“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
โรคกลัวการอยู่คนเดียว เป็นยังไง ชวนรู้จักและเข้าใจให้มากขึ้น
สำหรับบางคนแล้ว การอยู่คนเดียวอาจเป็นเรื่องปกติ และบางคนก็ชอบการอยู่คนเดียวเสียด้วยซ้ำ เพราะชอบการมีพื้นที่ส่วนตัว ชอบที่จะได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเองอย่างเต็มที่ และไม่มีปัญหาเลยถ้าจะต้องอยู่คนเดียว แต่ทราบมั้ยคะว่า มีคนที่กลัวการอยู่คนเดียวจนเรียกว่าเป็นโรคได้เลย และเป็นอาการป่วยทางใจที่มีอยู่จริง โรคกลัวการอยู่คนเดียว เป็นยังไง มีอยู่จริงหรือ รักษาได้หรือไม่ ? มาทำความเข้าใจให้มากขึ้นกันเลยค่ะ
ชวนรู้จัก โรคกลัวการอยู่คนเดียว อาการแบบไหนถึงจะเรียกว่าเป็นโรคได้ ?!
โรคกลัวการอยู่คนเดียว หรือ Monophobia คือความกลัวการอยู่คนเดียว การอยู่คนเดียวทำให้คนๆ หนึ่งรู้สึกไม่ปลอดภัย วิตกกังวล และหดหู่ รู้จักกันในชื่อ Autophobia, Eremophobia และ Isolophobia Monophobia เป็นความหวาดกลัวที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งเกี่ยวข้องกับความกลัวต่อสถานการณ์บางอย่าง เมื่อต้องเผชิญกับความรู้สึกโดดเดี่ยว คนที่เป็นโรคนี้จะรู้สึกวิตกกังวลอย่างมากเมื่อต้องอยู่ตามลำพัง จะรู้สึกไม่ปลอดภัย มีความวิตกกังวล กระวนกระวาย ไม่สามารถอยู่ตัวคนเดียวได้ แม้จะอยู่ในบ้านตัวเองก็ตาม
สาเหตุของ Monophobia
ความกลัวการอยู่คนเดียวอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ บางครั้งอาจเกิดจากเหตุการณ์ที่กระทบจิตใจเป็นอย่างมากและเป็นเหตุการณ์ฝังใจ เช่น ถูกทอดทิ้งให้อยู่คนเดียวและต้องเผชิญกับเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่ร้ายแรง รู้สึกว่าถูกทอดทิ้งในช่วงชีวิตหนึ่งและนำมาเชื่อมโยงกับความกลัวการไม่มีใครรัก หรืออาจเกิดจากกระบวนการทำงานของสมอง ความผิดปกติทางบุคลิกภาพที่ไม่สามารถควบคุมและจัดการตัวเองได้ สำหรับคนที่กลัวการอยู่คนเดียวจะมีแนวโน้มไม่มั่นใจในตนเอง มีความเชื่อที่ว่า ตนเองไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้โดยลำพัง และเชื่อว่าการอยู่คนเดียวนั้นไม่ปลอดภัย กลัวที่จะต้องไปไหนมาไหนคนเดียว กลัวการทำอะไรตัวคนเดียว หรือบางทีอาจไม่เคยเรียนรู้ที่จะสบายใจเมื่ออยู่คนเดียว
เกร็ดสุขภาพ : สำหรับบางคนที่ไม่ได้เป็นโรคกลัวการอยู่คนเดียว แต่อาจจะรู้สึกเหงาและไม่สบายใจเมื่อต้องอยู่คนเดียว สิ่งสำคัญคือ การฝึกให้ตัวเองอยู่คนเดียวได้อย่างมีความสุข ซึ่งเราสามารถเรียนรู้ที่จะอยู่คนเดียวได้ดีขึ้นโดยที่ไม่รู้สึกเหงา และเมื่อเราสามารถอยู่คนเดียวได้อย่างสบายใจ เราจะรู้สึกเป็นอิสระมากขึ้น รู้สึกเหงาน้อยลง ข้อดีของการอยู่คนเดียวคือ เราจะมีเวลาคิดทบทวนสิ่งต่างๆ ได้อย่างสงบ และสามารถไตร่ตรองกับตัวเองได้โดยที่ไม่มีใครรบกวน และหลายครั้งความคิดดีๆ มักจะผุดขึ้นมาในช่วงเวลาที่เราอยู่กับตัวเองอย่างสงบ การอยู่คนเดียวอาจจะไม่ได้แย่อย่างที่เรากังวลก็ได้นะคะ
อาการแบบไหน ถึงเข้าข่ายเป็นโรค Monophobia
