X

ผักพื้นบ้าน 10 ชนิด มีอะไรบ้าง ? มารู้จักผักพื้นบ้านกินอร่อยทั้ง 4 ภาคกัน !

เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡

ผักพื้นบ้าน 10 ชนิด มีอะไรบ้าง ? มารู้จักผักพื้นบ้านกินอร่อยทั้ง 4 ภาคกัน !

ทุกคนทราบกันดีว่าการกินผักนั้นดีต่อสุขภาพ แต่ถ้าหากกินผักที่มียาฆ่าแมลงหรือมีสารพิษเจือปน ก็อาจก่อให้เกิดโทษได้ เราจึงควรกินผักตามฤดูกาล หรือกินผักที่ปลูกได้ตามท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการได้รับสารพิษอย่างเช่นปุ๋ยเคมีหรือยาฆ่าแมลงได้ เพราะการกินผักนอกฤดูกาลอาจเสี่ยงต่อการได้รับปุ๋ยเร่งโตหรือสารเคมีอื่นๆ ทั้งนี้ ผักที่ปลูกได้ตามท้องถิ่นหรือที่เรียกกันว่าผักพื้นบ้าน ก็มีประโยชน์ไม่แพ้กันเลยทีเดียว และในประเทศไทยทั้ง 4 ภาคก็มีผักพื้นบ้านต่างๆ ที่น่าสนใจหลายชนิด เราเลยจะขอหยิบยก ผักพื้นบ้าน 10 ชนิด มาเป็นตัวอย่างให้ครอบคลุมทั้ง 4 ภาค จะมีผักชนิดใดบ้าง มีประโยชน์มากขนาดไหน ไปดูกันเลยค่ะ

ชวนรู้จัก ผักพื้นบ้าน 10 ชนิด ! กินอร่อย ได้ประโยชน์มากมาย

ผักพื้นบ้าน คือ พืชพรรณพื้นบ้านในท้องถิ่นที่คนในพื้นที่นิยมนำมาทำอาหารและบริโภคกันเป็นประจำ สามารถพบเจอได้ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง โดยมีปัจจัยด้านภูมิประเทศและภูมิอากาศที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตของผักชนิดนั้นๆ ผักพื้นบ้านบางชนิดสามารถนำมาทำเป็นยารักษาโรคหรือใช้เป็นยาสมุนไพรได้ด้วย ทั้งยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูง หารับประทานได้ง่าย แล้วผักพื้นบ้าน 4 ภาคของไทย จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ

1. ผักพื้นบ้านภาคเหนือ

ผักพื้นบ้าน 10 ชนิด, ผักพื้นบ้าน 4 ภาค
Image Credit : dailynews.co.th
  • ผักปลัง : ผักพื้นบ้าน 10 ชนิดที่อยากจะแนะนำกันเป็นอันกับแรกก็คือ ผักปลัง ซึ่งเป็นผักประจำท้องถิ่นเมืองเหนือ ผักปลังมีใยอาหาร แคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก วิตามินเอ วิตามินบี 1 บี 2 วิตามินซี และไนอะซิน ทั้งยังมีสรรพคุณช่วยเพิ่มพรีไบโอติกให้กับร่างกาย ช่วยในเรื่องการขับถ่าย มีฤทธิ์กำจัดสารพิษ ช่วยลดความดันโลหิต ทั้งยังสามารถรักษาโรคกระเพาะได้อีกด้วย เมูผักปลังก็ได้แก่ เจียวผักปลัง (แกงจืดผักปลัง) ผักปลังผัดน้ำมันหอย ยำผักปลัง เป็นต้น
  • ผักเสี้ยว : ผักเสี้ยว หรือเสี้ยวดอกแดง มีใบสีเขียวอ่อน รูปทรงใบคล้ายปีกผีเสื้อ ในผักเสี้ยวมีแร่ธาตุวิตามินหลายชนิด ทั้งแคลเซียม วิตามินเอ วิตามินบี 1 บี 2 วิตามินซี และไนอะซิน ผักเสี้ยวเป็นผักพื้นบ้านที่ชาวเหนือนิยมรับประทานกันอย่างแพร่หลาย โดยจะนำเอายอดใบอ่อนมาแกงใส่ปลาย่าง หรือแกงกับเนื้อ นำมาทำเป็นผักลวกจิ้มน้ำพริก ช่วยให้เจริญอาหาร และยังเชื่อกันว่าเป็นอาหารบำรุงร่างกายได้ดีอีกด้วย
ผักพื้นบ้าน 10 ชนิด, ผักพื้นบ้าน 4 ภาค
Image Credit : training-nakhonnayok.cdd.go.th
  • ผักกูด : สำหรับคนเหนือที่รู้จักกันดีคือ ผักกูด ผักกูดเป็นพืชในตระกูลเฟิร์นที่สามารถรับประทานได้ ส่วนที่นำมาทำอาหารก็คือส่วนก้านใหม่ที่โผล่ขึ้นมาจากลำต้น ในผักกูดมีแคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก ทั้งยังอุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินบี 1 บี 2 และมีวิตามินบี 3 ค่อนข้างสูง มีเบต้าแคโรทีนที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีสรรพคุณช่วยบำรุงโลหิต ช่วยบำรุงสายตา ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด และช่วยลดความดันโลหิตด้วย ซึ่งเราสามารถนำเอาผักกูดมาทำอาหารได้หลากหลายประเภท ทั้งผักกูดผัดน้ำมันหอย ยำผักกูด แกงส้มผักกูด แกงจืดผักกูดหมูสับ เป็นต้น ทั้งนี้ ไม่ควรรับประทานผักกูดแบบดิบๆ เนื่องจากผักกูดมีสารออกซาเลตในปริมาณสูง อาจทำให้ไตอักเสบและเป็นนิ่วได้

