“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
รวม วิธีให้กำลังใจ คุยกับคนเป็นซึมเศร้ายังไง ? ให้เข้าถึงใจ ไม่เผลอทำร้ายผู้ป่วย !
โรคซึมเศร้า เป็นความเจ็บป่วยทางจิตใจที่พบได้บ่อยในยุคปัจจุบัน และนี่ไม่ใช่แค่อาการอ่อนแอทางใจเท่านั้น แต่ยังนับว่าเป็นการป่วยทางกายอย่างหนึ่งที่เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองร่วมด้วย ซึ่งคนที่ไม่ได้เผชิญกับอาการป่วยย่อมไม่อาจเข้าใจผู้ป่วยได้อย่างถ่องแท้ และสิ่งสำคัญสำหรับคนใกล้ชิดของผู้ป่วยคือ การให้กำลังใจกับผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าอย่างเหมาะสม ซึ่งในบทความนี้ เพื่อสุขภาพ มีแนวทาง วิธีให้กำลังใจ คนที่เป็นโรคซึมเศร้ามาฝาก หากใครมีเพื่อนหรือคนใกล้ชิดป่วยเป็นโรคนี้ สามารถนำเทคนิคการพูดเหล่านี้ไปปลอบใจพวกเขา เพื่อให้คลายเศร้าและรู้สึกสบายใจมากขึ้นได้เลยนะคะ
แจกวิธีให้กำลังใจ สำหรับคนเป็นโรคซึมเศร้า ประโยคไหนที่เราพูดกับพวกเขาได้บ้าง ?
การพูดคุยกับผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามีความละเอียดอ่อน เพราะบางประโยคที่เราพูดกันแบบไม่คิดอะไรนั้น อาจไปกระทบกับจิตใจผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าที่คิดก็ได้ เช่น “ช่างมันเถอะ” “อย่าไปคิดมาก” “ลืมๆ มันไป” เพราะสำหรับผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าอาจหมายความได้ว่า การไม่สนใจสิ่งที่พวกเขาพูด ไม่อยากรับฟัง หรือเพิกเฉยกับปัญหาของพวกเขา ซึ่งนั่นจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ารู้สึกโดดเดี่ยวยิ่งกว่าเดิม เพราะฉะนั้น เรามาดูกันค่ะว่า มีวิธีให้กำลังใจ คนเป็นโรคซึมเศร้าได้อย่างไรบ้าง ที่จะทำให้รู้สึกดีขึ้นได้ ไปดูกันเลย
7 วิธีพูดให้กำลังใจ คนเป็นซึมเศร้า
1. ต้องการพื้นที่ส่วนตัวบ้างไหม ?
วิธีให้กำลังใจ คนเป็นโรคซึมเศร้าไม่จำเป็นต้องใช้คำพูดสวยงามมากมาย แค่ลองถามพวกเขาอย่างจริงใจว่าพวกเขาต้องการพื้นที่ส่วนตัวหรือไม่ อยากอยู่คนเดียวหรือเปล่า เพราะบางครั้งการอยู่คนเดียวก็ช่วยเยียวยาพวกเขาได้มากกว่าที่คิด และคนรอบข้างก็ต้องเข้าใจ และมอบพื้นที่ส่วนตัวให้กับพวกเขาพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายใจขึ้นด้วย แต่มีสิ่งที่ต้องระวังคือ ถ้าผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตาย หรือเคยฆ่าตัวตายมาก่อน ก็ไม่ควรปล่อยให้อยู่คนเดียวค่ะ เพราะอาจเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นได้
2. ฉันอยู่ตรงนี้เสมอนะ
หนึ่งในการให้กำลังใจคนเป็นโรคซึมเศร้าก็คือ การแสดงออกว่าเราพร้อมอยู่เคียงข้างเสมอเมื่อพวกเขาต้องการ การบอกว่าเราอยู่ตรงนี้ เป็นการบอกให้พวกเขารู้ว่าพวกเขาไม่ได้โดดเดี่ยว ไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว แต่ยังมีเราที่พร้อมรับฟังและอยู่ข้างๆ กัน ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต้องการ คือการที่มีคนรับฟังเขา และอยู่ข้างๆ เขาค่ะ
