“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
แพ้ยาคลายกล้ามเนื้อ ต้องทำยังไง ? มาดูอาการ และวิธีปฐมพยาบาลกัน !
เวลาที่เรามีอาการปวดคอหรือปวดหลัง หรือปวดกล้ามเนื้อบริเวณต่างๆ แพทย์จะพิจารณาให้ยาแก้ปวดก่อน เช่น อะเซตามิโนเฟน (ไทลินอล) หรือไอบูโพรเฟน เพื่อรักษาอาการปวด แต่หากอาการไม่หายหรือคุณกินยาไม่ได้เพราะมีปัญหาเกี่ยวกับตับหรือแผลในกระเพาะ แพทย์ถึงจะเปลี่ยนเป็นยาคลายกล้ามเนื้อแทน ซึ่งยาคลายกล้ามเนื้อจะเหมาะสำหรับอาการเฉียบพลันมากกว่าอาการปวดเรื้อรัง หากกินในปริมาณตามที่ระบุก็จะปลอดภัย แต่ในขณะเดียวกันก็อาจไม่ปลอดภัยกับบางคนที่มีอาการ “แพ้ยาคลายกล้ามเนื้อ” ได้ บทความวันนี้เราจะมาอธิบายเกี่ยวกับการแพ้ยาคลายกล้ามเนื้อว่าเป็นยังไง มีอาการอะไรบ้าง รวมถึงวิธีรักษา และปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยค่ะ
ชวนรู้ ! แพ้ยาคลายกล้ามเนื้อ ต้องทำยังไง ? ปฐมพยาบาลอย่างไรจึงจะปลอดภัย
ไม่ว่าคุณจะมีอาการบาดเจ็บใหม่หรืออาการบาดเจ็บเก่าที่กำเริบ อาการตึงและเจ็บที่คอและหลังในตอนกลางคืนอาจทำให้นอนหลับไม่สนิทและปวดมากขึ้นในตอนเช้า การใช้ยาคลายกล้ามเนื้อจะช่วยบรรเทาอาการปวดนี้ และช่วยให้อาการปวดคอและหลังเฉียบพลันดีขึ้นได้ แต่ยาคลายกล้ามเนื้อบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงที่ร้ายแรง เช่น ความเสียหายของตับ ส่วนผลข้างเคียงทั่วๆ ไปที่พบคือ มีความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าหรือง่วงนอน มีอาการอ่อนเพลียหรืออ่อนแรง เวียนหัว ปากแห้ง มีภาวะซึมเศร้า และความดันโลหิตลดลง ส่วนอาการที่หนักกว่านี้อาจเป็นการแพ้ยาคลายกล้ามเนื้อได้ ซึ่งอาการแพ้ยาคลายกล้ามเนื้อที่ควรไปพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการนั้น มีดังนี้
- มีไข้สูง
- มีผดผื่นแดง หรือคันตามร่างกาย
- มีอาการเวียนหัว หรือเป็นลมหมดสติ
- มองเห็นภาพซ้อน มองไม่ชัด ภาพเบลอ
- หน้า ปาก ลิ้น หรือแขนขาบวม
- แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หัวใจเต้นผิดปกติ
- มีอาการสับสน มึนงง
- มีอาการชัก
สาเหตุของการ แพ้ยาคลายกล้ามเนื้อ
การแพ้ยานั้นเกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อต้านยาที่ได้รับเข้าไป เนื่องจากร่างกายไม่สามารถรับสารนั้นๆ ได้ และระบุว่ายานั้นเป็นสารอันตราย ภูมิคุ้มกันจึงพัฒนาแอนติบอดี้จำเพาะสำหรับยานั้น ทำให้เกิดปฏิกริยาต่างๆ แสดงออกมาทางร่างกายหรือผิวหนัง เช่น มีอาการผื่นแพ้จากอาการสัมผัส หรือมีอาการหน้าบวม ซึ่งการแพ้ยาไม่ว่าจะเป็นยาอะไรนั้นจะมีตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงขั้นรุนแรง และอาจทำให้เสียชีวิตได้ เพราะฉะนั้น การแพ้ยาคลายกล้ามเนื้อหากมีอาการที่รุนแรงจากการแพ้ยา ให้รีบไปพบแพทย์ทันที และแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาแนวทางในการรักษา ซึ่งการแพ้ยานั้นอาจเกิดขึ้นได้ในครั้งแรกที่คุณกินยาคลายกล้ามเนื้อ หรืออาจเกิดขึ้นหลังจากที่ได้กินยาซ้ำๆ หรือภายใน 12 ชั่วโมง
เกร็ดสุขภาพ : ยาคลายกล้ามเนื้อไม่ควรใช้ในสตรีมีครรภ์ และผู้หญิงที่กำลังให้นมบุตร เพราะอาจส่งผลให้มดลูกไม่บีบตัวและทำให้คลอดยาก ส่วนหญิงที่ให้นมบุตรนั้น ตัวยาจะไปส่งผลต่อน้ำนม และส่งผลกระทบถึงตัวทารกนั่นเอง
วิธีรักษาเมื่อ แพ้ยาคลายกล้ามเนื้อ
