“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
เกล็ดเลือดต่ำ สาเหตุ เกิดจากอะไร ? ชวนรู้จักภาวะ เกล็ดเลือดต่ำ อันตรายมากกว่าที่คิด !
ความผิดปกติในเลือดของเรานั้น มีได้หลายประการ ทั้งภาวะเลือดจางที่มีปริมาณเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ ซึ่งเม็ดเลือดแดง หน้าที่คือ ลำเลียงออกซิเจนและสารอาหารไปทั่วร่างกาย หากเม็ดเลือดแดงต่ำก็จะทำให้ส่งผลต่อสุขภาพได้ ทั้งยังมีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ และเกล็ดเลือดต่ำอีกด้วย ซึ่งภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ก่อให้เกิดผลกระทบทางสุขภาพเป็นอย่างมาก หากมีปริมาณเกล็ดเลือดต่ำมากๆ ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้ แล้วภาวะ เกล็ดเลือดต่ำ สาเหตุ เกิดจากอะไร รักษาได้หรือไม่ คนที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำต้องดูแลตัวเองอย่างไรบ้าง ไปอ่านกันเลยค่ะ
เกล็ดเลือดต่ำ คืออะไร ? มารู้จักภาวะเกล็ดเลือดต่ำให้มากขึ้นกัน
ก่อนที่จะไปพูดถึงภาวะเกล็ดเลือดต่ำ สาเหตุเกิดจากอะไรนั้น มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับองค์ประกอบของโลหิตในร่างกายกันก่อนค่ะ ในระบบไหลเวียนโลหิตของเรานั้น ประกอบไปด้วยน้ำเลือด (พลาสมา) สารที่ก่อให้เกิดการแข็งตัวของเลือดชนิดต่างๆ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ซึ่งเกล็ดเลือดของเรา มีหน้าที่ทำให้เกิดการแข็งตัวของเลือด และทำให้เลือดหยุดไหลได้เมื่อเกิดบาดแผลหรือมีเลือดออก ผู้ที่มีเกล็ดเลือดต่ำ อาการที่สังเกตุได้คือ มีเลือดออกง่าย มีอาการฟกช้ำง่ายแม้ไม่มีการกระทบกระเทือน และถ้ามีเลือดออกจะหยุดไหลได้ยากกว่าปกติ โดยเฉพาะตามเยื่อบุต่างๆ เช่น มีเลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล มีจุดจ้ำเลือด หรือมีรอยฟกช้ำตื้นๆ ได้
เกร็ดสุขภาพ : ปกติคนเราจะมีค่าเกล็ดเลือดอยู่ที่ประมาณ 150,000 – 450,000 เซลล์ต่อปริมาณเลือด 1 ลูกบากศ์มิลลิเมตร ผู้ที่มีเกล็ดเลือดต่ำ คือผู้ที่มีปริมาณเกล็ดเลือดน้อยกว่า 150,000 เซลล์ โดยที่เกล็ดเลือดของเราจะถูกสร้างจากเซลล์ต้นกำเนิดที่อยู่ภายในไขกระดูก เมื่อร่างกายมีบาดแผลหรือมีการฉีกขาดของหลอดเลือด เยื่อบุผิวหลอดเลือดจะมีสารบางอย่างเพื่อกระตุ้นเกล็ดเลือดจำนวนมากให้มารวมตัวเกาะกลุ่มกันที่บริเวณรอยฉีกขาด แล้วกระตุ้นให้เกิดการแข็งตัวของเลือด เกิดเป็นลิ่มเลือดอุดตันบริเวณบาดแผล ทำให้เลือดหยุดไหลได้
เกล็ดเลือดต่ำ สาเหตุ เกิดจากอะไร ?
