“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
เม็ดเลือดแดง หน้าที่ สำคัญอย่างไร ? มาเสริมสร้างเม็ดเลือดแดงด้วยแร่ธาตุวิตามินเหล่านี้กัน !
เรารู้กันดีว่า มมุษย์ใช้ออกซิเจนในการหายใจเพื่อดำรงชีวิต และอวัยวะที่ช่วยฟอกอากาศหายใจของเราคือปอด แต่ทุกคนรู้ไหมคะว่า อะไรที่เป็นตัวนำพาออกซิเจนจากปอดไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย คำตอบคือ “เม็ดเลือดแดง” นั่นเองค่ะ เม็ดเลือดแดง หน้าที่ คือ นำออกซิเจนจากปอดส่งต่อไปยังเซลล์ต่างๆ ของร่างกายนั่นเอง ลองคิดดูว่า ถ้าสมมติว่าเรามีเม็ดเลือดแดงไม่เพียงพอ ก็จะทำให้การส่งออกซิเจนไปยังเซลล์ต่างๆ ของร่างกายทำได้น้อยลง ทำให้เราไม่มีแรง ไม่มีพลังงาน หน้ามืด เวียนหัว ร่างกายไม่แข็งแรง และใช้ชีวิตลำบากได้ ดังนั้น ทีมงานเพื่อสุขภาพจึงอยากพาคุณไปรู้จักกับเม็ดเลือดแดงให้มากขึ้น เม็ดเลือดแดงมีลักษณะอย่างไร มีหน้าที่อะไรบ้าง มีความสำคัญอย่างไร และมีวิธีบำรุงร่างกาย เสริมสร้างเม็ดเลือดแดงได้ยังไงบ้าง ? เพราะเม็ดเลือดแดงมีความสำคัญกับร่างกายของเราเป็นอย่างยิ่ง ไปดูกันเลยค่ะ !
เม็ดเลือดแดง เป็นแบบไหน ? แล้ว เม็ดเลือดแดง หน้าที่ สำคัญคืออะไร ?
เลือดที่ไหลเวียนอยู่ทั่วร่างกายของเรา ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย ช่วยในการลำเลียงออกซิเจนและสารอาหารไปยังอวัยวะต่างๆ และนำของเสียต่างๆ ขับออกทางไต ทั้งยังช่วยควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย นอกจากนี้ เลือดยังเปรียบเหมือนระบบป้องกันของร่างกายด้วย เพราะมีเซลล์เม็ดเลือดขาวซึ่งทำหน้าที่ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคในร่างกาย แต่ในบทความนี้ เราจะมาพูดถึงเม็ดเลือดแดงกันก่อนนะคะ
มาดูกันก่อนว่า เม็ดเลือดแดงมีลักษณะอย่างไร ถ้าเราเจาะเลือดออกมา เลือดสีแดงๆ นั้นจะประกอบไปด้วย 3 ส่วนคือ พลาสมา เม็ดเลือดขาว และเม็ดเลือดแดง สาเหตุที่เลือดของเรามีสีแดง ก็เพราะมีปริมาณของเม็ดเลือดแดงเป็นส่วนประกอบหลักจำนวนมาก เม็ดแลือดแดงมีรูปร่างเป็นทรงกลม และบุ๋มตรงกลางคล้ายโดนัท แต่ไม่มีรู ทำให้เซลล์มีความยืดหยุ่น สามารถบีบตัวไปตามเส้นเลือดที่มีขนาดเล็กมากๆ ได้ ซึ่งส่วนที่บุ๋มเว้าตรงกลางนี้ ทำให้มีพื้นที่ผิวที่มากพอสำหรับการจับออกซิเจนจากปอดและส่งต่อให้กับทุกเซลล์ในร่างกายได้อย่างพอเพียง แถมเม็ดเลือดแดง หน้าที่คือ เป็นตัวนำคาร์บอนไดออกไซด์จากส่วนต่างๆ ของร่างกายไปขับออกที่ปอดด้วย เรียกได้ว่าเป็นพลกำลังสำคัญของระบบหายใจเลยทีเดียวค่ะ
