“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
7 ท่าสำหรับ บริหารนิ้วล็อค บริหารเองได้ง่ายๆ ทุกวัน
คนวัยทำงานคือช่วงวัยที่ต้องเจอปัญหาสุขภาพสารพัดอย่าง บางครั้งอาจเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างอาการปวดเมื่อยตามร่างกายหรือความเครียดแบบชั่วครั้งชั่วคราว แต่รู้หรือเปล่าคะว่าหากเราปล่อยให้อาการเหล่านี้รุนแรงขึ้นโดยไม่หาทางป้องกันหรือแก้ไขมันอาจส่งผลเสียร้ายแรงในอนาคต เช่นเดียวกับ “นิ้วล็อค” ที่หลายคนมองข้าม ดังนั้นเราจึงนำวิธีการ บริหารนิ้วล็อค มาฝาก สามารถทำได้ทุกวันเพื่อบรรเทาและป้องกันการเกิดนิ้วล็อค ใครไม่อยากเสี่ยงนิ้วล็อคหรือไม่อยากให้อาการของคุณรุนแรงขึ้นต้องลองนะคะ
- นิ้วล็อคคืออะไร เกิดจากสาเหตุใดบ้าง ?
ก่อนจะไปดูท่าบริหารนิ้วล็อคเราลองมารู้จักกับอาการนิ้วล็อคหรือ Trigger Finger กันสักนิด อาการนี้คืออาการเส้นเอ็นที่เชื่อมระหว่างข้อนิ้วและฝ่ามือเกิดอาการยึดติดกับกล้ามเนื้อ มีอาการเอ็นอักเสบทำให้ไม่สามารถงอนิ้วได้อิสระหรืองอได้แต่ก็มีอาการเจ็บ แสบ หรือชา หากใครอาการรุนแรงนิ้วจะล็อคจนไม่สามารถขยับหรืองอกลับคืนรูปเดิมได้ ซึ่งอาการของใครอยู่ในขั้นนี้ก็ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเท่านั้น
การรักษานิ้วล็อคมีหลายวิธี หากอาการอยู่ในช่วงแรกเราสามารถรักษาด้วยตัวเองได้ โดยการพักการใช้งานข้อมือระหว่างวัน แช่น้ำร้อน การออกกำลังกาย บริหารนิ้ว หรือแม้แต่การเข้าคลาสโยคะ จะเป็นโยคะเบื้องต้นลดหน้าท้องหรือโยคะแบบใดก็ได้เพราะแต่ละท่าช่วยให้เรายืดเหยียดกล้ามเนื้อทั้งตัวอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังรวมถึงการทำสมาธิเพื่อบรรเทาอาการปวดด้วย ส่วนการรักษาทางการแพทย์จะมีสองวิธีคือการฉีดสเตียรอยด์เพื่อคลายกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ส่วนอีกวิธีก็คือการผ่าตัดนั่นเอง
- 7 วิธี บริหารนิ้วล็อค ป้องกันไว้ก่อน สบายใจและช่วยให้ชีวิตดีกว่า
- ยกนิ้ว
เริ่มต้นการบริหารนิ้วล็อคด้วยท่าแรกอย่างการยกนิ้ว เป็นท่าง่ายๆ ที่ช่วยให้เราผ่อนคลายกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นจากความตึงเครียดและยังช่วยบริหารข้อมือและนิ้วของเราอีกด้วย วิธีการทำเริ่มจากวางฝ่ามือคว่ำลงบนโต๊ะ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อให้เป็นธรรมชาติ จากนั้นเริ่มบริหารโดยการยกเฉพาะส่วนนิ้วขึ้นจากโต๊ะให้สูงที่สุด ไล่ตั้งแต่นิ้วโป้งไปจนถึงนิ้วก้อย ทำซ้ำ 5 – 10 ครั้ง
- บริหารด้วยยางยืด
สำหรับการบริหารนิ้วล็อคท่านี้ต้องใช้อุปกรณ์เข้ามาช่วยเล็กน้อยนั่นก็คือยางรัดของเส้นใหญ่หรือใครจะใช้ยางยืดสำหรับบริหารนิ้วโดยเฉพาะก็ได้ วิธีการก็คือนำยางมารัดนิ้วมือทั้ง 5 เอาไว้ จากนั้นพยายามกางนิ้วออกให้กว้างที่สุด ทำซ้ำ 10 – 15 ครั้ง ท่านี้นอกจากจะดีสำหรับคนเป็นนิ้วล็อคแล้วยังเหมาะสำหรับใช้เป็นท่าออกกำลังกายสำหรับผผู้สูงอายุเพื่อให้พวกท่านได้บริหารกล้ามเนื้อมือและนิ้วด้วยนะ
- ยืดกล้ามเนื้อนิ้วแบบวงกลม
ท่านี้เป็นท่าที่เราทำเพื่อยืดกล้ามเนื้อนิ้วโป้งที่มักมีปัญหาจากอาการนิ้วล็อคมากที่สุด วิธีการก็คือทำท่าเริ่มต้นเป็นสัญลักษณ์ OK แต่เราจะใช้นิ้วโป้งกับนิ้วกลางแทนนะคะ จากนั้นยืดนิ้วโป้งออกให้มากที่สุด ค่อยๆ ทำช้าๆ เท่าที่เราสามารถยืดได้ ค้างไว้ 5 วินาทีแล้วจึงกลับสู่ท่าเดิม ทำซ้ำ 5 – 10 ครั้ง