3. ฉันรักเธอ เธอเป็นคนสำคัญของฉันนะ
การบอกรักก็เป็นหนึ่งในเคล็ดลับให้กำลังใจคนเป็นโรคซึมเศร้า เพราะหลายครั้งที่พวกเขารู้สึกโดดเดี่ยว เหงา โกรธ หรือรู้สึกไม่เป็นที่ต้องการ รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า แค่เราบอกว่า “ฉันรักเธอนะ” หรือ “เธอเป็นคนสำคัญของฉัน” เพื่อให้เขารู้ว่าเราจะสนับสนุนเขาอยู่ข้างๆ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น และเขายังคงมีคุณค่าในตัวเอง เขามีความสำคัญ ยังมีคนที่รักเขาอยู่เสมอ เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว
4. ใช้เวลานานเท่าที่เธอต้องการได้เลย
สำหรับใครสักคนที่มีภาวะของการซึมเศร้า เมื่ออาการกำเริบ ไม่ว่าจะด้วยอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงจากการที่มีสิ่งมากระทบจิตใจ หรือเพราะสารเคมีในสมองแปรปรวน ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันง่ายๆ อย่างการทำอาหารยังเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเขา ดังนั้น วิธีให้กำลังใจ คนเป็นโรคซึมเศร้าที่ดีก็คือ บอกกับพวกเขาว่าใช้เวลาพักได้นานเท่าที่พวกเขาต้องการ เพื่อให้พวกเขามีการจัดการอารมณ์ของตัวเองได้ และพร้อมกลับมาใช้ชีวิตอีกครั้งโดยไม่เร่งรัดใดๆ
5. เธอไม่จำเป็นต้องทำสิ่งที่ไม่สบายใจ
อีกหนึ่งวิธีให้กำลังใจ คนเป็นโรคซึมเศร้าก็คือ การพยายามเข้าใจความกดดันที่พวกเขาต้องเผชิญอยู่ แม้เราจะไม่สามารถเข้าใจอารมณ์นั้นได้ทั้งหมด แต่เราสามารถแสดงให้พวกเขาเห็นว่าเรารับได้ อะไรที่พวกเขาไม่สบายใจและไม่อยากทำ ก็ให้บอกไปเลยว่าไม่จำเป็นต้องทำสิ่งนั้นและไม่ต้องฝืนตัวเอง เพราะบางครั้ง การบังคับให้คนซึมเศร้าทำในสิ่งที่พวกเขาไม่อยากทำ หรือไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาต้องการ อาจยิ่งทำให้พวกเขารู้สึกเศร้าหรือหดหู่ยิ่งกว่าเดิมค่ะ
6. ทุกอย่างจะดีขึ้น / ทุกอย่างจะเรียบร้อย เราเชื่อแบบนั้นนะ
การพูดประโยคง่ายๆ แต่ช่วยปลอบประโลมใจคนที่กำลังมีภาวะซึมเศร้าได้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อพวกเขาเกิดอาการซึมเศร้า ความวิตกกังวลจะพาให้คิดถึงกรณีที่แย่ที่สุดที่อาจเกิดขึ้นเสมอ ดังนั้นการปลอบว่าทุกอย่างจะดีขึ้นจึงช่วยให้พวกเขามีอารมณ์ที่สงบลงได้ แต่ต้องพูดอย่างจริงใจ พร้อมกับการใช้ภาษากายด้วยการตบไหล่ หรือตบหลังเบาๆ เป็นการให้กำลังใจ มองตาพวกเขา แล้วพูดว่า “ทุกอย่างจะดีขึ้นนะ เราเชื่อแบบนั้น แล้วเราจะอยู่ข้างๆ เธอเอง” อะไรแบบนี้ ก็อาจจะทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ารู้สึกดีขึ้นได้ค่ะ
7. เธอมีข้อดีในตัวเองเยอะแยะเลยนะ
