“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
วิธีวัดไข้ด้วยปรอท วัดยังไง วัดกี่นาที ? มาดูวิธีวัดที่ถูกต้อง เพื่อความแม่นยำ !
อุปกรณ์อย่างหนึ่งที่คิดว่าทุกๆ บ้านควรมีติดบ้านไว้นั้นก็คือ ปรอทวัดไข้ หรือเทอร์โมมิเตอร์ ยิ่งในช่วงที่มีการระบาดของโรค COVID – 19 การมีปรอทวัดไข้ไว้ติดบ้านก็จะช่วยสังเกตอาการตัวเองได้ง่ายขึ้น หรือแม้แต่กระทั่งมีไว้วัดไข้ทั่วไปทั้งในเด็กเล็กและผู้ใหญ่ เพื่อที่จะได้ดูแลรักษาตนเอง โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มักจะป่วยบ่อยๆ คุณพ่อคุณแม่จึงต้องมีปรอทติดไข้ติดบ้านเอาไว้เสมอ เช่นเดียวกับแผ่นแปะลดไข้ ซึ่งปรอทวัดไข้นั้นก็มีอยู่สองแบบที่มีวิธีการใช้แตกต่างกันออกไป แต่ก็ให้ค่าที่แม่นยำไม่ต่างกัน และเพื่อใช้งานและอ่านค่าได้อย่างถูกต้อง วิธีวัดไข้ด้วยปรอท ควรวัดยังไงเพื่อให้ได้ความแม่นยำ เรามีทั้งวิธีใช้ปรอทวัดไข้ดิจิตอลและปรอทวัดไข้แบบแก้วมาแนะนำกันแล้วค่ะ
วิธีวัดไข้ด้วยปรอท วัดอย่างไร ? มาดูวิธีวัดที่ถูกต้องกัน !
ก่อนจะไปรู้ถึงวิธีวัดไข้ด้วยปรอท เรามารู้จักประเภทของปรอทวัดไข้หรือเทอร์โมมิเตอร์กันก่อนค่ะ ปรอทวัดไข้นั้นจะมีอยู่ 2 แบบด้วยกัน คือ ปรอทวัดไข้แบบดิจิตอล และปรอทวัดไข้แบบแมนนวล (แท่งแก้ว) ที่ใช้สำหรับการวัดอุณหภูมิร่างกาย สำหรับใครที่ไปโรงพยาบาลและต้องผ่านจุดคัดกรองวัดความดัน (อ่านเพิ่มเติม ใบวัดความดันดูยังไง) วันไข้ก่อน จะเห็นว่าโดยส่วนใหญ่แล้ว มักจะนิยมใช้ปรอทวัดไข้แบบดิจิตอลมากกว่า อย่างไรก็ตาม ทั้งแบบแท่งแก้วและแบบดิจิตอลมีความแม่นยำใกล้เคียงกัน และมีวิธีการวัด 3 วิธี ได้แก่
- วัดไข้ทางปาก
- วัดไข้ทางทวารหนัก
- วัดไข้ทางรักแร้
ชวนดูวิธีวัดไข้ด้วยปรอทแบบแท่งแก้วอย่างถูกต้อง วัดอย่างไรถึงจะแม่นยำ
ปรอทวัดไข้แบบแท่งแก้วหรือแบบแมนนวลนั้น ยังคงใช้ได้ในปัจจุบัน เพียงแต่ควรเลือกปรอทวัดไข้แบบแก้วที่ไม่มีสารปรอทเพราะจะปลอดภัยกว่า เพราะถ้าหากมีสารปรอทอยู่อาจเกิดการรั่วไหลของปรอทซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ ซึ่งวิธีวัดไข้ด้วยปรอทแบบแท่งแก้วสามารถใช้วัดได้ 3 ทางคือ วัดทางปาก ใต้รักแร้ และทางทวารหนัก โดยปรอทวัดไข้ที่มีปลายมนจะใช้วัดทางทวารหนัก และปรอทวัดไข้ที่มีปลายแคบที่ยาวกว่าจะใช้วัดทางปาก จากนั้นทำตามวิธีการใช้ ดังนี้
