“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
วัยทองเริ่มอายุเท่าไหร่ ? ดูแลตัวเองยังไง ?! ชวนเข้าใจร่างกายและอารมณ์กัน !
เมื่อผู้หญิงเข้าสู่ช่วงวัยกลางคน หลายๆ คนก็คงจะเป็นกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายทั้งภายนอกและภายใน ทั้งในเรื่องของอารมณ์ ผิวพรรณ และระบบต่างๆ ของร่างกาย เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ การก้าวเข้าสู่วัยทองหรือวัยหมดประจำเดือนนั่นเอง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นในผู้หญิงเมื่ออายุมากขึ้น สาเหตุหลักมาจากการผลิตฮอร์โมนน้อยลง โดยเฉพาะเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน แล้วคน วัยทองเริ่มอายุเท่าไหร่ ? ควรดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อร่างกายกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง จะทำอย่างไรให้มีสุขภาพดีทั้งกายและใจ ไปดูกันเลย ตามเพื่อสุขภาพมาทำความเข้าใจในบทความนี้เลยค่ะ
วัยทองเริ่มอายุเท่าไหร่ ? เมื่อถึงวัยต้องดูแลตัวเองยังไงดี ?
วัยทองหรือวัยหมดประจำเดือน เป็นกระบวนการตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นในผู้หญิงเมื่ออายุมากขึ้น โดยปกติจะเริ่มเข้าสู่วัยทองเมื่ออยู่ในช่วงอายุระหว่าง 45 ถึง 55 ปี คำว่าวัยทอง (Menopause) ตามคำจำกัดความขององค์การอนามัยโลก หมายถึง วัยที่สิ้นสุดการมีประจำเดือนอย่างถาวร เนื่องจากรังไข่หยุดการสร้างฮอร์โมนเพศหญิงที่ชื่อว่าเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ทำให้ไม่มีประจำเดือน รวมถึงเป็นการหยุดความสามารถในการเจริญพันธ์ุอีกด้วย โดยปกติจะนับเมื่อขาดประจำเดือนมาเป็นเวลาต่อเนื่องนาน 12 เดือนหรือ 1 ปี สิ่งนี้สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกาย ส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ มากมาย ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจได้ด้วย คนวัยทอง ควรดูแลตัวเองอย่างไรดี ไปดูกันค่ะ
เกร็ดสุขภาพ : อายุที่เริ่มมีอาการวัยทองมักเกิดขึ้นในผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 45 ถึง 55 ปี โดยอายุเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 51 ปี ส่วนในผู้ชายจะอยู่ในช่วงอายุ 45 ปีขึ้นไป ซึ่งจะพบมากเมื่อมีอายุมากขึ้น หรือมีโรคประจำตัว อย่างไรก็ตาม อาจเกิดขึ้นก่อนหรือช้ากว่านั้นในบางกรณี ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน เช่น กรรมพันธ์ุ การสูบบุหรี่ การรักษาทางการแพทย์บางประการ เช่น เคมีบำบัดหรือการฉายรังสีที่อาจทำลายรังไข่และส่งผลให้หมดประจำเดือนก่อนวัยอันควร หรือการตัดรังไข่ออกเนื่องจากปัญหาทางสุขภาพ เช่น มีถุงน้ำหรือมีเนื้องอกในรังไข่ เป็นต้น
ชวนสังเกตและเข้าใจอาการวัยทองให้มากขึ้น
ก่อนที่เราจะไปดูว่าวัยทอง ควรดูแลตัวเองอย่างไร เรามารู้จักอาการวัยทองกันก่อนดีกว่าค่ะ เพื่อที่จะได้เข้าใจและดูแลตัวเองได้อย่างถูกต้อง เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยหมดประจำเดือน ร่างกายของผู้หญิงจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนต่างๆ ทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ดังนี้
1. ประจำเดือนมาไม่ปกติ
