X

ชวนรู้จัก กลุ่ม โรค NCDs คือ อะไร ? ทำยังไงถึงจะห่างไกลจากกลุ่มโรคนี้ได้ !

เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡

ชวนรู้จัก กลุ่ม โรค NCDs คือ อะไร ? ทำยังไงถึงจะห่างไกลจากกลุ่มโรคนี้ได้ !

นอกจากโรคระบาดหรือโรคติดต่อต่างๆ ที่เราต้องระวัง และถือว่าเป็นปัจจัยอันตรายที่ทำให้เราเจ็บป่วย มีสุขภาพไม่แข็งแรง และอาจร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ยังมีกลุ่มโรคที่เรียกว่า โรค NCDs คือ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งมีความอันตรายไม่แพ้กัน ถ้าบอกว่าเป็นกลุ่มโรค NCDs บางคนอาจจะสงสัยว่า เป็นกลุ่มโรคอะไร ? แต่ถ้าบอกว่าเป็นมะเร็ง เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ หลายๆ คนก็คงจะรู้จักและคุ้นเคยกันดี ซึ่งโรคเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มโรค NCDs นั่นเองค่ะ มาทำความรู้จักกลุ่มโรคเหล่านี้กันให้มากขึ้นว่า มีโรคอะไรบ้าง แล้วแต่ละโรคร้ายแรงมากแค่ไหน ? แล้วเราสามารถป้องกันตัวเองให้ห่างใกลจากความเจ็บป่วยเหล่านี้ยังไงได้บ้าง ไปอ่านกันเลยค่ะ

กลุ่ม โรค NCDs คือ อะไร ? ชวนรู้จักกลุ่มโรคอันตรายเหล่านี้กัน !

กลุ่มโรค NCDs หรือ Non – Communicable Diseases คือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเป็นโรคที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัส ไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ แต่เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมของเราเอง ซึ่งจะมีการสะสมอาการของโรคอย่างช้าๆ อย่างต่อเนื่อง และเมื่อมีการแสดงอาการแล้ว จะเป็นอย่างเรื้อรัง จึงเรียกว่ากลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังนั้นเอง

โรคอะไรบ้างที่จัดว่าเป็นกลุ่มโรค NCDs

โรค NCDs คือ, NCDs คือ
Image Credit : freepik.com

NCDs คือโรคเรื้อรังที่ถ้าเอ่ยชื่อขึ้นมาแล้ว ทุกคนจะต้องรู้จักอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วนลงพุง เป็นต้น ซึ่งจะขอให้รายละเอียดใน 7 โรคที่มีผู้เสียชีวิตจากกลุ่มโรคเหล่านี้มากที่สุด จะมีโรคอะไรบ้าง ไปดูกันค่ะ

1. โรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular diseases)

โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นโรคที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด คือ ปีละ 17.9 ล้านคน จากสถิติทั่วโลก ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่เกิดกับระบบหัวใจและหลอดเลือด ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจขาดเลือด อันเกิดจากการที่หลอดเลือดตีบตันหรือขาดความยืดหยุ่นจากการสะสมของไขมัน โปรตีน และแร่ธาตุบริเวณผนังหลอดเลือดต่างๆ โดยมีสาเหตุมาจากการมีความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ภาวะอ้วนและการสูบบุหรี่ เป็นต้น

เกร็ดสุขภาพ : มีผู้เสียชีวิตด้วยโรค NCDs หรือ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ถึงปีละ 41 ล้านคนทั่วโลก คิดเป็นจำนวนมากถึง 74% และในแต่ละปี จะมีผู้เสียชีวิตด้วยโรค NCDs ที่มีอายุน้อยกว่า 70 ปี จำนวน 17 ล้านคน และเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากที่สุด รองลงมาคือโรคมะเร็ง โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง และโรคเบาหวาน ตามลำดับ (ข้อมูลจาก WHO)

2. โรคมะเร็ง (Cancers)

โรคมะเร็ง เป็นโรคในกลุ่ม NCDs คือโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมาเป็นอันดับ 2 ซึ่งโรคมะเร็งเป็นโรคที่เรารู้จักกันดี เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย รวมถึงมีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของก้อนเนื้อ มีการลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง หรือกระจายไปยังระบบเลือด ระบบน้ำเหลืองและเกิดจากความเสี่ยงหลายประการ ทั้งอายุ พฤติกรรม เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ก็เสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปอด มะเร็งตับ หรือเกิดจากเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ไวรัส HPV ที่ทำให้พัฒนาไปเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ หรือการได้รับสารเคมีอื่นๆ อีกทั้งมะเร็งบางชนิด มีความสัมพันธ์กับพันธุกรรมด้วยเช่นกัน แต่เป็นส่วนน้อย ปัจจุบันมีวิทยาการรักษาโรคมะเร็งได้ เช่นวิธี Immunotherapy คือการรักษาโรคมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันของร่างกาย เป็นต้น

