“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
โรคหลอดเลือดสมอง สาเหตุ คืออะไร ? ชวนป้องกัน เป็นแล้วอาจเสี่ยงอัมพาต อันตรายถึงชีวิต ถ้าไม่คิดระวัง !
เชื่อว่าทุกคนเคยได้ยินชื่อโรคหลอดเลือดสมองกันมาก่อนอย่างแน่นอน รู้จักกันดีในชื่อ Stroke จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขระบุไว้ว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยอันดับที่ 2 รองจากโรคมะเร็ง มักจะพบได้ในผู้สูงอายุ เช่น โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคหลอดเลือดสมองแตก ซึ่งอาจมีอันตรายถึงชีวิต บางรายเป็นอัมพาตหรือสูญเสียสมรรถภาพทางกายบางอย่าง หากไม่ระวังหรือไม่ป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ ก็อาจมีความเสี่ยงได้ โรคหลอดเลือดสมอง สาเหตุ เกิดจากอะไร ? เราจะป้องกันตัวเองอย่างไรให้ห่างไกลจากโรคนี้ ไปอ่านกันเลยค่ะ
โรคหลอดเลือดสมอง สาเหตุ เกิดจากอะไร ?
โรคหลอดเลือดสมอง หรือ โรค Stroke คือภาวะสมองขาดเลือดที่เกิดจากหลอดเลือดสมองตีบ อุดตัน หรือมีเลือดออกในสมอง หรือมีอาการเส้นเลือดในสมองตีบ ทำให้เลือดไม่ไปเลี้ยงสมอง ส่งผลให้เซลล์สมองขาดออกซิเจน และสมองตาย ผู้ที่เป็น stroke จำเป็นที่จะต้องพบแพทย์ทันทีและทำการรักษาโดยเร็วที่สุด เพราะจะช่วยลดความรุนแรงจากภาวะสมองตายได้ รวมถึงลดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นเพื่อป้องกันความพิการและทุพลภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งโรคหลอดเลือดสมอง สาเหตุหลักๆ มีดังนี้
1. หลอดเลือดในสมองตีบ (Atherosclerosis)
โรคหลอดเลือดสมอง สาเหตุมาจากหลอดเลือดในสมองตีบ พบได้มากถึง 80% ซึ่งเกิดจากการมีลิ่มเลือดก่อตัวขึ้น เพราะผนังหลอดเลือดสมองมีคราบไขมันเกาะจนแข็ง ทำให้หลอดเลือดสมองตีบแคบลงจนอุดตัน โดยมีปัจจัยเสี่ยงคือ อายุ ภาวะความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ เป็นโรคอ้วน ซึ่งโรคอ้วนมีความเกี่ยวข้องกับการนอนกรนหรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้เสี่ยงที่จะเกิดภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ
2. หลอดเลือดในสมองอุดตัน (Embolic)
โรคหลอดเลือดสมอง สาเหตุอีกอย่างหนึ่งคือ หลอดเลือดในสมองอุดตันจากลิ่มเลือดที่ก่อตัวในเส้นเลือดนอกสมอง เช่น ที่หัวใจ แล้วลอยตามกระแสเลือดไปอุดตันที่หลอดเลือดเล็กๆ ในสมอง ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่ได้ ผู้ที่มีภาวะเสี่ยงคือ เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นโรคลิ้นหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด มีภาวะหัวใจโต เป็นต้น
เกร็ดสุขภาพ : หลอดเลือดในสมองอุดตัน สามารถพบได้ในวัยรุ่นด้วยเช่นกัน เช่นในผู้ที่เล่นกีฬาที่มีการบิดหรือสะบัดคอแรงๆ หรืออาจะเกิดจากอุบัติเหตุ ที่อาจทำให้หลอดเลือดเลือดที่คอฉีกขาดได้ อาทิ บันจี้จัมป์ กีฬาเอ็กซ์ตรีมต่างๆ ซึ่งพบได้บ่อยในกลุ่มคนไข้วัยรุ่น มักจะมีอาการปวดคอมาก หรือมีภาวะอ่อนแรงครึ่งซีก นอกจากนี้ ยังมีบางรายที่หลอดเลือดดำอุดตันด้วยเช่นกัน เช่น กลุ่มที่รับประทานยาคุมกำเนิดหลังคลอด เป็นต้น
3. หลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic)
โรคหลอดเลือดสมอง สาเหตุที่มักพบได้ก็คือ หลอดเลือดในสมองแตก ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดมีความเปราะบางร่วมกับมีภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้บริเวณที่หลอดเลือดมีความเปราะบางนั้นโป่งพองและแตกในที่สุด ทั้งนี้ หากในหลอดเลือดมีไขมันสะสมมากก็ทำให้ปริแตกได้ง่ายเช่นกัน ซึ่งเป็นสาเหตุที่อันตรายมากเพราะทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้น้อยลงอย่างฉับพลัน และทำให้เกิดเลือดออกในสมอง ส่งผลให้เสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว
อาการของโรคหลอดเลือดสมอง เป็นอย่างไร ?
