X

อาชา บำบัด คืออะไร ? รู้จัก Hippo Therapy เพื่อปรับสมดุลร่างกาย และจิตใจกัน !

เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡

อาชา บำบัด คืออะไร ? รู้จัก Hippo Therapy เพื่อปรับสมดุลร่างกาย และจิตใจกัน !

มีใครเคยได้ยินคำว่า อาชาบำบัดมาก่อนไหมคะ ? แล้วสงสัยหรือไม่ว่า มันคืออะไร เป็นการบำบัดแบบไหน ทุกคนทราบกันดีว่า “อาชา” หมายถึงม้า แล้วเราสามารถนำเอาสัตว์อย่างม้ามาใช้ในการบำบัดมนุษย์ได้อย่างไร แท้จริงแล้ว ศาสตร์แห่งการบำบัดแบบนี้ มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ยุคสมัยกรีกโบราณเลยทีเดียว ซึ่ง อาชา บำบัด สามารถบำบัดมนุษย์เราได้ทั้งในเชิงกายภาพและเชิงจิตใจ และช่วยให้มนุษย์มีสุขภาพกาย สุขภาพใจที่ดีขึ้นได้จริงๆ มารู้จักกับอาชาบำบัดให้มากขึ้นกันเลยค่ะ

ชวนรู้จัก อาชา บำบัด การบำบัดด้วยม้า ที่เยียวยาได้ทั้งกายและใจ

อาชา บำบัด, hippo therapy
Image Credit : freepik.com

อาชาบำบัด หรือ Hippo Therapy มาจากคำว่า Hippo ในภาษากรีก แปลว่าม้า และคำว่า Therapy แปลว่าการบำบัด ดังนั้น อาชาบำบัดจึงเป็นการบำบัดรักษา หรือฟื้นฟูร่างกายจิตใจด้วยม้า ทั้งนี้ มีกิจกรรมที่มีความคล้ายคลึงกับอาชาบำบัด คือการทำกิจกรรมร่วมกับม้า หรือ Equine – Assisted Therapy อย่างไรก็ตาม การบูรณาการการบำบัดจะต้องทำโดยสหวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง และอาชา บำบัด ก็ไม่ได้เน้นไปที่ทักษะการขี่ม้า แต่จะเป็นการเสริมสร้างทักษะที่บกพร่องหรือขาดขายไป สามารถแก้ไขปัญหาบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการและการเรียนรู้ได้ เช่น ด้านสมาธิ ด้านการเคลื่อนไหว ด้านการทรงตัว รวมถึงการเข้าสังคมอีกด้วย

เกร็ดสุขภาพ : อาชาบำบัด เริ่มมีการนำมาใช้ในตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ โดยการขี่หลังบนม้าเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจ ความภาคภูมิใจ และลดความกลัวให้กับผู้ที่อยู่บนหลังม้า เริ่มเป็นที่แพร่หลายในยุโรปและอเมริกาเหนือตั้งแต่ปี ค.ศ.1960 แต่สำหรับประเทศไทย มีการนำม้ามาช่วยในการบำบัดกลุ่มเด็กพิเศษ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 โดยกองกำกับการตรวจม้า โดยได้รับแรงบันดาลใจจากที่เคยดำเนินการสอนคุณพุ่ม เจนเซ่น ในกระบวนการขี่ม้าและบำบัด ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ หลังจากนั้น อาชา บำบัด จึงได้รับความนิยมมากขึ้นและเป็นที่รู้จักแพร่หลายในปัจจุบัน

ชวนรู้จัก ชนิดของ อาชา บำบัด มีกี่แบบ ต่างกันอย่างไร ?

