“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง มีจริงเหรอ ? ชวนรู้จัก Imposter Syndrome ทำดีเท่าไหร่ก็ยังคิดว่าตัวเองดีไม่พอเสียที !
“เรายังไม่ดีพอ” “เราทำได้มากกว่านี้” “เรายังพยายามไม่มากพอ” “นี่ไม่ใช่เพราะความสามารถของเราหรอก เป็นเพราะโชคช่วยเท่านั้นแหละ” “เราไม่คู่ควรกับสิ่งดีๆ ที่ได้รับเลย” ถ้าใครที่กำลังมีความคิดแบบนี้กับตัวเองอยู่แทบจะตลอดเวลา แทบจะทุกสถานการณ์ ขอบอกว่านี่ไม่ใช่ความคิดของคนทั่วไป แต่คุณกำลังอาจมีภาวะ Imposter Syndrome หรือ โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง อยู่ก็ได้ ถ้าใครที่ไม่เคยได้ยินชื่อโรคนี้มาก่อน ก็อาจจะกำลังสงสัยว่า โรคนี้มีอยู่จริงเหรอ ? มีคนที่คิดว่าตัวเองไม่เก่งจนเป็นโรคได้ด้วยเหรอ ? คำตอบก็คือ มีค่ะ และไม่ใช่คนที่มีความถ่อมตัวหรือปฏิเสธคำชมแต่อย่างใด แต่เป็นคนที่รู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งและดีไม่พอจริงๆ จนทำให้เกิดปัญหาสุขภาพใจได้ เรามาทำความรู้จักกับโรคนี้กันให้มากขึ้นดีกว่า เพื่อที่จะได้รู้ว่า มีอาการเป็นอย่างไร และส่งผลเสียอย่างไรบ้าง
โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง เป็นอย่างไร ? มีอยู่จริงหรือไม่
โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง หรือ Imposter Syndrome คือภาวะทางใจชนิดหนึ่ง พบได้ตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงในวัยผู้ใหญ่ และมักพบได้มากที่สุดในช่วงอายุ 25 – 45 ปี ซึ่งเป็นวัยทำงานที่กำลังสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต และมีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้ได้เพราะกดดันตัวเอง คิดว่าตัวเองยังไม่ดีพอ ไม่สำเร็จมากพอ โดยผู้ที่เป็นโรคนี้จะไม่มั่นใจในความสามารถของตัวเองและชอบตั้งคำถามกับความสำเร็จที่ตัวเองได้รับ เป็นคนที่ตั้งมาตรฐานไว้สูงมาก และพยายามทำงานให้หนักขึ้น กดดันตัวเองมากขึ้น ทั้งในการทำงานและการใช้ชีวิต ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจได้ เช่น ทำให้มีความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำลง (Low Self Esteem) และอาจนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้าได้ด้วย
การค้นพบของโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง เกิดขึ้นในปี 1978 โดยนักจิตวิทยา 2 ท่านคือ Suzanne Imes และ Pauline Rose Clance ได้ศึกษาปรากฏการณ์ในกลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จ แต่ลึกๆ แล้วมีความรู้สึกว่าตนเองไม่คู่ควรกับความสำเร็จเหล่านั้น และคิดว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากโชคช่วยหรือความช่วยเหลือจากคนอื่น ไม่ใช่เพราะความสามารถของตนเอง และคิดว่าตัวเองด้อยประสิทธิภาพ มาเจาะลึกกันให้มากขึ้นว่า โรคนี้มีอาการอย่างไร มีสาเหตุเกิดจากอะไร และมีวิธีแก้ไข ปรับปรุงตัวเองอย่างไรบ้าง มาดูกันเลยค่ะ
เกร็ดสุขภาพ : Impostor Syndrome ไม่ได้ถูกจัดว่าเป็นโรคทางจิตเวช หรือเป็นบุคลิกภาพผิดปกติ แต่เป็นภาวะหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจ เกิดความเครียด และส่งผลต่อการใช้ชีวิตในหลายๆ ด้าน เช่น ด้านความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง การทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการทำงาน ซึ่งส่งผลให้ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ความกดดันตัวเองและสงสัยในความสามารถ – คุณค่าของตัวเองอยู่ตลอดเวลา ทำให้ชีวิตไม่มีความสุขได้