การสังเกตุอาหารของผู้ป่วยนั้นมีความสำคัญมาก เนื่องจากมีอาการรุนแรงมากน้อยตามแต่ละสาเหตุ หากสังเกตเห็นความผิดปกติได้เร็ว ก็จะทำให้รักษาได้ทันอย่างท่วงที และป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งอาการของโรค Stroke มีดังนี้
- พูดไม่ชัด พูดไม่ได้ รู้สึกสับสน งุนงง หรือไม่เข้าใจในสิ่งที่ผู้อื่นพูด
- มีอาการอ่อนแรงหรือชาอย่างเฉียบพลัน บริเวณหน้า แขนขา โดยส่วนใหญ่แล้วอาการจะเกิดกับร่างกายเพียงซีกเดียว ร่วมกับอาการปากเบี้ยว พูดไม่ชัดหรือพูดไม่ได้
- เกิดอาการตามัวเฉียบพลัน หรือเห็นภาพซ้อน
- เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ เดินเซ ทรงตัวผิดปกติ คลื่นไส้ อาเจียน
เช็กอาการผู้ป่วยจาก FAST
เมื่อสังเกตได้ว่าคนใกล้ชิดมีอาการผิดปกติ และเข้าข่ายอาการของโรคหลอดเลือดสมอง ให้ทดสอบผู้ป่วยด้วยวิธี FAST ดังต่อไปนี้
- F – Face : ใบหน้า ให้ผู้ป่วยพยายามยิ้ม แล้วสังเกตว่ามีอาการปากเบี้ยวหรือไม่
- A – Arm : แขน ให้ผู้ป่วยพยายามยกแขนทั้งสองข้างเหนือศีรษะ แล้วสังเกตดูว่าแขนข้างใดข้างหนึ่งไม่มีแรง ตกลงข้างตัว ต่างจากอีกข้างชัดเจน
- S – Speech : คำพูด โดยการถามคำถามง่ายๆ ที่ผู้ป่วยน่าจะตอบได้ เพื่อฟังเสียงผู้ป่วยและดูว่าสามารถสื่อสารได้หรือไม่ มีอาการพูดไม่ชัดหรือไม่
- T – Time : หากเกิดอาการเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด
เกร็ดสุขภาพ : นอกจากการเป็นโรคหลอดเลือดสมองที่ทำให้เลือดไม่ไปเลี้ยงสมองแล้ว มีอาการหนึ่งที่เรียกว่า สมองขาดเลือดชั่วคราว หรือ Transient Ischemic Attack (TIA) คือการที่เลือดไปเลี้ยงสมองส่วนใดส่วนหนึ่งน้อยลงทันที และกลับสู่สภาพเดิมได้ในเวลาอันรวดเร็ว จึงทำให้ไม่เกิดภาวะสมองตายจากการขาดเลือด ซึ่งอาการจะคล้ายๆ โรคหลอดเลือดในสมองตีบ แต่จะหายได้ภายในเวลา 24 ชั่วโมง และจะมีอาการสั้นๆ ภายใน 5 – 10 นาทีเท่านั้น แต่ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยที่มีอาการ TIA มักจะกลายเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบภายใน 7 วัน ดังนั้น หากมีอาการผิดปกติใดๆ ควรไปพบแพทย์ทันที
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง
ตอนนี้ก็ได้ทราบแล้วว่า โรคหลอดเลือดสมอง สาเหตุเกิดจากอะไรบ้าง ซึ่งแต่ละสาเหตุนั้นก็มีปัจจัยเสี่ยงที่แตกต่างกันไป เรามาเจาะลึกกันเลยค่ะ
- อายุ เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น หลอดเลือดก็จะเสื่อมตามไปด้วย เพราะจะมีไขมันและหินปูนมาเกาะมากขึ้น ทำให้หลอดเลือดแคบลง
- เพศ โดยเพศชายมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าเพศหญิง
- ภาวะการแข็งตัวของเลือดเร็วกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดการจับตัวกันของเม็ดเลือดและเกิดลิ่มเลือดได้ง่ายกว่าคนปกติ
- ความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของโรคหลอดเลือดสมอง
- เบาหวาน ทำให้หลอดเลือดแข็งตัวทั่วร่างกาย หากเกิดที่สมอง จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง 2 – 3 เท่า
- ไขมันในเลือดสูง ซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดหัวใจได้ด้วย
- โรคหัวใจ เพราะทำให้เกิดลิ่มเลือด ถ้าลิ่มเลือดไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง ก็ทำให้สมองขาดเลือดได้
- การสูบบุหรี่ สารนิโคตินและคาร์บอนมอนออกไซค์ทำให้ปริมาณออกซิเจนลดลง ซึ่งจะไปทำลายผนังหลอดเลือด การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองมากถึง 3.5%
- ยาคุมกำเนิด ในผู้หญิงที่ใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูง
- โรคซิฟิลิส เป็นสาเหตุของหลอดเลือดอักเสบและหลอดเลือดแข็ง
ภาวะแทรกซ้อนจากการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
โรคหลอดเลือดสมองทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนกับผู้ป่วยได้ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นชั่วคราว หรือเกิดขึ้นถาวร ทำให้ผู้ป่วยมีความพิการและทุพลภาพ ซึ่งความรุนแรงนั้นจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่สมองขาดเลือด และขึ้นอยู่กับส่วนของสมองที่ได้รับผลกระทบ โดยจะมีภาวะต่างๆ ดังนี้
- อัมพาต อาจเป็นอัมพาตส่วนใดส่วนหนึ่งบนร่างกาย หรือไม่สามารถขยับกล้ามเนื้อบนใบหน้าได้ ซึ่งจะเกิดบริเวณด้านใดด้านหนึ่งของใบหน้าหรือแขน
- มีปัญหาด้านการพูด การกลืน หรือการรับประทานอาหาร ซึ่งอาจไม่เข้าใจในภาษาได้ ทั้งยังส่งผลกระทบต่อการอ่านและการเขียนด้วย
- สูญเสียความทรงจำ มีปัญหาเกี่ยวกับสมอง เช่น มีปัญหาเกี่ยวกับการคิดวิเคราะห์ การตัดสินใจ หรือการเข้าใจในสิ่งต่างๆ
- มีอารมณ์แปรปรวน และอาจมีภาวะซึมเศร้า
- รู้สึกเจ็บปวด หรือชาตามร่างกาย
- มีพฤติกรรมทอดทิ้งตัวเอง หรือ Self – Neglect มีการแยกตัวออกจากสังคม และจำเป็นที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือในการดูแลตัวเองหรือการทำกิจวัตรประจำวัน
โรคหลอดเลือดสมอง ป้องกันได้อย่างไร ?
โรคหลอดเลือดสมอง สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงบางประการ สามารถป้องกันได้เช่นกัน หลักๆ คือการดูแลสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงและปลอดโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งสามารถทำได้ ดังนี้
- วัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ (อ่านเพิ่มเติม ใบวัดความดันดูยังไง) ถ้าพบว่ามีความดันโลหิตสูงกว่า 140/80 mmHg ควรไปพบแพทย์ และถ้าหากได้ยามารับประทาน ก็ควรรับประทานตามแพทย์สั่ง ไม่ควรละเลย เพื่อสุขภาพของตัวเอง
- ลดการกินอาหารเค็มจัด หวานจัด มันจัด รับประทานผักผลไม้ให้มากขึ้น
- เลิกสูบบุหรี่และลดการดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติด
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาทีเป็นต้นไป
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อตรวจวัดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ควบคุมระดับน้ำตาล – ไขมันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
แม้ว่าโรค Stroke หรือโรคหลอดเลือดสมองจะพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันก็สามารถพบได้ในวัยรุ่นหรือวัยกลางคนมากขึ้น เพราะปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมากขึ้น และเป็นตั้งแต่อายุไม่มาก รวมถึงมีระดับไขมัน – น้ำตาลในเลือดสูงเช่นกัน จึงเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองด้วย การดูแลสุขภาพของตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญ หมั่นตรวจสุขภาพประจำปีอยู่เสมอ และเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงน้ำตาล และอาหารที่มีไขมันสูง งดการกินเค็มจัด หวานจัด มันจัด กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น พร้อมกับออกกำลังกายเป็นประจำ งดการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคหลอดเลือดในสมองได้ค่ะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : bangkokinternationalhospital.com, medparkhospital.com, praram9.com, bumrungrad.com, stroke.org, cdc.gov
Featured Image Credit : freepik.com/rawpixel.com
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