1. เกิดจากโรคที่มีความผิดปกติของไขกระดูก
เกล็ดเลือดต่ำ สาเหตุแรกคือ เกิดจากความผิดปกติของไขกระดูก ทั้งกลุ่มโรคไขกระดูกฝ่อที่เป็นมาแต่กำเนิด เป็นภายหลัง หรือในผู้สูงอายุ เกิดจากการสัมผัสสารเคมี ยาฆ่าแมลง หรือเกิดจากการติดเชื้อไวรัสบางชนิด รวมถึงกลุ่มโรคที่มีความผิดปกติในไขกระดูก เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว
2. เกิดจากเกล็ดเลือดถูกทำลายหรือใช้เกล็ดเลือดมากกว่าปกติ
เกล็ดเลือดต่ำ สาเหตุที่พบได้อีกประการหนึ่งคือ เกล็ดเลือดถูกทำลายหรือถูกใช้มากกว่าปกติ เช่น เป็นโรคไข้เลือดออก หรือในกรณีที่เกล็ดเลือดถูกภูมิคุ้มกันทำลายเมื่อร่างกายเกิดการติดเชื้อจากไวรัส อาทิ อีสุกอีใส คางทูม หัดเยอรมัน พาร์โวไวรัส และผู้ที่เป็นโรคเอดส์ รวมถึงเป็นโรคที่มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน หรือในกรณีที่เกล็ดเลือดถูกใช้เพื่อการหยุดเลือดจากการที่มีเลือดออกอย่างรุนแรง มีการติดเชื้ออย่างรุนแรง รวมถึงการเป็นเนื้องอกหลอดเลือดบางชนิด โดยจะพบก้อนสีแดงช้ำร่วมด้วย
3. เกิดจากภาวะโรคตับ
เกล็ดเลือดต่ำ สาเหตุที่มาจากภาวะโรคตับก็สามารถพบได้เช่นกัน โดยผู้ที่มีภาวะโรคตับจะทำให้มีม้ามโต เกล็ดเลือดส่วนหนึ่งจึงเข้าไปอยู่ในม้าม เมื่อเจาะเลือดดูจะพบว่ามีระดับเกล็ดเลือดต่ำลง
เกล็ดเลือดต่ำ อาการเป็นยังไง ชวนมาสังเกตกัน
เกล็ดเลือดต่ำ สาเหตุเกิดจากอะไร ก็ได้ทราบกันไปเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้เรามาดูกันค่ะว่า ในผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ จะมีอาการอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะได้สังเกตตัวเองหรือคนใกล้ตัวกันว่ามีอาหารเหล่านี้หรือไม่ จะได้รักษาอย่างทันท่วงที ซึ่งจะมีอาการดังนี้
- พบจุดเลือดออกหรือจ้ำเลือดตามร่างกาย แม้ไม่ได้มีการกระทบกระเทือนอะไร
- มีผื่นสีแดงหรือสีม่วงเป็นจุดขนาดเล็กกระจายใต้ผิวหนัง
- มีเลือดออกจากเยื่อบุช่องปากหรือเหงือก
- มีเลือดออกตามไรฟัน
- เลือดกำเดาไหล
- เลือดหยุดไหลยาก
- มีเลือดออกทางช่องคลอด ประจำเดือนมามากผิดปกติ
- อาเจียนเป็นเลือด
- พบจุดจ้ำเลือดตามตัว
- ปัสสาวะหรืออุจจาระมีเลือดปน
- ปวดศีรษะตลอดเวลา
- ตาพร่ามัว
- รู้สึกปวดท้อง
หากมีอาการรุนแรงอย่างมีเลือดออกทางช่องคลอด อาเจียนเป็นเลือด ปัสสาวะหรืออุจจาระแล้วมีเลือดปน ปวดศีรษะตลอดเวลา ตาพร่ามัว ให้รีบมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อที่จะได้ทำการวินิจฉัยและทำการรักษาต่อไป เพราะถ้ามีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ อาการรุนแรง อาจถึงขั้นเลือดออกในสมองหรือในอวัยวะภายในอื่นๆ ทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้
เกล็ดเลือดต่ำ รักษาได้หรือไม่ ? มีวิธีการรักษาอย่างไร
หากมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ แพทย์จะรักษาโดยพิจารณาจากสาเหตุและความรุนแรงในแต่ละราย หากมีอาการไม่รุนแรงอาจไม่ต้องเข้ารับการรักษาแต่อย่างใด ทั้งนี้ หากมีเกล็ดเลือดต่ำมาก อาจมีแนวทางการรักษาดังต่อไปนี้
- รักษาด้วยการใช้ยา เพื่อชะลอการทำลายเกล็ดเลือด
- รักษาด้วยการฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง เพื่อช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างเกล็ดเลือดเพิ่มขึ้น