โดยทั่วไปแล้ว บางคนก็อาจจะไม่ชอบอยู่คนเดียวเท่าไหร่นักเพราะรู้สึกเหงา โดยเฉพาะคนที่มีบุคลิกภาพแบบ Extrovert หรือชอบการเข้าสังคม การอยู่คนเดียวหรือออกไปข้างนอกคนเดียว กินข้าวคนเดียว ก็อาจจะทำให้รู้สึกไม่สะดวกใจบ้าง แต่ก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้ ต่างจากคนที่เป็นโรค Monophobia ซึ่งจะมีอาการเฉพาะเจาะจง ทั้งนี้ สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกาได้แนะนำแบบทดสอบโรคกลัวการอยู่คนเดียวและแนวทางสำหรับการวินิจฉัยโรคดังกล่าวไว้ว่า
- มีความกลัวที่ไม่มีเหตุผลหรือแสดงความกลัวมากกว่าที่ควรจะเป็น เมื่ออยู่ในเหตุการณ์หรือสถานการณ์เฉพาะ เช่น การอยู่คนเดียว
- เมื่อเผชิญกับอันตรายจะตอบสนองด้วยความวิตกกังวลอย่างรวดเร็วและรุนแรงกว่าที่ควรจะเป็น
- พยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้ต้องอยู่คนเดียว
- รู้สึกกระวนกระวายและวิตกกังวล เมื่อรู้ว่าต้องอยู่คนเดียว
- รู้สึกไม่มั่นใจเวลาอยู่ในที่สาธารณะคนเดียว มักรู้สึกประหม่า ไม่เป็นตัวของตัวเอง
- กลัวการเข้าสังคมเมื่อต้องอยู่คนเดียวหรือทำกิจกรรมคนเดียว
- รู้สึกวิตกกังวลเมื่อต้องอยู่คนเดียว ต้องการใครสักคนมาอยู่เป็นเพื่อน แม้ว่าจะอยู่คนเดียวในบ้านของตัวเองก็ตาม
- เกิดความทุกข์อย่างรุนแรงเมื่อต้องอยู่คนเดียว
- เกิดความกลัวจนกระทบกับชีวิตประจำวัน เช่น ไม่สามารถไปโรงเรียน หรือไปทำงานได้ มีปัญหาในการเข้าร่วมสังคม
- เกิดความกลัวนานกว่า 6 เดือน
โดยปกติแล้วความหวาดกลัวหรือความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นเป็นเวลานานจะมีผลกระทบร้ายแรงต่อคุณภาพชีวิต บางรายอาจถึงขั้นหายใจไม่สะดวก ใจสั่น หน้ามืด อาเจียน ตัวสั่น เมื่อต้องอยู่คนเดียว และเมื่อความหวาดกลัวนั้นรุนแรงมากขึ้นควรได้รับการประเมินด้วยแบบทดสอบโรคกลัวการอยู่คนเดียวเพื่อได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญอย่างเหมาะสมค่ะ
กลัวการอยู่คนเดียว รักษาได้หรือไม่ ?
โรคกลัวชนิดนี้สามารถรักษาได้เหมือนกับโรคอื่นๆ เช่น โรคกลัวความสูง โรควิตกกังวล โรคกลัวการสูญเสีย โรคเครียด ฯลฯ แต่สำหรับการรักษาความกลัวการอยู่คนเดียวจะเน้นที่การลดความกลัวและคลายความวิตกกังวลเมื่อต้องอยู่คนเดียว และค่อยๆ สร้างความมั่นใจในตัวเอง เพื่อให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจมากขึ้นและไม่รู้สึกประหม่าในเวลาที่ต้องอยู่ตามลำพัง วิธีการที่แพทย์ใช้ในการรักษาก็มีหลายวิธีดังนี้
1. การรักษาด้วยยา
แพทย์อาจสั่งยาเพื่อช่วยควบคุมอาการของโรค ซึ่งอาจรวมถึงยาต้านความวิตกกังวล เช่น benzodiazepines หรือ beta-blockers หรือยากล่อมประสาท เช่น selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs)
2. การทำจิตบำบัด
การทำจิตบำบัดเป็นการรักษาโดยจิตแพทย์ หรือ นักจิตวิทยา โดยจะใช้แบบทดสอบโรคกลัวการอยู่คนเดียวเพื่อประเมินอาการและใช้เทคนิคการบำบัดความคิดและพฤติกรรม CBT(Cognitive Behavioral Therapy) เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้วิธีสังเกตและท้าทายความคิดอัตโนมัติที่เกี่ยวข้องกับความหวาดกลัวที่เกิดขึ้นในใจ สิ่งนี้อาจช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจตัวเองมากขึ้น และมองสถานการณ์ตามความเป็นจริงมากขึ้น เพื่อที่จะทำให้รู้สึกกลัวหรือวิตกกังวลน้อยลงเมื่อต้องอยู่คนเดียว
วิธีรับมือกับความรู้สึกกลัวการอยู่คนเดียว ทำได้อย่างไร ?