เกร็ดสุขภาพ : การทำท่าบริหารท่าต่างๆ ให้ยึดความรู้สึกของตัวเราเป็นหลัก หากการยืดเหยียดตามท่าไหนรู้สึกเจ็บ ให้ทำเท่าที่เราไหวโดยไม่ต้องฝืน เพราะการฝืนยืดกล้ามเนื้อมากๆ อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ ให้ใช้วิธี “ช้าแต่ชัวร์” หรือก็คือการทำวันละนิดละหน่อยแต่ทำอย่างสม่ำเสมอจะดีที่สุดนะคะ
- บริหารนิ้วล็อคด้วยลูกบอล
เป็นอีกท่าที่เราต้องใช้อุปกรณ์เข้ามาช่วย โดยสามารถเลือกใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่แล้วได้เลยค่ะไม่ว่าจะเป็นลูกเทนนิส ลูกบอลยางยืด หรือลูกบอลสำหรับบริหารมือและนิ้วโดยเฉพาะ วิธีการก็คือกำลูกบอลเอาไว้ที่อุ้งมือจากนั้นบีบลูกบอล 5 วินาทีแล้วปล่อย ทำซ้ำ 5 – 10 ครั้ง
- ยืดเหยียดนิ้วและข้อมือ
เป็นการบริหารนิ้วล็อคที่ง่ายมากๆ แต่ช่วยยืดเหยียดกล้ามเนื้อมือและนิ้วได้ดี ช่วยบรรเทาและป้องกันการเกิดนิ้วล็อคได้อย่างมีประสิทธิภาพ วิธีการก็คือชูแขนขึ้นให้ขนานกับพื้น หงายฝ่ามือจากนั้นกำมือหลวมๆ พับข้อมือขึ้นด้านบนเท่าที่ทำได้ ค้างไว้ 5 วินาที จากนั้นแบมือและกดข้อมือลงด้านล้าง ค้างไว้ 5 วินาที ทำซ้ำ 5 – 10 ครั้ง
- ยืดเหยียดกล้ามเนื้อฝ่ามือและนิ้ว
ท่าบริหารท่านี้ช่วยให้เรายืดเหยียดกล้ามเนื้อบริเวณฝ่ามือและนิ้วได้ง่ายๆ วิธีการก็คือยกแขนขึ้นตั้งฉากกับพื้น หงายฝ่ามือไปด้านหน้าจากนั้นงอนิ้วลงให้แตะอุ้งมือ (ตามรูป) แล้วจึงทำท่ากำหมัดตามปกติตามด้วยการกางมือออกให้กว้างที่สุดเท่าที่ทำได้โดยไม่ต้องฝืน ค้างไว้ 5 วินาที ทำซ้ำ 5 – 10 ครั้ง
- ท่าบริหารแบบตัววี (V)
ปิดท้ายกันที่ท่าบริหารนิ้วล็อคแบบรูปตัววีที่ช่วยคลายกล้ามเนื้อนิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลางได้ดี วิธีการก็คือยกนิ้วโป้งขึ้นด้านบนและชูนิ้วกลางกับนิ้วชี้ไปด้านหน้า (คล้ายการทำมือรูปปืน) จากนั้นใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางของมืออีกข้างดันนิ้วชี้และนิ้วกลางของเราออกจากกัน (ตามรูป) ทำค้างไว้ 5 วินาทีและทำซ้ำข้างละ 5 ครั้ง หากรู้สึกเจ็บหรือตึงให้ทำช้าๆ ไม่ต้องฝืนนะคะ
เกร็ดสุขภาพ : แม้ว่าโรคนิ้วล็อคจะรักษาได้แต่อย่างไรก็ตามการป้องกันไว้ก่อนโดยใช้ท่าบริหารนิ้วล็อคย่อมดีกว่าอยู่แล้ว เพราะเวลาที่เส้นเอ็นอักเสบซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของนิ้วล็อคนั้นจะทำให้เรารู้สึกเจ็บเวลาขยับข้อมือ ส่งผลกระทบต่อการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้นหมั่นพักยืดเส้นยืดสายระหว่างทำงานบ่อยๆ ใช้การบริหารมือทั้ง 7 ท่ามาช่วย รับรองห่างไกลความเสี่ยงนิ้วล็อคแน่นอนค่ะ
การบริหารนิ้วล็อคนั้นมีประโยชน์อย่างมากเพราะช่วยป้องกันอาการไม่ให้รุนแรงขึ้น อีกทั้งยังช่วยบรรเทาความเจ็บปวดและถือเป็นวิธีรักษาอย่างหนึ่งสำหรับคนที่เป็นนิ้วล็อคด้วย สิ่งสำคัญก็คือต้องทำทุกวันเพื่อให้กล้ามเนื้อได้ยืดเหยียดอย่างสม่ำเสมอและเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุดค่ะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : nhs.uk, braceability.com
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