ชี้ให้พวกเขาเห็นข้อดีของตัวเอง เพราะส่วนใหญ่แล้วพวกเขามักโทษตัวเองและรู้สึกผิดกับบางสิ่งบางอย่างเสมอ และทำให้รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า รู้สึกว่าไม่ควรมีพวกเขาอยู่บนโลกใบนี้ และอาจนำไปสู่การพยายามฆ่าตัวตาย ดังนั้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น อย่าลืมบอกพวกเขาว่าพวกเขาเป็นคนดี พวกเขามีข้อดีในตัวเองมากมาย และพวกเขาเป็นคนสำคัญ เป็นที่ต้องการของคนอื่นๆ และมีคนที่เห็นค่าของพวกเขาเสมอ ซึ่งนั่นจะทำให้คนที่มีภาวะซึมเศร้ารู้สึกดีมากขึ้น และมีกำลังใจในการใช้ชีวิตมากขึ้นค่ะ
เกร็ดสุขภาพ : หากใครมีผู้ป่วยซึมเศร้าอยู่ในครอบครัวหรือเป็นคนใกล้ชิด ไม่ควรปล่อยให้พวกเขามีอาการรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ไม่พาไปพบแพทย์นะคะ เพราะบางครั้ง การรักษาเมื่อสายเกินไปอาจทำให้หายได้ยากหรือต้องใช้เวลานานในการรักษา เพื่อที่จะให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นได้ ดังนั้น ควรไปปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง หรือผู้เชี่ยวชาญอย่างนักจิตบำบัด นักจิตวิทยา เพื่อขอคำแนะนำ และวิธีการรักษาที่เหมาะสมจะดีที่สุดค่ะ
อยู่ใกล้ผู้ป่วยซึมเศร้า อะไรที่เราไม่ควรพูด และทำ
นอกจากเรียนรู้วิธีให้กำลังใจที่เหมาะสมแล้ว ก็ต้องตระหนักถึงคำพูดและการกระทำบางอย่างที่ไม่ควรทำเวลาอยู่กับผู้ป่วยซึมเศร้าด้วย อย่างที่ยกตัวอย่างไปข้างต้นว่า คำพูดบอกปัดต่างๆ เช่น “ช่างมันเถอะ” “อย่าไปสนใจ” “อย่าไปคิดมาก” “ลืมๆ มันไป” นั้น ไม่ควรพูดกับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าอย่างมาก เพราะจะทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ารู้สึกว่าตัวเองโดนเพิกเฉย ไม่ได้รับความสนใจ และนั่นเป็นการตอกย้ำความรู้สึกที่ว่าตนเองไม่มีคุณค่า ไม่มีใครต้องการ และยิ่งทำให้รู้สึกโดดเดี่ยว อ้างว้าง และอาจทำให้พวกเขามีอาการแย่ลง และส่งผลร้ายทั้งต่อร่างกายและจิตใจได้ ซึ่งสิ่งที่ไม่ควรทำกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า มีดังนี้ค่ะ
• บอกปัดแบบขอไปที
เวลาที่พวกเขาต้องการใครสักคน อย่าบอกปัดแบบขอไปทีหรือไล่ให้พวกเขาไปเข้าวัด ฟังธรรม นั่งสมาธิ หรือทำจิตใจให้สงบ เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยซึมเศร้ารู้สึกโดดเดี่ยว ไม่เป็นที่ต้องการ ไม่มีที่พึ่งพา และรู้สึกว่าตัวเองน่ารำคาญจนกลายเป็นการตีตัวออกห่างและนำไปสู่การคิดสั้นได้ อย่างที่กล่าวไปว่า สิ่งที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต้องการคือ การรับฟัง และมีคนอยู่ข้างๆ และให้กำลังใจพวกเขา เพราะฉะนั้น การบอกปัดหรือบอกให้ไปสงบสติอารมณ์ตัวเอง เป็นวิธีให้กำลังใจที่ไม่เหมาะสม และอาจส่งผลเสียมากกว่าที่คิด
• ทำเป็นไม่ได้ยินหรือไม่สนใจเมื่อผู้ป่วยซึมเศร้าพูดว่าอยากตาย
