X

อั้นปัสสาวะ ไม่ดียังไง ? ชวนรู้จักข้อเสีย และวิธีแก้ไข !

เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡

อั้นปัสสาวะ ไม่ดียังไง ? ชวนรู้จักข้อเสีย และวิธีแก้ไข !

การ อั้นปัสสาวะ นั้น บางครั้งก็ต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในคุณสาวๆ ที่ต้องการเข้าห้องน้ำเป็นกิจจะลักษณะ ถ้าหากเดินทางไกล หรือไปในสถานที่ที่ห้องน้ำไม่สะอาดหรือไม่มีห้องน้ำให้เข้า บางคนก็ยอมอั้นไว้จนกว่าจะเจอห้องน้ำที่สามารถเข้าได้ แต่ในบางคนนั้นก็ชอบกลั้นปัสสาวะจนเป็นนิสัย โดยเฉพาะในเวลาทำงานที่ทำงานจนเพลินหรืองานยุ่งจนไม่สามารถปลีกตัวไปเข้าห้องน้ำได้ รู้หรือไม่ว่าการกลั้นปัสสาวะนั้น ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าที่คิด และยังเสี่ยงที่จะเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะต่างๆ ใครที่ชอบอั้นฉี่บ่อยๆ ต้องมาอ่านเลยค่ะว่า การอั้นฉี่นั้นส่งผลเสียอย่างไรบ้าง แล้วถ้าอั้นฉี่ ปวดท้องน้อย แก้ยังไง ? เราจะสามารถแก้ไขและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเราได้ยังไงบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ

อั้นปัสสาวะ บ่อยๆ เสี่ยงอันตรายกว่าที่คิด !

อั้นปัสสาวะ, อั้นฉี่ ปวดท้องน้อย แก้ยังไง
Image Credit : freepik.com

การปัสสาวะนั้น เกิดจากการที่ไตขับน้ำและของเสียออกจากร่างกาย โดยแต่ละวันไตจะผลิตน้ำปัสสาวะได้ประมาณวันละ 1.5 ลิตร ในปัสสาวะประกอบไปด้วยน้ำ 95% ยูเรีย 2.5% และสารอื่นๆ 2.5% ซึ่งสารยูเรีย เกลือแร่ แคลเซียม โซเดียมคลอไรด์ และอื่นๆ มีปริมาณที่เกินความต้องการของร่างกายแล้ว จึงต้องทำการขับออกมา หากไม่ได้ปัสสาวะและร่างกายมีการสะสมสารชนิดต่างๆ มากเกินไป ก็อาจทำให้เป็นอันตรายได้ เช่น มีภาวะความดันโลหิตสูง น้ำท่วมปอด หัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น ดังนั้น การปัสสาวะจึงเป็นกลไกการทำงานของร่างกาย เพื่อให้มีความสมดุลของแร่ธาตุและน้ำ ทั้งนี้ การอั้นปัสสาวะนานๆ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม เช่น อยู่บนรถ งานยุ่งจนไม่มีเวลาเข้าห้องน้ำ ห้องน้ำสกปรก โดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศที่ชอบกลั้นปัสสาวะและไม่ลุกไปเข้าห้องน้ำ อาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ มาดูกันว่า การกลั้นปัสสาวะบ่อยๆ และไม่ยอมไปเข้าห้องน้ำ สามารถก่อให้เกิดโรคอะไรได้บ้าง

1. โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

หากมีการกลั้นปัสสาวะบ่อยๆ โรคที่จะตามมาก็คือ โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียเอสเชอริเชีย โคไล หรืออีโคไล ซึ่งพบได้มากถึง 75 – 95% รวมถึงเชื้อแบคทีเรียเคล็บซิลลา ซึ่งเป็นเชื้อที่มีอยู่มากในลำไส้ และบริเวณรอบๆ ทวารหนัก โดยเชื้อเหล่านี้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง และเข้าไปอยู่ในกระเพาะปัสสาวะของเรา ถ้าหากมีการปัสสาวะทุกครั้งที่ปวด ร่างกายก็จะสามารถขับเอาเชื้อโรคนี้ออกมาได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ แต่ในผู้ที่อั้นปัสสาวะเป็นประจำ เชื้อโรคก็จะมีโอกาสเจริญเติบโตมากขึ้น และฝังตัวอยู่ในกระเพาะปัสสาวะจนเกิดการอักเสบได้ในที่สุด หากปัสสาวะบ่อย กระปริบกระปรอย มีอาการคล้ายปัสสาวะไม่สุด รู้สึกปวดบริเวณท้องน้อย ปวดแสบ ขัดในขณะที่กำลังปัสสาวะ และสีของฉี่มีสีขุ่น บางครั้งมีกลิ่นผิดปกติหรือมีเลือดปน ก็เป็นไปได้ว่าอาจเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ต้องไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป

