“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
ปวดท้ายทอย มึนหัว ปวดตา ป่วยเป็นอะไรได้บ้าง ? อันตรายไหม ? ต้องดูแลตัวเองยังไง มาอ่านกัน !
เคยไหมคะที่นั่งๆ ทำงานอยู่แล้วรู้สึก ปวดท้ายทอย มึนหัว ปวดตา จนต้องหยุดพักกะทันหัน ซึ่งอาการดังกล่าวนี้ อาจเป็นสัญญาณของร่างกายที่กำลังพยายามจะบอกอะไรกับเราอยู่ก็ได้ ถ้าเป็นไม่บ่อยนัก เป็นเฉพาะในวันที่เราทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจเป็นไปได้ว่าเรากำลังเคร่งเครียดมากเกินไปจนร่างกายรู้สึกอ่อนล้า ทำให้ปวดเมื่อย มึนหัวได้ แต่ถ้าเป็นบ่อยๆ ก็ต้องสังเกตตัวเองแล้วว่า ร่างกายของเรามีความผิดปกติอย่างอื่นอีกหรือเปล่า เพราะเราอาจป่วยไม่สบายอยู่ก็ได้ อาการปวดท้ายทอย รู้สึกมึนหัว แล้วก็ปวดตา บ่งบอกโรคอะไรได้บ้าง ไปดูกันค่ะ
ปวดท้ายทอย มึนหัว ปวดตา บอกโรคอะไรได้บ้าง ? มาสังเกตตัวเองกันเถอะ !
สัญญาณจากร่างกายของเรานั้นเป็นสิ่งสำคัญ อย่าได้ละเลยความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเรา เพราะร่างกายอาจจะกำลังฟ้องว่าเรามีปัญหาสุขภาพอยู่ก็เป็นได้ อาการปวดเมื่อยอย่างปวดคอ ปวดท้ายทอยนั้น อาจเป็นได้หลายประการ ตั้งแต่การปวดเมื่อยเพราะนั่งท่าเดียวนานๆ หรือก้มมากเกินไป แต่ถ้าปวดท้ายทอย มึนหัว ปวดตาบ่อยๆ เป็นไปได้ว่า อาจจะมีอะไรมากกว่านั้น อาการแบบนี้บ่งบอกโรคอะไรได้บ้าง ไปดูกันเลยค่ะ
1. เกิดจากความเครียด
ถ้าวันไหนที่เราเครงเครียดกับการทำงาน หรือมีความเครียดมากกว่าปกติ ก็ทำให้เรามีอาการปวดท้ายทอย มึนหัว ปวดตา ได้เหมือนกัน โดยจะรู้สึกปวดตื้อๆ ปวดแบบบีบๆ รัดๆ ปวดเป็นวงกว้างบนศีรษะ หรือปวดเบ้าตาร่วมด้วย และความรูสึกปวดอาจร้าวลงมาถึงบริเวณท้ายทอย ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในตอนที่เรารู้สึกอ่อนล้าและเคร่งเครียดกับการทำงานมาทั้งวัน อาการแบบนี้ เป็นสัญญาณเตือนของร่างกายที่บอกว่าควรพักได้แล้ว
การรักษาและป้องกัน :
วิธีรักษาอาการปวดแบบนี้ ทำได้ง่ายๆ ด้วยการหยุดพักค่ะ พักจากการทำงาน เปลี่ยนอิริยาบถ หรือเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นก่อน แทนที่จะนั่งเคร่งเครียดจับจดอยู่กับงานต่อไป ซึ่งจะทำให้รู้สึกเครียดไปมากกว่าเดิม ถ้าเป็นแบบนี้บ่อยๆ โรคที่เกิดจากความเครียดก็อาจจะตามมาได้ ผ่อนคลายตัวเองด้วยการดูหนัง ฟังเพลง ลุกออกไปเดินเล่น ไปเล่นกับสัตว์เลี้ยง ไปหาของอร่อยกิน เมื่อหายเครียด รู้สึกสบายตัวสบายใจมากขึ้นแล้ว ค่อยมาลุยกับงานต่อก็ได้นะคะ
2. นอนหลับพักผ่อนน้อย
ไม่น่าเชื่อว่าอาการปวดท้ายทอย มึนหัว ปวดตา เกิดจากการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอได้ด้วย เพราะการอดนอนทำให้ร่างกายของเราอยู่ในสภาวะตึงเครียด ไม่สดชื่นกระปรี้กระเปร่า และถ้าอดนอนหลายๆ คืนก็ทำให้ร่างกายเหนื่อยล้าสะสม ส่งผลให้กล้ามเนื้อในร่างกายตึงเครียด ทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยได้เช่นกัน เพราะการนอนหลับทำให้ร่างกายของเราได้ผ่อนคลาย กล้ามเนื้อต่างๆ ได้คลายตัวลง อาการปวดต่างๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น ถ้าใครรู้สึกปวดคอ ปวดหัว ปวดตาบ่อยๆ และนอนน้อยทุกคืน ลองนอนหลับให้เต็มอิ่มดูนะคะ
การรักษาและป้องกัน :
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอในแต่ละวัน ผู้ใหญ่ควรนอนหลับวันละ 7 – 9 ชั่วโมง