อาการของโรคที่คิดว่าตัวเองไม่เก่ง
- ประเมินความสามารถของตัวเองด้อยกว่าความเป็นจริง
- คิดว่าความสำเร็จของตัวเองมาจากปัจจัยภายนอก เช่น เป็นเพราะโชคช่วย เป็นเพราะบังเอิญ หรือเป็นเพราะคนอื่น
- คิดว่าตัวเองไม่คู่ควรกับความสำเร็จ แม้จะได้รับคำชม ได้รับรางวัลก็ตาม ก็มักจะยกความดีความชอบให้กับปัจจัยภายนอกมากกว่าการมองว่าตัวเองมีความสามารถและมีศักยภาพ
- คิดว่าความสำเร็จเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็สามารถทำได้ เลยไม่ชื่นชมในความสำเร็จของตัวเอง
- ไม่มั่นใจในศักยภาพของตัวเองและสงสัยในความสามารถของตัวเองอยู่บ่อยครั้ง มักคิดว่าตัวเองยังไม่เก่งพอ ยังไม่ดีพอ ยังไม่มีความสามารถมากพอ
- หากเกิดข้อผิดพลาดขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย จะรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไม่เก่งและไร้ความสามารถทันที
ใครบ้างที่เสี่ยงเป็น โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง
ความจริงแล้ว โรคนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่มักจะเกิดกับคนที่มีความสำเร็จในระดับสูง คนที่มีความรับชอบสูง หรือเป็นเด็กจบใหม่ รวมถึงคนที่ผ่านการย้ายสถานที่ทำงานบ่อยๆ ก็อาจจะเกิดความสงสัยในความรู้ความสามารถของตัวเองได้ และแม้แต่คนดังระดับโลก ก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้เช่นกัน มาดูกันว่า คนกลุ่มไหนบ้างที่เสี่ยงเป็นโรคที่คิดว่าตัวเองไม่เก่งบ้าง
1. คนที่เป็น Perfectionism หรือมีนิสัยรักความสมบูรณ์แบบ
คนที่มีความเป็น Perfectionist มักจะตั้งมาตรฐานกับตัวเองเอาไว้สูงมาก และคาดว่าตัวเองจะต้องประสบความสำเร็จในทุกเรื่อง และถ้าไม่สำเร็จ จะคิดว่าตัวเองไม่เก่งหรือไม่มีความสามารถทันที
2. คนที่เป็นคนเก่ง
แม้จะฟังดูประหลาดอยู่สักหน่อย แต่เชื่อหรือไม่ว่า คนเป็นโรคที่คิดว่าตัวเองไม่เก่ง ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นคนที่ดูเก่ง ดูมีความสามารถในสายตาคนอื่น แต่ในสายตัวเอง กลับมองว่านี่เป็นเรื่องธรรมดา และใครๆ ก็มีความสามารถแบบนี้ได้ ทำให้ตัวเองคิดว่าดีไม่พอ และต้องพยายามให้มากขึ้นอีกนั่นเอง
3. คนที่ชอบทำอะไรคนเดียว
คนที่ชอบทำอะไรคนเดียวหรือชอบฉายเดี่ยว มักมีความเชื่อว่าตัวเองสามารถจัดการทุกอย่างได้ และไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากใครเพราะเกรงใจ และอีกอย่างคือ มีความคิดที่ว่า ถ้าได้รับความช่วยเหลือจากคนอื่น นั่นหมายความว่าเราไม่มีความสามารถมากพอ และรู้สึกว่าตนเองล้มเหลว
4. คนที่มีความเชี่ยวชาญในสายงานนั้นมากๆ
น่าแปลกที่คนที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาใดสาขาหนึ่ง หรือมีความรู้ในสายงานนั้นมากๆ ก็มีโอกาสจะเป็นโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่งได้ เพราะเมื่อเกิดเหตการณ์ที่ไม่สามารถอธิบายหรือไม่สามารถหาคำตอบได้ ก็จะคิดว่าตัวเองเก่งไม่จริง ไม่มีความเชี่ยวชาญในสิ่งนั้นจริงๆ และสงสัยว่าที่ผ่านมานั้น ตนเองมีความสามารถจริงๆ หรือเปล่า
5. คนที่เป็นยอดมนุษย์หรือเป็น Hero ของคนรอบข้าง
ในบางคนที่มีความสามารถหรือมีศักยภาพสูง สามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ในทุกเรื่อง ก็มักจะเป็นคนที่ทำงานหนัก หรือทุ่มเทให้กับทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต ต้องทำทุกอย่างให้สุดความสามารถ เต็มที่กับทุกคน และเมื่อมีเหตุการณ์ที่ตัวเองไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ หรือไม่เป็นไปตามที่หวัง ก็จะคิดว่าตัวเองไม่พยายามมากพอ คิดว่าน่าจะทำได้มากกว่านี้ เป็นต้น