- มีการให้เลือดหรือเกล็ดเลือด ในผู้ป่วยที่มีเลือดออกหรือมีความเสี่ยงต่อการมีเลือดออกมาก
หากมีเกล็ดเลือดต่ำ ควรดูแลตัวเองอย่างไร
ในบางรายที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ แต่ยังไม่ถึงขั้นต้องให้เกล็ดเลือดหรือทำการรักษาด้วยยา ซึ่งจะต้องรอให้ร่างกายสามารถฟื้นฟูตัวเองเพื่อสร้างเกล็ดเลือดเพิ่มขึ้น สำหรับคนที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ควรปฏิบัติตัวดังนี้
- เลี่ยงการใช้ยาแอสไพรินหรือไอบูโพรเฟน เนื่องจากมีผลต่อการทำงานของเกล็ดเลือด
- งดการดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากแอลกอฮอล์จะไปชะลอการสร้างเกล็ดเลือด
- ใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงนุ่ม ห้ามใช้ไหมขัดฟันเพราะจะยิ่งทำให้เลือดออกตามไรฟันมากขึ้น
- ห้ามยกของหนัก หรือเล่นกีฬาที่ต้องใช้แรง
- ห้ามเดินเท้าเปล่าเพราะอาจเกิดบาดแผลจากการถูกสิ่งของทิ่มตำได้
- หลีกเลี่ยงการทำฟันหรือทำการผ่าตัดอื่นๆ โดยที่ไม่ได้ปรึกษาแพทย์ประจำตัว
- งดการตัดเล็บ การโกนหนวดโดยใช้ใบมีด
- หลีกเลี่ยงการใช้ของมีคมเช่น มีด กรรไกร คัตเตอร์ เพราะอาจถูกบาดหรือถูกทิ่มตำ และทำให้เลือดไหลไม่หยุดได้
- หลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูกแรงๆ เพราะอาจทำให้เลือดกำเดาไหลได้
- ดื่มน้ำให้มากๆ รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เพื่อป้องกันภาวะท้องผูกที่ต้องแบ่งถ่ายแรงๆ ซึ่งอาจทำให้มีเลือดออกได้
เกร็ดสุขภาพ : หากมีเกล็ดเลือดต่ำกว่า 50,000 เซลล์/ลูกบาศก์มิลลิเมตร ถือว่าผิดปกติและต้องเฝ้าระวังไม่ให้เกิดความเสี่ยงหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นเมื่อทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เล่นกีฬา และถ้ามีเกล็ดเลือดต่ำกว่า 20,000 เกล็ด/ลูกบาศก์มิลลิเมตร ถือว่าเกล็ดเลือดต่ำมากและอาจเกิดภาวะเลือดออกได้เองโดยที่ไม่ต้องมีการทำกิจกรรมเสี่ยงใดๆ ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาให้เกล็ดเลือดทดแทนได้
ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ สาเหตุก็มีอยู่หลายประการเช่นกัน ทั้งเกิดจากความผิดปกติของไขกระดูก เกิดจากเกล็ดเลือดถูกทำลายหรือมีการนำไปใช้มากผิดปกติเมื่อร่างกายเกิดการติดเชื้อไวรัสบางชนิด และเกิดจากการเป็นโรคบางอย่าง ซึ่งสามารถตรวจระดับเกล็ดเลือดได้จากการตรวจความเข้มข้นของเลือดโดยรวม (CBC) หากเห็นว่าตนเองมีความผิดปกติอย่างการมีจ้ำเลือดตามร่างกาย มีจุดแดงตามตัว เลือดออกง่ายและหยุดไหลยาก ร่วมกับการมีเลือดออกตามไรฟัน มีเลือดกำเดาไหลบ่อยๆ ก็สามารถไปตรวจเช็กที่โรงพยาบาลใกล้บ้านได้ค่ะ เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้ อาจเกิดอันตรายรุนแรงจนมีเลือดออกภายในสมอง มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร หรืออวัยวะภายในอื่นๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : bumrungrad.com, tsh.or.th, chulalongkornhospital.go.th, my.clevelandclinic.org, nhlbi.nih.gov
Featured Image Credit : vecteezy.com/oks.kukuruza5130
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