- จัดสภาพแวดล้อมในห้องนอนให้เหมาะสมกับการนอนหลับพักผ่อน
- หลีกเลี่ยงการเล่นโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์เทคโนโลยีก่อนนอนเป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาที เพราะจะทำให้นอนหลับยากขึ้น
- หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอย่างน้อย 4 – 5 ชั่วโมงก่อนนอน
3. เกิดจากความดันโลหิตสูง
อาการปวดท้ายทอย มึนหัว ปวดตานั้น เกิดจากความดันโลหิตสูงได้ด้วย ความดันโลหิตสูง คือมีความดันมากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท โดยคนส่วนใหญ่ที่มีความดันโลหิตสูงจะรู้สึกปวดท้ายทอย ตึงที่ต้นคอ เวียนหัว ปวดตา ใจสั่น นอนไม่หลับ มือเท้าชา ตาพร่ามัวร่วมด้วย หากความดันสูงมากๆ ก็เสี่ยงที่จะเป็นโรคอื่นๆ ที่อันตรายต่อชีวิตได้
การรักษาและป้องกัน :
ถ้าแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง อาจจ่ายยาลดความดันให้กับผู้ป่วย เพื่อควบคุมระดับความดันไม่ให้สูงเกินไปจนเป็นอันตรายต่อชีวิต พร้อมกับให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและลดน้ำหนัก เนื่องจากความดันโลหิตสูงอาจมีสาเหตุมาจากโรคอ้วน มีภาวะน้ำหนักเกิน ไขมันสูงและเริ่มไปเกาะตัวที่ผนังหลอดเลือด หรือชอบกินหวาน มัน เค็ม ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพ ก่อให้เกิโรคอื่นๆ เช่นไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ที่ทำให้ความดันสูงได้ด้วย ซึ่งรักษาและป้องกันได้ดังนี้
- การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีไขมันต่ำ น้ำตาลต่ำ โซเดียมต่ำ
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
- งดสูบบุหรี่และงดดื่มแอลกอฮอล์
- ลดน้ำหนัก ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์
- ผ่อนคลายตัวเอง พยายามไม่เครียด เพราะความเครียดก็ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงได้
เกร็ดสุขภาพ :
เราสามารถดูแลตัวเองเพื่อให้ห่างไกลจากการเจ็บป่วยได้ด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ กินอาหารที่สมดุลแบบ Balanced Diet ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของโรคต่างๆได้ นอกจากนี้ การบริหารจัดการอารมณ์ความเครียดอย่างเหมาะสม อาจช่วยลดอาการปวดท้ายทอย มึนหัว คลื่นไส้ และอาการอื่นๆ ได้ด้วย ลองใช้เทคนิคการผ่อนคลายอารมณ์ตัวเองเพื่อบรรเทาความเครียด เช่น การนวด ทำสปา การทำสมาธิ เป็นต้น
4. กล้ามเนื้อคออักเสบ
หากรู้สึกปวดท้ายทอย มึนหัว หรือปวดศีรษะด้านหลัง เป็นไปได้ว่ากล้ามเนื้อบริเวณคอมีการอักเสบ ซึ่งอาจะเกิดจากการนั่งในท่าที่ไม่เหมาะสม นั่งท่าเดียวนานๆ ไม่ว่าจะเป็นการนั่งทำงาน นั่งเล่นโทรศัพท์มือถือ หรือนั่งขับรถนานๆ ก็ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคออักเสบได้เช่นกัน
การรักษาและป้องกัน :
- ทำได้โดยการกินยาแก้ปวด หรือใช้แผ่นแปะแก้ปวด แปะบริเวณท้ายทอย
- เปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ ไม่นั่งท่าเดิมๆ นานจนเกินไป
- หากปวดเรื้อรัง อาจจะต้องพบนักกายภาพบำบัดเพื่อรักษาอาการปวด
5. กล้ามเนื้อตาล้า