สาเหตุที่ทำให้มีภาวะ Imposter Syndrome คืออะไร
คนที่มีภาวะ Imposter Syndrome หรือโรคที่คิดว่าตัวเองไม่เก่ง อาจมีสาเหตุอยู่หลายประการด้วยกัน เช่น
- สภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดูในวัยเด็ก ซึ่งอาจถูกกดดันให้ต้องเรียนเก่ง ถูกดุด่าหรือถูกวิพากษ์วิจารณ์จากพ่อแม่บ่อยๆ และมีพ่อแม่ที่เข้มงวดทำให้รู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง ถ้าไม่ทำตามที่พ่อแม่ต้องการก็จะถูกตำหนิว่าเป็นคนไม่เก่ง เป็นต้น
- บุคลิกภาพส่วนตัว อาทิ เป็นคนที่นิยมความสมบูรณ์แบบ ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง หรือมีปัญหาในการรับรู้ความสามารถของตัวเอง (Self – Efficacy) หรือเป็นคนที่ชอบโทษตัวเอง มีความสงสัยในตัวเอง (Self – Doubt) ตั้งมาตรฐานกับตัวเองไว้สูง ไม่พอใจในตัวเอง เป็นต้น
- ปัญหาในด้านสุขภาพจิต เช่น ผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลหรือเป็นโรคซึมเศร้า ก็อาจจะทำให้สภาพจิตใจไม่มั่นคง และไม่มั่นใจในตัวเอง ด้อยค่าตัวเอง สงสัยในคุณค่าของตัวเอง และกังวลว่าคนอื่นจะมองตัวเองไม่ดี ไม่มีความสามารถ ไม่มีศักยภาพ
- การได้รับบทบาทใหม่ๆ ในชีวิต เช่น ได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง ได้งานใหม่ หรือได้โอกาสทางการศึกษาใหม่ๆ ก็อาจจะเกิดความวิตกกังวลใจ รู้สึกไม่มั่นใจ และพัฒนาไปเป็นความความรู้สึกที่คิดว่าตัวเองไม่เก่ง ไม่คู่ควรกับตำแหน่งนี้ หรือคิดว่าคนอื่นจะเก่งกว่าเรา เราจะเป็นที่โหล่ของห้อง เป็นต้น ซึ่งความรู้สึกนี้อาจค่อยๆ หายไปเมื่อเริ่มปรับตัวได้ และคุ้นเคยกับบทบาทหน้าที่นั้นๆ มากขึ้น
เกร็ดสุขภาพ : การเกิดThe Role of Bias เช่น การมีอคติทางเพศ เชื้อชาติ ก็ทำให้เกิดภาวะ Impostor Syndrome ได้เช่นกัน อย่างในสมัยก่อนที่ผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงผิวสีจะต้องพิสูจน์ตนเองว่าตนเองเป็นคนเก่ง มีความสามารถ และทุ่มเทพยายาม เอาจริงเอาจัง เพื่อให้ได้รับการยอมรับในสังคม ซึ่งในคนที่มีอคติต่อเพศ เชื้อชาติ ก็อาจทำให้ผู้ถูกปฏิบัติมองว่าตนเองยังไม่ดีพอหรือไม่มีความสามารถมากพอได้เช่นกัน
รับมือกับโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่งอย่างไรดี ? ถึงจะเป็นคนที่ดีพอสำหรับตัวเอง
ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้ และใครที่กำลังคิดว่าตัวเองเข้าข่ายเป็นโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง และกำลังกังวลใจว่าสามารถปรับปรุงตัวเองหรือมีวิธีทำให้อาการเหล่านี้ดีขึ้นได้อย่างไรอยู่ละก็ ไม่ต้องกังวลใจหรือเครียดไปค่ะ มีวิธีดูแลตัวเองแล้วก็รับมือกับอาการคิดว่าตัวเองไม่เก่งอยู่เหมือนกัน ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้
- มองตัวเองในด้านบวกมากขึ้น มีการพัฒนาจิตใจตัวเอง โดยเริ่มจากการมองเห็นข้อดีของตัวเอง คิดถึงสิ่งดีๆ ที่ตัวเองทำ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งดีๆ เล็กๆน้อยๆ หรือยิ่งใหญ่ที่เราทำให้กับตัวเองหรือทำให้กับผู้อื่นก็ได้เหมือนกัน ซึ่งจะทำให้เรากลับมาเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น เกิดการยอมรับตัวเอง มีความภูมิใจในตัวเองมากขึ้น และตระหนักรู้ได้ว่า เราเองก็เป็นคนเก่งเหมือนกัน