เมื่อรังไข่หยุดผลิตฮอร์โมนจึงทำให้รอบประจำเดือนอาจมาไม่ปกติ โดยมีระยะเวลาระหว่างรอบเดือนนานขึ้นหรือสั้นลง หรือประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ประจำเดือนขาดหาย เป็นต้น
2. อาการร้อนวูบวาบ
เมื่อเข้าสู่วัยทองมักจะมีอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมาก โดยเฉพาะช่วงตอนกลางคืน อาการร้อนมักเริ่มที่หน้า คอ ศีรษะหรือหน้าอก ในบางคนหัวใจจะเต้นเร็วขึ้นหรือมีอาการใจสั่นร่วมด้วย
3. เหงื่อออกตอนกลางคืน
คล้ายกับอาการร้อนวูบวาบ แต่เกิดขึ้นในขณะที่นอนหลับ ทำให้นอนหลับไม่สนิทและรู้สึกอ่อนเพลียในตอนเช้าได้ เมื่อเข้าสู่วัยทอง ควรดูแลตัวเองอย่างไรหากมีอาการดังกล่าว แนะนำว่าควรสวมชุดนอนที่ระบายอากาศได้ดี และปรับอุณหภูมิในห้องนอนให้เย็นสบาย เพื่อที่จะได้นอนหลับได้ดีขึ้น
4. อารมณ์แปรปรวน
ความเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายอาจทำให้เกิดความหงุดหงิด วิตกกังวล กระวนกระวาย ซึมเศร้า และขาดสมาธิในการทำงานได้ ทั้งนี้ ภาวะอารมณ์แปรปรวนยังเกี่ยวข้องกับความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่วัยชรา รวมถึงการสูญเสียความสวยงามทางร่างกายอีกด้วย
5. การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับระบบสืบพันธ์ุ
ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลงอาจส่งผลให้ช่องคลอดแห้ง ปากช่องคลอดแคบ ช่องคลอดหดสั้นลง ผนังช่องคลอดบางลง ทำให้เกิดอาการคัน ระคายเคือง แสบร้อนในช่องคลอด และเกิดความรู้สึกไม่สบายหรือเจ็บปวดระหว่างมีเพศสัมพันธ์ได้ ทั้งยังมีความต้องการทางเพศลดลงด้วย
6. มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ
ผู้หญิงบางคนอาจปัสสาวะบ่อยขึ้นหรือกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เนื่องจากกล้ามเนื้อหูรูดของท่อปัสสาวะอ่อนแอลง ทำให้เกิดการอักเสบได้ง่าย ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะลำบาก หรือปัสสาวะเล็ด
7. รู้สึกเหนื่อยล้าอ่อนเพลีย
ผู้หญิงหลายคนมีอาการเหนื่อยล้าเพิ่มขึ้นหรือขาดพลังงานในช่วงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากเกิดความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายหลายประการด้วยกัน ทำให้นอนหลับยากขึ้น พักผ่อนได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้มีอาการอ่อนเพลียเหนื่อยล้าตามมา
8. การเปลี่ยนแปลงของผิวหนังและเส้นผม
เมื่อร่างกายผลิตฮอร์โมนเพศหญิงได้น้อยลง ส่งผลให้ผิวพรรณดูแห้ง หยาบกร้าน ไม่เต่งตึง ไม่นุ่มเนียนเหมือนเคย ใบหน้าเริ่มมีริ้วรอยเหี่ยวย่น เส้นผมอาจขาดหลุดร่วงได้ง่ายขึ้น ทำให้ผมบางลงหรือศีรษะเริ่มล้าน ดังนั้น วัยทองควรกินวิตามินอะไรเพื่อบำรุงผิวพรรณและเส้นผม แนะนำว่าควรเสริมวิตามินอี วิตามินซี เพื่อบำรุงผิวพรรณ และเสริมไบโอติน เพื่อลดการขาดหลุดร่วงของเส้นผม
เกร็ดสุขภาพ : วัยหมดประจำเดือนมีความเกี่ยวข้องกับผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว การลดลงของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน โรคหัวใจและหลอดเลือด ทั้งยังเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าวิตกกังวลอีกด้วย สิ่งสำคัญคือการดูแลตัวเองทั้งกายและใจเพื่อการมีสุขภาพที่ดีแบบองค์รวม รวมถึงการออกกำลังกายเป็นประจำและการรับประทานอาหารที่สมดุล เพื่อลดความเสี่ยงเหล่านี้
วัยทอง ควรดูแลตัวเองอย่างไร ?
