“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
โรคความจำดี มีจริงหรือ ? ชวนรู้จักโรค Hyperthymesia เหมือนจะมีข้อดี แต่ไม่ได้ดีอย่างที่คิด !
ถ้าพูดถึงโรคที่เกี่ยวกับความจำ หลายๆ คนอาจจะนึกถึงโรคที่ส่งผลให้ความทรงจำถูกบิดเบือนหรือลบเลือนหายไป เช่น โรคสมองเสื่อมอย่างอัลไซเมอร์ หรือพาร์กินสัน ที่ส่งผลทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถจดจำรายละเอียดเกี่ยวกับตนเองหรือคนใกล้ชิดได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีโรคเกี่ยวกับความจำที่ทำให้ผู้ป่วยมี “ความจำดี” มากกว่าคนอื่นๆ ทั่วไป ซึ่งก็คือโรค Hyperthymesia หรือโรคความจำดีนั่นเอง อย่างไรก็ตาม โรคนี้เป็นโรคที่มีมานานแล้วแต่ไม่ได้พบบ่อยนัก ถ้าได้ยินแค่ชื่อโรค บางคนอาจจะมองว่า เป็นข้อดี เพราะจะได้จำแม่นยำ มีความจำยอดเยี่ยม แต่ความจริงแล้ว ภาวะโรคนี้ก็ส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวันอยู่เหมือนกัน เรามารู้จักกับโรคความจำดีให้มากขึ้นกันค่ะ
ชวรรู้จักโรค Hyperthymesia โรคความจำดี ที่อาจสร้างความทรมานให้กับผู้ที่เป็นได้
Hyperthymesia, Hyperthymestic Syndrome or Highly Superior Autobiographical Memory (HSAM) หรือ โรคไฮเปอร์ธีมีเซีย แปลเป็นชื่อภาษาไทยว่า “โรคความจำดี” เป็นโรคที่สมองมีหน่วยความจำมากกว่าคนปกติทั่วไป ทำให้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้สามารถจดจำรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องราวประสบการณ์ในชีวิตได้อย่างมากมาย ซึ่งสามารถจดจำรายละเอียดในชีวิตของตัวเองได้ตั้งแต่ยังเด็ก สามารถจำได้ว่ามีเหตุการณ์อะไรบ้างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และไม่ว่าจะผ่านไปเป็นปี ก็ยังสามารถจดจำเรื่องราวเหล่านั้นได้ และเล่าออกมาได้โดยไม่มีผิดเพี้ยนอีกด้วย คล้ายกับว่าเหตุการณ์นั้นๆ เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน แม้ว่าจะผ่านมาหลายปีแล้วก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเห็นภาพถ่ายในวันนั้นๆ ก็จะสามารถเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวข้องหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี ทั้งช่วงวันที่ สถานที่ สีเสื้อผ้าที่ใส่ และบุคคลที่มีส่วนข้องกับเหตุการณ์นั้นๆ เป็นต้น
โรคความจำดี ถูกค้นพบเมื่อมีผู้หญิงคนหนึ่งที่ชื่อว่า Jill Price ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้โดยนักประสาทวิทยาจาก University of California, Irvine เนื่องจากเธอมีความสามารถในการจดจำรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่พบเห็น รวมถึงเรื่องในอดีตและประวัติของตนเองในช่วงตอนเด็กได้เป็นอย่างดี ซึ่งเมื่อทำการตรวจสอบดูก็พบว่า มีโครงสร้างสมองบางส่วนที่มีความแตกต่างจากคนทั่วไป จึงได้มีการศึกษาโรคนี้กันอย่างกว้างขวางมากขึ้น
ข้อสังเกต โรค Hyperthymesia และหน่วยความจำที่เกี่ยวข้อง
