X

Hoarding Disorder คือ อะไร ? ใครชอบสะสมของต้องลองดู !

เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡

Hoarding Disorder คือ อะไร ? ใครชอบสะสมของต้องลองดู !

หลายๆ คนอาจจะไม่คุ้นชื่อว่า Hoarding Disorder คือ อะไรแต่ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆก็คือ โรคชอบเก็บสะสม สิ่งของนั่นเอง ซึ่งเป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าไม่อยากทิ้งสิ่งของที่สะสมไว้เพราะเสียดาย และยึดติดว่าสิ่งของทุกชิ้นนั้นเป็นของสำคัญ หรือคิดว่าสิ่งที่เก็บไว้จะมีประโยชน์หรือมีโอกาสได้ใช้ในอนาคต ส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดขึ้นในผู้สูงอายุ ทำให้บ้านเต็มไปด้วยของที่ไม่จำเป็นมากมาย ใครที่รู้สึกว่ามีคนใกล้ตัวกำลังมีอาการแบบนี้อยู่หรือสงสัยว่าตัวเองเป็นโรคนี้หรือไม่ ก็มาดูรายละเอียดให้มากขึ้นกันเลยค่ะ

ทำความรู้จักโรค Hoarding Disorder คือ อะไร ? ภัยเงียบของคนที่ชอบสะสมของ !

hoarding disorder คือ, hoarding disorder
Image Credit : freepik.com

ครอบครัวใครที่มีสมาชิกในบ้านหลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมผู้ใหญ่ในบ้านถึงชอบเก็บสิ่งของที่ไม่จำเป็นเอาไว้มากมายจนรกบ้านไปหมด ถ้าแอบเอาไปทิ้งก็เกรงว่าจะมีปัญหาทะเลาะกันได้ ใครกำลังเจอปัญหานี้อยู่อยากให้ใจเย็นๆ ก่อนนะคะ เพราะบางทีนี่อาจเป็นอาการของโรค Hoarding Disorder อยู่ก็ได้ หรือถ้าใครรู้สึกว่าตัวเองกำลังมีปัญหานี้อยู่เหมือนกัน เรามาดูกันเลยค่ะว่าโรค Hoarding Disorder คืออะไร เกิดขึ้นได้ยังไง ลักษณะอาการเป็นอย่างไร และสามารถแก้ไขได้อย่างไรบ้าง

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรค

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรค Hoarding Disorder คือความผิดปกติทางสมองที่จะเลือกเก็บของทุกชนิดหรือบางชนิดไว้ รวมถึงผู้ที่สมองได้รับการบาดเจ็บบางส่วนก็มีโอกาสที่จะเกิดเป็นโรคชอบสะสมของได้เช่นกัน และอีกกรณีหนึ่งก็อาจจะมีสาเหตุมาจากพันธุกรรมแต่กำเนิด ซึ่งมีการศึกษาพบว่าร้อยละ 50 ของคนที่เป็นโรค Hoarding Disorder มักจะมีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วยเช่นกัน

อาการของโรค Hoarding Disorder คืออะไร?

hoarding disorder คือ, hoarding disorder
Image Credit : freepik.com

ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคนี้จะชอบเก็บสะสมสิ่งของที่คิดว่ามีความสำคัญหรือมีโอกาสจะได้ใช้ในอนาคต อาการของโรค Hoarding Disorder นั้นอาจจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการทางจิตอื่นๆ ตามมาด้วย เช่น โรคซึมเศร้า โรคกลัวการเข้าสังคม หรือ โรคย้ำคิดย้ำทำ หากไม่ได้รับการรักษาก็จะทำให้ผู้ป่วยไม่กล้าตัดสินใจทิ้งสิ่งของและรู้สึกกังวลใจทุกครั้งเวลาจะทิ้งอะไร ทั้งยังรู้สึกไม่ไว้ใจคนอื่น และไม่ยอมให้ใครมาหยิบยืมของที่ตัวเองสะสมไว้ รวมถึงมีความคิดที่หมกหมุ่น กล่าวคือ ถ้าเผลอทิ้งสิ่งของไปแล้วก็จะคิดว่าอาจได้ใช้งานในอนาคต จึงนำกลับมาจากถังขยะและไม่สามารถตัดใจทิ้งได้ ทั้งนี้ สิ่งของสะสมที่พบได้บ่อยของโรค Hoarding Disorder คือสื่อสิ่งพิมพ์ ขวดพลาสติก ถุงพลาสติก เสื้อผ้า หรือในผู้ป่วยบางรายอาจถึงขั้นเก็บขยะ เศษอาหาร ที่อาจจะนำมาซึ่งเชื้อโรคต่างๆ ทำให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพของตัวเองและคนรอบตัวด้วย

