“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
ชวนรู้ ! 5 สมุนไพรแก้ไมเกรนได้ ลดอาการปวดหัวได้อยู่หมัด
อาการปวดหัวไมเกรนเกิดขึ้นได้กับหลายคน หากคุณเป็นหนึ่งในนั้นที่มีอาการปวดหัวไมเกรน และมีลักษณะการปวดหัวแบบรุนแรงจนทนไม่ไหว หรือยาแก้ปวดหัวไม่สามารถบรรเทาอาการได้ ลองใช้วิธีบำบัดแบบธรรมชาติดูไหมคะ เช่น เทคนิคการผ่อนคลายและการรักษาด้วยสมุนไพรเพราะมี สมุนไพรแก้ไมเกรน ได้ด้วย เรามาดูกันค่ะว่ามีสมุนไพรอะไรบ้างที่รักษาไมเกรนได้ และมะนาวแก้ไมเกรนได้จริงไหม มาหาคำตอบกันค่ะ
จัดให้กับ 5 สมุนไพรแก้ไมเกรน จะมีอะไรบ้าง มาดูกัน !
- ขิง
ขิงเป็นพืชเขตร้อนในเอเชีย นิยมนำมาใช้ในยาสมุนไพรเพื่อแก้อาการปวดหัว ปวดท้อง คลื่นไส้ โรคข้ออักเสบ อาการหวัด และไข้หวัดใหญ่ เพราะมีสารต้านการอักเสบ ต้านไวรัส ต้านเชื้อรา และต้านแบคทีเรีย นอกจากนี้ยังพบว่าประโยชน์ของน้ำขิง สรรพคุณเทียบได้กับยาซูมาทริปแทน ซึ่งเป็นยารักษาไมเกรนตามใบสั่งแพทย์ทั่วไป แต่มีผลข้างเคียงน้อยกว่า ขิงจึงจัดว่าเป็นหนึ่งในสมุนไพรแก้ไมเกรนได้ ลองนำรากขิงสดหรือแห้งมาชงเป็นชาขิงแล้วดื่มเมื่อมีอาการปวดหัว หรือกินขิงในรูปแบบอาหารเสริมหรือสารสกัดก็ได้เช่นกัน
- สะระแหน่
ใบสะระแหน่และน้ำมันหอมระเหยของใบสะระแหน่นั้น มักใช้สำหรับการรักษาโรคและนำไปปรุงอาหาร ทั้งนังสามารถใช้บรรเทาอาการปวดฟัน ปัญหาทางเดินอาหาร และอาการคลื่นไส้ นอกจากนี้น้ำมันสะระแหน่มีสารออกฤทธิ์เมนทอลที่มีประสิทธิภาพในการหยุดอาการปวดไมเกรนและบรรเทาอาการคลื่นไส้ได้ เมื่อนำน้ำมันมาทาที่บริเวณหน้าผากและขมับ ซึ่งน้ำมันสะระแหน่อาจเป็นทางเลือกของสมุนไพรแก้ไมเกรนที่ดี ทั้งยังหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายอาหารเพื่อสุขภาพและร้านขายยาด้วยค่ะ
เกร็ดสุขภาพ : แม้ว่าสมุนไพรแก้ไมเกรนหลายชนิดจะปลอดภัยเมื่อใช้อย่างถูกต้อง แต่ก็อาจมีผลข้างเคียงเช่นเดียวกัน เพราะสมุนไพรบางชนิดอาจมีปฏิกิริยากับยาได้ เช่น ยาคุมกำเนิดหรือยารักษาโรคหัวใจ จึงอาจเป็นอันตรายได้ ดังนั้น ก่อนจะใช้สมุนไพรในการรักษาให้ศึกษาข้อบ่งใช้ให้ดี และหากคุณมีโรคประจำตัวอื่นๆ ให้ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ รวมถึงมะนาวแก้ไมเกรนได้ไหมนั้น ? สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงว่ามะนาวมีสารไทรามีนเป็นส่วนประกอบ ซึ่งสารนี้สามารถกระตุ้นการเกิดไมเกรนได้ เพราะฉะนั้น มะนาวแก้ไมเกรนได้นั้นไม่เป็นความจริงค่ะ
- มะรุม