1. ให้เวลากับตัวเอง
บางคนอาจจะไม่ชอบอยู่คนเดียวเพราะเมื่อเวลาอยู่คนเดียวแล้วชอบคิดฟุ้งซ่าน จินตนาการไปไกล โดยธรรมชาติแล้วเมื่อต้องอยู่คนเดียว เราจะเป็นนักคิดที่ไม่หยุดนิ่ง ความคิดมากมายจะวิ่งเข้าหาเราเมื่อเราอยู่คนเดียว ดังนั้นการทำสมาธิจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเมื่อเรามีสมาธิ เราจะรับมือกับความคิดฟุ้งซ่านได้ดีขึ้น การทำสมาธิอาจเป็นเรื่องยากสำหรับใครหลายคน ในช่วงแรกแนะนำให้เริ่มจากการทำสมาธิในระยะเวลาสั้น ๆ สัก 5-10 นาที เพื่อให้จิตใจสงบและผ่อนคลายมากขึ้น
2. ค้นหาความสุข
ลองนึกภาพตอนที่เรายังเด็ก อะไรทำให้เรามีความสุข เมื่อเราต้องอยู่คนเดียว ให้ลองมองหากิจกรรมที่เราทำแล้วมีความสุข เพื่อต่อสู้กับความรู้สึกเหงา เช่น การออกกำลังกาย นอกจากจะทำให้รู้สึกดีแล้วยังช่วยให้เรามีสุขภาพที่ดีและดูดีด้วย การที่เรามีกิจกรรมให้ทำ และพยายามจดจ่อกับการทำบางสิ่งบางอย่าง ที่ทำให้มีความสุขจะช่วยลดความเหงา และความรู้สึกไม่ดีเมื่อต้องอยู่คนเดียวได้
3. โทรหาเพื่อน หรือคนที่ไว้ใจ
เมื่อเรารู้สึกเหงา โดดเดี่ยว ทุกข์ใจจากการอยู่คนเดียว ลองโทรหาเพื่อนหรือคนที่เราไว้ใจเพื่อพูดคุย แบ่งปันเรื่องราวความอึดอัดใจให้พวกเขาฟัง การได้ระบายความอึดอัดใจออกไปบ้างจะช่วยทำให้เรารู้สึกเบาสบายขึ้น วิตกกังวลน้อยลงและสบายใจมากขึ้น เพราะเราทุกคนต่างต้องการคนรับฟังนั่นเองค่ะ
4. คุยกับคนแปลกหน้า
การเปิดใจรับบุคคลภายนอกเข้ามาในชีวิตบ้าง เป็นวิธีที่ทำให้เราฝึกทักษะการเข้าสังคมได้เป็นอย่างดี ลองพูดคุยกับคนแปลกหน้าดูบ้าง อาจเริ่มจากคนที่เราพบเจอบ่อยๆ เช่น พนักงานชงกาแฟร้านประจำ หรือพี่ รปภ หน้าหมู่บ้าน หน้าบริษัท และค่อยๆ เริ่มพูดคุยกับคนที่ไม่รู้จักบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ก็จะทำให้เรารู้สึกประหม่าน้อยลงเวลาที่ต้องอยู่กับคนแปลกหน้าค่ะ
5. พูดคุยกับจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ
หากความกลัวการอยู่คนเดียวของคุณรุนแรง หรือส่งผลต่อชีวิตประจำวันของคุณ วิธีที่ดีที่สุดคือ การไปพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญอย่างนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เพื่อได้รับคำแนะนำอย่างเหมาะสม โรคกลัวการอยู่คนเดียวเป็นภาวะที่รักษาได้ และการขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตสามารถช่วยให้เรารับมือกับความหวาดกลัวการอยู่คนเดียวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เกร็ดสุขภาพ : โรคกลัวการอยู่คนเดียวอาจนำไปสู่การอยู่ในความสัมพันธ์ที่ Toxic อีกด้วย เพราะความกลัวการอยู่คนเดียวจึงทำให้คนๆ นั้นยอมอยู่กับคนที่ตัวเองไม่ได้รักหรือคนที่เป็นคนรักที่ไม่ดี แต่ไม่ยอมเลิกรากันเพราะกลัวที่จะต้องอยู่คนเดียว แม้ว่าอีกฝ่ายจะทำร้ายตัวเองก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือจิตใจ ซึ่งทำให้อยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ ไม่มีความสุข และยังทำให้เห็นคุณค่าในตัวเองน้อยลงอีกด้วย
โรคกลัวการอยู่คนเดียวเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับปัญหาทางสุขภาพใจในอีกรูปแบบหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แล้วก็เป็นโรคที่รักษาได้ ผู้ที่มีอาการกลัวการอยู่คนเดียวหรือเป็นโรคกลัวชนิดนี้ก็ไม่ต้องรู้สึกผิดกับตัวเอง หรือโทษตัวเองว่ามีความผิดปกติ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความเครียดวิตกกังวลมากกว่าเดิม อาจจะพูดคุยกับคนที่สนิทใจเพื่อให้คลายความเครียดวิตกกังวลดูก็ได้นะคะ และถ้าความกลัวที่เกิดขึ้นนี้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน การไปพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อได้รับคำปรึกษาแนะนำก็จะช่วยให้เราลดความกลัวลงไปได้ และหาแนวทางการรักษาได้อย่างเหมาะสมค่ะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : choosingtherapy.com, my.clevelandclinic.org, webmd.com, verywellmind.com
Featured Image Credit : freepik.com
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