“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
ความเห็นอกเห็นใจ ทำไมต้องมี ? มีแล้วชีวิตดี มีความสุขมากขึ้นจริงหรือ ?!
เราอาจเคยได้ยินคำพูดในสังคมเกี่ยวกับ ความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นหลักพื้นฐานของการเป็นมนุษย์ที่ควรมี เมื่อเราอยู่ร่วมกันในสังคม การรู้สึกและเกิดการเห็นอกเห็นใจกันนั้นจะทำให้เราเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของคนอื่น ทั้งยังมองเห็นสิ่งต่างๆ จากมุมมองของพวกเขาได้อย่างชัดเจนมากขึ้น และช่วยให้เราสามารถจินตนาการว่าถ้าหากตัวเราอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากแบบนั้น เราจะรู้สึกยังไง ทำให้เราเข้าใจกันและกันมากขึ้น ซึ่งการเห็นใจผู้อื่นเป็นนิสัยที่เราสามารถปลูกฝังเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเราเองได้ และก่อให้เกิดสิ่งดี ๆ ต่อความสัมพันธ์กับผู้คนในสังคม และเพื่อให้ทุกคนเข้าใจกันมากขึ้น ในบทความนี้ เพื่อสุขภาพจะพาไป รู้จักกับ empathy คือจิตวิทยา เรื่องความเห็นอกเห็นใจ ไปเข้าใจกันว่า ทำไมเราต้องมี มีแล้วชีวิตเราจะดีขึ้น มีความสุขขึ้นได้ยังไงกันบ้างค่ะ
Empathy คือ จิตวิทยา ความเห็นอกเห็นใจ ที่มีแล้วจะช่วยให้ชีวิตดีขึ้นจริงหรือ ?!
ความเห็นอกเห็นใจเป็นพลังแห่งการเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์ที่ลึกซึ้งและทรงพลัง เป็นความสามารถอันประเสริฐในการรับรู้และเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นราวกับว่าเราก็กำลังสัมผัสกับประสบการณ์นั้นด้วยตัวเอง มันมิใช่เพียงแค่การรับฟัง หากแต่เป็นการเปิดใจให้กว้างเพื่อสัมผัสถึงความทุกข์และความหวังของเพื่อนมนุษย์ด้วยสำนึกแห่งความรัก ความเข้าใจที่แท้จริงนี้จะช่วยสร้างสะพานแห่งความเข้าใจ บรรเทาความโดดเดี่ยว และนำพาสังคมไปสู่ความเอื้ออาทรที่งดงามและลึกซึ้ง เรามาทำความเข้าใจเรื่องนี้กันให้มากขึ้นกันนะคะ
ความเห็นอกเห็นใจ คืออะไร ?
คำว่า “Empathy” ในภาษาอังกฤษ หมายถึง ความเห็นอกเห็นใจ หรือ ความสามารถในการรับรู้ และเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น Empathy เป็นทักษะสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ และการสื่อสารระหว่างบุคคล เมื่อเรามีความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น เราจะสามารถเข้าใจมุมมอง และประสบการณ์ของพวกเขาได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เกิดความเข้าใจและสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบข้างมากขึ้น การพัฒนา Empathy คือ จิตวิทยา สำคัญ ที่ไม่เพียงแค่จะทำให้ชีวิตส่วนตัวดีขึ้นแล้ว แต่ยังเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานเป็นทีม การให้บริการลูกค้า และในอาชีพที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างสม่ำเสมอด้วย
ความเห็นอกเห็นใจ มีประโยชน์ต่อตัวเอง และผู้อื่นอย่างไรบ้าง ?
