“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
แชร์ วิธีขับเสมหะ จากคอและปอด ทำยังไงให้หายใจสะดวก ?!
เมื่อคนเรามีอาการป่วยไข้ไม่สบาย เช่น เป็นไข้หวัด นอกจากอาการ ไอ จาม มีไข้
วิงเวียนศีรษะ และมีน้ำมูกแล้ว ยังมีเสมหะอยู่ในลำคอและในปอดอีกด้วย โดยปกติแล้ว ร่างกายจะสร้างเสมหะขึ้นเมื่อเจอสิ่งแปลงปลอมหรือทำให้ระคายเคือง เช่น ฝุ่น เกษรดอกไม้ หรือเชื้อโรคต่างๆ ซึ่งร่างกายจะสร้างสารคัดหลั่งหรือมูกออกมา เมื่อมูกในจมูกไหลลงคอ หรือค้างอยู่ที่คอ ก็จะกลายเป็นเสมหะ นอกจากนี้ สารคัดหลั่งหรือมูกที่ร่างกายสร้างขึ้นยังอยู่ตรงบริเวณปาก คอ จมูก ไซนัส และปอดด้วย แต่ที่ทำให้เราหายใจไม่ออกหรือหายใจลำบากคือ เสมหะบริเวณคอและปอด จนต้องหา วิธีขับเสมหะ ออกมา เพื่อที่จะได้หายใจสะดวกขึ้น
หากมีเสมหะในโพรงจมูกก็จะทำให้เกิดอาการคัดจมูก หายใจไม่สะดวก หากเสมหะบริเวณจมูกไหลลงมาที่คอก็จะทำให้มีอาการไอ และหากมีเสมหะอยู่ในปอดก็จะทำให้ไอมากขึ้น โดยเฉพาะเวลานอน เนื่องจากมีเสมหะขังอยู่ในปอด ทำให้อากาศไม่สามารถเข้าไปถึงผนังถุงลมได้ ทำให้หายใจลำบาก หากมีการคั่งค้างของเสมหะ และร่างกายไม่สามารถขับเสมหะออกจากร่างกายได้ จะทำให้หลอดลมอุดตัน มีออกซิเจนในเลือดต่ำ ร่วมด้วยกับอาการเหนื่อยง่าย หน้ามืด หัวใจทำงานหนักมากขึ้น อาจถึงขั้นปอดอักเสบ ปอดแฟบ เราถึงต้องมีวิธีขับเสมหะออกจากร่างกาย เพื่อที่จะได้ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต
เกร็ดสุขภาพ : การรักษาความอบอุ่นให้กับร่างกายอยู่เสมอจะทำให้เสมหะเจือจางลง เช่น อาบน้ำอุ่น สวมเสื้อผ้าที่ทำให้ร่างกายอบอุ่นเพื่อป้องกันความเย็น การจิบเครื่องดื่มอุ่นๆ ในระหว่างวัน เช่น ชาร้อน ซุปใส น้ำมะนาวผสมน้ำอุ่น จะทำให้โล่งคอและหายใจสะดวกขึ้น
วิธีขับเสมหะ ทำง่ายๆ ได้ด้วยตัวเอง รับรองหายใจสะดวกขึ้นแน่นอน !
เมื่อมีอาการไอ มีเสมหะในคอ ทำให้หายใจไม่สะดวก นอกจากการใช้ สเปรย์พ่นคอแก้ไอเพื่อบรรเทาอาการแล้ว เราชวนคุณมาดูวิธีขับเสมหะออกจากคอ และปอด ซึ่งสามารถทำเองได้ที่บ้าน ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้ รับรองหายใจโล่งขึ้นแน่นอน
• โดยการกระแอม หรือการพ่นลม (Huffing)
การกระแอม หรือการพ่นลม เป็นวิธีขับเสมหะแบบง่ายๆ วิธีไม่ยาก ลองทำดูกันนะคะ
- ปรับหัวเตียงขึ้น หรือปรับท่านั่งให้อยู่ในท่าสบาย
- หายใจเข้าลึกๆ ทางจมูก กลั้นหายใจซักครู่ นับ 1 – 3
- ทำปากเป็นรูปตัวโอ หลังจากนั่นพ่นลมหายใจออกมาทางปาก
• โดยการไอ (Cough) แบบที่ 1
- ปรับหัวเตียงขึ้น หรือนั่งในท่าสบายๆ
- หายใจเข้าลึกๆ ทางจมูก กลั้นหายใจไว้ นับ 1- 3
- พ่นลมหายใจออกทางปากอย่างเร็วและแรง
• โดยการไอ (Cough) แบบที่ 2
- ฝึกหายใจออกโดยการพ่นลม ซึ่งจะเป็นการขับเสมหะที่อยู่ลึกๆ ให้ขึ้นมาอยู่บริเวณคอ
- นั่งโน้มตัวไปด้านหน้าเล็กน้อย
- หายใจเข้าทางจมูกแล้วอ้าปาก จากนั้นพ่นลมหายใจทางปากอย่างรวดเร็ว 2 ครั้ง คล้ายการออกเสียง ฮะ ฮะ ทำซ้ำ 2-3 ครั้ง
- หายใจเข้าลึกและเร็ว และไอออกทางปาก 2 ครั้ง
การไอเพื่อขับเสมหะออกมา เป็นวิธีขับเสมหะแบบพื้นฐาน และสามารถทำได้ทุกคน ข้อควรระวังคือ ถ้าไอมากเกินไปอาจจะทำให้หอบเหนื่อยและเจ็บคอได้
