“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
Shopaholic คือ อะไร ? ช้อปปิ้งมากไป เสี่ยงเป็นโรคทางสุขภาพจิตได้ !
มีใครชอบช้อปปิ้งบ้างคะ ? ไม่ว่าจะเป็นช้อปออนไลน์หรือการไปเดินซื้อของในห้างฯ ก็ตาม ยิ่งช่วงเซลล์ต้องห้ามพลาด บางคนก็ชอบช้อปเพราะถือว่าเป็นการคลายเครียดอย่างหนึ่ง บางคนก็ถือว่าเป็นการให้รางวัลตัวเอง แล้วเคยนับมั้ยคะว่าเดือนๆ หนึ่งเราช้อปปิ้งไปทั้งหมดกี่ครั้ง ? เสียเงินไปทั้งหมดกี่บาท ? สถานะทางการเงินของเรายังดีอยู่หรือไม่ แล้วของที่เราซื้อมานั้น เราได้ใช้ทุกชิ้นหรือเปล่า เราแกะกล่องพัสดุจากการช้อปออนไลน์หมดแล้วหรือยัง ? เพราะการช้อปปิ้งบ่อยๆ โดยเฉพาะการซื้อของที่ไม่จำเป็นนั้น อาจหมายถึงสัญญาณของโรค Shopaholic คือ โรคเสพติดการช้อปปิ้งก็เป็นได้ โรคนี้คืออะไร มาทำความรู้จักให้มากขึ้นกันค่ะ
Shopaholic คือ อะไร ? โรคเสพติดการช้อปปิ้งมีจริงหรือ !? มาทำความรู้จักกัน
โรคเสพติดการช้อปปิ้ง หรือ Shopaholic เป็นโรคทางสุขภาพจิตประเภทหนึ่ง ซึ่งผู้ที่เป็นโรคนี้จะเสพติดการซื้อของโดยที่ไม่คำนึงถึงสถานะทางการเงินของตัวเอง และมีความอยากจะไปช้อปปิ้งอยู่ตลอดเวลา รู้สึกดีที่ได้เดินจับจ่ายซื้อของ มีพฤติกรรมหมกมุ่นกับการช้อปปิ้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของที่ไม่จำเป็นหรือเป็นของที่มีอยู่แล้ว บางครั้งอาจรู้สึกผิดหลังจากช้อปปิ้ง ทั้งนี้ พฤติกรรมการจับจ่ายซื้อของที่ไม่จำเป็นอาจทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในเรื่องการเงิน การสร้างหนี้สิน มีพฤติกรรมใช้จ่ายเกินตัว มีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว พยายามซ่อนของที่ซื้อมาไม่ให้คนที่บ้านเห็น โกหกเกี่ยวกับราคาสินค้าที่ซื้อมา หรือหลอกว่าไม่ได้ซื้อมา เป็นต้น
เกร็ดสุขภาพ : โรคเสพติดการช้อปปิ้ง หรือ Shopaholic มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Compulsive Buying Disorder (CBD) หรือเรียกกันอีกชื่อว่า Oniomania ซึ่งจะมีพฤติกรรมเสพติดการช้อปปิ้งอย่างควบคุมตัวเองไม่ได้ รู้สึกดีเมื่อได้ซื้อของ แต่เป็นความรู้สึกดีที่เกิดขึ้นชั่วคราว เมื่อซื้อเสร็จแล้วจะรู้สึกกังวลหรือทุกข์ใจ Shopaholic คือหนึ่งในกลุ่มพฤติกรรมการเสพติด (ฺBehavioral Addiction) เช่น เสพติดการพนัน เสพติดอินเทอร์เน็ต เสพติดการเล่นเกม เสพติดการมีเพศสัมพันธ์ เสพติดการออกกำลังกาย เป็นต้น
อาการของโรค Shopaholic เป็นอย่างไร ?