เมื่อเราเห็นคนอื่นทุกข์ หากเรามองผ่านก็อาจจะไม่ได้รู้สึกลึกลงไปถึงสถานการณ์เหล่านั้น แต่หากเรานึกภาพตัวเองอยู่ในสถานที่หรือสถานการณ์ของคนอื่นที่กำลังเผชิญกับความทุกข์หรือความยากลำบากแล้วเกิดความรู้สึกสงสารหรือเห็นใจ นั่นหมายความว่าเรากำลังเห็นอกเห็นใจผู้อื่นอยู่
คำว่า “เห็นอกเห็นใจ” นั้น นักวิจัยด้านอารมณ์โดยทั่วไปให้คำจำกัดความว่า การเอาใจใส่และความเห็นใจผู้อื่นนั้นเป็นความสามารถในการรับรู้อารมณ์ของผู้อื่น ควบคู่ไปกับความสามารถในการจินตนาการว่าคนอื่นกำลังคิดหรือรู้สึกอย่างไร ซึ่งนักวิจัยร่วมสมัยได้แบ่งความแตกต่างเอาไว้ 2 ประเภท คือ
- ความเห็นอกเห็นใจทางอารมณ์ หมายถึง ความรู้สึกที่เราได้รับจากการตอบสนองต่ออารมณ์ของผู้อื่น ซึ่งอาจรวมถึงการสะท้อนความรู้สึกของบุคคลนั้น หรือเพียงแค่รู้สึกเครียดเมื่อต้องพบความกลัวหรือความวิตกกังวลของอีกฝ่าย
- ความเห็นอกเห็นใจในการรับรู้ หรือบางครั้งเรียกว่า การรับรู้มุมมองของผู้อื่น หมายถึง ความสามารถของเราในการระบุและเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่นว่ากำลังคิดหรือรู้สึกอย่างไร
ในขณะที่คนทั่วไปมักจะปรับตัวให้เข้ากับความรู้สึกและอารมณ์ของตัวเองได้ดี แต่การเข้าไปในสถานการณ์ของคนอื่นอาจเป็นเรื่องที่ยากขึ้นเล็กน้อย ซึ่งความสามารถในการรู้สึกเห็นอกเห็นใจนั้น ทำให้ผู้คนสามารถเข้าใจอารมณ์ที่คนอื่นกำลังรู้สึกอยู่ได้ และสำหรับหลาย ๆ คนการเห็นคนอื่นเจ็บปวดและตอบสนองด้วยความเฉยเมย หรือแม้กระทั่งการเป็นศัตรูกันโดยสิ้นเชิงนั้น นั่นคือการที่เขาเหล่านั้นไม่สามารถเข้าใจได้ และเท่ากับว่าคนคนนั้นยังไม่มีความเห็นใจผู้อื่นนั่นเอง
เกร็ดสุขภาพ : เมื่อคุณร้องไห้ขณะดูฉากที่เศร้ามากในภาพยนตร์ นั่นหมายถึงคุณกำลังรู้สึกมีความเห็นอกเห็นใจทางด้านอารมณ์ ในขณะที่ความเห็นใจทางด้านการรับรู้จะเกี่ยวข้องกับความคิดมากกว่าความรู้สึก เช่น ในขณะที่เมื่อคุณพูดคุยกับเพื่อนเกี่ยวกับอาการ burn out syndrome คือสิ่งที่รบกวนจิตใจคุณ และรู้สึกว่าเพื่อนเข้าใจเรา นั่นเป็นเพราะเพื่อนของคุณกำลังใช้ความเห็นอกเห็นใจในการรับรู้
สัญญาณอะไรบ้าง ? ที่บอกว่าคุณเป็นคนที่มี Empathy
มีสัญญาณบางอย่างที่แสดงว่าคุณมีแนวโน้มที่จะเป็นคนที่มีความเห็นใจผู้อื่น ได้แก่
- คุณสามารถรับฟังสิ่งที่คนอื่นพูดได้จริง ๆ
- ผู้คนมักจะบอกคุณเกี่ยวกับปัญหาของพวกเขา
- คุณสามารถรับรู้ได้ว่าคนอื่นรู้สึกอย่างไร
- คุณมักจะคิดว่าคนอื่นรู้สึกอย่างไรในตอนนี้
- ผู้คนมักจะมาหาคุณเพื่อขอคำแนะนำ
- คุณมักจะรู้สึกหนักใจกับเหตุการณ์ที่น่าเศร้า
- คุณพยายามช่วยเหลือผู้อื่นที่มีความทุกข์
- คุณห่วงใยคนอื่นอย่างสุดซึ้ง
การเห็นอกเห็นใจ สำคัญแค่ไหน ?