เกร็ดสุขภาพ : ผักพื้นบ้าน 4 ภาคอย่างผักกูด สามารถใช้เป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อมได้ หากบริเวณไหนมีสภาพอากาศไม่ดี หรือดินไม่บริสุทธิ์ มีสารเคมีเจือปน ผักกูดจะไม่เจริญเติบโตหรือแตกต้นในบริเวณนั้น เพราะผักกูดจะขึ้นเฉพาะในพื้นที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ มีดินสมบูรณ์และไม่มีสารเคมีเจือปนเท่านั้น

2. ผักพื้นบ้านภาคอีสาน

ผักพื้นบ้าน 10 ชนิด, ผักพื้นบ้าน 4 ภาค
Image Credit : esan108.com
  • ผักเสี้ยน : ผักพื้นบ้าน 4 ภาค ประจำภาคอีสานที่หลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินชื่อมาบ้างคือ ผักเสี้ยน โดยมักจะพบตามท้องไร่ท้องนา ที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป และพบได้บริเวณริมลำธาร นิยมเอาผักเสี้ยนมาทำเป็นผักดอง เรียกว่าส้มผักเสี้ยนเพื่อเอาไว้รับประทานกับน้ำพริก หรือนำไปแกงใส่กระดูกหมู นำไปทำแกงส้ม เป็นต้น ผักเสี้ยนดองเป็นอาหารที่เหมาะกับผู้ที่ขาดสารอาหาร เช่น ขาดวิตามินเอ เป็นโรคโลหิตจาง หรือมีปัญหาเรื่องระบบลำไส้ เนื่องจากมีใยอาหารสูงและช่วยขจัดสิ่งตกค้างในลำไส้ได้เป็นอย่างดี 
  • ผักติ้ว : ผักติ้ว หรือ ผักแต้ว เป็นผักพื้นบ้านที่นิยมรับประทานยอดอ่อนและใบ และใช้เปลือกไม้เป็นสีย้อมผ้าหรือใช้ทำเป็นถ่าน ผักติ้วอุดมไปด้วยแคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก เบต้าแคโรทีน วิตามินเอ วิตามินบี 1 บี 2 ไนอะซิน และวิตามินซี ยอดผักติ้วมีรสชาติเปรี้ยว นิยมกินเป็นผักแกล้มเมนูต่างๆ เช่น ลาบ ก้อย น้ำตก แจ่ว น้ำพริก หรือนำมาใส่แกงให้มีรสเปรี้ยว ใช้ผัดกับผักชนิดอื่นๆ เพื่อเพิ่มรสชาติก็ได้เช่นกัน
ผักพื้นบ้าน 10 ชนิด, ผักพื้นบ้าน 4 ภาค
Image Credit : esan108.com
  • ผักแขยง : ผักแขยง หรือผักกะแยง เป็นผักพื้นบ้าน 10 ชนิดประจำภาคอีสาน ซึ่งจัดเป็นวัชพืชในนาข้าวที่สามารถรับประทานได้ มีรสเผ็ดร้อนและมีกลิ่นหอมฉุน ช่วยให้เจริญอาหาร เป็นยาขับลม ทั้งยังมีสรรพคุณเป็นยาระบายอ่อนๆ สามารถใช้ผังแขยงสดๆ นำมาต้มกับน้ำกินเพื่อลดไข้ได้ด้วย ที่สำคัญคือ มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง จึงช่วยต้านมะเร็งและช่วยต้านการเจริญเติบโตของเชื้อโรคได้ นิยมรับประทานผักแขยงสดๆ แกล้มกับลาบ แจ่ว น้ำพริก ส้มตำ ซุปหน่อไม้ หรือนำไปใส่ในแกงเพื่อดับกลิ่นคาว

