“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
ชวนรู้จัก โรค ปริทันต์อักเสบ ละเลยสุขภาพช่องปาก ระวังเหงือกอักเสบรุนแรง
ปัญหาด้านสุขภาพช่องปากนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลยอย่างยิ่ง เพราะแค่เรามีอาการปวดฟัน เหงือกบวม ก็ทำให้กินอาหารไม่อร่อย ทั้งยังสร้างความเจ็บปวดและสร้างความรำคาญให้กับเราอีกด้วย และถ้ามีปัญหาเรื้อรังก็ต้องรักษากันยาวๆ ดังนั้น การดูแลสุขภาพช่องปากให้ดีและการไปพบทันตแพทย์เป็นประจำทุกๆ 6 เดือนนั้นจึงมีความสำคัญมาก เพราะถ้าละเลยและไม่ใส่ใจในเรื่องสุขอนามัยช่องปาก อาจทำให้เกิดโรค ปริทันต์อักเสบ ได้ มารู้จักโรคที่เกี่ยวกับสุขภาพช่องปากโรคนี้กันให้มากขึ้น พร้อมวิธีดูแลรักษา และวิธีป้องกัน จะได้ดูแลตัวเองได้ตั้งแต่เนิ่นๆ กันนะคะ
ละเลยสุขภาพช่องปาก ไม่ไปตรวจฟัน ระวังโรค ปริทันต์อักเสบ !
ตามปกติแล้ว เราควรไปพบหมอฟันทุกๆ 6 เดือนเพื่อปรวจสุขภาพช่องปาก เพื่อให้มีสุขภาพฟันที่ดี และสามารถตรวจเช็คสัญญาณโรคทันตกรรมต่างๆ ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ปัญหาสุขภาพฟันนั้นลุกลาม เพราะเราใช้งานฟันของเราทุกวันในการรับประทานอาหาร รวมถึงการดื่มเครื่องดื่มต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดแบคทีเรียในช่องปากได้ แม้จะแปรงฟันเป็นประจำก็อาจจะมีความสกปรกหลงเหลืออยู่ ทำให้เกิดฟันผุ ต้องรักษารากฟัน รักษาเหงือก เพราะเกิดการอักเสบของเหงือกหรือเป็นโรคปริทันต์อักเสบได้ แต่ก่อนที่จะไปลงลึกว่าโรคปริทันต์ คืออะไร เรามาดูกันก่อนว่า การตรวจฟันนั้น ตรวจอะไรกันบ้าง เพื่อที่คนกลัวการไปพบทันตแพทย์จะได้สบายใจมากขึ้นว่า ถ้าไปตรวจฟัน จะได้ตรวจอะไรบ้สาง ซึ่งไม่ได้น่ากลัวเลยค่ะ การตรวจฟันโดยทั่วไป มีดังนี้
- การตรวจเช็คฟันผุ ดูว่ามีฟันซี่ไหนผุมั้ย และต้องทำการรักษาอย่างไรบ้าง และถ้าหากปล่อยไว้ไม่รักษา จะทำให้ฟันผุจนทำให้รากฟันเสียหายได้เลยทีเดียว
- การตรวจฟันด้วยการ X-ray ซึ่งเป็นการตรวจฟันโดยละเอียด เพื่อดูตำแหน่งบริเวณฟันผุที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และเป็นการป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้ฟันผุไปถึงรากฟันนั่นเอง และยังทำให้เห็นด้วยว่าเรามีฟันคุดที่ต้องผ่าออกด้วยหรือเปล่า จะได้ทำการวางแผนการรักษาต่อไป (อ่านเพิ่มเติม ฟันคุดเป็นแบบไหน)
- การขูดหินปูน เป็นการทำความสะอาดคราบหินปูนบริเวณตามซอกฟัน ที่เกิดจากแบคทีเรียสะสมในน้ำลาย เพราะถ้าปล่อยไว้นานคราบหินปูนจะทำให้เหงือกอักเสบ ฟันโยก มีกลิ่นปาก และมีเลือดออกตามไรฟันได้
