“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
White Coat Hypertension คือ อะไร ? ชวนรู้จัก พร้อมทิปส์ในการแก้อาการตื่นเต้นตอนวัดความดัน !
เมื่อต้องไปโรงพยาบาล ไม่ว่าจะไปตามนัดของแพทย์ หรือไปเพราะอาการเจ็บไข้ได้ป่วยใดๆ ก็ตาม อันดับแรกที่จะต้องทำก่อนไปพบแพทย์ก็คือ ทำการซักประวัติทางสุขภาพและวัดความดันโลหิต (อ่านเพิ่มเติม ใบวัดความดันดูยังไง) ซึ่งระดับความดันปกติจะต้องไม่เกิน 120/80 มิลลิเมตรปรอท อย่างไรก็ตาม มีบางคนที่เวลาวัดความดันในโรงพยาบาลจะได้ค่าที่สูงกว่าปกติเสมอ แต่ถ้าวัดความดันที่บ้านก็จะอยู่ในระดับปกติ ซึ่งเป็นไปได้ว่า มีภาวะ White Coat Hypertension คือ ความดันโลหิตสูงชั่วคราวเฉพาะที่โรงพยาบาล แล้วภาวะนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ? ส่งผลกระทบต่อสุขภาพไหม ? มารู้จักให้มากขึ้นกันค่ะ
White Coat Hypertension คือ อะไร ? มีผลอย่างไรกับการวัดความดัน ?!
โดยทั่วไปแล้ว ระดับความดันโลหิตปกติจะต้องมีค่าไม่เกิน 120/80 มิลลิเมตรปรอท และถ้าเกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นค่าตัวแรกหรือตัวหลังก็ตาม จะได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะความดันโลหิตสูง ทั้งนี้ มีบางคนที่มีความดันโลหิตสูงขณะวัดที่โรงพยาบาลหรือคลินิกเกือบทุกครั้ง แต่เมื่อวัดความดันที่บ้านแล้ว จะมีค่าความดันน้อยกว่า 135/85 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งพบได้มากถึง 15 – 30% เลยทีเดียว ในทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ว่า White Coat Hypertension หรือโรคความดันโลหิตสูงเฉพาะที่โรงพยาบาล (White Coat Syndrome or Isolated Office Hypertension) ซึ่งในกรณีนี้ไม่ถือว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงจนต้องได้รับยาแต่อย่างใด และไม่จำเป็นต้องรักษา เนื่องจากความดันขณะวัดที่บ้านอย่างสม่ำเสมออยู่ในระดับปกติ ถ้าหากได้รับยาลดความดัน อาจทำให้ความดันต่ำและมีอาการหน้ามืดเป็นลมได้
สาเหตุของการเกิดภาวะ White Coat Hypertension คืออะไร ?
สาเหตุที่คนไข้บางรายมีความดันสูงกว่าปกติเมื่อมาตรวจที่โรงพยาบาลนั้น อาจเป็นเพราะสภาพแวดล้อมของโรงพยาบาลที่ไม่คุ้นเคย มีบุคลากรทางแพทย์ทั้งหมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นๆ ทำให้รู้สึกกลัวและวิตกกังวล อีกทั้งโรงพยาบาลก็เต็มไปด้วยผู้คนพลุกพล่าน มีเสียงดัง มีคนได้รับบาดเจ็บหรือมีความเจ็บป่วย ทำให้คนๆ นั้นเกิดความเครียด ประหม่า หรือรู้สึกตื่นเต้นเมื่อมาโรงพยาบาล ทำให้เมื่อวัดความดันแล้วได้ผลค่าความดันโลหิตสูงกว่าปกติ และเมื่อพบว่าตนเองมีความดันสูง ต้องวัดใหม่อีกครั้ง ระหว่างนั่งรอก็อาจจะมีความเครียดเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว ทำให้ค่าความดันโลหิตยังคงสูงกว่าปกตินั่นเองค่ะ
ทั้งนี้ ผู้ที่เสี่ยงจะมีภาวะ White Coat Hypertension คือผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ รวมถึงผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ด้วย
