“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
กลัวการเข้าสังคม แบบไหนปกติ แบบไหนผิดปกติ ? มาเช็กกันเถอะ!
โรควิตกกังวลทางสังคม หรือบางครั้งเรียกว่าโรคกลัวสังคม (Social Anxiety Disorder หรือ Social Phobia) เป็นโรควิตกกังวลประเภทหนึ่งที่ทำให้เกิดความกลัวอย่างรุนแรงเมื่อจะต้องเข้าสังคมหรืออยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่มีคนอยู่จำนวนมาก ผู้ที่เป็นโรคนี้มักมีปัญหาในการพูดคุยกับผู้คน หรือการพบปะผู้คนใหม่ๆ รวมถึงการเข้าสังคม เพราะกลัวว่าจะถูกตัดสินหรือถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้อื่น และกลายเป็นโรคทางภาวะจิตใจที่แตกต่างจากความเขินอาย เพราะความเขินอายในการเข้าสังคมมักเกิดขึ้นเพียงระยะสั้นๆ และไม่รบกวนชีวิตประจำวัน แต่ความวิตกกังวลทางสังคมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอาจส่งผลต่อความสามารถในการทำงาน การเรียน รวมถึงการพัฒนาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนนอกครอบครัวด้วย เพื่อเป็นการรู้จักโรคนี้ให้ดียิ่งขึ้น โรค กลัวการเข้าสังคม เกิดจากอะไร มีอาการอย่างไร และรักษาได้อย่างไรบ้าง รวมถึงคนในครอบครัวจะช่วยกันดูแลผู้ที่มีอาการหวาดกลัวการเข้าสังคมได้อย่างไร ไปอ่านกันเลยค่ะ
ทำไมถึงกลัวการเข้าสังคมได้ ? สาเหตุมาจากอะไรกัน
อะไรเป็นสาเหตุของโรคกลัวการเข้าสังคม ? แม้จะไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของความหวาดกลัวทางสังคม แต่อาจเกิดจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม และรวมถึงประสบการณ์เชิงลบที่อาจนำไปสู่ความผิดปกตินี้ เช่น การถูกกลั่นแกล้ง ความขัดแย้งในครอบครัว การถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือมีความผิดปกติของสารเคมีในร่างกาย เช่น ความไม่สมดุลของเซโรโทนิน ที่อาจทำให้เกิดภาวะนี้ได้ เนื่องจากเซโรโทนินเป็นสารเคมีในสมองที่ช่วยในการควบคุมอารมณ์ อีกหนึ่งสาเหตุของการเกิดโรคนี้คือ ความคิดของตัวผู้ป่วยเอง ทำให้มีการประเมินตนเองอยู่ตลอดเวลา และกลัวว่าจะถูกมองไม่ดี จะถูกตัดสิน กลัวว่าจะถูกจับจ้อง ถูกจับผิด ซึ่งบางครั้งอาจเป็นการคิดไปเอง เพราะความจริงแล้วอาจจะไม่ได้มีคนมาจับจ้องหรือจับผิดอยู่ก็ได้
เกร็ดสุขภาพ : โรควิตกกังวลทางสังคมอาจมาจากประสบการณ์ที่หน้าอับอายในวัยเด็กจนกลายเป็นความฝังใจ เช่น โดนเพื่อนแกล้งต่อหน้าสาธารณะ หรือเมื่อพูดหน้าชั้นเรียนแล้วไม่มีใครสนใจ โดนเยาะเย้ย ก็ทำให้รู้สึกไม่ดีและพัฒนามาเป็นความกลัวที่จะอยู่ต่อหน้าคนหมู่มากได้ นอกจากนี้ การเกิดโรคกลัวสังคมอาจมีความเกี่ยวข้องกับการถูกเลี้ยงดูโดยผู้ปกครองที่มักมีความวิตกกังวลในสถานการณ์ทางสังคม หรือควบคุมปกป้องลูกมากเกินไป ซึ่งก็อาจส่งผลต่อเด็กได้เช่นกัน
ชวนเช็กอาการของการ กลัวการเข้าสังคม อาการแบบไหนที่เข้าข่ายว่าผิดปกติ ?
