“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
สุขภาพจิตดี เป็นยังไง ? ชวนมา Check พร้อมดูวิธีดูแลสุขภาพใจของเรากัน !
ปัจจุบันนี้ มีการให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตกันมากขึ้น และมีการตระหนักถึงปัญหาทางสุขภาพจิตอย่างจริงจัง เพราะสุขภาพใจของเรานั้น มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าสุขภาพกาย และยังกล่าวได้อีกว่า สุขภาพใจกับสุขภาพกายนั้น มีความเกี่ยวข้องกัน หากมีปัญหาทางสุขภาพจิต ก็อาจส่งผลให้เกิดความเจ็บป่วยทางร่างกายตามมาด้วย เช่น นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกายเพราะเกิดจากความเครียด ดังนั้น การดูแลสุขภาพจิตจึงเป็นเรื่องสำคัญ แล้วเราจะมี สุขภาพจิตดี ได้อย่างไร ? ในบทความนี้ เพื่อสุขภาพจะพาไปดูกันค่ะ
ชวนเช็กเรามีสุขภาพจิตดีหรือเปล่า ? พร้อมคำแนะนำในการดูแลตัวเอง !
ก่อนจะไปพูดถึงกาารมีสุขภาพจิตที่ดี เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพจิตกันก่อนค่ะ สุขภาพจิต หรือ Mental Health เป็นสภาวะทางจิตใจของบุคคล โดยธรรมชาติแล้ว ภาวะทางจิตใจนั้นจะมีการปรับเปลี่ยนไปตามสิ่งแวดล้อม จะเรียกว่าเป็นอารมณ์ ตรรกะ ทัศนคติ และการสื่อสารทางสังคม ที่ส่งผลกระทบต่อความคิด ความรู้สึกและการกระทำของเราก็คงไม่ผิดนัก เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความคิดจิตใจของเรานั่นเอง นอกจากนี้ ยังเป็นปัจจัยที่ช่วยให้เราสามารถรับมือกับความเครียดและการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้ด้วย อาทิ ทำให้เราสามารถปรับตัว แก้ปัญหา มีความมั่นคงทางจิตใจ มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่น ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ เพราะฉะนั้นการมีสุขภาพจิตดีจึงมีความสำคัญอย่างมากในการใช้ชีวิต เพราะทำให้เราสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตได้ เพื่อดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข
อย่างไรก็ตาม ด้วยปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ทั้งสภาพทางสังคม ความเครียดความกดดันในชีวิตทั้งในเรื่องการงานการเงิน ความรัก ความสัมพันธ์ เมื่อไม่สามารถแก้ปัญหาได้ก็อาจก่อให้เกิดความเครียดเรื้อรัง และส่งผลให้เกิดปัญหาทางสุขภาพจิตตามมาได้ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยทางด้านร่างกายอย่างฮอร์โมนหรือสารเคมีในสมอง หรือยีนจากพันธุกรรมบางอย่างที่อาจส่งผลทำให้เรามีปัญหาทางสุขภาพจิตได้เช่นกัน ทั้งนี้ ปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ อีกทั้งยังสามารถรักษาได้ ไม่ใช่เรื่องแปลก น่ากลัว หรือน่าอายอย่างที่หลายคนคิด ปัจจุบันมีแผนกสุขภาพจิตในโรงพยาบาลชั้นนำมากมาย รวมถึงคลินิกสุขภาพจิตที่มีบริการให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพใจต่างๆ มีนักจิตบำบัดและนักจิตวิทยาที่มีความเชี่ยวชาญสูง แล้วก็ยังมีแอปพลิเคชั่นปรึกษาสุขภาพจิตฟรี ที่สามารถใช้บริการได้อย่างสะดวกรวดเร็วอีกด้วย การมีสุขภาพจิตดีจึงไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าเราหมั่นสังเกตตัวเองและดูแลสภาวะจิตใจของตัวเองอย่างถูกวิธีค่ะ
ชวนเช็กตัวเอง เรามีสุขภาพจิตดีอยู่หรือเปล่า ?