มะรุมนอกจากจะนำมาใช้ในการทำอาหารแล้ว ยังถูกนำมาใช้เป็นยาพื้นบ้านด้วย เช่น สารสกัดจากน้ำมันหรือในรูปแบบรากแห้งหรือสด โดยนำมาใช้ในการรักษากระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคไต ปัญหาระบบทางเดินหายใจ ปวดข้อ โรคข้ออักเสบ และกล้ามเนื้อตึง รวมถึงช่วยลดการขยายตัวของหลอดเลือด ซึ่งสรรพคุณที่ว่านี้อาจช่วยในการรักษาไมเกรนได้ด้วย เพราะอาการปวดหัวไมเกรนนั้นเกิดจากการที่หลอดเลือดขยายตัวโดยธรรมชาติ จึงจัดได้ว่ามะรุมเป็นอีกหนึ่งสมุนไพรแก้ไมเกรนได้ค่ะ
- โรสแมรี่
โรสแมรี่มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียน นิยมนำมาใช้ในอาหารและในยา รวมถึงการรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อและข้อ ปัญหาความจำ ปัญหาสมาธิ โรคประสาท ปัญหาระบบไหลเวียนโลหิต โรคตับ และยังเป็นสมุนไพรแก้ไมเกรนอีกด้วย เพราะน้ำมันโรสแมรี่สามารถเจือจางและทาเฉพาะที่หรือสูดดมเพื่อการบำบัดด้วยกลิ่นหอม และมีฤทธิ์ต้านจุลชีพ รวมถึงมีสารต้านอนุมูลอิสระ จึงมีสรรพคุณในการลดอาการปวดไมเกรนได้
เกร็ดสุขภาพ : พฤติกรรม อารมณ์ ฮอร์โมน และอาหารบางอย่างอาจทำให้เกิดอาการไมเกรนได้ รวมถึงการถอนคาเฟอีนหรือสารเคมีก็อาจทำให้เกิดอาการไมเกรนได้เช่นกัน เพราะฉะนั้น นอกจากการรักษาด้วยสมุนไพรแล้ว ควรต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้อาการไมเกรนกำเริบค่ะ
- ว่านหางจระเข้
ว่านหางจระเข้ประกอบด้วยสารสเตอรอลจากพืช ซึ่งเป็นสารที่มีคุณสมบัติในการลดคอเลสเตอรอล ซึ่งเชื่อกันว่ามีฤทธิ์ต้านการอักเสบด้วย จึงมักใช้ช่วยในการรักษาอาการทางผิวหนัง นอกจากนี้แล้วยังมีฤทธิ์ในการรักษาอาการปวดหัวและไมเกรนได้ด้วย ซึ่งว่านหางจระเข้จัดเป็นสมุนไพรแก้ไมเกรนที่เป็นยาตามธรรมชาติเพื่อลดอาการปวดหัว ด้วยคุณสมบัติของยาแก้ปวด ต้านการอักเสบ ยาปฏิชีวนะ และผ่อนคลาย จะช่วยลดความเจ็บปวดและทำให้เรารู้สึกดีขึ้นได้ค่ะ โดยแนะนำให้ใช้น้ำว่านหางจระเข้บริสุทธิ์ชงดื่มในระหว่างที่มีอาการไมเกรนกำเริบ หรือใช้เจลว่านหางจระเข้นวดให้ทั่วบริเวณขมับหรือบริเวณที่ปวด ก็จะช่วยบรรเทาอาการได้
การรักษาไมเกรนนั้น นอกจากใช้สมุนไพรแก้ไมเกรนแล้ว ยังมีวิธีการบรรเทาอาการปวดหัวที่ไม่จำเป็นต้องใช้ยา เช่น ประคบเย็น ประคบร้อน การนวดกดจุด ซึ่งสามารถดูวิธีนวดมือได้ รวมถึงการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะเมื่อร่างกายรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นอาการปวดหัวไมเกรนก็จะค่อยๆ ลดลง นอกจากนี้การป้องกันไม่ให้เกิดหรือลดความถี่ความรุนแรงของอาการ สามารถทำได้ด้วยการออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ และจัดการความเครียดอย่างเหมาะสมด้วยค่ะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : food.ndtv.com, gj.mahidol.ac.th, healthline.com
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