กล้ามเนื้อตาล้า ทำให้เกิดอาการปวดหัว บางทีอาจลามไปถึงท้ายทอย ทำให้ปวดท้ายทอย มึนหัว ปวดตาได้ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อต้องใช้สายตาใกล้ๆ หรือต้องมีการเพ่ง ถ้ามีการเพ่งสายตานานๆ ก็ทำให้รู้สึกปวดหัว ปวดกระบอกตา และร้าวไปถึงท้ายทอยได้ ซึ่งอาหารนี้ มักจะพบในเด็กหรือช่วงวัยเรียนที่ต้องเพ่งอ่านหนังสือมากๆ หรืออาจใช้สายตาเพ่งหน้าจออุปกรณ์ไอทีนานๆ อีกกลุ่มหนึ่งที่มักจะมีอาการตาล้าก็คือ คนที่มีอายุในช่วง 40 ปี ซึ่งจำเป็นต้องใช้แว่นสายตายาว ก็อาจทำให้รู้สึกปวดตาได้
การรักษาและป้องกัน :
หากรู้สึกปวดตาบ่อยๆ แนะนำให้ไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียดว่าเป็นอาการตาล้า หรือมีปัญหาทางสายตาอื่นๆ ร่วมด้วย และควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง ไม่อ่านหนังสือในที่ที่มีแสงสว่างน้อย รวถึงงดใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีในที่มืด และควรมีการพักสายตาเป็นพักๆ ในช่วงที่ทำงาน เป็นต้น
6. มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกสันหลังส่วนคอ
อาการปวดคอ ปวดศีรษะเรื้อรังอาจเกิดจากปัญหาทางโครงสร้างกับส่วนต่างๆ ของกระดูกสันหลังส่วนคอ ซึ่งรวมถึงกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูก กล้ามเนื้อ หรือไขสันหลัง สาเหตุอาจมาจากมีการบาดเจ็บที่เกิดจากอุบัติเหตุหรือการผ่าตัด หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ไขสันหลังอักเสบ ออฟฟิศซินโดรม อาการนี้อาจทำให้เกิดอาการปวดท้ายทอย มึนหัว หูอื้อ ที่คงอยู่เป็นเวลาหลายวัน และอาจเป็นๆ หายๆ ได้ นอกจากนี้อาการที่เป็นไปได้อื่นๆ ได้แก่ คอตึง คลื่นไส้ และอ่อนเพลีย เป็นต้น
การรักษาและป้องกัน :
การรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุแฝง โดยมีตัวเลือกของวิธีรักษา ดังนี้
- ใช้ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวดคอและปวดหัว
- ทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกาย
- การผ่าตัดเพื่อแก้ไขปัญหากระดูกสันหลังส่วนคอ
- บล็อกเส้นประสาทเพื่อรักษาอาการปวดเฉพาะจุด
7. ไมเกรน
ไมเกรนคืออาการปวดศีรษะในระดับปานกลางหรือรุนแรง ซึ่งเกิดขึ้นที่ด้านใดด้านหนึ่งของศีรษะ และอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีความไวต่อแสงหรือเสียง มีอาการปวดท้ายทอย มึนหัว ปวดตา คลื่นไส้ อาเจียน ทั้งนี้ สาเหตุที่แท้จริงของไมเกรนยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่สามารถเกิดขึ้นได้จากปัจจัยต่างๆ เช่น มีการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง มีการเปลี่ยนแปลงของเส้นประสาทและหลอดเลือดภายในสมอง ปัจจัยทางพันธุกรรม รวมถึงปัจจัยบางอย่างสามารถกระตุ้นไมเกรนได้ ได้แก่ การมีประจำเดือนความเครียด ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า การกินอาหารและเครื่องดื่มบางชนิด เป็นต้น
การรักษาและป้องกัน :
แม้ว่าจะไม่มีวิธีรักษาไมเกรนให้หายขาด แต่การรักษาบางอย่างสามารถช่วยลดอาการได้ รวมถึงการนอนพักผ่อนมากๆ หรือนอนในห้องที่มืดสนิท กินยาแก้ปวด เช่น อะเซตามิโนเฟน และไอบูโพรเฟน และกินยาแก้อาเจียนเพื่อช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้
8. เส้นเลือดในสมองแตก
อาการปวดหัวอย่างกะทันหันและรุนแรงในบางครั้งอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง นอกจากอาการปวดหัวแล้ว อาการอื่นๆ ของโรคหลอดเลือดสมองที่อาจเกิดขึ้นได้แก่ ชาหรืออ่อนแรงอย่างกะทันหันที่แขนและขา หรือที่ด้านใดด้านหนึ่งของใบหน้า มีปัญหาการมองเห็นในตาข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง พูดลำบาก มีความสับสน ปวดท้ายทอย มึนหัว คลื่นไส้ เสียสมดุลของร่างกาย เดินลำบาก ชาครึ่งซีก หน้าเบี้ยว เป็นต้น