เกร็ดสุขภาพ : น้ำมันหอมระเหยจากผักแขยงมีฤทธิ์ต่อต้านจุลินทรีย์ จึงมีการนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ ทั้งนี้ น้ำมันหอมระเหยของผักแขยงยังมีคุณสมบัติเป็นยาฆ่าแมลงในกลุ่มที่ทำลายผลไม้อีกด้วย และสารสกัดจากผักแขยงสามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มักจะปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์นม รวมถึงเนื้อสัตว์และไข่ไก่ ซึ่งทำให้เกิดอาหารเป็นพิษได้

3. ผักพื้นบ้านภาคกลาง

  • มะรุม : ผักพื้นบ้าน 10 ชนิดที่เคยได้ยินชื่อกันบ่อยๆ ก็คือ มะรุม เนื่องจากเคยมีข่าวว่า มีการนำมะรุมมาใช้รักษาโรคต่างๆ มากมาย ทั้งรับประทานแบบสด แบบแห้งเป็นแคปซูล หรือในรูปของสารสกัด มะรุมมีฤทธิ์ช่วยลดความดันโลหิต ต้านการเกิดเนื้องอก ช่วยต้านมะเร็ง ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ป้องกันตับอักเสบ ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น นิยมเอามาทำอาหารเป็นเมนูแกงมะรุม แกงส้มมะรุม ไข่เจียวใบมะรุม ต้มจืดยอดมะรุม ทั้งนี้ โทษของมะรุมก็มีเช่นกัน ผู้ที่เป็นโรคตับ ควรเลี่ยงการกินมะรุม รวมถึงสตรีมีครรภ์ไม่ควรกินมะรุม เพราะอาจทำให้เกิดพิษและเกิดการแท้งได้ และผู้ที่เป็นโรคเลือดก็ไม่ควรกินมะรุม เพราะจะทำให้เม็ดเลือดแดงแตกได้ง่าย
ผักพื้นบ้าน 10 ชนิด, ผักพื้นบ้าน 4 ภาค
Image Credit : technologychaoban.com
  • ใบชะพลู : ผักพื้นบ้าน 4 ภาค สำหรับภาคกลางอีกหนึ่งชนิดที่อยากแนะนำก็คือ ใบชะพลู ใบชะพลูมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย โดยเฉพาะวิตามินเอและแคลเซียม จัดเป็นผักที่มีแคลเซียมสูง และยังมีธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส คลอโรฟิลล์ และไฟเบอร์ มีสรรพคุณช่วยต้านอนุมูลอิสระ มีฤทธิ์เผ็ดร้อน ช่วยให้เจริญอาหารมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ใบชะพลูยังมีเบต้าแคโรทีนสูงมาก ช่วยบำรุงสายตา มีส่วนช่วยในการมองเห็น ป้องกันโรคตาบอดตอนกลางคืน แก้โรคตาฟาง ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน ทั้งยังช่วยในการขับถ่ายเพราะมีใยอาหารสูง สามารถกินได้ทั้งแบบสดหรือเอาไปทำอาหาร เช่น ไข่เจียวใบชะพลู แกงคั่วใบชะพลู หมูห่อใบชะพลู ยำตะไคร้ใบชะพลู เป็นต้น ทั้งนี้ หากรับประทานในปริมาณมากหรือรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน แคลเซียมในใบชะพลูจะเปลี่ยนเป็นแคลเซียมออกซาเลต ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดนิ่วในไตได้ จึงควรดื่มน้ำมากๆ ให้สารชนิดนี้เจือจางลง และขับออกมาทางปัสสาวะ