สำหรับผู้ที่เป็นโรคกลัวการเข้าสังคม การปฏิสัมพันธ์ทางสังคมอาจทำให้เกิดอาการผิดปกติทางกายภาพได้ คือ หน้าแดง คลื่นไส้ เหงื่อออกมากเกินไป ตัวสั่น พูดลำบาก วิงเวียนศีรษะหรือหน้ามืด หัวใจเต้นเร็ว รวมถึงอาการทางจิตใจ คือ กังวลอย่างมากเกี่ยวกับสถานการณ์ทางสังคม มีความกังวลหลายวันหรือหลายสัปดาห์ก่อนเหตุการณ์จริง หลีกเลี่ยงสถานการณ์ทางสังคม กังวลว่าจะทำให้ตัวเองเกิดความอับอายในสถานการณ์ทางสังคม กังวลว่าคนอื่นจะสังเกตเห็นว่าตัวเองเครียดหรือประหม่า ต้องการแอลกอฮอล์เพื่อเผชิญสถานการณ์ทางสังคม ขาดเรียนหรือขาดงานเพราะวิตกกังวล เป็นต้น ซึ่งเป็นธรรมดาที่บางครั้งคนเราจะรู้สึกวิตกกังวล แต่สำหรับคนที่กลัวการเข้าสังคมนั้น จะมีความวิตกกังวลในระดับที่มากกว่า และมีอาการแสดงออกทั้งทางกายภาพและภายในจิตใจ จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรากำลังเป็นโรคกลัวสังคม ? หากมีอาการต่างๆ เหล่านี้ ก็เป็นไปได้ว่า เราอาจจะกำลังเข้าข่ายการเป็นโรคกลัวสังคมอยู่ก็ได้ค่ะ
- รู้สึกกลัวสถานการณ์ทางสังคมอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากกลัวความอับอาย กลัวจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ทำให้เกิดความอัปยศอดสู
- รู้สึกวิตกกังวลหรือตื่นตระหนกก่อนมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
- กังวลว่าตนเองจะทำเรื่องน่าอายต่อผู้อื่น และจะถูกผู้อื่นตัดสิน เยาะเย้ย ถากถาง
- ตระหนักได้ว่าความกลัวของเราไม่มีเหตุผล
- ความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเข้าสังคมที่เกิดขึ้นนั้น รบกวนชีวิตประจำวัน
- หลีกเลี่ยงสถานการณ์ทางสังคมทั่วไป เช่น การโต้ตอบกับคนที่ไม่คุ้นเคยหรือคนแปลกหน้า การเข้าร่วมงานปาร์ตี้หรืองานสังสรรค์ การเริ่มบทสนทนาก่อน การสบตาผู้อื่น การออกเดท การกินต่อหน้าคนอื่น ไปจนถึงการใช้ห้องน้ำสาธารณะ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม อาการวิตกกังวลทางสังคมสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้อาจเกิดขึ้นหากคุณกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง ความเครียด หรือความกดดันในชีวิตที่กำลังเกิดขึ้น แม้ว่าการหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความวิตกกังวลอาจทำให้รู้สึกดีขึ้นในระยะสั้น แต่ความวิตกกังวลของเรานั้นก็มีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปในระยะยาวหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
โรคกลัวการเข้าสังคม สามารถรักษาได้หรือไม่ มีวิธีการรักษาอย่างไรบ้าง ?
มีการรักษาหลายประเภทสำหรับโรควิตกกังวลทางสังคม หรือกลัวการเข้าสังคม ซึ่งผลการรักษาจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับอาการและการวินิจฉัยทางการแพทย์เพื่อเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมเป็นรายบุคคล โดยมีวิธีการรักษาอาการกลัวการเข้าสังคมดังนี้
1. การบำบัดพฤติกรรม
การบำบัดความคิดและพฤติกรรม หรือ Cognitive behavioral Therapy คือวิธีการปรับความคิดและพฤติกรรมเพื่อให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้วิธีควบคุมความวิตกกังวลผ่านการผ่อนคลายร่างกาย การฝึกการหายใจเพื่อลดความวิตกกังวล และวิธีแทนที่ความคิดเชิงลบด้วยความคิดเชิงบวก
2. การบำบัดด้วยสถานการณ์จำลอง
การบำบัดประเภทนี้จะช่วยให้เราค่อยๆ เผชิญหน้ากับสถานการณ์ทางสังคมที่รู้สึกกลัว ได้ดีขึ้น เพื่อที่จะได้ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์นั้นๆ ได้ แทนที่จะหลีกเลี่ยงนั่นเอง
3. การบำบัดแบบกลุ่ม
การบำบัดแบบกลุ่มจะช่วยให้เราเรียนรู้ทักษะและเทคนิคทางสังคมในการโต้ตอบกับผู้คนในสภาพแวดล้อมทางสังคมได้อย่างเหมาะสม ซึ่งการเข้าร่วมการบำบัดแบบกลุ่มกับคนที่มีความกลัวแบบเดียวกันอาจทำให้คุณรู้สึกโดดเดี่ยวน้อยลง จะทำให้มีโอกาสฝึกฝนทักษะใหม่ผ่านการสวมบทบาทต่างๆ ได้
4. การรักษาด้วยยา
ในบางกรณีแพทย์อาจจ่ายยาต้านเศร้า ยารักษาโรคซึมเศร้า ยารักษาภาวะวิตกกังวล หรือยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของอะดรีนาลีน ทำให้อัตราการเต้นของตัวใจช้าลง ความดันโลหิตลดลง รวมถึงอาการสั่นลดลงด้วย ซึ่งจะช่วยควบคุมอาการวิตกกังวลในสถานการณ์ต่างๆ ได้ เช่น เมื่อต้องอยู่ต่อหน้าคนหมู่มาก ต้องกล่าวบรรยายในที่สาธารณะ เป็นต้น
กลัวการเข้าสังคม ควรดูแลตัวเองอย่างไร ?