- ประเมินความสามารถของตัวเองตามความเป็นจริง เช่น มองเห็นความสำเร็จในสิ่งที่ตัวเองทำตามมาตรฐานของการทำงาน และอาจจะขอ Feedback จากหัวหน้างานหรือจากเพื่อนร่วมงาน โดยประเมินตามเกณฑ์การทำงานของบริษัท จะได้ไม่เกิดการลำเอียงหรือเกิดอคติขึ้น
- หยุดเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ทุกคนมีข้อดีหรือมีจุดเด่นแตกต่างกันไป และแต่ละคนก็มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ทั้งยังมีบทบาทหน้าที่ มีเงื่อนไขในชีวิตที่ไม่เหมือนกัน การเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นจะทำให้รู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า และรู้สึกว่าตนเองไม่ดีเท่ากับคนอื่น
- พูดคุยกับคนใกล้ชิด ซึ่งจะทำให้เรารู้สึกสบายใจมากขึ้น และอาจเป็นการได้รับกำลังใจหรือได้รับการซับพอร์ตจากคนรอบข้างด้วย ทำให้เรามีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น
- เล่นโซเชียลมีเดียแต่พอดี การเล่นโซเชียลมีเดียมากเกินไปจะทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองไม่มีชีวิตที่หรูหราเหมือนคนที่มีชื่อเสียงหรือเป็นคนเด่นดังในโซเชียลมีเดีย ทำให้รู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อยและดีไม่พอ ยิ่งเสพชีวิตดีๆ ของคนอื่นๆ ในโซเชียล (ซึ่งอาจจะไม่เป็นความจริงก็ได้) ก็จะยิ่งทำให้รู้สึกลบกับตัวเองมากขึ้น
- ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักจิตวิทยา เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับความคิด ความรู้สึกของตัวเอง ก็จะเข้าใจตัวเองมากขึ้น และรู้สาเหตุว่า โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่งเกิดจากอะไรกันแน่ เพื่อที่จะได้แก้ไขให้ตรงจุด และปรับปรุงความคิด พฤติกรรมของตนเองให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
- มี Self Care คือ ดูแลตัวเองแบบองค์รวมทั้งกายและใจ บาลานซ์ชีวิตให้สมดุลในทุกด้าน ก็อาจจะทำให้เรามีมุมมองที่ดีกับตัวเองมากชึ้น เห็นคุณค่าตัวเองมากขึ้นและมีความสุขมากขึ้นค่ะ
แม้โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง หรือ Imposter Syndrome คือภาวะที่ไม่ใช่โรคทางจิตเวชหรือไม่ใช่ความผิดปกติทางบุคลิกภาพที่จะต้องทำการรักษาทางจิตเวชก็ตาม แต่การมีอาการของโรคนี้ก็สร้างความทุกข์ใจกับผู้ที่กำลังเป็นอยู่ไม่น้อย เพราะทำดีมากเท่าไหร่ ก็ยังคิดว่าตัวเองดีไม่พอเสียที แม้ว่าจะดูเป็นคนที่เก่งและดูมีความสามารถมากๆ ในสายตาคนอื่นแล้วก็ตาม อย่าลืมว่า เราไม่จำเป็นจะต้องเก่งที่สุด หรือดีที่สุด หรือสมบูรณ์แบบมากที่สุด และคนเราย่อมมีข้อบกพร่อง มีข้อผิดพลาดด้วยกันทั้งนั้น แต่อย่างไรก็ตาม แม้เราจะเป็นคนที่มีข้อบกพร่อง มีข้อผิดพลาด หรือเป็นคนที่ไม่ได้เก่งมาก เราก็ยังมีคุณค่าในตัวเองอยู่เสมอ ขอให้เรามีความเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่กดดันตัวเองจนเกินไป และถ้าอยากจะเป็นคนที่เก่งขึ้น ก็ค่อยๆ พัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ แบบไม่ต้องไปแข่งกับใคร ซึ่งอาจจะทำให้เราใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขมากขึ้น และเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้นได้ค่ะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : healthline.com, themuse.com, verywellmind.com
Featured Image Credit : pexels.com/Karolina Grabowska
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