“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
Immunotherapy คือ อะไร ? ชวนรู้จัก ภูมิคุ้มกันบำบัด อีกหนึ่งวิธีในการรักษามะเร็ง
โรคมะเร็งถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทยในปัจจุบัน และมีแนวโน้มว่าจะมีอัตราการเกิดโรคสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถิติพบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ 139,206 คนต่อปี และมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง 84,073 คนต่อปี (สถิติจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ, 2564) โดยมะเร็งที่พบมาก 5 อันดับแรกในไทย ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอดและหลอดลม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม (อ่านเพิ่มเติม ระยะมะเร็งเต้านม) และมะเร็งปากมดลูก ถึงแม้ว่าจะดูแลตัวเองเป็นอย่างดีแล้ว ก็มีโอกาสที่จะเกิดโรคได้เนื่องด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นแล้วก็ต้องรักษาโรคไปตามอาการ ปัจจุบันมีวิธีรักษาโรคมะเร็งที่รู้จักกันเป็นอย่างดีคือ การผ่าตัด การฉายแสงหรือรังสีบำบัด หรือการให้เคมีบำบัดที่เรียกกันว่า ทำคีโม และมีวิธีใหม่ที่เพิ่งรู้จักกันได้ไม่นาน เรียกว่า Immunotherapy คือ การรักษาโรคมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด ในบทความนี้ จะชวนไปรู้จักกับวิธีการรักษามะเร็งแบบภูมิคุ้มกันบำบัดกันให้มากขึ้นว่า สามารถทำได้อย่างไร เหมาะกับใคร และต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
Immunotherapy คือ อะไร ? ชวนรู้จัก ภูมิคุ้มกันบำบัดกันให้มากขึ้น
วิธีรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด หรือ Immunotherapy คือ เทคโนโลยีทางการแพทย์สำหรับการรักษาโรคมะเร็งโดยอาศัยหลักการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน กล่าวคือ เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันจะถูกกระตุ้นให้ทำงานโดยการกำจัดสิ่งแปลกปลอมนั้นออกไป ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้สามารถกำจัดเซลล์มะเร็ง หรือควบคุมเซลล์มะเร็งในร่างกายได้ เนื่องจากมะเร็งบางชนิดเกิดจากความผิดปกติของเซลล์ และเม็ดเลือดขาวในร่างกายเราที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน ก็จะกำจัดสิ่งแปลกปลอมที่มีความแตกต่างได้
แต่ในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง เซลล์มะเร็งก็จะมีการพัฒนาตัวเองและแข็งแรงมากขึ้น สามารถหลบหลีกการตรวจกับสิ่งแปลกปลอมของเม็ดเลือดขาวได้ ซึ่งการใช้วิธีภูมิคุ้มกันบำบัดจะทำให้เม็ดเลือดขาวมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถตรวจจับสิ่งแปลกปลอมเช่น เซลล์มะเร็ง และกำจัดออกจากร่างกายได้
Immunotherapy มีกี่ประเภท
Immunotherapy คือ ภูมิคุ้มกันบำบัดที่นิยมนำมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็งนั้น แบ่งออกเป็น 5 ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกัน ซึ่งแบ่งตามการระบบทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกัน ดังนี้
1. Monoclonal Antibodies
โมโนโคลนอลแอนติบอดี เป็นวิธีการให้โปรตีนสังเคราะห์เลียนแบบสารภูมิต้านทานที่เป็นโปรตีนของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งสารภูมิต้านทานนี้จะได้รับการการพัฒนาให้มีความจำเพาะต่อการออกฤทธิ์กับมะเร็งชนิดนั้น และสารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดีตัวนี้ จะเข้าไปควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง หรือควบคุมการสังเคราะห์โปรตีนในเซลล์มะเร็งได้
2. Immune Checkpoint Inhibitors
วิธียับยั้งการทำงานที่อิมมูนเช็คพอยต์ ซึ่งมีกลไกการทำงานคือ การให้ยาเพื่อเข้าไปยับยั้งระบบควบคุมและสั่งการการทำลายเซลล์แปลกปลอม หรือหยุดการทำลายเซลล์ของร่างกาย (Immune Checkpoint) เพราะจะมีบางกรณีที่เซลล์มะเร็งอาศัยในร่างกายโดยการซ่อนตัวจากการถูกทำงายโดยเซลล์เม็ดเลือดขาว ยากลุ่มนี้จะได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายสามารถตรวจจับเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้น
3. Cancer Vaccines
หรือวัคซีนโรคมะเร็งนั่นเอง เป็นหนึ่งในวิธี Immunotherapy คือ ภูมิคุ้มกันบำบัดที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ได้แก่ การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก หรือฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งตับ ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้สามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้ หรือป้องกันให้ร่างกายปลอดภัยจากมะเร็งได้นั่นเอง
เกร็ดสุขภาพ : องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้มีการรับรองวัคซีนสองชนิดที่ใช้ป้องกันมะเร็ง ได้แก่ วัคซีนไวรัสตับอีกเสบบี ซึ่งทำให้เกิดมะเร็งตับหากมีการติดเชื้อแบบเรื้อรัง และวัคซีนป้องการการติดเชื่อ Human Papillomavirus สายพันธ์ุ 16 และ 18 ซึ่งสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งปากมดลูกถึง 70% โดยการฉีดวัคซีน HPV สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ และวัควีนจะมีประสิทธิภาพสูงหากฉีดในวัยที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน โดยสามารถฉีดได้ทั้งหญิงและชาย
