“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
ทำยัง ? แบบทดสอบไซโคพาธ ที่จะช่วยเช็กว่าเรามีแนวโน้มต่อต้านสังคมรุนแรงหรือไม่ ?!
เคยได้ยินชื่อโรค “ไซโคพาธ” กันมาบ้างหรือเปล่าคะ ? ใครที่ชอบดูหนังแนวสืบสวนสอบสวน หรือหนังอาชญากรรม อาจจะเคยคุ้นหูชื่อโรคนี้กันมาบ้าง ไซโคพาธ (Psychopaths) เป็นความผิดปกติทางบุคลิกภาพชนิดหนึ่ง ที่ถือได้ว่ามีความอันตราย เนื่องจากเป็นหนึ่งในบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคมที่มีแนวโน้มว่าจะก่อเหตุรุนแรงและนำไปสู่การก่อเหตุอาชญากรรมได้ แล้วทำไมถึงเป็นแบบนั้น ? ในบทความนี้ เพื่อสุขภาพจะพาไปรู้จักกับโรคไซโคพาธกันให้มากขึ้น พร้อมมีแบบทดสอบไซโคพาธ ให้ได้ลองทำ ลองคัดกรองเบื้องต้นกันว่าเรามีแนวโน้มที่จะมีบุคลิกภาพผิดปกติชนิดนี้หรือไม่ เพื่อที่จะได้รู้จักกับโรคนี้กันให้มากขึ้น และเฝ้าระวัง รวมถึงป้องกันได้ทันท่วงทีค่ะ
ลองทำ แบบทดสอบไซโคพาธ แล้วเช็กตัวเอง คนรอบข้างเพื่อดูแลให้ทันท่วงทีกัน !
ไซโคพาธ เป็นหนึ่งในบุคลิกภาพที่ผิดปกติชนิดต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disoder) โดยสังเกตได้จากการขาดจิตสำนึก จิตใจแข็งกระด้าง เห็นแก่ตัว มีความด้านชาทางอารมณ์ และมักมีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงรวมถึงก่ออาชญากรรม โดยแพทย์มักวินิจฉัยพบโรคนี้ในกลุ่มที่ก่ออาชกรรมร้ายแรง เช่น กลุ่มฆาตกรต่อเนื่อง เป็นต้นค่ะ เอาหล่ะ มาเช็กตัวเอง เช็กคนรอบข้าง ใส่ใจกันให้มากขึ้นเพื่อป้องกันก่อนที่จะสายเกินไปกันนะคะ
อาการของโรคไซโคพาธ เป็นยังไง ?
ผู้ที่มีบุคลิกภาพผิดปกติแบบไซโคพาธ มักจะมีพฤติกรรมแบบรุนแรง ขาดความสำนึกผิด ขาดความยับยั้งชั่งใจ มีบุคลิกภาพแบบต่อต้านสังคม โดยจะแสดงอาการต่างๆ ดังนี้
- เย็นชา มีพฤติกรรมต่อต้านสังคม
- ไม่มีความรู้สึกผิดเมื่อใช้ความรุนแรงหรือทำร้ายผู้อื่น
- หาเหตุผลเข้าข้างตนเองและโทษคนอื่นเมื่อทำความผิด
- ไม่ปฏิบัติตามกฏหมาย ตามกฎระเบียบของสังคม
- ขาดจิตสำนึก ไม่รู้ว่าอันไหนถูกอันไหนผิด ไม่เกรงกลัวสิ่งใด
- หลงตัวเอง เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จาก โรคหลงตัวเอง แบบทดสอบ
- มักทำพฤติกรรมรุนแรงซ้ำๆ มีพฤติกรรมก้าวร้าว และมีโอกาสที่จะก่ออาชญากรรมได้
- ขาดจิตสำนึกในการแยกผิดชอบชั่วดี ตัดสินว่าสิ่งใดถูกหรือผิดจากผลประโยชน์ของตัวเอง
เกร็ดสุขภาพ : มีกลุ่มโรคที่มีอาการคล้ายคลึงกับไซโคพาธ คือ โซซิโอพาธ (Sociopath) ที่มีลักษณะบุคลิกภาพต่อต้านสังคมคล้ายกัน แต่มีความแตกต่างกันคือ คนที่เป็นโซซิโอพาธยังมีความรู้สึกผิด มีความเห็นอกเห็นใจ และเข้าใจได้ว่าการกระทำของตัวเองนั้นเป็นเรื่องที่ผิด แต่เลือกที่จะไม่สนใจ บางครั้งอาจมีอารมณ์หุนหันพลันแล่น ขาดการวางแผน ในขณะที่คนเป็นไซโคพาธนั้นจะมีการวางแผนมาอย่างดีสำหรับการก่อเหตุอาชญากรรม และคนที่เป็นไซโคพาธนั้นจะไม่มีความสามารถในการรับรู้ความเห็นอกเห็นใจหรือไม่มีจิตสำนึกรู้ถูกรู้ผิดเลย
สาเหตุของการเกิดโรคไซโคพาธ คืออะไร ?