- ทำความสะอาดปรอทวัดไข้แบบแก้วด้วยสบู่และน้ำอุ่น หรือเช็ดด้วยแอลกอฮอล์และล้างออกด้วยน้ำเย็น แต่มีข้อควรระวังคืออย่าใช้น้ำร้อน เพราะอาจทำให้ปรอทวัดไข้แตกได้
- เขย่าปรอทวัดไข้เพื่อลดอุณหภูมิ โดยหยิบที่ส่วนปลายแล้วแกว่งปรอทไปมา ตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าปรอทวัดไข้มีอุณหภูมิลดลงมาประมาณ 35 องศาเซลเซียสเป็นอย่างน้อย
- เสียบปรอทในตำแหน่งที่เหมาะสม แนะนำให้ใช้ปรอทวัดทางทวารหนักสำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี โดยให้ปรอทเข้าไปประมาณ 0.5 ถึง 1 นิ้ว ใช้เวลาประมาณ 2 นาที และไม่ควรใช้วัดทางปากสำหรับเด็ก เพราะเด็กอาจกัดปรอทแบบแก้วแตกได้ นอกจากนี้ การวัดอุณหภูมิทางทวารหนักยังแม่นยำที่สุดสำหรับเด็กอีกด้วย
- วิธีวัดไข้ด้วยปรอทในช่องปากและใต้รักแร้สำหรับเด็กอายุมากกว่า 5 ปีและผู้ใหญ่ โดยวางปลายปรอทไว้ใต้ลิ้น ขณะวัดไม่ควรหายใจทางปากและไม่ดื่มน้ำเย็นหรือน้ำร้อนก่อนวัดไข้ประมาณ 10 – 15 นาที เพราะอาจทำให้ได้ผลคลาดเคลื่อนได้ ส่วนวิธีวัดไข้ด้วยปรอท รักแร้ ให้ยกแขนแล้วเสียบปรอทเข้าไปใต้รักแร้โดยให้ปลายปรอทอยู่ตรงกลางรักแร้ แล้วโอบแขนแนบลำตัว สำหรับระยะเวลาในการวัดไข้นั้น หากใช้ปรอทวัดทางทวารหนักให้ใช้เวลา 2 – 3 นาที ส่วนในปากหรือใต้รักแร้ให้ใช้เวลา 3 – 4 นาที พยายามอย่าเขย่าปรอทขณะดึงออก เนื่องจากอาจส่งผลต่อค่าที่อ่านได้
ข้อควรระวังการใช้ปรอทแบบแท่งแก้ว
ปรอทวัดไข้แบบแก้ว เป็นอุปกรณ์วัดอุณหภูมิร่างกายที่ใช้กันมาอย่างยาวนาน แต่ปัจจุบันกำลังมีแผนการให้ทุกประเทศเลิกใช้ปรอทวัดไข้แบบแก้วที่มีสารปรอทบรรจุอยู่ข้างใน เนื่องจากสารปรอทนั้นเป็นพิษทั้งกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อม และเป็นอันตรายอย่างมากต่อสตรีมีครรภ์และเด็กเล็ก สารปรอทสามารถเข้าไปทำลายระบบประสาทของเด็ก ทำให้เด็กมีความสามารถในการเรียนรู้ลดลง เกิดอาการชัก หูหนวก ตาบอด และไม่สามารถรักษาให้หายได้ เพื่อความปลอดภัย ควรเลือกใช้ที่วัดไข้ที่ไม่มีสารปรอทจะดีกว่า และถ้าปรอทวัดไข้แบบแก้วแตกขึ้นมา ควรรีบปฏิบัติดังนี้
- หากปรอทวัดไข้แตกในขณะที่วัดทางปาก และมีสารปรอทไหลเข้าไปในช่องปาก ให้รีบบ้วนออกและไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด อาจต้องทำการล้างท้องหรือให้ยาที่ช่วยให้อาเจียนออกมา
