“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
ชวนรู้ อาการโรคไตระยะแรก เป็นอย่างไร ? โรคไตมีกี่ระยะ !
โรคไตเป็นโรคร้ายที่ไม่ว่าใครก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตัวเองหรือคนที่เรารัก ดังนั้นเราจึงควรทำความรู้จักกับโรคนี้ให้ดีขึ้นกว่าเดิม มาดูกันว่าไตมีกี่ระยะ หากเป็นโรคไตจะสังเกตอาการได้อย่างไร อาการโรคไตระยะแรกมีลักษณะอย่างไรบ้าง ทีมเพื่อสุขภาพขอพาทุกคนไปรู้จักโรคร้ายชนิดนี้ให้มากขึ้นกันค่ะ
- โรคไตหรือไตวายมีกี่ประเภท
ก่อนไปรู้กันว่าอาการโรคไตแต่ละระยะเป็นอย่างไร เรามาดูกันก่อนว่าภาวะไตวายหรือโรคไตมีกี่ประเภท
1. ภาวะไตวายเฉียบพลัน คือ ภาวะที่ไตสูญเสียความสามารถในการทำงานอย่างรวดเร็วจากสาเหตุหลายๆ อย่าง เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด การได้รับสารพิษ โรคในระบบทางเดินปัสสาวะ ผลข้างเคียงจากการใช้ยาไปจนถึงการกินยาเกินขนาด เป็นภาวะที่หากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็มีโอกาสที่ไตจะสามารถกลับมาทำงานอีกครั้งได้
2. ภาวะไตวายเรื้อรัง คือ ภาวะที่ไตค่อยๆ สูญเสียความสามารถในการทำงาน สาเหตุเกิดจากโรคร้ายอย่างเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน ไปจนถึงภาวะอื่นเช่นไตอักเสบหรือโรคถุงน้ำในไต อาการเหล่านี้มักกินเวลานานและบอกได้ยากว่าเริ่มเกิดขึ้นเมื่อไร การสังเกตอาการโรคไตระยะแรกจึงสำคัญมากเพราะหากตรวจพบในระยะหลังๆ อาจไม่สามารถรักษาให้ไตกลับมาทำงานเป็นปกติได้อีก
เกร็ดสุขภาพ : ในอดีตเราเชื่อว่าระดับความเค็มในอาหารส่งผลต่อการเกิดโรคไตโดยตรง ซึ่งความจริงแล้วความเค็มก็มีส่วนเพราะไตต้องทำงานหนัก แต่นอกเหนือจากนั้นโรคไตยังสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นกรรมพันธุ์ สิ่งแวดล้อม และโรคต่างๆ ที่ส่งผลข้างเคียงให้เกิดโรคไตด้วย เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และนิ่วในทางเดินปัสสาวะ รวมถึงการกินยาแก้ปวด การกินยาเกินขนาด หรือการกินยาสมุนไพรบางชนิดด้วย
- อาการโรคไตระยะแรก เป็นแบบไหน โรคไตวายมีกี่ระยะ อาการแต่ละระยะเป็นอย่างไร
สำหรับโรคไตแบบเรื้อรังนั้นจะมีอาการที่ถูกแบ่งออกเป็นระยะ ใครที่สงสัยว่าไตมีกี่ระยะ คำตอบก็คือทางการแพทย์แบ่งไว้เป็น 5 ระยะโดยใช้ค่า GFR หรือค่าการทำงานของไต ดังนี้
- ระยะที่หนึ่ง ค่า GFR 90 หรือมากกว่า : ใครสงสัยว่าอาการโรคไตระยะแรกคืออะไร คำตอบคือเริ่มพบโปรตีนในปัสสาวะ ไตเริ่มเสื่อมลง แต่ยังทำงานได้ปกติ ทำให้สังเกตอาการได้ยาก ส่วนใหญ่หากไม่ใช่คนที่ตรวจสุขภาพเป็นประจำอาจไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคไตเรื้อรัง แต่อาจสังเกตได้คือร่างกายจะเริ่มมีอาการคัน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดบั้นเอว คลื่นไส้ อาเจียน เหนื่อยง่าย เบื่ออาหารและอาจนอนหลับยากขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ระยะทีสอง ค่า GFR 60-89 : เป็นระยะที่ค่า GFR ลดลงเล็กน้อย แสดงถึงภาวะการทำงานของไตที่เริ่มเสื่อมลง การทำงานมีประสิทธิภาพลดลง เริ่มมีอาการปัสสาวะผิดปกติ อาจปัสสาวะมากหรือน้อยเกินไป รวมถึงมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ เนื้อตัวบวมโดยเริ่มจากหนังตาและใบหน้า ก่อนจะลามไปที่ขา เท้า และหน้าแข้ง ซึ่งอาการบวมเพราะโรคไตจะต่างจากการปวดบวมตามปกติเพราะเมื่อกดลงไปแล้วผิวหนังจะเป็นรอยบุ๋ม