ทั้งนี้ ถ้าตรวจฟันแล้วพบว่าไม่ได้มีปัญหาสุขภาพฟันใดๆ ทันตแพทย์ก็จะแนะนำวิธีการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากเพิ่มเติมอยากการสอนวิธีแปรงฟันที่ถูกต้อง การแนะนำให้ใช้ไหมขัดฟัน และนัดมาขูดหินปูนในอีก 6 เดือนถัดไป เป็นต้น แต่เมื่อทันตแพทย์พบปัญหาด้านสุขภาพฟันต่างๆ ก็จะทำการสอบถาม – พูดคุยกับคนไข้เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป ซึ่งก็แล้วแต่กรณีว่าคนไข้มีปัญหาสุขภาพฟันเรื่องใดบ้าง บางคนก็ต้องทำการอุดฟัน ถอนฟัน รักษารากฟัน หรือรักษาโรคปริทันต์อักเสบซึ่งเป็นปัญหาในด้านสุขภาพฟันที่พบได้บ่อยเช่นกัน มารู้จักกับโรคนี้เพิ่มเติมกันค่ะ
เกร็ดสุขภาพ : ใครที่มีสิทธิ์ประกันสังคม สามารถใช้สิทธิรักษาทำฟันได้ในวงเงิน 900 บาทต่อปีโดยไม่ต้องสำรองจ่าย สำหรับการถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และผ่าฟันคุด ซึ่งสามารถใช้สิทธิ์ได้ทั้งในโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชน รวมถึงคลินิกทำฟันอื่นๆ ที่ร่วมรายการ แต่ถ้าหากมีค่าใช้จ่านที่เกินกว่า 900 บาทจะต้องเสียส่วนต่างนั้นด้วยตัวเอง ทั้งนี้ ประกันสังคม ยังสามารถตรวจสุขภาพฟรีได้ด้วยค่ะ (อ่านเพิ่มเติม ตรวจสุขภาพ ประกันสังคม ตรวจอะไรบ้าง)
โรค ปริทันต์อักเสบ คืออะไร ? ร้านแรงมากแค่ไหน ?
โรคที่เกี่ยวกับสุขภาพช่องปากโรคนี้ เป็นโรคที่มีการอักเสบของอวัยวะที่อยู่รอบๆ ตัวฟัน ได้แก่ เหงือก เอ็นยึดปริทันต์ ตัวเคลือบรากฟัน และกระดูกเบ้าฟัน ซึ่งถ้าหากไม่ได้รับการรักษา อวัยวะต่างๆ เหล่านี้จะค่อยๆ ถูกทำลายจนต้องสูญเสียฟันไปในที่สุด เรียกอีกอย่างว่า “โรครำมะนาด” ซึ่งมีความรุนแรงกว่าเหงือกอักเสบธรรมดา เพราะเป็นโรคเรื้อรังที่มีการทำลายเนื้อเยื่อเหงือกและกระดูกเบ้าฟันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสาเหตุในการเกิดโรคปริทันต์ คือ เชื้อแบคทีเรียในช่องปากนั่นเอง ซึ่งอาจเกิดจากการที่เราแปรงฟันไม่สะอาดพอ ทำให้ยังคงหลงเหลือคราบอาหารตกค้างทำให้เกิดการสะสมของแบคทีเรีย ซึ่งแบคทีเรียเหล่านี้จะสร้างสารพิษมาย่อยสารเคลือบฟัน เหงือกและกระดูกเบ้าฟันของเรา ทำให้เกิดเหงือกอักเสบนั่นเอง นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ภูมิต้านทานต่ำ ขาดสารอาหารบางชนิด สูบบุหรี่ หรืออยู่ในภาวะตั้งครรภ์ เป็นต้น
ชวนเช็กสัญญาณของโรคปริทันต์อักเสบ เพื่อสังเกตสุขภาพช่องปากชองตัวเอง
- เหงือกแดงผิดปกติ โดยปกติแล้วเหงือกคนเราจะเป็นสีชมพูอ่อน แต่ถ้ามีการอักเสบเกิดขึ้น เหงือกจะเปลี่ยนเป็นสีแดงซึ่งสามารถสังเกตได้อย่างชัดเจน
- เหงือกเริ่มบวม และรู้สึกปวดเหงือกร่วมด้วย
- มีเลือดออกขณะแปรงฟัน และตอนที่บ้วนปาก รวมถึงรู้สึกว่ามีเลือกออกตามไรฟันตลอดเวลา ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเหงือกกำลังมีปัญหาอย่างรุนแรง
- มีปัญหาเหงือกร่น ทำให้ฟันโยก
- เริ่มมีกลิ่นปาก เนื่องจากมีการสะสมของเชื้อแบคทีเรียเป็นจำนวนมากและทำให้เหงือกอักเสบ ก่อให้เกิดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ตามมาด้วย
ระยะของโรคปริทันต์อักเสบ มีกี่ระยะ ? รู้เอาไว้รักษาได้ทันท่วงที
