“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
ท่านั่งสมาธิ ที่ถูกต้อง จริงๆ แล้วต้องนั่งแบบไหน ?!
ถ้าพูดถึงการทำสมาธิหรือการฝึกจิตใจสงบมั่นคงมากขึ้น หลายๆ คนก็คงจะคิดถึงการนั่งสมาธิมาเป็นอันดับแรกๆ ซึ่งการนั่งสมาธิเป็นการกำหนดลมหายใจ เพื่อให้ร่างกายและจิตใจได้ผ่อนคลายและเกิดสมาธิ เป็นการฝึกจิตใจในอีกรูปแบบหนึ่งที่สามารถทำได้ทุกเพศทุกวัยและทุกศาสนา และยังทำให้เราเลิกคิดฟุ้งซ่าน มีสติอยู่กับตัวเองอีกด้วยค่ะ แต่รู้ไหมคะว่า ท่านั่งสมาธิ ที่ถูกต้อง นั้นต้องทำอย่างไร ? และวิธีนั่งสมาธิที่ถูกต้องมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง มาดูกันเลยค่ะ
ท่านั่งสมาธิ ที่ถูกต้อง นั่งอย่างไร ?
สมาธิ แปลว่า การมุ่งมั่นกระทำด้วยความตั้งใจและแน่วแน่ของจิตใจเรา เกิดขึ้นครั้งแรกในภูมิภาคตะวันออก โดยศาสนาแรกที่มีการบันทึกเรื่องการทำสมาธิก็คือศาสนาฮินดูในประเทศอินเดีย และได้แพร่หลายไปยังศาสนาอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งการทำสมาธินั้น ทำได้หลายวิธี ทั้งนั่งสมาธิ เดินสมาธิ และนอนสมาธิก็ทำได้เช่นกัน แต่เราจะมาพูดถึงการนั่งสมาธิที่ทุกคนต่างคุ้นเคยกันดี สำหรับท่านั่งสมาธิพื้นฐานที่ถูกต้องนั้น มาดูกันว่าท่านั่งสมาธิ ที่ถูกต้อง จะต้องทำอย่างไร อันดับแรกคือ ต้องเลือกนั่งในบริเวณที่อากาศถ่ายเทสะดวก และทำตามขั้นตอนดังนี้
- นั่งขัดสมาธิโดยให้ขาไขว้กันทับฝ่าเท้า ส่วนมือวางซ้อนทับกัน
- นั่งหลังตรง หน้าตรง ไม่ก้มหรือเงยหน้า ให้ช่วงคอและหลังผ่อนคลาย
- หลับตาพร้อมๆ กับกำหนดลมหายใจเข้าออก
- การสูดหายใจให้หายใจลึกๆ ไปพร้อมกับการภาวนาตามลมหายใจเพื่อให้เกิดความสงบและสมาธิจากการจดจ่อลมหายใจ
ท่านั่งสมาธิ ที่ถูกต้อง จะต้องนั่งอย่างสมดุลและผ่อนคลาย เวลานั่งต้องไม่รู้สึกเกร็งหรือฝืน ส่วนเรื่องการวางมือหากไม่ถนัดวางมือซ้อนกันอาจใช้วิธีวางฝ่ามือไว้ที่เข่าทั้งสองข้างก็ได้ หลังจากกำหนดท่านั่งได้แล้ว อย่าลืมทำใจให้โล่งว่าง ผ่อนคลาย ปล่อยเรื่องราวทุกอย่างไปไม่ว่าจะเรื่องงาน เรื่องเรียน หรือเรื่องส่วนตัว แล้วจึงเริ่มหายใจเข้าออกไปพร้อมกับการภาวนาเพื่อให้เรามีสมาธิอยู่ที่ลมหายใจของตัวเอง
เกร็ดสุขภาพ : ตามหลักพุทธแล้วแบ่งการนั่งสมาธิออกเป็น 3 แบบ ได้แก่ ขณิกสมาธิหรือการทำสมาธิชั่วระยะเวลาสั้นๆ เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นฝึกทำสมาธิหรือคนที่ต้องการสร้างสมาธิระหว่างเรียนหรือทำงาน อุปจารสมาธิหรือการทำสมาธิที่มีระยะเวลานานขึ้น เป็นผู้ที่กำลังจะเข้าสู่การได้ฌาณตามความเชื่อทางพระพุทธศาสนา และอัปปนาสมาธิหรือการทำสมาธิขั้นแน่วแน่ เป็นขั้นที่เชื่อว่าจะเข้าถึงฌาน ถือว่าเป็นการนั่งสมาธิขั้นสูงสุดค่ะ