เกร็ดสุขภาพ : ภาวะที่ตรงข้ามกับ White Coat Hypertension คือ Masked Hypertension ซึ่งเป็นภาวะที่ความดันโลหิตเมื่อวัดขณะในโรงพยาบาลมีค่าปกติ (มีค่าน้อยกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท) แต่เมื่อวัดความดันที่บ้านกลับมีค่าความดันโลหิตสูง กล่าวคือ มีค่าสูงกว่า 135/85 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งมักพบในเพศชาย โดยเฉพาะผู้ที่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และกลุ่มคนทำงานที่มีความเครียดสูง เช่น ตำรวจ แพทย์ คนขับรถแท็กซี่ หรือผู้บริหารระดับสูง และผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคความดันโลหิตสูง จึงต้องหมั่นสังเกตสุขภาพตัวเอง หากรู้สึกปวดมึนท้ายทอยบ่อยๆ หรือปวดศีรษะตุบๆ ให้รีบมาพบแพทย์ ร่วมกับการดูแลสุขภาพตัวเอง หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตสูง
ภาวะ White Coat Hypertension และ Masked Hypertension กับผลกระทบทางสุขภาพ
แม้ว่าภาวะ White Coat Hypertension จะเป็นอาการที่มีความดันโลหิตสูงเฉพาะที่โรงพยาบาลเท่านั้น เมื่อวัดความดันที่บ้านเป็นประจำก็ยังมีค่าความดันปกติ แต่ทั้ง White Coat Hypertension และ Masked Hypertension อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าคนไข้มีความเสี่ยงที่จะมีโอกาสเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้จริง รวมถึงมีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดและหัวใจ หากเปรียบเทียบกับผู้ที่มีค่าความดันในระดับปกติสม่ำเสมอ ในกรณีที่คนไข้มีแนวโน้มว่าจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง แพทย์จะแนะนำให้คนไข้วัดความดันโลหิตเองที่บ้านเป็นประจำทุกวัน ควบคู่ไปกับการวัดความดันโลหิตที่โรงพยาบาล เพื่อเป็นการเฝ้าระวังอาการและเพื่อให้ได้ค่าความดันที่ถูกต้อง โดยเครื่องวัดความดันที่บ้านจะต้องมีมาตรฐานและวัดได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ไม่คลาดเคลื่อน ซึ่งอาจส่งผลต่อการวินิจฉัยได้
เกร็ดสุขภาพ : วิธีวัดความดันที่ถูกต้องในขณะทำการวัดความดันโลหิตที่บ้าน คือ ควรนั่งพักอย่างน้อย 5 นาทีก่อนทำการวัด และวัดในท่านั่ง วางแขนบนโต๊ะ เท้าวางราบกับพื้น หลังพิงพนัก ไม่นั่งไขว่ห้าง ไม่พูดคุยหรือเล่นโทรศัพท์ขณะทำการวัดความดัน ไม่ดื่มชา กาแฟ และสูบบุหรี่ก่อนทำการวัดความดันอย่างน้อย 30 นาที และถ้ารู้สึกปวดปัสสาวะหรืออยากเข้าห้องน้ำ ควรไปทำธุระให้เรียบร้อยก่อนวัดความดัน เพื่อให้ได้ค่าความดันที่เที่ยงตรงและแม่นยำมากที่สุด และถ้ารู้สึกตื่นเต้นแม้ตอนวัดความดันที่บ้าน วิธีแก้อาการตื่นเต้นตอนวัดความดันก็คือ ให้นั่งพักจนกว่าจะรู้สึกผ่อนคลาย จึงค่อยวัดความดัน
วิธีเตรียมตัวก่อนไปวัดความดัน เพื่อไม่ให้เกิดภาวะ White Coat Hypertension