ภายในเม็ดเลือดแดงจะบรรจุโปรตีนที่ชื่อว่า ฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ซึ่งเป็นตัวดักจับและขนส่งออกซิเจน และฮีโมโกลบินก็มีเฉพาะในเม็ดเลือดแดงเท่านั้น ค่าปกติของฮีโมโกลบินในเพศชายคือ 13 – 17 grams per deciliter (g/dL) และในผู้หญิงคือ 12 – 16 grams per deciliter (g/dL) หากมีค่าสูงกว่ามาตรฐาน ก็บ่งบอกได้ว่ามีภาวะเลือดข้น และถ้ามีค่าต่ำกว่ามาตรฐาน ก็ทำให้มีภาวะโลหิตจางได้ และเหตุที่เม็ดเลือดแดงมีสีแดง ก็เนื่องมาจากฮีโมโกลบินภายในเม็ดเลือดแดงจับกับออกซิเจนแล้วจะทำให้เกิดสีแดงขึ้นนั่นเอง
เม็ดเลือดแดง ถูกสร้างที่ไขกระดูก ซึ่งเป็นแกนกลางของกระดูกต่างๆ ทั่วร่างกาย และเม็ดเลือดแดงจะมีอายุประมาณ 120 วัน จากนั้นจะเสื่อมสภาพไป และถูกนำไปกำจัดที่ตับและม้าม ในปริมาณเลือดเพียง 1 CC จะมีเม็ดเลือดแดงมากถึง 4 – 5 ล้านตัว ในขณะที่ผู้ใหญ่มีปริมาณเลือดในร่างกายประมาณ 5 ลิตร ลองจินตนาการดูสิคะว่า ในร่างกายของเราจะมีเม็ดเลือดแดงจำนวนมหาศาลขนาดไหน เม็ดเลือดแดง หน้าที่คือนำพาออกซิเจนไปยังเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย ทำให้ต้องมีปริมาณหลายล้านๆ ตัว เพราะมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของเรามากๆ เลยค่ะ
ถ้าเม็ดเลือดแดงน้อย จะเป็นอย่างไร ?
ตอนนี้เราก็รู้กันแล้วว่า เม็ดเลือดแดงมีลักษณะอย่างไร และเม็ดเลือดแดง หน้าที่สำคัญคืออะไร เรามาดูกันค่ะว่า ในบุคคลที่มีเม็ดเลือดแดงน้อย หรือมีภาวะเลือดจางนั้น จะมีอาการยังไงบ้าง ?
- รู้สึกไม่ค่อยมีพลังงาน
- รู้สึกง่วงนอนอยู่ตลอดเวลา ไม่สดชื่น
- มีผิวซีดเหลือง
- มีอาการปวดหัว เวียนหัว
- รู้สึกหงุดหงิด
- มีปัญหาด้านการจดจ่อสิ่งต่างๆ หรือรู้สึกว่าไม่มีสมาธิ
- หัวใจเต้นเร็ว เนื่องจากต้องเร่งสูบฉีดเลือดเพื่อไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายให้เพียงพอ
- ความดันเลือดต่ำ
อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ทำให้เม็ดเลือดแดงมีปริมาณน้อยกว่าปกติ หรือมีภาวะโลหิตจาง มีอยู่หลายสาเหตุด้วยกัน โดยทั่วไปแล้ว เกิดจากการที่ร่างกายผลิตเม็ดเลือดแดงได้น้อยลง ซึ่งอาจเป็นเพราะขาดวิตามินบี 12 ขาดธาตุเหล็ก หรือเกิดจากความเสียหายของเม็ดเลือดแดง เช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร เคมีบำบัด ความผิดปกติของไขกระดูก มะเร็งไขกระดูก โรคไต ภาวะเม็ดเลือดแดงแตกจากการติดเชื้อในกระแสเลือด หรือโรคทางพันธุกรรมบางชนิด เช่น ธาลัสซีเมีย
เกร็ดสุขภาพ : ธาลัสซีเมีย เป็นโรคโลหิตจางที่เม็ดเลือดแดงมีความผิดปกติ ทำให้เม็ดเลือดแดงมีอายุสั้น เปราะ แตก และถูกทำลายได้ง่าย ซึ่งเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบยีนด้อย จากสถิติพบว่าคนไทยมียีนผิดปกติหรือเรียกว่า “พาหะ” ประมาณ 24 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 40 และมีผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมียประมาณ 6 แสนคน คิดเป็น 1% ของจำนวนประชากรทั้งหมด
อยากเสริมสร้างเม็ดเลือดแดง ทำยังไงได้บ้าง ?