วิธีรักษาอาการแพ้ยานั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ซึ่งจะแตกต่างจากวิธีแก้อาการสะอึกที่เราสามารถแก้ไขเองได้ หากแพทย์ระบุว่าคุณมีอาการแพ้ยา ขั้นตอนแรกในการรักษาคือแพทย์จะให้คุณหยุดใช้ยานั้น และอาจเปลี่ยนเป็นยาตัวอื่นให้แทน หรือหากมีอาการทางผิวหนัง แพทย์จะให้ยาทาแก้แพ้มาทาผิวเพื่อรักษาอาการผื่นแพ้จากยาค่ะ
วิธีการปฐมพยาบาล
หากมีอาการแพ้ยาคลายกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง ให้หยุดกินยาคลายกล้ามเนื้อทันที ถ้าไปโรงพยาบาลได้ให้รีบไปโรงพยาบาล แต่หากอาการรุนแรงจนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ให้คนใกล้ชิดรีบโทรแจ้งเหตุฉุกเฉินทันที และพยายามนอนราบ ยกขาขึ้นจากพื้นประมาณ 12 นิ้ว ถ้ามีการอาเจียนหรือมีเลือดออก ให้นอนตะแคงและปลดเสื้อผ้าให้หลวม จะได้หายใจได้สะดวกขึ้นค่ะ จากนั้นรอรถฉุกเฉินเพื่อไปยังโรงพยาบาลต่อไป
การป้องกัน
หากคุณมีประวัติแพ้ยา การป้องกันที่ดีที่สุดคือหลีกเลี่ยงยาที่มีปัญหา โดยแจ้งกับแพทย์ก่อนจ่ายยาเสมอ เพื่อให้แพทย์พิจารณายาชนิดอื่นทดแทน เพื่อหลีกเลี่ยงอาการแพ้ยาที่อาจขึ้นอีกได้
ข้อควรระวังในการใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ
สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้มีอาการแพ้ยา ก็มีข้อควรระวังในการใช้ยาคลายกล้ามเนื้อเช่นกัน เนื่องจากยาคลายกล้ามเนื้อจะส่งผลให้คิดและทำช้าลง จึงควรกินยาและนอนหลับเพื่อพักผ่อน ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในขณะที่กินยาคลายกล้ามเนื้อ แม้ว่าคุณจะกินยาในปริมาณน้อยก็ตาม เพราะการผสมผสานกับแอลกอฮอล์สามารถเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ นอกจากนี้ไม่ควรขับรถหรือใช้เครื่องจักรกลขณะกินยาคลายกล้ามเนื้อ เพราะยาคลายกล้ามเนื้อส่วนใหญ่ออกฤทธิ์กับระบบประสาท ส่งผลให้ร่างกายรู้สึกง่วงซึม อ่อนเพลีย และยาคลายกล้ามเนื้อบางชนิดเริ่มทำงานภายใน 30 นาทีหลังจากกินเข้าไป และจะคงอยู่นาน 4 ถึง 6 ชั่วโมง
เกร็ดสุขภาพ : ยาคลายกล้ามเนื้ออาจทำให้ติดได้สำหรับบางคน การกินเองโดยไม่มีใบสั่งยาหรือกินปริมาณมากกว่าที่แพทย์แนะนำ สามารถเพิ่มโอกาสในการเสพติดได้ นอกจากนี้ยังส่งผลเสียต่อการทำงานของตับและไตในร่างกายอีกด้วย จึงควรใช้ยาอย่างระมัดระวัง
เมื่อคุณมีอาการปวดเมื่อยจนไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาแก้ปวดทั่วไป การใช้ยาคลายกล้ามเนื้อจึงเป็นตัวเลือกถัดไปที่จะช่วยรักษาอาการปวดแบบเฉียบพลันได้ แต่ทั้งนี้ก็ควรใช้อย่างระมัดระวัง และไม่ควรซื้อยามากินเอง เพื่อให้แพทย์พิจารณาว่าคุณควรใช้ยาตัวไหน และควรกินปริมาณเท่าไหร่ ถึงจะปลอดภัยและเหมาะสม ซึ่งหากคุณมีการแพ้ยาคลายกล้ามเนื้อเกิดขึ้น ให้รีบหยุดกินยานั้นทันทีและไปพบแพทย์นะคะ นอกจากนี้หากคุณมีอาการอื่นๆ นอกเหนือไปจากในบทความนี้ เช่น มีอาการลิ้นแตก ร้อนใน สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์ของเราเพื่อรู้ถึงวิธีรักษาและวิธีป้องกันค่ะ
อ้างอิงแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม : hellokhunmor.com, pobpad.com, doctorraksa.com, spine-health.com, webmd.com
featured image credit : freepik.com/jcomp
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