ตามที่ได้กล่าวไปว่า อาชาบำบัด จะมีอยู่ 2 ลักษณะด้วยกันคือ Hippo Therapy และ Equine – Assisted Therapy ซึ่งมีความแตกต่างกันดังนี้

  1. Hippotherapy เป็นการขี่ม้าที่มีจุดประสงค์มุ่งเน้นไปที่การทำกายภาพบำบัด หรือทำท่าทางต่างๆ บนหลังม้า ซึ่งเป็นการเน้นการพัฒนาด้านโครงสร้างร่างกาย 
  2. Equine – Assisted Therapy เป็นการขี่ม้าเพื่อทำภารกิจตามที่เป้าหมายกำหนด โดยมีกิจกรรม เกม หรือการเล่นของเล่นประกอบ รวมถึงการอาบน้ำให้ม้า แปรงขนม้า และป้อนอาหารให้ม้า เพื่อเน้นการพัฒนาด้านสมาธิ และการเข้าสังคมเป็นหลัก

สำหรับอาชา บำบัดในประเทศไทย เป็นรูปแบบลักษณะการผสมผสาน บูรณาการกิจกรรมและการบำบัดทั้งสองแบบเข้าด้วยกัน และเรียกรวมๆ กันว่า อาชาบำบัด หรือ “Hippotheapy” ตามที่ได้มีการเรียกตั้งแต่แรก บางคนอาจจะสงสัยว่า การขี่ม้าแบบอาชาบำบัดสามารถช่วยในการแก้ไขปัญหาในพัฒนาการด้านต่างๆ ได้อย่างไร ? คำตอบก็คือ การเดินของม้าจะช่วยกระตุ้นผู้ที่ได้รับการบำบัดในหลายๆ ด้าน เนื่องจากการขี่ม้าจะทำให้ผู้ขี่ม้า (ส่วนใหญ่จะเป็นเด็ก เนื่องจากอาชาบำบัด นิยมนำมาใช้ในเด็กเป็นส่วนใหญ่)ได้ฝึกการทรงตัว และมีสมาธิจดจ่ออยู่กับการขี่ม้า ในส่วนนี้จะเพิ่มความนิ่งให้เด็กที่มีความผิดปกติทางสมองและการเคลื่อนไหวได้มากขึ้น นอกจากนี้ อาชาบำบัดยังมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ อีกมากมาย ไปดูพร้อมๆ กันเลยค่ะ

ประโยชน์ของอาชา บำบัด มีอะไรบ้าง ?

อาชา บำบัด, hippo therapy
Image Credit : freepik.com

โดยส่วนใหญ่แล้ว กระบวนการอาชาบำบัดจะนิยมนำมาใช้กับเด็กๆ ที่มีอายุระหว่าง 5 – 13 ปี ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ก็สามารถใช้อาชาบำบัดได้ มาดูกันเลยค่ะว่า อาชาบำบัด มีประโยชน์ต่อผู้ที่เข้ารับการบำบัดในด้านใดบ้าง

1. ด้านประสาทสัมผัส

ขณะอยู่บนหลังม้า จะต้องใช้ประสาทสัมผัสทั้งหมดฝึกการทรงตัวและการเคลื่อนไหว ให้สอดคล้องไปกับการเคลื่อนที่ของม้า เพื่อให้สามารถทรงตัวบนหลังม้าได้ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อมัดต่างๆ ทั้งกล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่ให้มีความแข็งแรงมากขึ้น และยังช่วยให้กล้ามเนื้อทำงานประสานกันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

2. ด้านการฝึกสมาธิ

สำหรับการทำอาชาบำบัดในเด็ก ในขณะที่เด็กอยู่บนหลังม้า เด็กจะจดจ่ออยู่กับการทรงตัวเพื่อไม่ให้ตกลงมา ซึ่งช่วยให้เด็กมีสมาธิมากขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังมีการทำกิจกรรมต่างๆ หรือเคลื่อนไหวในท่าทางต่างๆ ร่วมด้วย ทำให้เด็กพุ่งความสนใจไปยังกิจกรรมนั้นๆ ซึ่งจะช่วยให้เด็กสามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งนานๆ ได้ จึงเหมาะสำหรับเด็กพิเศษกลุ่มออทิสติกและเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น หรือ ADHD

3. ด้านทักษะการเข้าสังคม

กิจกรรมอาชาบำบัด จะทำให้เด็กได้อยู่ร่วมกับสัตว์ ครูฝึก หรือเด็กคนอื่นๆ ร่วมด้วย ซึ่งทำให้เด็กคุ้นเคยกับการเข้าสังคม มีทักษะการอยู่ร่วมกับคนแปลกหน้า ไม่แสดงพฤติกรรมเชิงลบ ทำให้อยู่ร่วมกับบุคคลอื่นในสังคมได้อย่างเหมาะสม และมีพัฒนาการทางด้านทักษะการเข้าสังคม