การเอาใจใส่ต่อผู้คนอย่างมากจะทำให้คุณมีความเห็นใจและเป็นห่วงความเป็นอยู่และความสุขของผู้อื่น ซึ่งการที่มนุษย์ในสังคมรู้จักเห็นอกเห็นใจกันนั้น ไม่เพียงแต่เป็นการช่วยคลายทุกข์ให้คนเหล่านั้นเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์หลายประการต่อตนเองและสังคมอีกด้วย ได้แก่
- การเห็นใจจะช่วยให้ผู้คนสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่น ด้วยการทำความเข้าใจว่าผู้คนกำลังคิดและรู้สึกอย่างไร ผู้คนสามารถตอบสนองได้อย่างเหมาะสมในสถานการณ์ทางสังคม และจากการวิจัยพบว่าการมีความสัมพันธ์ทางสังคมมีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ที่ดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ
- การเห็นใจผู้อื่นจะช่วยให้คุณเรียนรู้ที่จะควบคุมอารมณ์ของตัวเอง และรู้จักการจัดการอารมณ์ การควบคุมอารมณ์เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คุณสามารถจัดการกับสิ่งที่คุณรู้สึกได้แม้ในช่วงเวลาที่มีความเครียดมากโดยไม่ต้องรู้สึกหนักใจ
- การเห็นใจจะนำไปสู่พฤติกรรมการช่วยเหลือ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อความสัมพันธ์ทางสังคม มนุษย์เป็นสัตว์สังคมโดยธรรมชาติ สิ่งที่ช่วยในความสัมพันธ์ของเรากับคนอื่น ๆ ก็เป็นประโยชน์ต่อเราเช่นกัน เพราะเมื่อผู้คนรู้สึกเห็นอกเห็นใจพวกเขามีแนวโน้มที่จะมีส่วนร่วมในพฤติกรรมทางสังคมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและสิ่งต่าง ๆ รวมถึงผู้คนรอบตัว
เกร็ดสุขภาพ : การเอาใจใส่หรือเห็นใจผู้อื่นนั้นวัดได้อย่างไร ? สามารถวัดได้ด้วยแบบสอบถามรายงานตนเอง เช่น ดัชนีปฏิกิริยาระหว่างบุคคล (IRI) หรือแบบสอบถามสำหรับความรู้ความเข้าใจและการเอาใจใส่ต่ออารมณ์ (QCAE) โดยทั่วไปแล้วสิ่งเหล่านี้จะให้ผู้คนระบุว่าพวกเขาเห็นด้วยกับข้อความที่วัดความเห็นอกเห็นใจประเภทต่าง ๆ มากน้อยเพียงใด เช่นข้อความที่ว่า “มันส่งผลกระทบต่อฉันมากเมื่อเพื่อนคนหนึ่งของฉันอารมณ์เสีย” ซึ่งนี่จะเป็นการวัดความเห็นใจทางอารมณ์ เป็นต้นค่ะ
อยากเป็นคนมี Empathy ต้องทำยังไงบ้าง ?