- เกิดจากพันธุกรรมและความผิดปกติของสมอง จากการสแกนสมองพบว่า สมองบางส่วนของคนที่เป็นไซโคพาธเมื่อเทียบกับคนทั่วไปแล้ว มีความแตกต่างกัน ในคนที่เป็นไซโคพาธและก่อเหตุรุนแรงจะมีส่วนสีเทาของสมองส่วนหน้าน้อยกว่าปกติ ซึ่งสมองส่วนนี้เกี่ยวข้องกับการเข้าใจผู้อื่น และเกี่ยวข้องกับการรู้ผิดศีลธรรม นอกจากนี้ คนที่เป็นไซโคพาธยังมีสมองส่วนที่เรียกว่า อะมิกดะลา (Amygdala) เล็กกว่าคนทั่วไปมาก ซึ่งสมองส่วนนี้ เชื่อมโยงกับความรู้สึกกลัวของมนุษย์ ทำให้บุคคลที่เป็นไซโคพาธไม่รู้สึกเกรงกลัว ขาดความรู้สึกเข้าอกเข้าใจผู้อื่น ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี และมีพฤติกรรมรุนแรงได้
- เกิดจากสิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงดู เช่น มีการเลี้ยงดูในวัยเด็กที่ไม่เหมาะสม ถูกเลี้ยงดูอย่างละเลย หรือถูกทารุณกรรมในวัยเด็ก มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว หรือสภาพสังคมรอบตัวที่โหดร้ายรุนแรง ก็อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจ และพัฒนามาเป็นบุคลิกภาพผิดปกติแบบไซโคพาธได้
แบบทดสอบไซโคพาธ จะช่วยให้เรารู้ว่ามีอาการของโรคนี้ได้หรือไม่ ?
นอกจากการประเมินวินิจฉัยทางการแพทย์แล้ว การทำแบบทดสอบไซโคพาธจะทำให้เช็กเบื้องต้นได้ว่า บุคคลนั้นๆ มีแนวโน้มที่จะมีบุคลิกภาพที่ผิดปกติหรือไม่ ซึ่งแบบทดสอบที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายคือ Psychopathy Checklist – Revised (PCL-R) และ Psychopathic Personality Inventory (PPL) โดยมีรายละเอียดดังนี้
- Psychopathic Personality Inventory (PPL) : แบบทดสอบชุดนี้ เป็นการทดสอบว่า บุคคลนั้นๆ มีแนวโน้มที่จะมีบุคลิกภาพแบบไซโคพาธหรือไม่ ซึ่งสามารถทดสอบได้ในบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่อาชญากร หรือไม่ใช่ผู้ป่วยจิตเวช แต่เป็นบุคคลทั่วไปที่ต้องการทดสอบเพื่อหาแนวโน้มการมีบุคลิกภาพผิดปกติแบบไซโคพาธ ฉบับเต็มมีถึง 160 ข้อด้วยกัน แต่สามารถทำแบบทดสอบฉบับย่อเพื่อคัดกรองเบื้องต้นได้ที่เว็บไซต์นี้ค่ะ openpsychometrics.org หรือ psychcentral.com
- Psychopathy Checklist – Revised (PCL-R) : เป็นแบบทดสอบที่ประกอบไปด้วยชุดข้อคำถาม 20 ข้อ เพื่อประเมินว่าบุคคลนั้นๆ มีลักษณะและพฤติกรรมบางอย่างที่อาจบ่งบอกถึงโรคไซโคพาธหรือไม่ พร้อมกับการสัมภาษณ์เพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัย โดยมักใช้กับผู้ต้องหาหรือนักโทษ ควบคู่กับรายงานของตำรวจหรือข้อมูลทางการแพทย์ เพื่อทำนายโอกาสที่จะก่อเหตุกระทำผิดซ้ำ รวมถึงประเมินโอกาสในการรักษาด้วย ซึ่งจะต้องได้รับการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เช่น นักจิตวิทยา จิตแพทย์ เพื่อวัตถุประสงค์ทางคลินิก ทางกฎหมาย หรือการวิจัย แต่ถ้าใครอยากลองดูตัวอย่างข้อคำถาม ก็สามารถดูได้ที่นี่ค่ะ psychology-tools.com
สัญญาณของโรคไซโคพาธ คืออะไร ?