- หากปรอทวัดไข้แตกลงพื้น ให้รีบออกจากบริเวณนั้นโดยเร็วที่สุด
- ไม่ควรใช้ไม้กวาด กวาดเศษแก้วรวมถึงสารปรอทที่เปื้อนอยู่ เพราะทำให้สารปรอทกระจายไปยังบริเวณต่างๆ ได้
- ห้ามใช้เครื่องดูดฝุ่นดูดสารปรอท เพราะจะทำให้สารปรอทตกค้างในเครื่องดูดฝุ่น และความร้อนจะทำให้สารปรอทระเหิดเข้าสู่ทางเดินหายใจได้
- ให้สวมผ้าปิดปากปิดจมูก และใช้กระดาษแข็งกวาดสารปรอทมารวมกัน ตักใส่ถุงแล้วมัดให้มิดชิด จากนั้นนำไปทิ้งในถังขยะที่เป็นถังทิ้งขยะอันตรายโดยเฉพาะ
- เปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทสะดวกอย่างน้อย 2 วัน
เกร็ดสุขภาพ : ข้อดีของปรอทวัดไข้แบบแก้วคือมีราคาไม่แพง สามารถซื้อได้โดยสะดวก แต่ทั้งนี้ ก็มีการใช้งานที่ยุ่งยาก ก่อนวัดไข้ต้องหมั่นเช็กปรอทวัดไข้อยู่เสมอว่าปรอทมีอุณหภูมิต่ำกว่า 35 องศาเซลเซียสหรือไม่ และยังอ่านค่าได้ยาก ต้องมีความระมัดระวังในการใช้เป็นอย่างมาก จึงได้มีการใช้ปรอทไข้แบบดิจิตอลแทน เพราะวิธีวัดไข้ด้วยปรอทแบบดิจิตอลนั้น สามารถตรวจวัดอุณหภูมิได้ง่าย มีความรวดเร็ว ทั้งยังอ่านค่าได้ง่ายเพราะจะแสดงผลอุณหภูมิผ่านหน้าจอดิจิตอล ไม่เป็นอันตราย สามารถใช้ได้กับทุกเพศทุกวัย
วิธีวัดไข้ด้วยปรอทวัดไข้ดิจิตอล ใช้อย่างไร ?
การใช้ปรอทวัดไข้แบบดิจิตอลจะแตกต่างจากแบบปรอทแก้วตรงที่ไม่จำเป็นต้องเขย่า เพียงแค่กดปุ่ม รอตัวเลขขึ้น และทำการวัดได้เลย วิธีวัดไข้ด้วยปรอทแบบดิจิตอลนั้น สามารถวัดได้ทั้งทางปาก ทางรักแร้ และทางทวารหนักเช่นเดียวกัน โดยมีวิธีการดังนี้
- ทำความสะอาดปรอทวัดไข้ดิจิตอลก่อน โดยทำความสะอาดปลายแหลมด้วยสบู่และน้ำอุ่นหรือแอลกอฮอล์ล้างแผล แล้วล้างออกด้วยน้ำเย็น
- หากต้องการวัดทางปาก ให้อ้าปากและวางปรอทวัดไข้ไว้ที่ใต้ลิ้น แล้วปิดริมฝีปากเบาๆ อมปรอทเอาไว้ใต้ลิ้นจนกว่าปรอทวัดไข้แบบดิจิตอลจะส่งเสียงดังปี๊บ สำหรับวิธีวัดไข้ด้วยปรอท รักแร้ ให้วางไว้ใต้วงแขนแล้วหนีบไว้เบาๆ ซึ่งการวัดไข้ทางรักแร้จะเหมาะสำหรับเด็กเล็กหรือผู้ใหญ่ที่ไม่สามารถวัดอุณหภูมิทางปากได้อย่างปลอดภัย แต่วิธีนี้อาจไม่แม่นยำเท่ากับการวัดทางช่องปากหรือทางทวารหนักในเด็กเล็กเพราะเด็กๆ อาจจะดิ้นและให้ผลที่คลาดเคลื่อนได้ แต่สามารถใช้เป็นการตรวจครั้งแรกอย่างรวดเร็วได้