• การเคาะปอด
การเคาะปอด เป็นวิธีขับเสมหะที่ช่วยระบายเสมหะตามบริเวณเนื้อปอดและหลอดลมให้หลุดร่อน และขับออกมาได้ง่ายขึ้น ทำได้ดังนี้
- เริ่มจากการใช้ผ้าขนหนูรองบริเวณที่จะเคาะปอด ได้แก่ บริเวณหน้าอก และบริเวณหลังตำแหน่งตรงข้ามกับปอด จากนั้นทำมือเป็นอุ้งเหมือนรูปถ้วยเพื่อให้มีลมในอุ้งมือ
- ใช้มือทั้งสองข้างเคาะสลับกัน โดยการขยับข้อมือในจังหวะที่สม่ำเสมอ ประมาณ 2-3 ครั้ง/วินาที ทำติดต่อกันประมาณ 3-5 นาที
ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีระบบหายใจผิดปกติ เช่น มีภาวะหายใจลำบากขึ้นรุนแรง เป็นโรคถุงลมโป่งพองขั้นรุนแรง ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด ผู้ป่วยที่มีก้อนกลมหรือลิ่มเลือดในกระแสปอด ไม่สามารถเคาะปอดได้ ให้หลีกเลี่ยงวิธีขับเสมหะโดยเคาะปอด
เกร็ดสุขภาพ : การใช้น้ำมันหอมระเหย เช่น น้ำมันยูคาลิปตัสจะช่วยให้หายใจสะดวกขึ้นและช่วยลดเสมหะในปอดได้ เนื่องจากทำให้เสมหะคลายตัวลงและไอออกมาได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ น้ำมันยูคาลิปตัสยังช่วยบรรเทาอาการไอ บรรเทาอาการหวัด คัดจมูก การสูดดมไอน้ำที่หยดน้ำหอมระเหยลงไปก็ช่วยบรรเทาอาการ โพรงจมูกแห้ง ได้ด้วยเช่นกัน
ข้อควรระวังสำหรับ วิธีขับเสมหะ หากมีอาการเหล่านี้ให้หยุดทำทันที
- มีอาการหอบเหนื่อย
- หน้ามืด เวียนศีรษะ
- หายใจถี่ หายใจลำบาก
วิธีดูแลตัวเองเมื่อมีเสมหะ
- งดน้ำหรืออาหารที่เย็น ดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำเปล่าอุณหภูมิห้อง
- สวมเสื้อผ้าที่ให้ความอบอุ่นต่อปอด
- เวลานอนควรห่มผ้าปิดหน้าอกให้มิดชิด
- หลีกเลี่ยงการเปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศที่แรงลมโดนบริเวณหน้าอกโดยตรง
- หากจะต้องนั่งหรือนอนบนพื้นให้ใช้ผ้าปูรองนอนหนาๆ เพื่อป้องกันความเย็นจากพื้น
เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์ ?
หากได้ลองใช้วิธีขับเสมหะออกจากคอและปอดแล้ว ยังคงมีเสมหะมากขึ้น หรือมีเสมหะสะสมมากกว่าหนึ่งเดือน ซึ่งอาจเกิดจากโรคบางอย่าง อาทิ กรดไหลย้อน ภูมิแพ้ หอบหืด หลอดลมอักเสบเรื้อรัง การติดเชื้อเรื้อรังบริเวณคอ หรือโรคปอดอื่นๆ หากมีเสมหะร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น เจ็บหน้าอก หายใจถี่ หายใจเสียงดัง หรือไอเป็นเลือด ควรไปพบแพทย์ทันที
และนี่ก็เป็นวิธีขับเสมหะที่เราเอามาฝากกัน ง่ายและสามารถทำได้เองจริงๆใช่ไหมคะ? เหนือสิ่งอื่นใดคือ การดูแลรักษาสุขภาพตัวเองให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ ควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ร่วมกับการกิน อาหารเสริมบำรุงปอด ก็จะทำให้ปอดเราแข็งแรงมากขึ้นค่ะ แต่ถ้าเกิดมีอาการไม่สบาย หรือมีเสมหะเมื่อไหร่ จะนำลองวิธีขับเสมหะออกจากคอและปอดที่เรานำมาฝากคุณผู้อ่านไปใช้กันก็ได้นะคะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : healthline.com, sriphat.med.cmu.ac.th, gj.mahidol.ac.th
Featured Image Credit : freepik.com/benzoix
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