4. Non-specific Immunotherapies
ภูมิคุ้มกันบำบัดแบบไม่จำเพาะ เป็นการให้ยาสารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดีที่ไม่จำเพาะเจาะจง และมักใช้พร้อมกับการรักษาด้วยวิธีการอื่นๆ เช่น การใช้เคมีบำบัดหรือรังสีวิทยา ซึ่งยาที่ให้กับผู้ป่วยจะเข้าไปเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันและเพิ่มภูมิต้านทานของร่างกายในการทำลายเซลล์มะเร็ง ซึ่งจะไม่ออกฤทธิ์จำเพาะต่อมะเร็งโดยตรง แต่เป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายโดยทั่วไป เพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานต่อเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
5. T – cell Therapy
ภูมิคุ้มกันบำบัดโดยใช้ T – Cell บำบัด โดยการนำ T – Cell จากร่างกายของผู้ป่วยเองไปดัดแปลงให้มีความจำเพาะและสามารถต่อสู้กับเซลล์มะเร็งในร่างกายได้ดียิ่งขึ้น จากนั้นทำการฉีด T – Cell เข้าสู่ร่างกาย เพื่อให้โจมตีและทำลายเซลล์มะเร็งได้ดียิ่งขึ้น
เกร็ดสุขภาพ : การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด จะเป็นการกระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการใช้ยา ซึ่งมีผลข้างเคียงน้อยกว่าการรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีอื่นๆ แต่การรักษาด้วยการใช้เคมีบำบัด จะเป็นการทำลายทั้งเซลล์ปกติ และกำจัดเซลล์มะเร็ง ซึ่งการรักษาแบบนี้จะเป็นการรักษาเฉพาะบุคคล โดยผู้ป่วยจะได้รับยาเคมีบำบัดชนิดที่ต่างกันตามความเหมาะสมของอาการ
ภูมิคุ้มกันบำบัด สามารถรักษามะเร็งชนิดใดได้บ้าง
การรักษาโรคมะเร็งแบบ Immunotherapy คือภูมิคุ้มกัดบำบัด สามารถรักษาโรงมะเร็งชนิดต่างๆ ดังนี้
- มะเร็งผิวหนังเมลาโนมาระยะลุกลาม
- มะเร็งปอดบางชนิด
- มะเร็งไตที่ดื้อต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น
- มะเร็งศีรษะและลำคอที่ดื้อต่อเคมีบำบัด เช่น มะเร็งลำคอชนิด Squamous Cell
- มะเร็งในกระเพาะปัสสาวะที่ดื้อต่อเคมีบำบัด
- มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Hodgkin (Classical Hodgkin Lymphoma)
วิธีรักษามะเร็งแบบภูมิคุ้มกันบำบัด มีผลค้างเคียงอย่างไร
การรักษามะเร็งด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัดนั้น ก็มีผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยเช่นเดียวกัน เช่น มีไข้ ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน มีแผลในช่องปาก ลำไส้อักเสบ ไทรอยด์ทำงานผิดปกติ เป็นต้น ซึ่งถ้าหากร่างกายตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันบำบัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลข้างเคียงเหล่านี้ก็จะบรรเทาลง และอาการดีขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคมะเร็งแบบภูมิคุ้มกันบำบัดหรือ Immunotherapy คือวิธีรักษามะเร็งที่ยังมีความใหม่และความเฉพาะเจาะจง ซึ่งผู้ป่วยจะต้องเข้ารับคำปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางและตรวจร่างกายอย่างละเอียดกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นกรณีรายบุคคล
ผู้ป่วย และผู้ดูแล ควรเตรียมความพร้อมสำหรับการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดอย่างไร ?
เมื่อปรึกษากับแพทย์แล้วตกลงว่าจะรักษาด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัด ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ประจำตัวเกี่ยวกับประวัติการรักษาทั้งหมด หากเคยมีโรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อตัวเอง เคยปลูกถ่ายอวัยวะหรือสเต็มเซลล์ มีปัญหาด้านการหายใจ มีปัญหาโรคตับ กำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนตั้งครรถ์ กำลังให้นมลูก หรือกำลังรักษาอาการติดเชื้อใดๆ อยู่ เป็นต้น หรือมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับร่างกาย เช่น ใบหน้าบวม เป็นลมพิษ หายใจลำบาก ตัวเหลือง ตาเหลือง กล้ามเนื้ออ่อนแรงขั้นรุนแรง ชาหรือเสียวที่ปลายมือปลายเท้า ซึ่งจะต้องแจ้งให้แพทย์ทราบละเอียด เพราะอาจมีผลต่อการรักษาได้
นอกจากนี้ หากทำการรักษาไปแล้ว ควรดูแลตัวเองเรื่องสุขภาพโดยรวม ทั้งอาหารการกิน หรือถ้าเคยให้คีโมอาจจะต้องเลือกกินอาหารเพิ่มเม็ดเลือดขาว คีโม หรือปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับโภชนาการและการดูแลตัวเองว่าควรปฏิบัติตนอย่างไรระหว่างการรักษา เพื่อที่จะได้ทำการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยสรุปแล้ว ภูมิคุ้มกันบำบัด หรือ Immunotherapy คือวิทยาการทางการแพทย์ที่มีความก้าวหน้าซึ่งจะยกระดับการรักษา ให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีการคาดการณ์อาการของโรคที่ดีขึ้น และมีระยะเวลาปลอดโรคได้ยาวนานขึ้น มีผลข้างเคียงน้อยกว่าการรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีอื่นๆ ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ป่วยในการต่อสู้กับมะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : cancerresearch.org, bumrungrad.com, samitivejhospitals.com, cancer.gov
Featured Image Credit : freepik.com/kjpargeter
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