โรคปริทันต์นั้น อาการจะค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างช้าๆ และมีระยะของโรคอยู่ 5 ระยะด้วยกัน ซึ่งเราสามารถสังเกตอาการเบื้องต้นก่อนได้ จะได้ไปพบทันตแพทย์ได้ทันเวลานะคะ
- ระยะที่ 1 : เหงือกเริ่มอักเสบ เหงือกบวม มีสีแดง มีเลือดออกบริเวณคอฟัน ในบางรายพบว่ากระดูกรองรับรากฟันถูกทำลายด้วย
- ระยะที่ 2 : เป็นระยะต้น กระดูกรองรับรากฟันเริ่มถูกทำลาย แต่ไม่เกิน 1 ใน 3 ซี่ฟัน
- ระยะที่ 3 : เป็นระยะกลาง กระดูกรองรับรากฟันเริ่มถูกทำลายจาก 2 ใน 3 ของซี่ฟัน แต่ยังไม่ถึงปลายราก
- ระยะที่ 4 : เป็นระยะปลาย กระดูกรองรับรากฟันถูกทำลายทั้งซี่จนถึงปลายรากฟัน ทำให้เกิดฝีปลายรากและมีอาการปวดร่วมด้วย ทำให้เหงือกร่น และอาจจะต้องถอนฟัน
- ระยะที่ 5 : เป็นระยะสุดท้าย จะพบว่าฟันเริ่มโยกมากขึ้นเพราะมีการละลายของกระดูกเบ้าฟันจนถึงเกือบปลายรากฟัน โดยแพทย์จะทำการถอนฟันซี่นั้นออก เพื่อป้องกันการติดเชื้อลุกลามไปยังฟันซี่อื่นๆ
เกร็ดสุขภาพ : โรคปริทันต์อักเสบ สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่รักษาปัญหาเหงือกอักเสบตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งการสะสมของแบคทีเรียนั้นจะทำให้กระดูกและเนื้อเยื่อที่รองรับฟันได้รับความเสียหายโดยไม่สามารถคืนสภาพเดิมได้อีก และความเสียหายของเนื้อเยื่อทำให้เหงือกแยกออกจากฟัน ทำให้เกิดช่องว่างหรือร่องขนาดเล็กที่เป็นการสะสมของคราบพลัคและเกิดการติดเชื้อได้ และเมื่อปัญหารุนแรงมากขึ้น กระดูกจะเริ่มกร่อน และถ้าไม่ได้รับการรักษา จะส่งผลทำให้ฟันโยกคลอนได้ ทำให้ฟันหลุดหรือต้องให้ทันตแพทย์ถอนฟันออกไป
โรคปริทันอักเสบ รักษาได้อย่างไร
เมื่อพบว่ามีอาการของโรคปริทันต์ ทันตแพทย์จะเริ่มต้นการรักษาด้วยการขูดหินปูนและเกลารากฟัน เพื่อกำจัดคราบจุลินทีย์และคราบหินปูนที่เกาะบนผิวรากฟันให้สะอาด และหลังจากนั้นประมาณ 4 – 6 สัปดาห์ ทันตแพทย์จะนัดกลับมาดูอาการอีกครั้ง และถ้ามีการละลายของกระดูกไปมาก อาจจำเป็นที่จะต้องผ่าตัดเปิดเหงือกหรือทำการศัลยปริทันต์ (Periodontal Sugary) ร่วมด้วย เพื่อดูการอักเสบที่ลุกลามไปยังรากฟันหรือกระดูกเบ้าฟัน และกำจัดคราบจุลินทรีย์ คราบหินปูนต่างๆ และในบางกรณี สามารถปลูกกระดูกทดแทนได้ และจะต้องดูแลตัวเองด้วยการแปรงฟันเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งเช้าเย็น และหมั่นทำความสะอาดซอกฟันโดยการใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ
ทั้งนี้ โรคปริทันต์ ค่ารักษาก็จะขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค โดยการขูดหินปูนและเกลารากฟันเพื่อรักษาโรคปริทันต์ระยะต้นถึงปานกลาง จะเริ่มต้นที่ 2,000 – 4,000 บาท ถ้าเป็นการอักเสบระยะรุนแรง ค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ 4,000 – 6,000 บาท (ทั้งปาก) และถ้าเป็นการขูดรากฟันโดยการผ่าตัด จะมีค่าใช้จ่ายครั้งละประมาณ 3,000 บาท และค่าผ่าตัดเปิดเหงือกประมาณ 1,500 – 3,000 บาทค่ะ และก็อาจจะมีค่าถอนฟัน ขัดฟัน และค่าบริการอื่นๆ อีกตามแต่คลินิกที่ไปใช้บริการ จะเห็นว่า โรคปริทันต์ ค่ารักษานั้นค่อนข้างมีค่าใช้จ่ายสูงเพราะไม่ได้รักษาเพียงแค่ครั้งเดียว แต่เป็นการรักษาอย่างต่อเนื่องจนกว่าอาการจะดีขึ้นนั่นเอง และยังมีค่าใช้จ่ายในส่วนของการศัลยกรรมเพื่อรักษาโรคปริทันต์ อย่างเช่นการศัลยกกรมแก้ไขเหงือกร่น ศัลยกรรมเพื่อเพิ่มความยาวตัวฟัน การใส่เหงือกปลอม เป็นต้น
โรคปริทันต์ วิธีป้องกันทำได้อย่างไรบ้าง
ตอนนี้หลายๆ คนคงจะเห็นแล้วว่า โรคปริทันต์ ค่ารักษาค่อนข้างมีค่าใช้จ่ายสูง และยังเป็นโรคที่ทำให้เรามีสุขภาพช่องปากและฟันที่ไม่ดีอีกด้วย ทั้งทำให้เกิดการอักเสบของเหงือก ทำให้ฟันโยกหรือหงุดได้เลยทีเดียว หรือในบางกรณีก็ต้องทำการถอนฟัน ทำให้เราสูญเสียฟันซี่นั้นไป ถ้าใครไม่อยากเป็นโรคปริทันต์ วิธีป้องกันคือ ใส่ใจและให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพช่องปากของตนเองด้วยการหมั่นดูแลทำความสะอาดฟันและช่องปากเป็นประจำ แปรงฟันให้ถูกวิธี และใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดฟันร่วมด้วย รวมถึงการไม่สูบบุหรี่ ไม่กินอาหารรสหวานบ่อยๆ เพราะน้ำตาลทำให้เกิดฟันผุได้ง่าย และหมั่นไปพบทันตแพทย์เป็นประจำ จะได้ตรวจเช็กสุขภาพฟันอย่างต่อเนื่องค่ะ และถ้าใครที่มีอาการปวดฟันบ่อยๆ จะใช้สมุนไพรแก้ปวดฟัน ข่อย เพื่อใช้บรรเทาอาการปวดฟันก็ได้เหมือนกัน
ตอนนี้ก็ได้รู้แล้วว่า โรคปริทันต์อักเสบคืออะไร และมีอาการอย่างไรบ้าง จะได้หมั่นสังเกตสุขภาพวะช่องปากอยู่เป็นประจำ เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้น เช่น เหงือกมีสีแดง เหงือกบวม รู้สึกปวดเหงือก มีกลิ่นปาก ให้รีบไปพบทันตแพทย์โดยทันที เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของโรคได้ ซึ่งโรคปริทันต์ วิธีป้องกันคือ ควรไปพบทันตแพทย์เป็นประจำเพื่อทำการตรวจเช็กสุขภาพช่องปาก เมื่อพบอาการที่ิดปกติจะได้รักษาได้ทันท่วงที ทั้งนี้ เราควรดูแลตัวเองด้วยการแปรงฟันอย่างถูกวิธีและแปรงฟันให้สะอาดเป็นประจำทุกวัน อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ร่วมกับการใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดฟันของเรา งดการสูบบุหรี่และการกินอาหารหวาน เพื่อไม่ให้ฟันผุได้ง่าย ทั้งนี้ ควรไปขูดหินปูนอย่างเป็นประจำ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคปริทันต์อักเสบได้นะคะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : nhs.uk, petcharavejhospital.com, dt.mahidol.ac.th, si.mahidol.ac.th, mayoclinic.org
Featured Image Credit : freepik.com/Racool_studio
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