เราได้ทราบกันแล้วว่า อาการที่จะเข้าสู่ช่วงวัยทองนั้นเป็นอย่างไรบ้าง ร่างกายและจิตใจมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดบ้าง เพื่อที่จะรับมือได้อย่างเหมาะสม การเข้าสู่วัยทองนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงทุกคน แต่ถ้าเราดูแลตัวเองดีๆ การเข้าสู่วัยทองก็ไม่ได้น่ากลัวเสมอไป แล้ววัยทองควรบำรุงร่างกายอย่างไร วัยทองควรกินวิตามินอะไร มีวิธีการดูแลตัวเองอย่างไร ไปดูกันเลยค่ะ
1. ออกกำลังกายและเคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ
การออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น การเดินเร็ว การเล่นโยคะ พิลาทิส หรือว่ายน้ำ สามารถช่วยจัดการกับอาการต่างๆ เช่น อาการร้อนวูบวาบ อารมณ์แปรปรวน และน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้นและทำให้อารมณ์ดีขึ้นอีกด้วย
2. รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
เน้นการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่และกินอาหารอย่างหลากหลายในปริมาณที่เหมาะสม ทั้งคาร์โบไฮเดรตที่ดี ผลไม้ ผัก เมล็ดธัญพืช โปรตีนไร้มัน และไขมันที่ดีต่อสุขภาพ รวมถึงการดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอในแต่ละวันด้วย
3. รับประทานวิตามินเสริม
การได้รับวิตามินจากอาหารอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เนื่องจากร่างกายต้องการการบำรุงเป็นพิเศษ จึงควรรับวิตามินเสริม แล้ววัยทองควรกินวิตามินอะไร ? เช่น วิตามินดีและแคลเซียมเพื่อป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุน วิตามินอีและซีเพื่อบำรุงผิวพรรณ เล็บ และเส้นผม วิตามินเอเพื่อบำรุงสายตา รวมถึงอาหารเสริมอย่างโคเอ็นไซม์คิวเท็นและแอสตาแซนธินที่ช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกาย
4. ผ่อนคลายความเครียดอย่างเหมาะสม
หาวิธีผ่อนคลายความเครียดความวิตกกังวลที่เหมาะกับตนเอง เช่น การฝึกหายใจลึกๆ การทำสมาธิ หรือทำงานอดิเรก การออกไปท่องเที่ยว ฯลฯ การจัดการความเครียดอย่างเหมาะสมช่วยบรรเทาอาการอารมณ์แปรปรวนได้
5. นอนหลับให้เพียงพอ
การนอนหลับอย่างมีคุณภาพช่วยส่งเสริมการมีสุขภาพดีแบบองค์รวมได้ ควรพักผ่อนอย่างเพียงพอวันละ 7 – 8 ชั่วโมงและเข้านอนตื่นนอนเป็นเวลา หลีกเลี่ยงการดื่มคาเฟอีนและการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก่อนเข้านอน และสร้างสภาพแวดล้อมในการนอนหลับที่สะดวกสบาย เพื่อที่จะได้พักผ่อนอย่างเต็มที่
6. ใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวอย่างสม่ำเสมอ
พอเข้าสู่ช่วงวัยทอง ควรดูแลตัวเองอย่างไรทั้งภายนอก และภายใน นอกจากการปรับพฤติกรรมและการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์แล้ว ในเรื่องของผิวพรรณนั้นก็ไม่ควรละเลย เพราะผู้หญิงเมื่อเข้าสู่วัยทองจะเริ่มมีผิวที่แห้ง หยาบกร้าน มีริ้วรอยและมีความเหี่ยวย่น ดังนั้น ควรบำรุงผิวด้วยการทาโลชั่นเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นเป็นประจำ ใช้สกินแคร์ที่มีคุณสมบัติเติมน้ำให้ผิวเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น จะได้มีสุขภาพผิวที่ดีนะคะ
7. พูดคุยกับคู่สมรสอย่างเปิดเผย และหาทางออกร่วมกัน
เมื่อเข้าสู่วัยทอง ผู้หญิงจะมีความต้องการทางเพศลดลง และมีความเปลี่ยนแปลงทางด้านกายภาพเกี่ยวกับระบบสืบพันธ์ุด้วย ซึ่งอาจทำให้รู้สึกเจ็บหรือไม่สบายตัวขณะมีเพศสัมพันธ์ได้ การพูดคุยกับคู่สมรสอย่างเปิดเผยเพื่อหาทางออกร่วมกันจะช่วยคลายความเครียดความวิตกกังวลไปได้ หรืออาจปรึกษาแพทย์ – นักจิตวิทยาครอบครัวเพื่อหาวิธีแก้ไขก็ได้นะคะ
8. ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ
การไปตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละ 1 ครั้งจะทำให้เรารู้ว่าสุขภาพของเราเป็นอย่างไรบ้าง และเมื่อเข้าสู่วัยทอง ควรดูแลตัวเองอย่างไร มีความผิดปกติใดๆ หรือไม่ เช่น วัดค่าความดันโลหิต ตรวจระดับไขมัน น้ำตาล การทำงานของตับและไต ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก การตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก ฯลฯ เพื่อการมีสุขภาพที่ดีค่ะ
การเข้าสู่วัยทองเป็นเรื่องปกติที่ไม่ว่าหญิงหรือชายจะต้องพบเจอทุกคน และการเข้าสู่วัยทองไม่ใช่เรื่องน่ากลัวแต่อย่างใดหากเรารู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของร่างกายตัวเองพร้อมเตรียมรับมือได้อย่างถูกต้องเหมาะสม รวมถึงการมีวิธีดูแลตัวเองที่ดี ทั้งในเรื่องอาหารการกิน การใช้สมุนไพรที่คิดมาเพื่อคนวัยทอง บำรุงร่างกาย การออกกำลังกาย การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ และการผ่อนคลายอารมณ์ความเครียด ถ้าหากมีปัญหาสุขภาพอื่นใดที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ก็สามารถปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญได้นะคะ
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