3. โรคถุงลมโป่งพอง (Emphysema)

เป็นโรค NCDs คือมาจากพฤติกรรมเป็นหลัก โดยเฉพาะการสูบบุหรี่ การดมควันบุหรี่ และการหายใจเอาสารพิษ มลภาวะเข้าสู่ร่างกายเป็นเวลานาน เช่น การสูดดมควันรถยนต์ การสูดดมควันจากโรงงาน และแม้แต่การสูบดมควันที่เกิดจากการทำอาหาร ก็มีความเสี่ยงได้ ซึ่งโรคถุงลมโป่งพอง จะทำให้ถุงลมภายในปอดมีการขยายตัวมากขึ้นกว่าปกติ ส่งผลให้พื้นที่ผิวปอดน้อยลง จนเกิดความยากลำบากในการหายใจ ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนน้อย ทำให้เหนื่อยหอบ โดยเฉพาะเวลาออกแรง และอาจมีอาการไอ มีเสมหะเรื้อรังร่วมด้วย และอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้ระบบหายใจล้มเหลวได้

4. โรคเบาหวาน (Diabetes)

โรค NCDs คือ, NCDs คือ
Image Credit : freepik.com

โรคเบาหวาน เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่พบได้มากเช่นกัน และพบได้ในช่วงอายุน้อยลงเรื่อยๆ เนื่องจากพฤติกรรม การรับประทานอาหารที่เปลี่ยนแปลงไปในกลุ่มคนปัจจุบัน โดยเฉพาะการบริโภคเครื่องดื่ม ของหวานที่มีน้ำตาลมาก ทั้งเค้ก ไอศกรีม บิงซู ชานมไข่มุก กาแฟเย็นรสหวานจัดต่างๆ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานมากขึ้น ซึ่งโรคเบาหวาน เกิดจากการที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินกว่าปกติอย่างต่อเนื่องและเรื้อรัง โดยเกิดจากความผิดปกติของตับอ่อน ทำให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินได้น้อยกว่าปกติ หรือเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ทำให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่ลดลง และเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นโรคเบาหวานที่พบได้บ่อยที่สุด

5. โรคความดันโลหิตสูง ( Hypertension)

หนึ่งในกลุ่มโรค NCDs คือ โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเรารู้จักและคุ้นเคยกันดี และมีผู้ป่วยในกลุ่มโรคนี้จำนวนมาก โรคควานดันสูงเป็นภัยเงียบที่มักพบได้ในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ที่มีภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน แม้ไม่ได้แสดงอาการชัดเจน แต่ก็ถือว่าอันตรายมาก ถ้าหากวัดความดันแล้วมีค่าความดันสูงเกินกว่าปกติ คือ 140/90 มิลลิเมตรปรอท (อ่านเพิ่มเติม ใบวัดความดันดูยังไง ?) จะทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น เสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวาย โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และยังเป็นสาเหตุของอัมพฤกษ์ อัมพาตอีกด้วย ในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมาก อาจมีอาการปวดมึนท้ายทอย เวียนศีรษะ ปวดศีรษะตุบๆ ได้ ถ้ามีอาการต่อเนื่อง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง และหาทางป้องกัน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมค่ะ

6. โรคไขมันในเลือดสูง (Hyperlipidemia)

โรค NCDs คือ, NCDs คือ
Image Credit : freepik.com

โรคไขมันในเลือดสูง เป็นหนึ่งในกลุ่มโรค NCDs คือภาวะที่ร่างกายมีไขมันในเลือดมากกว่าปกติ ซึ่งไขมันนั้นอาจเป็นคอเลสเตอรอล หรือไตรกลีเซอไรด์ ที่มีค่าสูงมากกว่าปกติ และเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เส้นเลือดตีบตัน เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของร่างกายไม่เพียงพอ และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยโรคนี้มีสาเหตุหลายประการ เช่น ความผิดปกติทางกรรมพันธ์ุ ทำให้ร่างกายเผาผลาญไขมันลดลง ขาดฮอร์โมนต่อมไทรอยด์ หรืออาจเกิดจากยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาสเตียรอยด์ รวมถึงพฤติกรรมต่างๆ ขอเรา เช่น การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงเป็นประจำ การดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น

เกร็ดสุขภาพ : สมาคมโรคหัวใจของสหรัฐอเมริกา (The American Heart Association) แนะนำว่าให้จำกัดปริมาณไขมันอิ่มตัวที่ปรับประทานให้น้อยกว่าร้อยละ 7 ของพลังงานที่ได้รับในแต่ละวัน เช่น ในหนึ่งวันต้องการพลังงาน 2,000 กิโลแคลอรี่ ควรรับประทานไขมันอิ่มตัวไม่เกิน 140 กิโลแคลอรี่ต่อวัน หรือคิดเป็นปริมาณไขมันอิ่มตัวจำนวน 16 กรัม

7. โรคอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome)

โรคอ้วนลงพุง ในกลุ่ม NCDs คือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของกระบวนการเผาผลาญอาหารในร่างกาย ส่งผลให้มีไขมันสะสมที่หน้าท้องและมีรอบเอวขนาดใหญ่ และมีความดันโลหิตสูง มีไขมัน น้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งโรคอ้วน ประเมินได้จากการมีค่า BMI มากกว่า 30 ขึ้นไป และมีเส้นรอบเอวมากกว่า 80 เซนติเมตรขึ้นไปในเพศหญิง และมากกว่า 90 เซนติเมตรขึ้นไปในเพศชาย ซึ่งเสี่ยงที่จะมีภาวะอ้วนลงพุง และส่งผลเสียต่อร่างกายมากมาย มักจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต โรคไขมันพอกตับ เป็นต้น

ใครบ้างที่เสี่ยงต่อโรค NCDs

ความจริงแล้ว ทุกคนมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรค NCDs ได้ทั้งหมด ประชาชนทุกกลุ่มช่วงอายุ ทุกภูมิภาค และทุกประเทศมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรค NCDs จากข้างต้นจะเห็นได้ว่า เป็นโรคที่เกิดจากพันธุกรรม พฤติกรรม และสิ่งแวดล้อม เช่น การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ หรืออาหารที่มีรสหวานจัด มันจัด เค็มจัด การขาดการออกกำลังกาย การสัมผัสกับมลภาวะ การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากอย่างต่อเนื่อง รวมถึงภาวะเครียดเรื้อรัง นอนดึก พักผ่อนน้อย หรือการประทานยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์ ก็มีโอกาสที่จะทำให้เกิดโรคในกลุ่ม NCDs ได้เช่นกัน

จะป้องกันและห่างไกลจากกลุ่มโรคเหล่านี้ได้อย่างไร ?

โรค NCDs คือ, NCDs คือ
Image Credit : freepik.com
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และดีต่อสุขภาพ หรืออาจเลือกรับประทานอาหารแบบ Balanced diet คือ ไม่ใช่การอดอาหาร แต่เลือกกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ตามความต้องการของร่างกาย ไม่มากไม่น้อยเกินไป
  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่อ้วนเกินไปหรือผอมจนเกินไป  
  • หลีกเลี่ยง ลด งด ละ เลิก การรับประทานอาหารที่มีรสหวานจัด มันจัด เค็มจัด รวมถึงอาหารปิ้งย่างแบบไหม้เกรียมๆ เพราะเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง โรคไขมันในเลือดสูง โรคไต และโรคเบาหวานได้
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอให้เป็นนิสัย อย่างน้อยครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 ครั้งเป็นต้นไป เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง 
  • งดหรือลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งเลิกสูบบุหรี่ด้วยเช่นกัน 
  • ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการติดตามตรวจเช็คสุขภาพร่างกายอย่างต่อเนื่อง 
  • พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการนอนดึก และฝึกผ่อนคลายความเครียด

กลุ่มโรค NCDs คือโรคที่เกิดจากตัวเราเอง ทั้งพฤติกรรม การใช้ชีวิต รวมถึงปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย และทำให้เกิดโรคได้ นอกจาก 7 โรคดังกล่าวแล้ว ก็ยังมีโรคอื่นๆ ที่จัดว่าอยู่ในกลุ่ม NCDs คือ โรคตับแข็ง โรคไตเรื้อรัง โรคสมองเสื่อม เป็นต้น ซึ่งเราสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ได้โดยการดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เน้นการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม ลดงดละเลิก แอลกอฮอล์ บุหรี่ และออกกำลังกายเป็นประจำ ที่สำคัญคือต้องนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซมตัวเอง และไม่เครียดจนเกินไป เพราะจะทำให้ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) หลั่งมากเกินไป ส่งผลกับการทำงานของร่างกายในหลายด้าน เช่น ความดันโลหิตสูง กระดูกพรุน อารมณ์แปรปรวน ภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ ทำให้ร่างกายเจ็บป่วยตามมาได้ทุกคนสามารถห่างไกลจากโรค NCDs คือโรคไม่ติดต่อเรื้องรังได้ ถ้าหากดูแลสุขภาพเป็นอย่างดีค่ะ

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : med.cmu.ac.th, siphhospital.com, bumrungrad.com, who.int

Featured Image Credit : freepik.com

ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ

ติดต่อโฆษณา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้การวิเคราะห์

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

Save