ขึ้นชื่อว่าเป็นโรคความจำดี แต่ก็ใช่ว่าจะจดจำได้ทุกประการ เนื่องจากประเภทหน่วยความจำของมนุษย์เรานั้นแบ่งออกเป็นหลายส่วน สำหรับโรคความจำดีนั้น หน่วยความจำที่เกี่ยวข้องกับโรคนี้คือ หน่วยความจำระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งจะทำงานได้ดีกว่าบุคคลทั่วไป ทำให้จำสิ่งต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทั่วๆ ไปอย่างสีเสื้อสีใส่เมื่อวาน อาหารที่กิน รวมถึงเหตุการณ์สำคัญในชีวิต เช่น วันรับปริญญา วันรวมญาติของครอบครัว วันแต่งงาน เป็นต้น และหน่วยความจำอีกส่วนหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับโรคนี้ก็คือ หน่วยความจำด้านชีวประวัติ อันหมายถึงเรื่องราวส่วนตัวของคนนั้นๆ เช่น สังคมที่โรงเรียน เหตุการณ์ในชีวิตตอนเป็นเด็ก บุคคลที่พบเจอเมื่อช่วง 10 ปีก่อน ซึ่งคนที่เป็นโรคความจำดี จะจำเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับตัวเองได้อย่างแม่นยำ
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความสามารถในการจดจำเรื่องราวต่างๆ ในอดีตได้ดี แต่สำหรับผู้ที่เป็นโรคไฮเปอร์ธีซีเมียบางราย ความจำในส่วนอื่นๆ นั้นก็เป็นไปอย่างปกติ และไม่ได้มีความพิเศษกว่าบุคคลทั่วไป เช่น ความจำในเรื่องของการท่องจำอย่างการท่องข้อมูลหรือท่องหนังสือเรียน หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับผู้อื่น ก็ไม่สามารถจำได้ดีเช่นเดียวกับเรื่องราวของตัวเอง เนื่องจากโรคนี้ จะมีความจำดีในเชิงภาพเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเองเพียงเท่านั้น
เกร็ดสุขภาพ : มนุษย์เรายังมีประเภทหน่วยความจำที่น่าสนใจอีก 2 ประการคือ 1) หน่วยความจำที่ใช้ตัวช่วยจำ ซึ่งเป็นการจดจำที่ผูกโยงกับสิ่งอื่นๆ เช่น การจำตัวอักษรเป็นทำนองเพลงของเด็กๆ หรือจำข้อมูลต่างๆ เป็นบทกลอน เป็นเนื้อเพลง อันจะทำให้มนุษย์เราสามารถจดจำข้อมูลนั้นได้ง่ายขึ้น และ 2) ความจำแบบหลอดไฟ ซึ่งมักจะจดจำจากเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนทางความรู้สึก อาทิ ประสบอุบัติเหตุจมน้ำหรือตกน้ำ ซึ่งจะทำให้เราเกิดการจดจำภาพของน้ำ เมื่อเห็นแม่น้ำ เรือ หรือสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ก็จะทำให้เกิดความรู้สึกหวาดกลัว ตื่นตระหนก หรือมีอาการเหม่อลอย เป็นต้น
สาเหตุของการเกิดโรคความจำดี
- ปัจจัยทางชีววิทยา ได้มีการศึกษาว่า โรคความจำดี อาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยทางด้านกายภาพ เนื่องจากมีบางส่วนของสมองแตกต่างออกไป เช่น ในส่วนของอะมิกดาลา เป็นต้น
- ปัจจัยทางด้านพันธุกรรม ซึ่งเป็นการสันนิษฐานและกำลังอยู่ในช่วงทำการวิจัย เนื่องจากมีผู้ที่ป่วยเป็นโรค Hyperthymesia เพียง 61 คนทั่วโลก (สถิติล่าสุดจาก Jamaica Hospital Medicak Center) ทำให้มีการศึกษาวิจัยในจำนวนน้อยมาก และจะต้องทำการศึกษาต่อไปในอนาคต
- ปัจจัยทางด้านจิตวิทยา ซึ่งมีทฤษฎีว่า ผู้ที่ป่วยเป็นโรคความจำดีนั้น อาจมีความคิดหมกมุ่นเกี่ยวกับประสบการณ์บางอย่างของตนเอง ซึ่งการคิดถึงเหตุการณ์นั้นๆ อยู่เสมอจะส่งผลให้จดจำเหตุการณ์นั้นได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ทำให้มีภาวะ Hyperthymesia ได้