- ระยะที่สาม ค่า GFR 30-59 : เป็นระยะที่ค่า GFR ลดลงปานกลาง เริ่มเห็นชัดขึ้นว่าภาวะการทำงานของไตลดลง ปัสสาวะที่ผิดปกติอาจมีลักษณะชัดเจนขึ้น เช่น ปัสสาวะมีฟองหรือมีเลือดปน
- ระยะที่สี่ ค่า GFR 15-29 : เป็นระยะที่ค่า GFR ลดลงมาก การทำงานและประสิทธิภาพของไตลดลงอย่างเห็นได้ชัด นอกจากอาการของโรคไตระยะแรกๆ แล้ว อาจมีอาการความเสื่อมของสุขภาพร่วมด้วย เช่น มีไข้สูง ร่างกายมีผื่นคัน เลือดกำเดาไหล และมีอาการคลื่นไส้อาเจียนรุนแรงขึ้น
- ระยะที่ห้า ค่า GFR น้อยกว่า 15 : ระยะนี้ถือเป็นระยะสุดท้ายหรือเข้าสู่ภาวะไตวาย ร่างกายจะอ่อนแอลงอย่างมาก อ่อนล้า อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียนบ่อย ปัสสาวะผิดปกติ ร่างกายมีผื่นและยังคงมีอาการปวดกล้ามเนื้อบริเวณหลังและบั้นเอวอย่างรุนแรง
- การรักษาโรคไต รักษาด้วยวิธีไหนได้บ้าง
- ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis)
การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเป็นการนำน้ำและของเสียออกจากเลือดผ่านตัวกรองกำจัดของเสีย เป็นวิธีที่ช่วยปรับสมดุลเกลือแร่และความเป็นกรดด่างในเลือด ผู้ป่วยจะใช้เวลาฟอกเลือดครั้งละ 3 – 4ชั่วโมง สัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้ง และต้องรับการตัดต่อเส้นเลือดเพื่อการฟอกเลือดโดยเฉพาะด้วย
- ล้างไตทางผนังช่องท้อง (Peritoneal dialysis)
วิธีนี้คือการใส่น้ำยาล้างไตผ่านทางช่องท้องโดยแพทย์จะเจาะสายยางฝังไว้ในช่องท้องของผู้ป่วยเพื่อกรองของเสียในร่างกายออก เป็นวิธีที่ต้องทำทุกวัน ผู้ป่วยสามารถเรียนร็วิธีทำที่บ้านและทำด้วยตัวเองได้ แต่ต้องระมัดระวังเรื่องความสะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อด้วย
- ผ่าตัดปลูกถ่ายไต (Kidney transplantation)
เป็นการรักษาโดยปลูกถ่ายไตของผู้บริจาคอวัยวะมาไว้ในร่างกายของผู้ป่วยเพื่อทดแทนไตเดิม เป็นวิธีที่มีข้อจำกัดคือการหาไตที่สามารถเข้ากันได้ระหว่างผู้ป่วยและผู้บริจาค
เกร็ดสุขภาพ : จากที่เรากล่าวมานั้นหลายคนอาจรู้แล้วว่าการดูแลตัวเองเบื้องต้นสำคัญแค่ไหน เพราะโรคไตและโรคร้ายอื่นๆ จากไตรกลีเซอไรด์ เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราเอง ดังนั้นเราต้องเลือกกินอาหารที่ไม่เค็มจัด ไม่กินยาเกินขนาด เลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และระมัดระวังในการใช้ยาประเภทต่างๆ ทั้งยาแผนปัจจุบันและยาสมุนไพร นอกจากนี้ยังต้องหมั่นไปตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อสังเกตความผิดปกติของร่างกายอยู่เป็นประจำด้วยนะคะ
รู้กันแล้วว่าโรคไตมีกี่ระยะ แต่ละระยะวัดค่าจากอะไร และอาการโรคไตระยะแรกรวมถึงอาการของผู้ป่วยโรคไตเป็นอย่างไรบ้าง เราหวังว่าทุกคนจะให้ความสำคัญกับสุขภาพของตัวเองและคนรอบข้างมากขึ้น เพราะไม่ว่าอย่างไรการป้องกันไว้ก่อนก็ดีกว่าการรักษาเสมอค่ะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : kidneyfund.org, siphhospital.com, bumrungrad.com, saintlouis.or.th
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