การพัฒนาความเห็นอกเห็นใจนั้น เป็นทักษะที่สามารถฝึกฝนได้ ต่อไปนี้เป็นบางวิธีที่จะช่วยให้คุณเป็นคนมีความเห็นอกเห็นใจมากขึ้น
- ฝึกการฟังอย่างตั้งใจ ให้ความสนใจกับสิ่งที่คู่สนทนากำลังพูดอย่างจริงจัง พยายามเข้าใจมุมมอง และความรู้สึกของเขาโดยไม่ตัดสินหรือแสดงความคิดเห็น
- สังเกตและใส่ใจภาษากาย สีหน้า และน้ำเสียงของผู้อื่น สิ่งเหล่านี้จะบ่งบอกความรู้สึกของเขาได้มาก
- พยายามเอาใจเขามาใส่ใจเรา ลองจินตนาการว่าถ้าเป็นตัวคุณเองจะรู้สึกอย่างไรกับสถานการณ์นั้น
- แสดงความเห็นใจและเข้าใจเมื่อมีโอกาส การสะท้อนถึงความรู้สึกของอีกฝ่ายช่วยให้เขารู้สึกได้รับการเข้าใจ
- ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมและประสบการณ์ที่แตกต่างจากตนเอง ความแตกต่างทางวัฒนธรรมมีผลต่อทัศนคติและมุมมองที่หลากหลาย
- อ่านหนังสือ ดูภาพยนตร์ หรือศึกษาเรื่องราวชีวิตของผู้คนที่มีประสบการณ์แตกต่างจากคุณ จะช่วยให้เข้าใจมุมมองของคนอื่นมากขึ้น
การมีความเห็นอกเห็นใจ ช่วยให้เรามีความสุขได้มากขึ้นมั้ย ?
การมีความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) นั้นสามารถช่วยเพิ่มความสุขให้กับตัวเราเองได้จริง ด้วยเหตุผลหลักๆ ดังนี้ค่ะ
- ทำให้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น เมื่อเรามีความเข้าใจ และเห็นอกเห็นใจผู้อื่นแล้ว ก็จะทำให้สามารถสร้างสัมพันธ์และความผูกพันที่ดีได้ง่ายขึ้น ซึ่งการมีสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบข้างนั้นเป็นปัจจัยสำคัญของความสุข
- ลดความขัดแย้งและการโต้เถียงกัน การที่เราเข้าใจมุมมองของฝ่ายตรงข้าม จะช่วยลดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นจากการเข้าใจผิดพลาด ส่งผลให้ความสัมพันธ์ราบรื่นขึ้น
- เสริมสร้างความมั่นใจในตนเอง การเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเป็นสิ่งที่ดีงาม ทำให้ตัวเราภูมิใจในตนเอง มีความมั่นใจและรู้สึกดีกับการกระทำของตนเอง
- ส่งผลให้มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น เมื่อเรามีความเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น จะทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจ ไม่ตัดสินใคร ไม่มีอคติ ลดความเครียดและความคับข้องใจได้
- ได้รับความรักและการยอมรับจากผู้อื่น เมื่อเราเป็นคนที่เข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น คนรอบข้างก็มักจะมองว่าเราเป็นคนดี น่ารัก ทำให้ได้รับความรักและการยอมรับมากขึ้น
การฝึกพัฒนาความเห็นอกเห็นใจต้องใช้เวลาและความตั้งใจ แต่จะทำให้คุณเป็นผู้ที่เข้าใจผู้อื่นมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสัมพันธ์และการสื่อสารที่ดีกับบุคคลรอบข้าง ความเห็นอกเห็นใจเป็นสิ่งสำคัญเพราะช่วยให้เราเข้าใจว่าคนอื่นกำลังรู้สึกอย่างไร และยังสามารถยับยั้งการกระทำทางสังคม หรือแม้กระทั่งนำไปสู่พฤติกรรมที่ผิดศีลธรรมได้ เช่น คนที่เห็นอุบัติเหตุทางรถยนต์และมีอารมณ์ร่วมที่เห็นเหยื่อเจ็บปวดอย่างรุนแรง ก็อาจมีโอกาสน้อยที่จะช่วยเหลือคน ๆ นั้น ในทำนองเดียวกันหากเรามีความเห็นใจเราจะรีบเข้าไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ สิ่งเหล่านี้นอกจากจะช่วยให้ทุกคนมีสุขภาพจิตดี และจรรโลงจิตใจแล้วยังช่วยจรรโลงสังคมอีกด้วยค่ะ
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