ความจริงแล้วการพูดเรื่องความตายกับผู้ป่วยซึมเศร้าไม่ใช่เรื่องต้องห้าม แต่ต้องเข้าใจและรู้จักการพูดที่ถูกวิธี เช่น สอบถามผู้ป่วยว่า “วันนี้รู้สึกอย่างไร” หรือ “มีความคิดแบบนั้นมั้ย” สิ่งที่สำคัญคือ น้ำเสียงและท่าทางของผู้พูด ที่ควรพูดอย่างจริงใจ และแสดงความห่วงใยอย่างแท้จริง และเมื่อได้ยินผู้ป่วยโรคซึมเศร้าบอกว่า มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย ก็ไม่ควรปล่อยผ่าน หรือทำเป็นไม่สนใจ มองข้าม หรือแสดงอาการต่อต้าน ดุด่า หรือตำหนิผู้ป่วย และที่สำคัญไม่ควรพูดว่า “อย่าคิดมาก” เด็ดขาดเพราะจะทำให้ความรู้สึกของพวกเขาแย่ลง แต่เราควรรับฟัง และมีวิธีให้กำลังใจ คนเป็นโรคซึมเศร้าด้วยความรู้สึกเอาใจใส่ ถามผู้ป่วยว่ามีเรื่องอะไรที่อยากพูด อยากเล่าให้ฟังหรือไม่ หรือมีอะไรที่เราพอจะช่วยได้บ้างไหม พร้อมกับลองนำประโยค 7 ประโยคที่เรานำมาฝากในข้างต้นไปใช้ด้วยก็ได้ นอกจากนี้ ต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดด้วยนะคะ
• กดดันและเร่งรัด
หากผู้ป่วยอยู่ในอาการซึมเศร้าและยังไม่ดีขึ้น อย่าพูดว่า “เมื่อไรจะหาย” “ควรหายได้แล้วนะ” หรือ “ทำไมเป็นนานจัง” อะไรแบบนี้เด็ดขาด และไม่ควรพูดกับผู้ป่วยในเชิงตำหนิว่า “ทำไมไม่ทำแบบนั้น” “ทำไมไม่ทำแบบนี้” หรือ “ทำแบบนั้นแบบนี้สิ” เพราะความเครียด ความกดดัน จะยิ่งทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระและอาการแย่ลงกว่าเดิมได้ และอาจนำไปสู่การคิดสั้นได้ด้วยค่ะ
เกร็ดสุขภาพ : จะเห็นว่า คำพูดที่ใช้พูดกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีความสำคัญมาก และคำพูดของคนใกล้ชิดนี่แหละที่ทำร้ายจิตใจกันได้มากที่สุด ไม่ว่าจะกับผู้ป่วยซึมเศร้าหรือคนที่กำลังอยู่ในช่วงจิตใจอ่อนแอ บางครั้งการปลอบว่า “สู้ๆ” ก็ไม่ช่วยอะไร เพราะเหมือนกับว่าปล่อยให้ผู้ป่วยเผชิญกับสถานการณ์แย่ๆ ด้วยตัวเองตามลำพัง แต่เราสามารถแสดงออกถึงความห่วงใยได้ด้วยการอยู่เคียงข้าง และย้ำให้พวกเขารู้ว่าเรายังอยู่ตรงนี้เสมอ ซึ่งเป็นวิธีให้กำลังใจที่ดี และทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นได้จริงๆ ค่ะ
คำแนะนำในการอยู่กับผู้ที่เป็นซึมเศร้า
การช่วยเหลือผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าเป็นเรื่องที่ต้องใช้ทั้งความเข้าใจ ความอดทน และการสนับสนุนที่เหมาะสม โดยต้องคำนึงถึงความรู้สึกของทั้งสองฝ่ายเสมอ ลองมาดูคำแนะนำ 5 ข้อ ในการพูดคุยและอยู่ร่วมกับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้ากันค่ะ
1. เป็นผู้ฟังที่ดี
การรับฟังอย่างตั้งใจโดยไม่ขัดจังหวะเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ให้เวลาเขาได้พูดและระบายความรู้สึก ไม่ด่วนตัดสินหรือให้คำแนะนำใดๆ แค่แสดงความเข้าใจผ่านภาษากายและคำพูดง่ายๆ เช่น การพยักหน้า สบตา หรือพูดว่า “ฉันเข้าใจ” ก็เพียงพอแล้ว