การมีสุขภาพจิตดี ไม่ได้หมายความว่าแค่เราไม่มีโรคทางใจหรือไม่มีปัญหาทางสุขภาพจิตเพียงเท่านั้น แต่หมายถึงจิตใจของเรามีความสุข สงบ สามารถคิดและตัดสินใจอย่างเป็นเหตุเป็นผลและรับมือกับความเครียดในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากรายงานของ WHO หรือ World Health Organization ได้กล่าวว่า ผู้ที่มีสุขภาพจิตอยู่ในเกณฑ์ดี จะมีความคิด พฤติกรรม หรือลักษณะดังต่อไปนี้
1. รับมือกับความเครียดในชีวิตได้
คนที่มีสุขภาพจิตดีจะสามารถจัดการกับความเครียดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะว่ามักมีวิธีผ่อนคลายของตัวเอง เช่น การออกกำลังกาย ทำสมาธิ หรือพูดคุยกับเพื่อน เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่ตึงเครียด พวกเขาจะไม่จมอยู่กับปัญหา แต่จะมองหาวิธีแก้ไขและเรียนรู้จากประสบการณ์นั้น นอกจากนี้ ยังรู้จักขอความช่วยเหลือเมื่อรู้สึกว่าความเครียดเริ่มส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน
2. ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
คนสุขภาพใจดีจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีทักษะในการจัดลำดับความสำคัญของงานและบริหารเวลาได้ดี ซึ่งจะทำให้มีสมาธิจดจ่อกับงานที่ทำ สามารถทำงานให้เสร็จตามกำหนดเวลา และมีความรับผิดชอบสูง นอกจากนี้ ยังสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่น มีทักษะการสื่อสารที่ดี และรู้จักใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า มีความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาและมีความสามารถในการรับมือกับความกดดันก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้พวกเขาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. เข้าใจศักยภาพของตัวเอง
คนเหล่านี้จะเข้าใจศักยภาพของตัวเอง รู้จักทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเอง สามารถประเมินความสามารถได้อย่างสมเหตุสมผล ไม่ประเมินต่ำหรือสูงจนเกินไป มีความกล้าที่จะรับงานที่ท้าทาย แต่ก็รู้จักปฏิเสธงานที่เกินความสามารถ สามารถตั้งเป้าหมายที่สอดคล้องกับความสามารถและทรัพยากรที่มี ยอมรับข้อผิดพลาดและมองเห็นโอกาสในการพัฒนา มีความมั่นใจในตนเองแต่ไม่หยิ่งยโส และเปิดรับคำแนะนำเพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเองอยู่เสมอ
4. มีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ ในสังคม
คนที่มีสุขภาพจิตที่ดีมักจะเปิดรับ และมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม อาจเป็นอาสาสมัครในชุมชน เข้าร่วมกลุ่มงานอดิเรก หรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมของครอบครัวและเพื่อนฝูง การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมช่วยสร้างความรู้สึกเชื่อมโยงกับผู้อื่น ลดความรู้สึกโดดเดี่ยว และเพิ่มความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง
5. มีความมั่นใจในตัวเอง กล้าเผชิญหน้ากับปัญหาและผู้คน
คนเหล่านี้จะมีความมั่นใจในตนเอง กล้าแสดงความคิดเห็น และยืนหยัดในสิ่งที่เชื่อ ไม่หวั่นเกรงที่จะเผชิญหน้ากับความท้าทายหรือคนแปลกหน้า สามารถสื่อสารความต้องการของตนเองได้อย่างชัดเจน และกล้าที่จะปฏิเสธเมื่อจำเป็น ความมั่นใจนี้ช่วยให้พวกเขาสามารถจัดการกับปัญหาและความสัมพันธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
6. รู้สึกมีอารมณ์ขัน