นอกจากแบบทดสอบไซโคพาธจะทำให้เช็กและประเมินได้ว่าบุคคลนั้นๆ มีแนวโน้มที่จะมีบุคลิกภาพผิดปกติหรือเป็นโรคไซโคพาธหรือไม่ ยังมีสัญญาณเตือนที่สามารถสังเกตเห็นได้ โดยสัญญาณของโรคมีดังนี้ค่ะ
- ชอบความตื่นเต้น ต้องการแรงกระตุ้น ด้วยความที่ไร้ความรู้สึกกลัว จึงมักแสวงหากิจกรรมที่มีความตื่นเต้น ผาดโผน เสี่ยงอันตรายอยู่เสมอ
- มีพฤติกรรมชอบโกหก เพื่อให้ตัวเองดูดีและหลุดพ้นจากสถานการณ์ที่ได้ก่อความผิดเอาไว้ และโกหกอย่างต่อเนื่องเพื่อปกปิดความผิดของตัวเอง ทั้งนี้ การโกหกไม่ได้เกิดจากความรู้สึกผิด แต่ต้องการที่จะหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ถูกกดดันหรือปกปิดความจริงนั่นเอง
- เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง กล่าวคือ คิดว่าตัวเองมีความสำคัญและมีสิทธิ์ที่จะทำในสิ่งต่างๆ โดยไม่สนใจกฏเกณฑ์ในสังคม มีความคิดว่าตนสามารถทำสิ่งนั้นได้อย่างชอบธรรม ดำเนินชีวิตตามกฎเกณฑ์ของตัวเอง ไม่เคารพกฎระเบียบและกฏหมาย
- โน้มน้าวใจเก่ง ผู้ที่มีบุคลิกภาพผิดปกติแบบไซโคพาธมักจะเป็นคนที่โน้มน้าวจิตใจคนอื่นได้เก่ง และหว่านล้อมชักชวนให้คนอื่นทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการได้
- ขาดความเห็นอกเห็นใจ คนเป็นไซโคพาธมักจะดูเย็นชา ไร้ความรู้สึก เนื่องจากไม่สามารถเข้าใจอารมณ์กลัว เศร้า หรือวิตกกังวลได้ และไม่สนใจว่าคนอื่นจะรู้สึกทุกข์ใจอย่างไร แม้จะเป็นคนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิทก็ตาม
- มีปัญหาด้านพฤติกรรมตั้งแต่ยังเด็ก เช่น โดดเรียน ใช้ความรุนแรง คดโกง ลักขโมย ใช้สารเสพติด และมักจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
ทั้งนี้ อาการข้างต้น เป็นเพียงสัญญาณหรือข้อสังเกตในบุคคลที่มีแนวโน้มว่าจะมีบุคลิกภาพผิดปกติแบบไซโคพาธเท่านั้น ไม่ได้เป็นการวินิจฉัยทางการแพทย์ และจะต้องมีพฤติกรรมดังกล่าวในแต่ละข้อควบคู่กัน ไม่อาจระบุได้ว่าบุคคลใดที่มีพฤติกรรมเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วจะเป็นไซโคพาธ ทั้งนี้ ต้องมีพฤติกรรมที่ต่อเนื่องกันหรือเป็นลักษณะนิสัย หากเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในระยะเวลาไม่นาน นั่นอาจบ่งบอกถึงปัญหาด้านสุขภาพจิตอื่นๆ ที่นอกเหนือจากโรคไซโคพาธได้เช่นกัน ซึ่งจะต้องไปปรึกษากับแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญต่อไป