- จากนั้นนำปรอทออกหลังจากได้ยินเสียงเตือน เมื่อมีตัวเลขปรากฏขึ้นที่หน้าจอ ก็จะสามารถอ่านค่าตัวเลขได้เลยค่ะ แล้วต้องวัดไข้ด้วยปรอทกี่นาที สำหรับปรอทวัดไข้ดิจิตอลก็จะมีอยู่หลายรูปแบบด้วยกัน มีทั้งแบบที่สามารถวัดได้อย่างรวดเร็วโดยจะใช้เวลาประมาณ 25 – 30 วินาที เท่านั้น ส่วนใหญ่จะใช้ในโรงพยาบาล ไปจนถึงใช้เวลาประมาณ 3 – 10 นาที ขึ้นอยู่กับแบบที่เลือก ทั้งนี้ เมื่อใช้เสร็จแล้ว อย่าลืมเสียบปรอทกลับเข้าไปในที่เก็บตามเดิมเพื่อความสะอาดและปลอดภัยนะคะ
เกร็ดสุขภาพ : อุณหภูมิร่างกายของคนเราโดยปกติหากมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยจะอยู่ระหว่าง 36.5-37.2 องศาเซลเซียส หรือเฉลี่ยประมาณ 37 องศาเซลเซียส ซึ่งถ้ามีอุณหภูมิตามนี้ นั่นหมายความว่ากำลังมีไข้
1) หากมีอุณหภูมิ 37.0 – 37.9 องศาเซลเซียส ถือว่ามีไข้ต่ำ
2) หากมีอุณหภูมิ 38.0 – 39.4 องศาเซลเซียส ถือว่ามีไข้
3) หากมีอุณหภูมิสูงกว่า 39.4 องศาเซลเซียส ถือว่ามีไข้สูงและหากมีไข้ให้กินยาพาราเพื่อทำการลดไข้ได้ สำหรับปริมาณการกินยาที่เหมาะสม เราสามารถกินได้ครั้งละ 1-2 เม็ดตามแต่น้ำหนักตัว และกินซ้ำได้ทุกๆ 4-6 ชั่วโมงจนกว่าไข้จะลด แต่ไม่ควรกินเกินวันละ 8 เม็ดค่ะ
ตอนนี้ก็ได้ทราบวิธีวัดไข้ด้วยปรอท รักแร้ ทางปาก หรือทางทวารหนักเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมไปถึงวิธีการใช้ปรอทแบบต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง เพื่อให้เราสามารถทำการวัดไข้ด้วยตนเองหรือวัดให้เด็กๆ ในครอบครัวได้ หากมีไข้ เป็นหวัด และมีน้ำมูกร่วมด้วย นอกจากการกินยาพาราลดไข้และยาลดน้ำมูกแล้ว การระมัดระวังในเรื่องอาหาร เช่น เป็นไข้ห้ามกินผลไม้อะไรบ้าง เพราะจะทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น หากดูตัวเองอย่างสม่ำเสมอ รับประทานยาลดไข้ตรงเวลา ดื่มน้ำเยอะๆ เช็ดตัวบ่อยๆ ก็อาจช่วยให้ไข้ลงได้ แต่ถ้าเป็นไข้ต่อเนื่องประมาณ 3 – 4 วันแล้วไข้ยังไม่ลด การไปพบแพทย์อาจช่วยให้วินิจฉัยความเจ็บป่วยได้ และรักษาได้อย่างตรงจุดมากขึ้นค่ะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : samitivejhospitals.com, wikihow.com, verywellhealth.com, my.clevelandclinic.org
Featured Image Credit : freepik.com/fabrikasimf
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