อารมณ์ขันเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการกับความเครียดและความท้าทายในชีวิต คนที่มีสุขภาพจิตดีมักจะมองเห็นด้านตลกขบขันของสถานการณ์ต่างๆ ได้ สามารถหัวเราะให้กับความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ของตัวเอง และใช้อารมณ์ขันเพื่อสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายในสถานการณ์ตึงเครียด อารมณ์ขันยังช่วยในการสร้างความสัมพันธ์และการเชื่อมโยงกับผู้อื่นอีกด้วย
7. ไม่โทษตัวเองตลอดเวลา
คนที่มีที่มีสุขภาพจิตดีจะไม่หมกมุ่นอยู่กับความผิดพลาดในอดีต หรือโทษตัวเองในเรื่องที่ไม่เป็นไปตามแผน เค้าจะเข้าใจว่าความผิดพลาดเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และใช้มันเป็นโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนา แทนที่จะวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองอย่างรุนแรง พวกเขาจะมองหาวิธีแก้ไข และปรับปรุงในอนาคต
8. รู้จักการตั้งเป้าหมายให้ชีวิต
การมีเป้าหมายที่ชัดเจนในชีวิตจะช่วยให้คนเรามีทิศทางและแรงจูงใจ คนที่มีสุขภาพจิตดีมักจะตั้งเป้าหมายทั้งระยะสั้น และระยะยาวให้กับตัวเอง เค้าจะวางแผนอย่างรอบคอบเพื่อบรรลุเป้าหมายเหล่านั้น แต่ก็ยืดหยุ่นพอที่จะปรับเปลี่ยนแผนเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป การมีเป้าหมายจะช่วยสร้างความรู้สึกที่มีจุดหมาย และความสำเร็จในชีวิต
9. รู้สึกดีกับตัวเอง
คนที่มีสุขภาพจิตดีมักมีทัศนคติเชิงบวกต่อตนเอง พวกเขายอมรับทั้งจุดแข็ง จุดอ่อนของตัวเอง และจะพยายามพัฒนาตนเองอยู่เสมอ มักจะมีความภูมิใจในความสำเร็จของตน แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ และไม่เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นมากเกินไป การรู้สึกดีกับตัวเองจะช่วยสร้างความมั่นคงทางอารมณ์ และความสามารถในการเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ได้
10. มีความนับถือตนเอง
ความนับถือตนเองเป็นรากฐานสำคัญของสุขภาพจิตที่ดี คนที่นับถือตนเองจะเชื่อในคุณค่าและความสามารถของตน จะปฏิบัติต่อตัวเองด้วยความเคารพ รู้จักดูแลสุขภาพกายและใจ และไม่ยอมให้ใครมาทำร้ายหรือเอาเปรียบ เพราะความนับถือตนเองจะช่วยให้พวกเขากล้าที่จะแสดงความคิดเห็น ยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น
การมีสุขภาพจิตดี จะทำให้เราเป็นคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์สูง มีความเมตตาต่อผู้อื่น รู้จักให้อภัย มีความอดทน มีจิตใจที่มั่นคง มีความอบอุ่นและมีความรักทั้งกับตัวเองและผู้อื่น ทั้งยังส่งผลให้มีแรงจูงใจในชีวิต มีพลังที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีๆ มีความเจริญงอกงามในชีวิต และสามารถดึงเอาศักยภาพในตนเองออกมาได้อย่างเต็มที่ ทั้งยังก่อให้เกิดความสุขและมีความผาสุขในชีวิตอีกด้วย
เกร็ดสุขภาพ : หากกังวลว่าตัวเองมีปัญหาทางสุขภาพจิตหรือไม่ ถ้าสังเกตตัวเองได้ว่า ช่วงนี้มีความผิดปกติทางด้านอารมณ์ความรู้สึก รู้สึกเศร้าหรือหงุดหงิดอย่างไม่มีเหตุผล อารมณ์แปรปรวนง่าย ก็สามารถทำแบบทดสอบสุขภาพจิตที่ออกแบบโดยกรมสุขภาพจิตเพื่อประเมินอาการของตัวเองด้วย หากพบว่าตัวเองมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าหรือเสี่ยงที่จะเป็นโรคทางสุขภาพจิตอื่นๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อที่จะได้ทำการรักษาต่อไปค่ะ
ชวนสังเกตตัวเอง เรากำลังมีปัญหาทางสุขภาพจิตอยู่หรือไม่ ?