เกร็ดสุขภาพ : บุคคลที่มีชื่อเสียงที่เป็นโรคไซโคพาธและก่อเหตุอาชญากรรมรุนแรง ได้แก่ Ted Burndy, Charles Manson, Jack the Ripper อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มียีนไซโคพาธหรือมีความผิดปกติทางสมอง ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีบุคลิกภาพผิดปกติแบบไซโคพาธและก่อเหตุอาชญากรรมรุนแรงทุกคน ในบางคนที่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี มีช่วงชีวิตวัยเด็กที่ดี เติบโตมาในครอบครัวที่อบอุ่น อยู่ในสภาพแวดล้อมสังคมที่ดี ก็ไม่ได้ก่อเหตุรุนแรงหรือมีพฤติกรรมรุนแรงเสี่ยงต่อการก่ออาชญากรรมแต่อย่างใด และสามารถมีชีวิตที่ดี มีหน้าที่การงานที่ดีได้
ไซโคพาธ สามารถรักษาได้หรือไม่ ?
เมื่อเช็กพฤติกรรมบุคคลนั้นๆ ผ่านแบบทดสอบไซโคพาธร่วมกับการประเมินพฤติกรรมว่า มีแนวโน้มที่จะมีบุคลิกภาพผิดปกติ ก็สามารถเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโดยละเอียดหรือปรึกษาแพทย์ได้ ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคไซโคพาธมักไม่รู้ตัวว่าตัวเองมีบุคลิกภาพผิดปกติและเป็นอันตราย จึงต้องอาศัยการสังเกตพฤติกรรมจากคนรอบตัวหรือคนใกล้ชิด และพามาพบจิตแพทย์เพื่อวินิจฉัย ทำการรักษาต่อไป ซึ่งวิธีการรักษามีรายละเอียด ดังนี้ค่ะ
- การรักษาด้วยยา โดยแพทย์จะพิจารณาสั่งยาบางชนิดที่มีฤทธิ์ปรับสารเคมีในสมองหรือรักษาอาการของสมองที่มีความผิดปกติต่างๆ
- รักษาโดยการปรับพฤติกรรม ควบคู่ไปกับการรักษาโดยนักจิตบำบัด ทั้งนี้ การลงโทษ ไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ป่วยไซโคพาธได้ เนื่องจากขาดความรู้สึกและมีภาวะด้านชาทางอารมณ์
จะเห็นได้ว่า ไซโคพาธ เป็นโรคในกลุ่มบุคลิกภาพผิดปกติที่ควรให้ความสำคัญและมีการตรวจสอบ คัดกรองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีอาการที่ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมรุนแรง หรือมีแนวโน้มที่จะก่ออาชญากรรมได้ หากสามารถวินิจฉัยได้เร็วก็จะทำการรักษาได้ทันท่วงที มีการปรับพฤติกรรมให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้โดยไม่ก่อเหตุอันตรายหรือสร้างความเดือดร้อนให้กับตนเองและผู้อื่น และถ้าใครอยากทราบว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดมีแนวโน้มที่จะมีบุคลิกภาพแบบนี้หรือไม่ สามารถเช็กพฤติกรรมได้จากการทำแบบทดสอบข้างต้น ทั้งนี้แบบทดสอบไซโคพาธ เป็นเพียงการคัดกรองเบื้องต้นเท่านั้น การปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ จะทำให้ได้รับการวินิจฉัยได้อย่างละเอียดตรงจุดมากขึ้นค่ะ
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