- ช้อปปิ้งทุกวัน หรือทุกสัปดาห์ หมกมุ่นเกี่ยวกับการซื้อของตลอดเวลา
- คิดว่าการช้อปปิ้งเป็นกิจกรรมคลายเครียด และมีความรู้สึกตื่นเต้น พึงพอใจ มีความสุขอย่างมากหลังจากที่ได้ซื้อของ
- มีพฤติกรรมใช้จ่ายเกินความจำเป็น ใช้บัตรเครดิตเต็มวงเงิน และเปิดใบใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ โดยที่ไม่ได้ชำระหนี้บัตรเครดิตใบเก่า
- ซื้อของโดยที่ไม่ได้คำนึงถึงความจำเป็น ซื้อของซ้ำกับที่เคยซื้อมาแล้ว
- มีพฤติกรรมโกหก ลักขโมยเพื่อที่จะได้ช้อปปิ้ง
- ต้องหลบซ่อนหรือปกปิดคนที่บ้านว่าช้อปปิ้งมา
- แม้จะรู้สึกผิดที่ช้อปปิ้ง แต่ก็ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ยังคงทำต่อไป คล้ายกับคนที่เป็นโรคชอบขโมยของ หรือ Kleptomania ที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้เช่นกัน
สาเหตุของการเกิดโรค Shopaholic คืออะไร ?
- มีภาวะซึมเศร้า ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าอาจมีความวิตกกังวล มีภาวะเครียดสะสมจนต้องใช้การช้อปปิ้งเป็นทางออกเพื่อบรรเทาความรู้สึกลบๆ ที่เกิดขึ้น เพราะเมื่อได้ช้อปปิ้งสมองจะหลั่งสารโดปามีนออกมาอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้เกิดความสุขใจขณะนั้น และอาจทำให้เกิดการเสพติดความรู้สึกนั้นจนเกิดพฤติกรรมซ้ำๆ นั่นเองค่ะ
- สาเหตุหนึ่งของโรค Shopaholic คือ ความรู้สึกไม่มั่นใจในตนเอง ผู้ที่ไม่มีความมั่นใจในตัวเองอาจต้องการช้อปปิ้งเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีหรือรู้สึกมั่นใจมากขึ้น คิดว่าการมีสิ่งของที่มีราคาแพงหรือมีความหรูหราจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับตัวเองได้
- เป็นผู้ที่เห็นคุณค่าในตัวเองต่ำหรือมี Self – Esteem ต่ำ เวลาซื้อของจะรู้สึกว่าสามารถควบคุมบางสิ่งบางอย่างได้ ทำให้รู้สึกว่ามีอำนาจมากขึ้น หรือมีคุณค่ามากขึ้น
- เสพติดวัตถุนิยม มีความอยากได้ของใหม่ๆ หรืออยากมีเหมือนคนอื่นบ้าง หรือต้องมีสิ่งนั้นก่อนใคร โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงความจำเป็นหรือคำนึงเรื่องราคา ความเหมาะสม
เกร็ดสุขภาพ : ผู้ที่เป็นโรคเสพติดการช้อปปิ้ง หรือ Shopaholic มักจะมีพฤติกรรมใช้จ่ายเกินตัว ทำให้ประสบกับปัญหาด้านการเงิน มีหนี้สินล้นตัวจนมีปากเสียงกับคนในครอบครัวได้ ซึ่งการช้อปปิ้งในแต่ละครั้งนั้นจะเต็มไปด้วยอารมณ์ความอยากและมีความหุนหันพลันแล่นโดยปราศจากการยั้งคิดไตร่ตรอง ทั้งนี้ คนที่เสพติดการช้อปปิ้งกับรู้สึกว่างเปล่าและไม่พอใจเมื่อซื้อของกลับบ้านมาแล้ว ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตอื่นๆ ตามมา เช่น มีภาวะเครียด วิตกกังวล และหาทางระบายความเครียดด้วยการช้อปปิ้งเหมือนเดิม เป็นพฤติกรรมวนเวียนอยู่แบบนี้ไม่สิ้นสุด เพราะไม่สามารถควบคุมตัวเองได้นั่นเองค่ะ
เสพติดการช้อปปิ้ง รักษาได้หรือไม่ ?
โรคเสพติดการช้อปปิ้ง หรือ Shopaholic คือโรคที่รักษาได้เช่นเดียวกับโรคทางสุขภาพจิตอื่นๆ ทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการเปลี่ยนทัศนคติ เช่น การจำกัดวงเงินบัตรเครดิตหรืองดใช้บัตรเครดิต โดยส่วนใหญ่แล้วจิตแพทย์จะรักษาด้วยการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม หรือ Cognitive Behavioural Therapy ซึ่งจะเป็นการพูดคุยให้คำปรึกษาแบบละเอียด เพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของการมีพฤติกรรม Shopaholic จากนั้นจึงทำการปรับเปลี่ยนความคิด ปรับพฤติกรรม เพื่อให้ผู้รับคำปรึกษาเข้าใจตนเองและปรับเปลี่ยนนิสัยการเสพติดการช้อปปิ้งได้ เช่น หากใช้การช้อปปิ้งเป็นการระบายความเครียด ก็อาจจะหาวิธีระบายความเครียดวิธีอื่นๆ ที่ไม่ส่งผลเสียต่อตัวเอง หรือถ้ามีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย ก็ต้องรักษาควบคู่กันไป เป็นต้น
ผู้ที่เสพติดการช้อปปิ้ง ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองอย่างไรดี ?