การมีสุขภาพจิตที่ดี มีลักษณะเป็นยังไง ก็ได้ทราบกันแล้ว ทีนี้เราลองมาสังเกตตัวเองดูบ้างว่า ลักษณะอาการแบบไหนที่เป็นสัญญาณว่าเราอาจจะกำลังมีปัญหาด้านสุขภาพจิตอยู่ เพราะถ้าหากปล่อยทิ้งไว้ อาจก่อให้เกิดโรคทางสุขภาพจิตหรือทำให้เกิดความเจ็บป่วยทางใจจนบานปลาย
- กินอาหารและนอนหลับมากหรือน้อยผิดปกติ
- ปลีกตัวจากผู้คนและกิจกรรมที่เคยทำ
- รู้สึกพลังงานน้อย ไม่มีเรี่ยวแรง
- รู้สึกเฉยชาต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว
- รู้สึกเจ็บปวดตามร่างกายแต่หาสาเหตุไม่ได้
- รู้สึกหมดหวัง
- สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าปกติ
- รู้สึกสับสน วิตกกังวล โกรธ หรือกลัวมากผิดปกติ
- ตะโกนและหาเรื่องทะเลาะกับสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนๆ
- อารมณ์ขึ้นลงผิดปกติจนส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์
- คิดถึงความทรงจำหรือเรื่องราวบางอย่างซ้ำไปซ้ำมา ย้ำคิดย้ำทำ
- หูแว่ว
- คิดอยากทำร้ายตัวเองเป็นบางครั้ง
- ไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ เช่น ไปทำงานไม่ได้หรือเรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง เป็นต้น
การสังเกตอาการแปลกๆ ของร่างกายและอารมณ์เป็นประจำเป็นเรื่องที่ดีเพราะบางครั้งเราอาจไม่รู้ตัวว่ากำลังป่วย ดังนั้นการสังเกตความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ของร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และพฤติกรรมของตัวเอง จะทำให้เรารู้สึกถึงความผิดปกติได้ก่อนที่จะสายเกินไป แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือเมื่อสังเกตร่างกายและจิตใจของตัวเองแล้วพบว่าผิดปกติต้องไม่ปล่อยปละละเลยแต่ควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันอาการรุนแรงจนรักษายากหรือส่งผลกระทบต่อชีวิต การทำงาน และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ทั้งยังอาจก่อให้เกิดความเจ็บป่วยทางกายอีกด้วย
อยากมีสุขภาพจิตดี ทำได้อย่างไร มาดูกัน ?!
เราสามารถดูแลสุขภาพใจของเราได้ด้วยตัวเอง และเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคทางสุขภาพจิต เช่นเดียวกับการดูแลสุขภาพกายให้แข็งแรงเพื่อที่จะได้ปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ การดูแลสุขภาพจิตของตัวเองก็ถือเป็นหน้าที่ที่เราต้องทำเพื่อตัวเองด้วยเช่นกัน แล้วเราจะดูแลจิตใจตัวเองเพื่อให้มีสุขภาพจิตที่ดีได้อย่างไร ไปดูกันเลยค่ะ
1. ผ่อนคลายตัวเองและจัดการความเครียดที่เกิดขึ้นอย่างถูกวิธี
เมื่อมีความเครียดเกิดขึ้น และทำให้เรารู้สึกปวดหัว รู้สึกกดดัน วิตกกังวล การออกจากอารมณ์นั้นชั่วครู่จะช่วยให้เราผ่อนคลายมากขึ้น ทำได้ด้วยการออกไปเดินเล่นสูดอากาศบริสุทธิ์ หรือเดินไปซื้อกาแฟอร่อยๆ มาดื่ม ก็จะช่วยให้เรารู้สึกดีมากขึ้น จะฟังเพลง ดูหนังดูซีรี่ย์ ทำอาหาร ทำขนม หรือเล่นกับสัตว์เลี้ยงก็ได้เช่นกัน การจมอยู่กับความเครียดความวิตกกังวลนั้น อาจทำให้เรามองไม่เห็นวิธีการแก้ปัญหาและยิ่งรู้สึกเครียดกว่าเดิม กลับกัน การทำสิ่งที่ผ่อนคลายตัวเองอาจทำให้เราอารมณ์เย็นมากขึ้น และค่อยๆ มองเห็นทางออกก็เป็นได้
เกร็ดสุขภาพ : ฮอร์โมนความเครียดที่เกิดขึ้นในร่างกายนั้น นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพใจของเราแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพกายของเราด้วย โดยฮอร์โมนคอร์ติซอลที่หลั่งออกมาเมื่อเรามีความเครียดเกิดขึ้นนั้น จะทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานลดลง ส่งผลทำให้เราไม่สบายได้ง่าย ทั้งยังทำให้ร่างกายเสื่อมสภาพและแก่เร็วอีกด้วยนะคะ
2. ใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติ
มีสิ่งที่เรียกว่า ธรรมชาติบำบัด หรือ Nature Therapy คือการออกไปใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติให้มากขึ้น หรือทำกิจกรรมที่ได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ หรือแม้แต่การเดินเล่นในสวนสาธารณะ การจัดสวนหน้าบ้าน ปลูกต้นไม้ ก็ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายและมีสุขภาพจิตดีขึ้นได้
3. ออกไปเจอเพื่อนๆ บ้าง
ในบางคนที่ทำงานหนัก หรือมีภาระหน้าที่ต่างๆ มากมายต้องดูแลครอบครัว ดูแลลูก อาจไม่ค่อยได้มีเวลาออกไปเจอเพื่อนๆ บ้าง แต่รู้หรือไม่ว่า การออกไปเที่ยวกับเพื่อนเก่าหรือเพื่อนสนิทนั้น ช่วยให้เราผ่อนคลายและสร้างความสุขได้มากกว่าที่คิด เพราะได้ทำกิจกรรมสนุกๆ ร่วมกัน ได้พูดถึงความหลังในช่วงสมัยเรียน วีรกรรมตลกๆ ต่างๆ ที่เรียกเสียงหัวเราะได้เสมอ การได้ใช้เวลากับเพื่อนสนิททำให้เรามี quality time ที่ส่งเสริมในเรื่องสุขภาพจิตของเราได้ดีเลยทีเดียวค่ะ
4. ดูแลสุขภาพกายของตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ
สุขภาพกายกับสุขภาพใจนั้น มีความเกี่ยวข้องกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต ก็อาจทำให้มีสุขภาพกายตามมาด้วย เช่น นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ปวดหัว ปวดตัว ร่างกายซูบผอม แต่ในขณะเดียวกัน หากมีสุขภาพกายที่ไม่ดี ก็จะส่งผลต่อสุขภาพใจของเราด้วยเช่นกัน บางคนเมื่อเจ็บป่วยแล้วก็เกิดความเครียด ความวิตกกังวล หากเป็นโรคร้ายแรงก็อาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ ดังนั้นจึงควรดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และหลีกเลี่ยงแอลออกฮอล์ สารเสพติด เพื่อการมีสุขภาพกายที่ดี จะได้ไม่มีปัญหาสุขภาพใจตามมาค่ะ
5. ใส่ใจเรื่องการนอนหลับของตัวเอง นอนหลับอย่างมีคุณภาพ
การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอนั้นเป็นสิ่งสำคัญมากๆ รวมถึงการนอนหลับอย่างมีคุณภาพด้วย เพราะการนอนหลับที่ดีนั้น นอกจากร่างกายจะได้ซ่อมแซมตัวเองอย่างเต็มที่แล้ว ยังส่งผลในเรื่องของฮอร์โมนต่างๆ ด้วย การนอนหลับพักผ่อนอย่างเต็มที่จะทำให้การทำงานของฮอร์โมนเป็นไปอย่างปกติ ในทางกลับกัน หากนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็จะทำให้ฮอร์โมนในร่างกายแปรปรวน และอาจส่งผลต่ออารมณ์ของเราได้ ทำให้มีอารมณ์แปรปรวน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของเรา หากอดนอนบ่อยๆ ก็อาจเกิดโรค Sleep Deprivation หรืออดนอนจนประสาทหลอนได้เลยทีเดียว
เราสามารถมีสุขภาพจิตดีได้ หากรู้จักบริหารจัดการอารมณ์ความรู้สึกเชิงลบของตัวเองได้อย่างเหมาะสม รวมถึงมีวิธีการดูแลสุขภาพจิตของตัวเองอย่างถูกต้อง ต่อให้เราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แย่หรือมีเรื่องเครียดอยู่รอบตัว แต่หากเรารู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง มีสติ รู้จักมองโลกตามความเป็นจริง ปรับตัวและใจให้เข้ากับโลก ก็สามารถสร้างความแข็งแกร่งให้จิตใจจนทำให้มีสุขภาพจิตที่ดีได้แน่นอน ทั้งนี้ หากรู้สึกว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเอง การขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง หรือปรึกษานักจิตวิทยา จิตแพทย์ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดแปลกแต่อย่างใด แต่เป็นการทำเพื่อตัวเอง เป็นการดูแลตัวเอง เพื่อให้เรามีสุขภาพใจที่ดีนั่นเองค่ะ
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