เมื่อรู้ตัวว่าตัวเองมีอาการกลัวการเข้าสังคม หรือกำลังเป็นโรคนี้อยู่ อันดับแรกคือไม่ควรกล่าวโทษหรือตำหนิตัวเอง เพราะอาจจะยิ่งทำให้เกิดความเครียดความวิตกกังวลมากขึ้นได้ ควรจัดการกับความเครียดด้วยวิธีการที่เหมาะสม เช่น ออกกำลังกาย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะการอดนอนจะทำให้อาการแย่ลงได้ หลีกเลี่ยงการบริโภคคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ ช็อกโกแลต เพราะทำให้รู้สึกตื่นตัว ใจสั่น ซึ่งอาจจะกระตุ้นทำให้เกิดความประหม่าได้
ทั้งนี้ หากตัวเราเองไม่ได้เป็นโรคกลัวสังคม แต่มีคนในครอบครัวหรือคนรอบข้างกำลังเป็นโรคนี้อยู่ สิ่งที่ควรทำคือ ควรจะเข้าใจบุคคลนั้นๆ ว่าเป็นความเจ็บป่วยทางภาวะจิตใจที่จะต้องทำการรักษาอย่างเหมาะสม และไม่ควรตำหนิหรือต่อว่าอย่างเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้อาการแย่ลงได้ แต่ควรให้กำลังใจ แสดงความเห็นอกเห็นใจต่อกัน และปลอบโยนผู้ป่วยด้วยความจริงใจ ซึ่งจะทำให้ผู้ที่เป็นโรคกลัวสังคมรู้สึกสบายใจมากขึ้นและรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้อาการวิตกกังวลหรือความรู้สึกกลัวลดลงได้ การอยู่ข้างๆ และคอยให้ความช่วยเหลือ จะช่วยให้ผู้ที่มีอาการกลัวการเข้าสังคมรู้สึกอุ่นใจมากขึ้นได้ค่ะ
เกร็ดสุขภาพ : สำหรับผู้ที่มีอาการกลัวการเข้าสังคม การจดบันทึกในแต่ละวันจะช่วยให้สังเกตตัวเองและวิเคราะห์ความรู้สึกของตัวเองได้ดีขึ้น และสามารถจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ การทำงานอดิเรกที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย จะช่วยให้ความเครียดลดลงและรู้สึกสบายใจมากขึ้นได้ หรืออาจะใช้วิธีทำให้ใจเย็นวิธีต่างๆ เข้าช่วย ก็จะสามารถควบคุมอาการประหม่าหรืออาการวิตกกังวลเมื่อต้องเข้าสังคมได้
โรคหวาดกลัวการเข้าสังคมนั้น สามารถเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกับความไม่สบายทางจิตใจอาการอื่นๆ ซึ่งจะต้องทำการปรึกษานักจิตวิทยา จิตแพทย์ หรือนักจิตบำบัดเพื่อหาหนทางวิธีรักษาอาการให้ดีขึ้นได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ใครที่ลองเช็กอาการแล้วพบว่าเรากำลังเข้าข่ายกลัวการเข้าสังคม แนะนำให้ไปพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เพื่อหาแนวทางในการรักษาต่อไป จะได้ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขมากขึ้นและมีสุขภาพกาย สุขภาพใจที่ดีขึ้นได้ค่ะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : healthline.com, mayoclinic.org, nhs.uk
Featured Image Credit : pexels.com/Darina Belonogova
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