การเตรียมตัวก่อนไปวัดความดันที่โรงพยาบาล หากมาถึงที่โรงพยาบาลแล้ว ควรนั่งพักประมาณ 10 – 15 นาที ก่อนจะไปวัดความดัน เพราะถ้ามาถึงโรงพยาบาลและมุ่งตรงไปที่วัดความดันเลยอาจจะมีอาการเหนื่อยก่อนหน้านั้น ทำให้หัวใจเต้นเร็ว และอาจวัดความดันได้ค่าที่สูงกว่าปกติ และไม่ควรดื่มชา กาแฟ แอลกอฮอลล์ อย่างน้อย 30 นาทีก่อนวัดความดัน ไม่ควรออกกำลังกายก่อนมาวัดความดัน และไม่มีภาวะทางอารมณ์ เช่น โมโห โกรธ เครียด ทั้งก่อนวัดความดันและขณะวัดความดัน เพราะอาจทำให้ค่าความดันโลหิตคลาดเคลื่อนได้ สำหรับวิธีแก้อาการตื่นเต้นตอนวัดความดัน ในคนที่มีภาวะ White Coat Hypertension คือวิธีการดังนี้
- ผ่อนคลายอารมณ์ก่อนทำการวัดความดัน หากรู้ตัวว่าตนเองมีความเครียด รู้สึกตื่นเต้น หรือวิตกกังวลในขณะมาโรงพยาบาล ให้ผ่อนคลายตัวเองด้วยการนั่งพัก หายใจเข้าออกช้าๆ เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ อารมณ์ความรู้สึกของตนเองให้ตื่นเต้นน้อยลง
- พูดคุยหรือสอบถามเจ้าหน้าที่พยาบาลก่อนทำการวัดความดัน เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น ไม่วิตกกังวลจนเกินไป
- ไปก่อนเวลานัดเพื่อไม่ให้ตัวเองเร่งรีบจนเกินไป เพราะจะกระตุ้นให้รู้สึกตื่นเต้น เครียด วิตกกังวล และทำให้ความดันสูงได้
- หากมีคำถามหรือมีความกังวลในเรื่องของสุขภาพ การเตรียมคำถามไปถามแพทย์ประจำตัวก็อาจจะทำให้รู้สึกวิตกกังวลขณะมาโรงพยาบาลน้อยลง และอาจส่งผลต่อการวัดความดันให้มีค่าปกติได้
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เข้านอนก่อนเวลาปกติ เพราะโรงพยาบาลมักจะนัดผู้ป่วยในตอนเช้า อาจทำให้รู้สึกกังวลว่าจะตื่นสาย ไปโรงพยาบาลไม่ทัน ทำให้นอนไม่หลับและมีความวิตกกังวล พักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งอาจส่งผลต่อค่าความดันได้
แม้ว่าภาวะ White Coat Hypertension คือการที่ค่าความดันสูงกว่าระดับปกติเฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น และวิธีแก้อาการตื่นเต้นตอนวัดความดันก็อาจจะช่วยให้วัดความดันได้ค่าปกติมากขึ้นได้ ทั้งนี้ เมื่อวัดค่าความดันได้สูงกว่าค่าปกติ ไม่ว่าจะที่บ้านหรือที่โรงพยาบาล ก็ไม่ควรวิตกกังวลจนเกินไป และไม่ควรซื้อยาลดความดันมารับประทานเองอย่างเด็ดขาด รวมถึงการปรับลดปริมาณยาความดันประจำตัวด้วยตัวเอง เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงและเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ อย่างไรก็ตามการรับประทานอาหารที่เป็นสมุนไพรลดความดันโลหิตสูงอาจช่วยให้ค่าความดันปกติมากขึ้น ร่วมกับการไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง จะได้รักษาได้อย่างถูกต้องและอยู่ในความดูแลของแพทย์นะคะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : pharmacy.mahidol.ac.th, sriphat.med.cmu.ac.th, medicalnewstoday.com, mayoclinic.org, my.clevelandclinic.org
Featured Image Credit : freepik.com
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