บุคคลที่เสี่ยงจะเป็นโรค Hoarding Disorder คือช่วงวัยรุ่นที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ซึ่งจะแสดงอาการชัดเจนมากขึ้นเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป เพราะในช่วงวัย 30 ปีจะเริ่มมีข้าวของเครื่องใช้เป็นของตัวเองเยอะมากขึ้น และเริ่มมีการสะสมสิ่งของ โดยอาการที่สังเกตเห็นได้ชัดคือ ผู้ป่วยจะไม่ยอมทิ้งสิ่งของอะไรเลย อย่างไรก็ตาม มักจะมีอาการหนักในผู้สูงอายุ (สามารถอ่าน วิธีสังเกตผู้สูงอายุ ปัญหาสุขภาพจิต เป็นข้อมูลเพิ่มเติมได้นะคะ) เนื่องจากผู้สูงอายุมีความทรงจำในอดีตที่สำคัญและผ่านการสูญเสียมามาก จึงเกิดการเก็บสะสมสิ่งของหรือมีความรู้สึกหวงแหน ไม่อยากทิ้งสิ่งใดไปนั่นเอง

เกร็ดสุขภาพ : สำหรับผู้ที่รู้สึกว่าตนเองเริ่มมีอาการดังกล่าวในระยะเริ่มต้นแล้วแนะนำให้ค่อยๆ ปรับพฤติกรรมโดยใช้เทคนิคการจัดบ้านแบบคมมาริ (Konmari) ที่เป็นแนวคิดของ Marie Kondo นักจัดบ้านชาวญี่ปุ่นเจ้าของหนังสือ ‘The Life- Changing Magic of Tidying up’ ซึ่งเทคนิคนี้จะช่วยบอกได้ว่าสิ่งของไหนควรเก็บไว้และสิ่งของไหนควรจะทิ้งไป นอกจากนี้ อาจจะแบ่งหมวดหมู่ในการจัดเก็บสิ่งของด้วยก็ได้ โดยสิ่งของในหมวดที่มีคุณค่าทางจิตใจควรจัดการเป็นลำดับท้ายๆ และควรจัดเก็บไปทีละหมวดหมู่เพื่อความเป็นระเบียบนั่นเองค่ะ

สามารถรักษาโรคเก็บสะสมสิ่งของให้หายขาดได้หรือไม่

hoarding disorder คือ, hoarding disorder
Image Credit : freepik.com

การรักษาโรค Hoarding Disorder ทำได้โดยการบำบัดความคิดและพฤติกรรม (cognitive behavioral therapy) กับจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัด ซึ่งจะเน้นทักษะในด้านการตัดสินใจของผู้ป่วยว่าควรจะเก็บหรือทิ้งสิ่งไหน ถ้าอาการของโรคยังไม่ดีขึ้นอาจจำเป็นที่จะต้องจ่ายยาแบบรับประทานเพื่อปรับสารเคมีในสมองให้มีความสมดุลมากขึ้น โดยโรค Hoarding Disorder นั้นจะไม่หายขาดแต่ผู้ป่วยสามารถมีอาการดีขึ้นจนใช้ชีวิตตามปกติได้

เกร็ดสุขภาพ : ข้อแนะนำสำหรับคนที่ต้องอยู่กับคนที่เป็นโรค Hoarding Disorder คือการพยายามทำความเข้าใจอาการของโรคและพยายามไม่ใช้อารมณ์ เนื่องจากผู้ป่วยนั้นมีความผิดปกติทางความคิดในการแยกแยะสิ่งของ ซึ่งการทิ้งสิ่งของที่ไม่จำเป็นอาจจะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคนปกติ แต่เป็นเรื่องยากสำหรับคนที่เป็นผู้ป่วยโรคนี้ ดังนั้นการอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจ และใช้ความใจเย็น ใช้เหตุและผลเป็นหลัก กล่าวถึงข้อเสียของการเก็บสิ่งของต่างๆ ว่าส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างไร ก็จะช่วยให้พูดคุยกับผู้ป่วยได้ง่ายขึ้นค่ะ

เมื่อได้ทำความรู้จักและเข้าใจ Hoarding Disorder มากขึ้นแล้ว หากพบว่าคนใกล้ตัวกำลังมีอาการคล้ายกับโรคนี้ ก็จะได้ช่วยกันแก้ไขตั้งแต่เนิ่นๆ รวมถึงอยู่ด้วยกันอย่างเข้าใจมากขึ้น และสำหรับใครที่กำลังเป็นโรคนี้ก็ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงแต่อย่างใด เพราะเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ขอแค่พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนความคิดพฤติกรรมของตัวเอง และทำการรักษาอย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้อาการดีขึ้นได้และใช้ชีวิตได้อย่างปกติ หรือถ้าใครมีความกังวลใจ จะทำการปรึกษาสุขภาพจิตกับจิตแพทย์เพื่อหาแนวทางการรักษาร่วมกันก็ได้ค่ะ

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : rama.mahidol.ac.th, healthline.com, mcleanhospital.org, psychiatry.org

Featured Image Credit : freepik.com/wayhomestudio2

ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ

ติดต่อโฆษณา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้การวิเคราะห์

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

Save