วิธีนั่งสมาธิที่ถูกต้องใน 5 ขั้นตอน
เมื่อรู้ท่านั่งสมาธิ ที่ถูกต้องกันแล้ว ต่อมาก็คือ วิธีนั่งสมาธิที่ถูกต้อง เพราะนอกจากการจัดท่านั่งสมาธิให้เหมาะสมและถูกต้องตามหลักแล้ว การกำหนดลมหายใจ หรือกำหนดความตั้งใจแน่วแน่เพื่อการนั่งสมาธินั้นก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพื่อที่จะได้นั่งสมาธิให้เกิดประโยชน์กับตัวเองมากที่สุด มาดูกันค่ะว่า วิธีนั่งสมาธิที่ถูกต้องนั้น จะต้องทำอย่างไรบ้าง
1. จัดท่านั่งให้ถูกต้อง
ท่านั่งสมาธิ ที่ถูกต้องคือการนั่งตัวตรง โดยให้หลังและศีรษะตั้งตรงเพราะเชื่อกันว่าร่างกายสัมพันธ์กับจิตใจ การนั่งตัวตรงจะทำให้เรามีสมาธิไปกับการกำหนดลมหายใจมากขึ้น แต่ก็อย่าบังคับตัวเองจนกลายเป็นการเกร็ง เพราะการนั่งแบบสบายๆ ให้ร่างกายผ่อนคลายเป็นวิธีนั่งที่ดีที่สุดค่ะ (หรือบางคนอาจเลือกใช้วิธีนอนสมาธิแทนก็ได้นะ)
2. กำหนดลมหายใจ
ในศาสนาพุทธเชื่อว่าการกำหนดลมหายใจของเราหมายถึงการกำหนดสติ ทำให้จิตของเราอยู่กับปัจจุบันและไม่ฟุ้งซ่าน หลังจัดท่านั่งสมาธิ ที่ถูกต้องได้แล้วให้หลับตาและเริ่มหายใจเข้า – ออกลึกๆ ยาวๆ ปล่อยให้ลมหายใจเป็นไปตามธรรมชาติ
3. ภาวนาตามลมหายใจ
การภาวนาตามลมหายใจเป็นตัวช่วยให้เราจดจ่อและมีสมาธิกับการหายใจ ไม่วอกแวก ไม่ฟุ้งซ่าน มีสติและรู้ว่าปัจจุบันร่างกายของเราเป็นอย่างไร เมื่อไรที่รู้สึกว่าความคิดเริ่มฟุ้ง ให้ดึงกลับมาจดจ่ออยู่กับการกำหนดลมหายใจตามเดิม การภาวนาสามารถเลือกใช้คำได้ทั้งพุทธ – โธ, ยุบหนอ – พองหนอ หรือบางคนอาจใช้วิธีนับลมหายใจก็ได้
4. กำหนดจิต ไม่ฟุ้งซ่าน
การที่จิตของเราวอกแวกไปที่อื่นนั้นไม่ใช่เรื่องผิด แต่เมื่อความคิดลอยฟุ้งเมื่อไรให้ค่อยๆ ดึงจิตกลับมาจดจ่ออยู่กับลมหายใจ ไม่ต้องฝืนกลับมาทันทีเพราะจะยิ่งทำให้ฟุ้งซ่านจนเสียสมาธินะคะ
5. อยู่กับปัจจุบัน
อารมณ์ทำให้เกิดเรื่องราวต่างๆ ในใจ ทำให้จิตฟุ้ง ดังนั้นค่อยๆ จัดการกับอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วยการจดจ่ออยู่ที่การภาวนาตามลมหายใจและอยู่กับปัจจุบันของตัวเองเพื่อไม่ให้เรากลับไปคิดถึงเรื่องที่สุข เศร้า หวาดกลัว หรือเรื่องที่ก่อกวนอารมณ์ภายในใจอีก สำหรับผู้ที่เริ่มต้นใหม่ อาจจะลองนั่งสมาธิเป็นเวลาสั้นๆ ประมาณ 10 นาทีแล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็ได้ค่ะ
ข้อดีของการนั่งสมาธิคืออะไร ?