เกร็ดสุขภาพ : ในทางการแพทย์สามารถวินิจฉัยโรคความจำดีได้ด้วยการตรวจโดยเครื่อง MRI เพื่อดูภาวะ Hyperactivity ในสมองบางส่วน ร่วมกับการทำแบบทดสอบด้านความจำ หรือการทดสอบหน่วยความจำที่ซับซ้อน การประเมินหน่วยความจำด้านชีวประวัติ ร่วมกับการทำแบบทดสอบ Autobiographical Memory Assessment เพื่อประเมินความสามารถในการจดจำของบุคคลนั้นๆ
ผลกระทบทางสุขภาพของผู้ที่มีภาวะ “ความจำดี” เกินไป
อย่างที่กล่าวไปว่า ผู้ที่เป็นโรคความจำดีจะจดจำเรื่องราวในชีวิตของตัวเองได้ดี ตั้งแต่ในวัยเด็กจนถึงปัจจุบัน และยังเป็นการจดจำรายละเอียดของเหตุการณ์คล้ายกับการมองเห็นภาพนั้นๆ ได้อย่างชัดเจน ซึ่งถ้าเป็นความทรงจำที่เป็นเรื่องดีๆ แล้วก็อาจจะทำให้บุคคลนั้นรู้สึกดีและมีความสุขเมื่อระลึกถึงเหตุการณ์นั้นได้อย่างต่อเนื่อง แต่ในทางกลับกัน หากเป็นเหตุการณ์ร้ายๆ หรือเป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนจิตใจ ก็จะสามารถจดจำได้อย่างแม่นยำและไม่สามารถลืมเหตุการณ์นั้นๆ ได้เช่นเดียวกัน ทั้งยังไม่สามารถบิดเบือนหรือลบความทรงจำที่ไม่ดีนั้นๆ ออกไปได้ด้วย เนื่องจากสมองสามารถจดจำทุกรายละเอียดได้เป็นอย่างดีนั่นเอง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้
ทั้งนี้ ผู้ที่ป่วยเป็นโรความจำดีมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาทางด้านสุขภาพจิตและรู้สึกปวดหัว รู้สึกเหนื่อยอยู่บ่อยๆ อันเนื่องมาจากการที่สมองจดจำสิ่งต่างๆ ได้ดีเกินไป ทำให้สมองมีการใช้งานอย่างหนัก และส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย สุขภาพใจได้ และอาจจะต้องมีการพูดคุยกับจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักจิตบำบัด ในการบริหารจัดการความคิด ความรู้สึกและอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำนั้นๆ ด้วย
การมีความจำดีที่มากเกินไป อาจไม่ได้เป็นข้อดีเสมอไป ซึ่งคนที่เป็นโรคความจำดี หรือไฮเปอร์ธีมีเซียนั้น จะต้องมีวิธีการจัดการกับระบบความคิดความจำของตนเอง เพื่อไม่ให้ความทรงจำบางอย่างนั้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะถ้าเป็นความทรงจำที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ การระลึกถึงเหตุการณ์นั้นได้อยู่บ่อยๆ ก็อาจส่งผลต่อสุขภาพจิตได้ และสำหรับบุคคลทั่วไปที่อยากมีความจำดี โดยเฉพาะผู้สูงอายุ การรับประทานอาหารบำรุงสมอง ผู้สูงอายุ ร่วมกับการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ฝึกสมองด้วยการเล่นเกมเพิ่มทักษะด้านความคิดความจำ และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ส่งผลต่อสุขภาพ เช่น การดื่มแอลกอออล์ การใช้สารเสพติดที่มีฤทธิ์ทำลายสมอง ก็จะช่วยให้เรามีความจำที่ดีได้แล้วค่ะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : jamaicahospital.org, healthline.com, bbc.com, medicalnewstoday.com
Featured Image Credit : freepik.com/DCStudio
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