นอกจากการไปพบจิตแพทย์ นักจิตบำบัด และนักจิตวิทยาแล้ว วิธีรักษาที่ได้ผลดีสำหรับโรค Shopaholic คือ ผู้ป่วยมีความมุ่งมั่นที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนนิสัยในการช้อปปิ้งจนไม่มีพฤติกรรมเสพติดการซื้อของอีกต่อไป ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้ค่ะ
- ซื้อของที่จำเป็นเท่านั้น โดยสามารถจับจ่ายใช้สอยได้อยู่ แต่ต้องเป็นของที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น สามารถเขียนรายการที่จะต้องซื้อก่อนออกไปช้อปปิ้งได้ และซื้อตามรายการเท่านั้น เพื่อลดพฤติกรรมซื้อของที่ไม่จำเป็นให้น้อยลง
- ปิดกั้นการแจ้งเตือนจากโซเชียลมีเดีย อีเมล เกี่ยวกับโปรโมชั่นการซื้อสินค้าจากแบรนด์ต่างๆ หรือลบแอปพลิเคชั่นช้อปปิ้งออนไลน์ออกทั้งหมด เพื่อป้องกันการช้อปปิ้งออนไลน์ที่ทำได้ง่ายและมีโอกาสจะซื้อของที่ไม่จำเป็นสูงมาก
- จำกัดวงเงินบัตรเครดิตของตัวเอง หรืองดใช้บัตรเครดิตไปเลย ทั้งนี้ อาจแบ่งเงินมาส่วนหนึ่งสำหรับการช้อปปิ้งในแต่ละเดือน ละซื้อของตามงบที่มีเท่านั้น
- มีการวางแผนการเงิน จดบัญชีรายรับรายจ่ายของตัวเอง เมื่อเห็นยอดเงินรายจ่ายที่มาจากการช้อปปิ้ง อาจทำให้ตระหนักถึงเม็ดเงินที่เสียไปโดยไม่จำเป็นและเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้
- มีสติในการใช้จ่ายอยู่เสมอ คำนึงถึงความจำเป็นในการซื้อของ ไตร่ตรองให้ดี ไม่หุนหันพลันแล่นหรือใจร้อนในการช้อปปิ้ง ฝึกการยับยั้งชั่งใจ หรือหากิจกรรมอย่างอื่นทำแทนการช้อปปิ้ง เช่น ทำกิจกรรมอาสาสมัคร ทำความสะอาดบ้าน จัดบ้าน หากิจกรรมคลายเครียดอื่นๆ ที่ชอบและเหมาะกับตัวเองเพื่อทดแทนการออกไปช้อปปิ้ง
โรคเสพติดการช้อปปิ้ง หรือ Shopaholic คือโรคที่ส่งผลเสียกับเราทั้งในเรื่องของสุขภาพจิตและสถานะทางการเงิน ทั้งยังส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้างอีกด้วย ในกรณีที่ต้องปกปิดการช้อปปิ้งหรือสร้างหนี้สินให้กับคนที่บ้าน และถ้าหากมีอาการรุนแรงมากขึ้นจนไม่สามารถยับยั้งควบคุมตัวเองได้ ก็อาจมีผลในเรื่องกฏหมายได้เลยทีเดียว เช่น ถูกดำเนินคดีเพราะไม่ชำระหนี้ตามกฎหมาย หรือถูกฟ้องร้องเพราะไปกู้เงินมาจับจ่ายใช้สอย เป็นต้น ดังนั้น ถ้าใครมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายเป็นโรคเสพติดการช้อปปิ้ง การพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญอย่างนักจิตบำบัด จิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา จะช่วยให้เราค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้อย่างเหมาะสม สิ่งสำคัญคือ ความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง ก็จะช่วยให้เราหายจากการเสพติดการช้อปปิ้งได้ค่ะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : manarom.com, psychologytoday.com, choosingtherapy.com, verywellmind.com
Featured Image Credit : freepik.com
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