4. ผักพื้นบ้านภาคใต้

ผักพื้นบ้าน 10 ชนิด, ผักพื้นบ้าน 4 ภาค
Image Credit : morkeaw.net
  • ใบเหลียง : ผักพื้นบ้าน 4 ภาค ทางภาคใต้ที่หลายๆ คนน่าจะรู้จักก็คือ ใบเหลียง หรือผักเหมียง ผักเมี่ยง เป็นผักที่มีรสชาติดี ไม่มีรสขม ปราศจากกลิ่น มีใยอาหารสูง โดยผักเหลียง 100 กรัม มีใยอาหารมากถึง 8.8 กรัม มีแร่ธาตุวิตามินหลายชนิด ทั้งแคลเซียม ฟอสฟอรัส ไนอะซิน วิตามินเอ วิตามินบี 1 บี 2 มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายประการ ทั้งช่วยบำรุงสายตา บำรุงหัวใจ ช่วยป้องกันมะเร็ง แก้ร้อนใน กระหายน้ำ เป็นต้น ปัจจุบันใบเหลียงได้รับความนิยมมากขึ้น จัดเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง สามารถเอามาทำเมนูได้หลากหลาย เช่น ใบเหลียงผัดไข่ ใบเหลียงทอดกรอบ ใบเหลียงต้มกะทิกุ้งสด ใบเหลียงผัดกะปิ หรือเอามาลวกจิ้มน้ำพริก เป็นต้น
  • สะตอ : ผักพื้นบ้าน 10 ชนิด ชนิดสุดท้ายก็คือ สะตอนั่นเองค่ะ สะตอมีถิ่นกำเนิดมาจากทางภาคใต้ของไทย แม้จะมีกลิ่นฉุนเฉพาะตัวที่บางคนอาจจะไม่ชอบ แต่ก็เป็นผักพื้นบ้านที่มีประโยชน์มากมาย สะตอมีฤทธิ์ช่วยขับลมในลำไส้ ช่วยลดน้ำตาลในเลือด ป้องกันเบาหวาน มีใยอาหารสูง ช่วยในการขับถ่าย ลดอาการท้องผูก ทั้งยังสามารถเอามาทำอาหารได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำพริกสะตอเผา สะตอผัดกะปิกุ้งสด สะตอผัดน้ำพริกเผา แกงกะทิสะตอหน่อไม้ดง แกงส้มรม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เป็นโรคเก๊าท์ไม่ควรรับประทาน เพราะมีกรดยูริกสูง อาจทำให้ข้ออักเสบและปวดบวมได้

และนี่ก็เป็นผักพื้นบ้าน 10 ชนิด ครอบคลุมทั้ง 4 ภาค ซึ่งมีผักพื้นบ้านอื่นๆ อีกมากมายหลายชนิด การรับประทานผักพื้นบ้านนั้นมีประโยชน์ทั้งในด้านความสะดวก เพราะหาซื้อรับประทานได้ง่าย และบางชนิดก็เป็นผักที่ขึ้นตามธรรมชาติ จึงมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยว่าปลอดสารพิษและยาฆ่าแมลง ซึ่งการเลือกซื้อผักพื้นบ้านจากคนในท้องถิ่นนั้น ยังเป็นการกระจายรายได้ให้กับคนในชุมชนอีกด้วยนะคะ และไม่ว่าจะเป็นผักพื้นบ้านหรือผักชนิดอื่นๆ ก็ดีต่อร่างกาย ประโยชน์ของการกินผักนั้นมีมากมาย หันมากินผักเพื่อสุขภาพกันเยอะๆ นะคะ

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : rspg.or.th, pharmacy.mahidol.ac.th, opsmoac.go.th, hrdi.or.th, technologychaoban.com

Featured Image Credit : freepik.com

ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ

ติดต่อโฆษณา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้การวิเคราะห์

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

Save