ ไปจนถึงบริการฝากซื้อยา เป็นการร่วมมือกันระหว่างกรมควบคุมโรคและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยเน้นไปที่บริการด้านสุขภาพกายแต่ก็สามารถปรึกษาสุขภาพจิตได้ด้วย เพราะมีทั้งแพทย์อาสาและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่คอยให้บริการในระบบออนไลน์ ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ทุกเวลาตลอด 24 ชั่วโมง สามารถกรอกข้อมูลอาการเบื้องต้นได้และรอการติดต่อกลับจากแพทย์ผ่านทางอีเมล เพื่อทำการปรึกษาผ่าน Video call หรือผ่านการคุยทางโทรศัพท์ต่อไปค่ะ
6. HD (HonestDocs)
อีกหนึ่งแอพพลิเคชั่นที่ปรึกษาสุขภาพจิตได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะเป็นแอพฯ และเว็บไซต์ที่รวบรวมทุกข้อมูลด้านสุขภาพทั้งกายและใจเอาไว้ ให้เราสามารถเข้ามาปรึกษาคุณหมอผ่านช่องทางออนไลน์ได้ฟรี ช่วยให้เราดูแลตัวเองและคนรอบข้างให้สุขภาพดีทั้งกายและใจ ด้วยข้อมูลสุขภาพที่ถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงมีคำแนะนำต่างๆ ทั้งรายละเอียดของโรค ยา และการปฏิบัติตัวเพื่อหลีกเลี่ยง และวิธีการรักษาร่างกายและจิตใจให้แข็งแรง ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็อุ่นใจเหมือนมีหมออยู่ใกล้ๆ ตลอดเวลา
7. Wysa
แอพพลิเคชั่นปรึกษาสุขภาพจิตที่มาในรูปแบบแชทบอทแต่สามารถพูดคุยและให้คำแนะนำได้เป็นอย่างดี ช่วยให้เราผ่อนคลายเหมือนเรากำลังนั่งคุยปรึกษาอยู่กับบุคลากรทางสุขภาพจิตจริงๆ ทั้งยังให้บริการฟรีและสามารถพูดคุยปรึกษาได้ตลอดเวลา ช่วยคลายความกังวลเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตของเรารู้สึกดีขึ้นได้ นอกจากนี้ การสนทนาทั้งหมดรวมถึงตัวตนของเราจะได้รับการคุ้มครองความเป็นส่วนตัว แต่แอพฯ นี้จะเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดจึงต้องมีทักษะด้านภาษาสักหน่อยค่ะ
แม้ว่าเราจะสามารถปรึกษาสุขภาพจิตผ่านแอพพลิเคชั่น หรือช่องทางออนไลน์ต่างๆ ได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การรู้จักและเข้าใจตนเอง รู้ว่าตนเองกำลังรู้สึกอย่างไร และมีอาการอะไรบ้างที่เข้าข่ายในการมีปัญหาทางสุขภาพจิต เพื่อที่เราจะได้หาวิธีในการบำบัดหรือรักษาได้อย่างถูกต้อง การปรับ mindset ของเราก็สำคัญ mindset คืออะไร คือความคิดภายในจิตใจของเรานั่นเอง เช่น บางคนมีอาการเครียดกับการทำงานผิดพลาด และส่งผลกับสภาวะจิตใจ แต่หากเรารับรู้และยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบ และเอาความผิดพลาดนั้นมาปรับปรุง แก้ไข ก็จะทำให้เราพัฒนาตนเองและความคิดได้ อาจทำให้ความเครียดนั้นค่อยๆ หายไป จนไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเลยก็ได้ค่ะ แต่ถ้าหากว่าอาการต่างๆ ยังไม่ดีขึ้น ก็ลองใช้แอพพลิเคชั่นปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตเหล่านี้ดูนะคะ เพื่อที่จะช่วยเยียวยาสภาพจิตใจของเราให้ดีขึ้นได้นั่นเอง
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : mayoclinic.org, chiiwiidoctor.com, doctoranywhere.com, wysa.io,ooca.co
Featured Image Credit : freepik.com/tirachardz
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