2. เลือกใช้คำพูดอย่างระมัดระวัง
หลีกเลี่ยงประโยคที่อาจทำร้ายความรู้สึก เช่น “คิดมาก” “เรื่องแค่นี้” หรือ “ต้องเข้มแข็งนะ” แต่ให้ใช้คำพูดที่แสดงการสนับสนุน เช่น “ฉันพร้อมรับฟังเสมอ” “คุณกำลังรู้สึกอย่างไร อยากเล่าให้ฟังไหม” หรือ “ฉันอยู่ตรงนี้นะ” การให้กำลังใจควรทำอย่างนุ่มนวล ไม่กดดัน
3. อยู่เคียงข้าง และให้การสนับสนุน
แสดงความพร้อมที่จะอยู่เป็นเพื่อนด้วยการชวนทำกิจกรรมง่ายๆ เช่น เดินเล่น ทานอาหาร หรือดูหนัง คอยช่วยเตือนเรื่องการทานยา และการไปพบแพทย์ตามนัด ให้เขารู้ว่ามีคนพร้อมช่วยเหลือเมื่อต้องการ โดยไม่ต้องรู้สึกว่าเป็นภาระ
4. เฝ้าระวังสัญญาณอันตราย
สังเกตพฤติกรรมและอาการที่อาจบ่งชี้ว่าภาวะซึมเศร้ารุนแรงขึ้น โดยเฉพาะหากพบว่ามีความคิดทำร้ายตัวเอง ต้องรีบแจ้งครอบครัวหรือผู้เกี่ยวข้องทันที พร้อมทั้งแนะนำสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือปรึกษาจิตแพทย์โดยเร็วที่สุด การช่วยเหลือทันท่วงทีอาจช่วยป้องกันเหตุร้ายได้
5. รักษาสมดุล และดูแลตัวเอง
การช่วยเหลือผู้อื่นต้องไม่ลืมดูแลตัวเอง ต้องรู้จักวางขอบเขตที่ชัดเจนเพื่อไม่ให้กระทบต่อสุขภาพจิตของตัวเอง หากรู้สึกเหนื่อยล้าควรหาคนที่ปรึกษาได้ และต้องเข้าใจว่าเราไม่จำเป็นต้องแก้ปัญหาทุกอย่าง บางครั้งแค่การอยู่เคียงข้างก็มีค่ามากพอแล้ว
ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้ และกำลังคิดว่า การอยู่กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าช่างเป็นเรื่องยากเหลือเกิน ก็อยากให้เข้าใจว่า การเป็นโรคซึมเศร้านั้น เป็นความเจ็บป่วยทั้งทางกายและใจ ที่ส่งผลทำให้ผู้ป่วยมีภาวะอารมณ์อ่อนไหวมากกว่าปกติ ซึ่งรับประกันได้เลยว่า ไม่มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าคนไหนอยากจะเป็นแบบนี้ สิ่งสำคัญคือ การพยายามเข้าใจผู้ป่วยในแบบที่เขาเป็น และเข้าใจว่านี่คืออาการของโรค เป็นความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นคล้ายกับเรารู้สึกปวดท้อง ปวดหัว ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการรักษาเยียวยาจิตใจและร่างกาย เช่นเดียวกับความเจ็บป่วยอื่นๆ ทั้งนี้ วิธีให้กำลังใจ คนเป็นโรคซึมเศร้า อย่างถูกวิธี ก็จะทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นได้ เราจึงต้องเรียนรู้วิธีมองโลกในแง่ดี และยอมรับความแตกต่าง ยอมรับในสิ่งที่ผู้ป่วยเป็น และเลือกคำพูดที่เหมาะสมเวลาพูดกับพวกเขาให้มากที่สุด เพื่อให้เราสามารถอยู่ร่วมกับผู้ป่วยซึมเศร้าได้อย่างเป็นปกติ และช่วยสนับสนุนพวกเขาในเวลาที่ต้องการใครสักคนได้อย่างเหมาะสมค่ะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : headstogether.org.uk
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