เกร็ดสุขภาพ : กระเพาะปัสสาวะมีหน้าที่ในการเก็บและขับถ่ายปัสสาวะ ในผู้ใหญ่จะมีความจุปัสสาวะประมาณ 400 – 500 มิลลิลิตร หากมีปริมาณน้ำปัสสาวะอยู่ในกระเพาะปัสสาวะมากกว่า 480 มิลลิลิตร ก็อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัวได้ และการอั้นปัสสาวะก็จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต ผู้ป่วยภาวะกระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติ รวมทั้งผู้ที่มีความผิดปกติของไต ซึ่งเสี่ยงที่จะเป็นโรคต่างๆ และส่งผลต่อสุขภาพได้

2. กรวยไตอักเสบ

อั้นปัสสาวะ, อั้นฉี่ ปวดท้องน้อย แก้ยังไง
Image Credit : vecteezy.com

หากอั้นปัสสาวะนานๆ ก็อาจทำให้มีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง หากมีการติดเชื้ออย่างรุนแรง หรือเป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ การติดเชื้อก็จะลุกลามไปที่ไต ทำให้เกิดกรวยไตอักเสบได้ โดยจะมีอาการคือ มีไข้สูง รู้สึกคลื่นไส้ อยากอาเจียน หนาวสั่น ปวดบริเวณขาหนีบ ปวดท้อง ปวดเอว ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะมีสีขุ่นหรือมีกลิ่นเหม็น ซึ่งอาจจะต้องรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะหรือเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หากรักษาได้ไม่ทันท่วงที ไตอาจถูกทำลาย หรือเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือดซึ่งอาจเป็นอันตรายร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ถ้าใครที่มีไข้ และอั้นฉี่ ปวดท้องน้อย แก้ยังไง แนะนำว่าให้รีบไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจเพิ่มเติมโดยเร็วค่ะ เพราะอาจจะกำลังเสี่ยงต่อการเกิดกรวยไตอักเสบอยู่ก็ได้

3. โรคนิ่ว

ในปัสสาวะนั้นมีแคลเซียมอยู่ รวมถึงแร่ธาตุชนิดอื่นๆ ซึ่งถ้าหากอั้นปัสสาวะนานๆ ก็จะเกิดการตกตะกอนและเกาะตัวกันเป็นก้อนนิ่ว ทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง ปัสสาวะมีสีผิดปกติ นอกจากนี้ โรคนิ่วยังเกิดขึ้นได้จากปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ดื่มน้ำน้อยเกินไป กินวิตามินซีมากเกินไป (มากกว่า 2,000 มิลลิกรัม/ วัน) มีภาวะโรคอ้วน กินโปรตีนมากเกินไป กินเค็มมากเกินไป กินอาหารที่มีสารออกซาเลตสูง เช่น ชา ถั่ว บีทรูท เป็นต้น

4. ทำให้มีกลิ่นตัวแรง

การกลั้นปัสสาวะนานๆ ทำให้มีกลิ่นตัวแรงได้ เนื่องจากของเสียในร่างกายที่ควรขับออกมาทางปัสสาวะจะถูกดูดซึมกลับเข้าสู่ร่างกาย และร่างกายจะหาวิธีในการขับออกในทางอื่น เช่น การขับออกทางเหงื่อหรือผ่านทางรูขุมขน ซึ่งทำให้เกิดกลิ่นตัวขึ้นได้ เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรกลั้นปัสสาวะ และรีบไปเข้าห้องน้ำโดยเร็ว การกลั้นปัสสาวะ นอกจากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อบุคลิกภาพของเราอีกด้วยนะ

5. ทำให้เกิดสิว

อั้นปัสสาวะ, อั้นฉี่ ปวดท้องน้อย แก้ยังไง
Image Credit : freepik.com

การอั้นปัสสาวะนานๆ เป็นการกักเก็บของเสียไว้กับร่างกายโดยที่ไม่มีการปล่อยระบายออกมา ทั้งสิ่งสกปรก แบคทีเรีย และเชื้อโรคต่างๆ เมื้ออั้นเป็นเวลานานๆ จึงทำให้ร่างกายดูดซึมของเสียเหล่านั้นกลับเข้าไป ซึ่งส่งผลเสียต่อผิวพรรณของเรา และทำให้เกิดสิวได้ ใครที่เป็นสิวบ่อยๆ ทำยังไงก็ไม่หาย ไม่ว่าจะปรับเปลี่ยนอาหารการกินหรือเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงรักษาความสะอาดมากๆ แล้วก็ตาม ลองสังเกตตัวเองดูนะคะว่าชอบกลั้นปัสสาวะบ่อยๆ หรือเปล่า เพราะนั่นอาจเป็นสาเหตุของการเกิดสิวได้

วิธีดูแลตัวเองไม่ให้เสี่ยงป่วยจากการอั้นปัสสาวะ ควรปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อให้ระบบทางเดินปัสสาวะแข็งแรง

อั้นปัสสาวะ, อั้นฉี่ ปวดท้องน้อย แก้ยังไง
Image Credit : vecteezy.com

จากข้างต้นก็ได้ทราบกันแล้วว่า การกลั้นปัสสาวะหรือการอั้นฉี่นั้น มีความเสียงต่อสุขภาพของเราอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังต่อไปนี้ อาจช่วยลดและป้องกันความเสี่ยงต่อสุขภาพต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้