เรารู้แล้วว่า เม็ดเลือดแดง หน้าที่คืออะไร และมีความสำคัญกับร่างกายของเรามากขนาดไหน ซึ่งเม็ดเลือดแดง สามารถบำรุงและเสริมสร้างด้วยการกินอาหารที่ช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง เพื่อช่วยฟื้นฟูและเพิ่มจำนวนเซลล์เม็ดเลือดแดงในร่างกายให้มากขึ้น ซึ่งสารอาหารที่ช่วยในการเสริมสร้างเม็ดเลือดแดง มีดังนี้
1. วิตามิน B9 หรือกรดโฟลิก
วิตามิน B 9 หรือกรดโฟลิก มีส่วนช่วยในการเสริมสร้างเม็ดเลือดแดง มักพบในอาหารจำพวกผักใบเขียว เช่น คะน้า เคล ผักโขม ผักกาดเขียว บลอกโคลี หน่อไม้ฝรั่ง พบในผลไม้รสเปรี้ยวต่างๆ หรือในพืชกระกูลถั่ว เช่น ถั่วลิสง ถั่วแเดง ถั่วดำ และพบในอาหารจำพวกเครื่องใน เช่น ตับ และอาหารทะเล
2. ธาตุเหล็ก
ธาตุเหล็กเป็นส่วนสำคัญของฮีโมโกลบิน โปรตีนในเม็ดเลือดแดงซึ่งมีหน้าที่ดักจับออกซิเจน การกินอาหารจำพวกเนื้อแดง ไข่แดง หรือเครื่องใน เช่น ตับ รวมถึงผักใบเขียว เช่น ผักกูด ก็เป็นผักที่มีธาตุเหล็กสูง และอาหารทะเล ก็มีธาตุเหล็กสูงเช่นกัน
3. วิตามิน B12 หรือ โคบาลามีน
วิตามิน B 12 มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตเม็ดเลือดแดง อาหารที่มีวิตามิน B12 สูง ได้แก่ เนื้อวัว ปลา ไก่ ผลิตภัณฑ์จากนมต่างๆ เช่น โยเกิร์ต ชีส นมสด และไข่
4. ทองแดง
ทองแดงมีส่วนช่วยให้ร่างกายสร้างฮีโมโกลบิน แหล่งอาหารที่มีทองแดงสูงได้แก่ ผักใบเขียว อัลมอนด์ วอลนัท ช็อกโกแลต เห็ด ตับวัว และหอยนางรม รวมถึงเมล็ดธัญพืชต่างๆ เช่น ข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ข้าวโพด ข้าวไรย์ ลองทำ เมนูอาหารธัญพืช เพื่อเพิ่มทองแดงให้กับร่างกายดูนะคะ
5. วิตามิน A
วิตามิน A มีส่วนช่วยในการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง อาหารที่มีวิตามิน A สูงได้แก่ ผักผลไม้ที่มีสีเหลือง ซึ่งจะมีสารแคโรทีนอยด์ ที่เป็นสารตั้งต้นในการสร้างวิตามิน A พบในแครอท มันฝรั่ง ฟักทอง ข้าวโพด พริกหยวกสีเหลือง บัตเตอร์นัท มันเทศ มะม่วงสุก มะละกอ แคนตาลูป และพบในผักใบเขียวต่างๆ เช่น ตำลึง ผักบุ้ง ปวยเล้ง บรอกโคลี ผักโขม เป็นต้น
6. วิตามิน C
วิตามิน C ช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีขึ้น อาหารที่มีวิตามินซีสูงก็ได้แก่ ผลไม้รสเปรี้ยว ผลไม้ตระกูลส้ม ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ฝรั่ง มะขามป้อม มะเขือเทศ พริกหวาน และผักใบเขียวต่างๆ ลองทำ เมนูอาหารที่มีวิตามินสูง รัปประทานกันดูนะคะ
7. วิตามิน E