การรักษาและป้องกัน :
โรคหลอดเลือดสมองเป็นเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจส่งผลให้สมองเสียหายอย่างรุนแรงหรือเสียชีวิตได้ ซึ่งการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ และขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์
9. เนื้องอกในสมอง
เนื้องอกในสมองเกิดจากการที่กลุ่มเซลล์ในสมองเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติและควบคุมไม่ได้ ซึ่งเนื้องอกในสมองระยะ 1-2 นั้นไม่ใช่มะเร็งหรือไม่เป็นอันตราย แต่เนื้องอกในสมองระยะ 3-4 นั้น จะเป็นมะเร็งหรือมีอาการร้ายแรง เนื้องอกเหล่านี้อาจเกิดขึ้นในสมองหรือแพร่กระจายจากส่วนอื่นในร่างกาย อาการจะขึ้นอยู่กับพื้นที่ของสมองที่ได้รับผลกระทบ และอาการทั่วไปบางอย่าง ได้แก่ ปวดท้ายทอย มึนหัว หูอื้อ ปวดศีรษะ มีอาการชัก คลื่นไส้ อาเจียน ง่วงนอนและเมื่อยล้า มีความอ่อนแอหรืออัมพาตที่ด้านใดด้านหนึ่งของร่างกาย มีปัญหาเกี่ยวกับคำพูด การมองเห็น เห็นภาพซ้อน หรือความจำผิดปกติ เป็นต้น
การรักษาและป้องกัน :
การรักษาเนื้องอกในสมองขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชนิดของเนื้องอก ระยะที่เป็น ตำแหน่งของเนื้องอก ขนาดใหญ่แค่ไหน และแพร่กระจายได้ไกลแค่ไหน รวมถึงสุขภาพโดยรวมและความฟิตของร่างกายแต่ละบุคคล ส่วนตัวเลือกการรักษาที่เป็นไปได้ ได้แก่
- การใช้สเตียรอยด์เพื่อลดอาการบวมรอบๆ เนื้องอก
- ให้ยากันชักเพื่อควบคุมอาการชัก
- ให้ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวด
- การผ่าตัดเอาเนื้องอกออก
- ใช้รังสีบำบัด หรือเคมีบำบัด เพื่อช่วยทำลายเซลล์ที่ผิดปกติ
เกร็ดสุขภาพ : หากรู้สึกปวดหัว มึนหัว อาจมีสาเหตุอื่นๆ อีก เช่น มาจากภาวะขาดน้ำ นอกจากจะรู้สึกปวดหัว มึนหัวแล้ว อาจมีอาการปากแห้ง คอแห้ง ตาแห้ง ปัสสาวะสีเข้มและมีกลิ่นแรง ปัสสาวะลดลง นอกจากนี้ อาการปวดท้ายทอย มึนหัว ปวดตา อาจเกิดจากความวิตกกังวลได้ด้วย หากรู้สึกวิตกกังวลตื่นตระหนกทำให้เกิดอาการต่างๆ อย่างใจสั่น เจ็บหน้าอกหรือไม่สบาย หายใจถี่ เหงื่อออก ชาหรือรู้สึกเสียวซ่า ไปจนถึงอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ ปวดกระบอกตา และปวดท้ายทอย มึนหัวได้ด้วย
เนื่องจากอาการปวดท้ายทอย มึนหัว ปวดตานั้น สามารถบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพได้หลายประการ หากมีอาการรุนแรง เรื้อรัง หรือแย่ลง ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษา เพราะการรักษาอย่างทันท่วงทีสามารถลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง รวมถึงการเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ การดูแลตัวเองก็เป็นอีกวิธีที่ดีในการป้องกันโรคต่างๆ ทั้งยังช่วยให้เรามีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้ด้วยนะคะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : sikarin.com, spine-health.com, vejthani.com, medicalnewstoday.com
Featured Image Credit : freepik.com/katemangostar
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