  • ปัสสาวะให้สุด หากปัสสาวะไม่สุด อาจทำให้มีปัสสาวะตกค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ และก่อให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียได้ ดังนั้น จึงควรปัสสาวะให้สุดทุกครั้งที่เข้าห้องน้ำ 
  • ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม เราควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6 – 8 แก้ว หรือวันละ 1.5 ลิตร เพื่อให้มีการปัสสาวะเป็นปกติ ซึ่งจะช่วยขับแบคทีเรียออกจากระบบทางเดินปัสสาวะได้ และไม่ควรดื่มน้ำก่อนนอน เพราะอาจทำให้ปวดปัสสาวะตอนกลางคืนและตื่นมาเข้าห้องน้ำบ่อยๆ ซึ่งอาจจะรบกวนการนอนหลับได้
  • ดูแลสุขอนามัยทางเพศ การมีเพศสัมพันธ์อาจทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ในเพศหญิง ดังนั้น จึงควรทำความสะอาดอวัยวะเพศและบริเวณทวารหนักภายนอกก่อนมีเพศสัมพันธ์ เพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อ และควรไปปัสสาวะทั้งก่อนและหลังการมีเพศสัมพันธ์ เพราะจะช่วยขับแบคทีเรียออกมาได้
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ทราบหรือไม่ว่า การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะและปัญหาสุขภาพอื่นๆ ได้ด้วย

และสำหรับคนที่มักจะกลั้นปัสสาวะบ่อยๆ อาจมีคำถามว่า อั้นฉี่ ปวดท้องน้อย แก้ยังไง ถ้าหากไม่มีไข้ ก็อาจจะเป็นอาการของกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ทั้งนี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยเพิ่มเติม จะได้ดูแลรักษาให้ตรงจุด สำหรับวิธีการดูแลตัวเองเบื้องต้นคือ ควรดื่มน้ำมากๆ และไม่ควรกลั้นปัสสาวะโดยเด็ดขาด เพราะจะยิ่งทำให้หายป่วยช้า ร่วมกับการดื่มน้ำมากๆ และรับประทานยาแก้ปวดหรือยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่กลุ่มสเตียรอยด์เพื่อลดอาการอักเสบและลดอาการปวด ทั้งนี้ การใช้ถุงน้ำร้อนประคบตรงท้องน้อยอาจช่วยบรรเทาอาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อปัสสาวะได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด รวมถึงดูแลสุขอนามัยของตัวเอง เข้าห้องน้ำทันทีที่ปวด ก็จะช่วยให้อาการดีขึ้นตามลำดับค่ะ

เกร็ดสุขภาพ : ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ นอกจากการกลั้นปัสสาวะนานๆ จนทำให้เกิดโรคต่างๆ แล้ว ในบางรายกลับมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ทำให้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจากต้องเข้าห้องน้ำบ่อยกว่าคนทั่วไป หรือต้องเข้าทันทีที่ปวด ทั้งยังพบว่าในบางรายมีปัญหาปัสสาวะเล็ดและราดออกมาบ่อยครั้ง ซึ่งควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษา ทั้งนี้ การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่อาจมีสาเหตุอยู่หลายประการด้วยกัน เช่น มีการอักเสบติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะหรือทางเดินปัสสาวะ ช่องคลอดหย่อน หุรูดไม่แข็งแรงหรือเสื่อม ท้องผูกเรื้อรัง หรือมีการใช้ยาบางชนิด เป็นต้น

ใครที่ชอบอั้นปัสสาวะบ่อยๆ หลังจากนี้ไปก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกันแล้วนะคะ เพราะการอั้นฉี่บ่อยๆ นั้น ส่งผลเสียต่อสุขภาพมากมาย ทั้งเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ และยังส่งผลเสียต่อสุขภาพผิวพรรณของเราอีกด้วย ถึงแม้ว่าจะสามารถรักษาได้ แต่การป้องกันไว้ก่อนนั้นก็เป็นวิธีที่ดีที่สุด ถ้ารู้สึกปวด อยากเข้าห้องน้ำเมื่อไหร่ก็ต้องรีบลุกไปทันที เป็นการฝึกนิสัยที่ดีให้กับตัวเอง เพื่อที่จะได้ห่างไกลจากความเสี่ยงในการเกิดโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะต่างๆ และถ้าใครมีปัญหาอื่นๆ เช่น ฉี่เป็นฟอง (อ่านเพิ่มเติม ฉี่เป็นฟองเกิดจาก) และมีความกังวลว่าเป็นโรคอะไรหรือไม่ ก็สามารถไปปรึกษาแพทย์ได้ เพื่อความสบายใจและความปลอดภัยของตัวเองค่ะ

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : thainakarin.co.th, chulalongkornhospital.go.th, synphaet.co.th, sikarin.com, rama.mahidol.ac.th, phyathai.com

Featured Image Credit : freepik.com/gpointstudio

ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ

ติดต่อโฆษณา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้การวิเคราะห์

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

Save