วิตามิน E มีส่วนช่วยในการปกป้องเม็ดเลือดแดงไม่ให้แตกหรือถูกทำลาย อาหารที่มีวิตามิน E สูงคือ ปลาที่มีไขมันสูง เช่น แซลมอน และพืชตระกูลถั่วเมล็ดแห้ง จำพวกอัลมอนด์ ถั่วเหลือง เมล็ดทานตะวัน งาดำ พบในน้ำมันมะกอก น้ำมันดอกทานตะวัน พบในอะโวคาโด มะขามเทศ มะเขือเทศราชินี กล้วยไข่ เป็นต้น
เกร็ดสุขภาพ : การรับประทานสารอาหารที่มากเกินปริมาณที่แนะนำต่อวันไม่ได้ช่วยให้มีการสร้างเม็ดเลือดแดงที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากร่างกายจะกำจัดสารอาหารส่วนเกินออกจากร่างกายโดยอัตโนมัติ ดังนั้นการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ อย่างหลากหลาย ในปริมาณที่พอเหมาะต่อวัน ก็จะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน และนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่
นอกจากจะรับประทานอาหารที่สามารถช่วยเสริมสร้างและบำรุงเม็ดเลือดแดงแล้ว การออกกำลังกายเป็นประจำ ก็ทำให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงใหม่ได้มากขึ้น และเม็ดเลือดแดงที่สร้างใหม่ก็ทำหน้าที่ส่งออกซิเจนได้ดีกว่าเม็ดเลือดแดงเก่าที่ใกล้เสื่อมสภาพ นอกจากนี้ การบริจาคเลือดเป็นประจำทุก 3 เดือน ก็จะทำให้ร่างกายเราสร้างเม็ดเลือดแดงขึ้นมาใหม่ได้มากขึ้นค่ะ อีกประการหนึ่งคือ ลดการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะการดื่มแอลกอฮอล์อาจส่งผลทำให้เกิดภาวะโลหิตจางได้ อีกทั้งแอลกอฮอล์ทำให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้น้อยลง และส่งผลกระทบต่อกระบวนการสร้างเม็ดเลือดแดงอีกด้วย แต่ถ้าหากใครมีภาวะเลือดข้น อาจจะต้องกินอาหารสำหรับเลือดข้น เพื่อเป็นการดูแลตัวเองค่ะ
เม็ดเลือดแดง เซลล์เล็กๆ ในร่างกายของเราแต่มีหน้าที่ไม่เล็กเลย หน้าที่ของเม็ดเลือดแดงนั้น นับว่าแทบจะสำคัญมากที่สุดก็ว่าได้ ถ้าปราศจากเม็ดเลือดแดง เราก็คงไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ รู้แบบนี้แล้ว ก็อย่าลืมให้ความสำคัญกับการบำรุงเลือดของเราด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะสารอาหารที่กล่าวไปข้างต้นซึ่งมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างและบำรุงเม็ดเลือดแดงของเรา มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และลดการดื่มแอลกอออล์ เพียงเท่านี้ เราก็จะมีเม็ดเลือดแดงที่แข็งแรง และทำหน้าที่เป็นกำลังพลขนส่งออกซิเจนให้กับร่างกายอย่างแข็งขัน
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : healthline.com, tsh.or.th, verywellhealth.com
Featured Image Credit : freepik.com
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