จะเห็นได้ว่าการทำสมาธิหรือการนั่งสมาธินั้น คือการทำจิตให้ว่าง เป็นการทำจิตใจให้สงบ ไม่ฟุ้งซ่าน ในขณะเดียวกัน ร่างกายทุกส่วนก็ผ่อนคลาย ทำให้จังหวะของคลื่นสมองช้าลง อัตราการเต้นของหัวใจลดลง ทั้งยังทำให้เรามีสติมากขึ้นด้วย ผลของการนั่งสมาธิเป็นประจำจะช่วยในเรื่องสุขภาพจิตของเรา ทำให้เป็นคนที่มีจิตใจเยือกเย็น ไม่ใจร้อนวู่วาม มีความรอบครอบมากขึ้น อารมณ์มั่นคงมากขึ้น และยังทำให้ความจำดีขึ้นด้วย ทั้งนี้ การนั่งสมาธิยังช่วยลดความเครียดจากการทำงานหรือจากการเรียนหนักได้อีกเช่นกัน เพราะจะทำให้ความคิดจิตใจของเราโปร่งโล่งสบายมากขึ้นด้วยการมีสติอยู่กับการกำหนดลมหายใจ และทำให้ระดับสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับความเครียดลดลง ส่งผลทำให้จิตใจแจ่มใสมากขึ้น และช่วยลดความวิตกกังวลได้
เคล็ดลับเพิ่มเติมในการนั่งสมาธิ
- เลือกสถานที่ที่โล่งโปร่ง มีอากาศถ่ายเทและเงียบสงบ เพื่อลดการรบกวนขณะเราทำสมาธิ หรือจะใช้วิธีเปิดเพลงบรรเลงสำหรับทำสมาธิหรือเปิดฟังธรรมะคลายเครียดคลอไปเบาๆ ด้วยก็ได้
- หากเริ่มต้นฝึกสมาธิใหม่ๆ อาจเริ่มจากการนั่งระยะเวลาสั้นๆ 5 – 10 นาที จากนั้นจึงเพิ่มระยะเวลาขึ้นเรื่อยๆ จนรู้สึกว่าจิตนิ่ง อย่าบังคับหรือฝืนตัวเอง เพราะยิ่งฝืนก็ยิ่งทำให้ไม่มีสมาธิ ส่วนการนั่งแบบต่อเนื่องก็ไม่ควรเกิน 25 นาที แม้จะนั่งในท่านั่งสมาธิ ที่ถูกต้องก็ตาม เพราะอาจทำให้ร่างกายเมื่อยล้าจนเสียสมาธิได้นั่นเอง
- ทำจิตใจให้มีความสุขไปกับการนั่งสมาธิเพื่อปรับให้การทำสมาธิเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของเราโดยการเลือกท่านั่งสมาธิ ที่ถูกต้อง และผ่อนคลายร่างกายให้มากที่สุด จากนั้นจึงฝึกทำสมาธิเป็นประจำ อาจต้องใช้ความอดทนในช่วงแรกแต่หากผ่านไปได้เราก็จะสามารถนั่งสมาธิได้แบบที่ต้องการแล้วค่ะ
เกร็ดสุขภาพ : การใช้เพลงบรรเลงหรือการเปิดธรรมะคลอไปด้วยระหว่างนั่งสมาธิไม่ใช่เรื่องผิดค่ะ ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละคน หรือบางคนอาจจะเลือกเปิดเพลงเสียงธรรมชาติ อย่างเช่นเสียงฝนตกหรือเสียงน้ำไหล เสียงเหล่านี้ก็ช่วยทำให้ใจของเราสงบและมีสมาธิมากขึ้นได้เช่นกัน
การทำท่านั่งสมาธิให้ถูกต้องนั้นมีความสำคัญมาก เพราะท่านั่งคือพื้นฐานของการทำสมาธิที่ดี หากเรานั่งได้ถูกต้องร่างกายก็จะผ่อนคลาย จิตใจก็จะไม่ฟุ้งซ่าน ทำให้เกิดสมาธิได้ง่ายขึ้น มีประโยชน์ทั้งในด้านการเรียน การทำงาน ทำให้เราเข้าใจจิตใจตัวเองและสภาวะอารมณ์ปัจจุบันของตัวเองมากขึ้น ทั้งยังเป็นวิธีทำให้ใจเย็นมากขึ้นด้วย ใครอยากคลายเครียด อยากหันกลับมาดูแลจิตใจของตัวเองก็ลองนำเคล็ดลับที่เรานำมาฝากไปฝึกกันได้เลยนะคะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : shawpat.or.th, thairath.co.th, science2.cmru.ac.th
Featured Image Credit : freepik.com/senivpetro
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