4. ด้านจิตใจ

กิจกรรมอาชาบำบัด คือสิ่งที่ทำให้ผู้บำบัดได้อยู่กับสัตว์ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่จะได้ซึมซับและเรียนรู้ความเห็นอกเห็นใจที่มีต่อสัตว์ เนื่องจากต้องทำกิจกรรมกับม้าเป็นประจำ และบางกิจกรรมยังให้เด็กอาบน้ำให้ม้า แปรงขนให้ม้า หรือให้อาหารม้า ทำให้เด็กๆ มีความอ่อนโยนมากขึ้น และได้เรียนรู้วิธีปฏิบัติต่อสัตว์อย่างอ่อนโยนจากผู้บำบัดหรือผู้ดูแลม้าอีกด้วย

อาชา บำบัด กับการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับสมอง

นอกจากอาชาบำบัดจะสามารถปรับปรุงพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย พฤติกรรม อารมณ์ สังคม และจิตใจของเด็กๆ ได้แล้ว กิจกรรมอาชาบำบัดยังใช้ได้ผลดีกับผู้ที่มีความผิดปกติทางสมองอีกด้วย อาทิ

อาชา บำบัด, hippo therapy
Image Credit : freepik.com
  • ในกลุ่มเด็กออทิสติก (Autism Spectrum Disorder) : ในเด็กกลุ่มนี้จะมีปัญหาเฉพาะตัวที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสังคม การเรียนรู้ รวมถึงภาวะอารมณ์แปรปรวนง่าย และมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ซึ่งการทำกิจกรรมอาชาบำบัดหรือกิจกรรมบนหลังม้า ด้วยการทำกิจกรรมที่เด็กสนใจบนหลังม้า จะช่วยดึงความสนใจของเด็กได้ และทำให้เด็กมีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากขึ้น ทั้งยังเป็นการฝึกการควบคุมร่างกาย และกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมทางบวกได้ด้วย 
  • ในกลุ่มเด็กที่บกพร่องทางสติปัญญา (Intellectual Disability) :  ซึ่งกิจกรรมอาชาบำบัด จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการในทุกๆ ด้านได้ ทั้งนี้ การเน้นกิจกรรมที่พัฒนาด้านสติปัญญา ภาษา สังคม จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น และได้ประโยชน์ในการพัฒนากล้ามเนื้อจากการทรงตัวบนหลังม้า ทั้งนี้ ควรวางแผนจัดกิจกรรมร่วมกับแพทย์ นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด และนักเวชศาสตร์สื่อความหมาย เพื่อให้การบำบัดมีประสิทธิภาพ 
  • ในเด็กกลุ่มดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome) : กลุ่มอาการดาวน์ เกิดจากโครโมโซมผิดปกติ ซึ่งในเด็กกลุ่มนี้ อาจมีปัญหาในพัฒนาการด้านร่างกายและทางสมอง รวมถึงทางด้านอารมณ์ด้วย โดยนักกายภาพบำบัดจะเน้นฝึกการเคลื่อนไหวของร่างกายเป็นสำคัญ และนักกิจกรรมบำบัดจะมุ่งเน้นการทำกิจกรรมที่ฝึกพัฒนาการด้านสมอง ในหลายๆ ประเทศมีนักแก้ไขการพูดที่รักษาเด็กกลุ่มดาวน์ซินโดรมด้วยอาชาบำบัดมากขึ้น
  • ในกลุ่มเด็กสมองพิการ (Cerebral Palsy) : แม้เพียงแค่เด็กอยู่บนหลังม้า ก็ถือว่าเป็นการบำบัดแล้ว เนื่องจากลักษณะการเดินของม้าคล้ายกับการเดินของมนุษย์ สะโพกของเด็กที่นั่งอยู่บนหลังม้าจะเคลื่อนที่คล้ายกับเด็กที่กำลังเดินบนพื้นด้วยตัวเอง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นกระแสประสาทการรับรู้ไปที่สมอง ให้มีการจดจำรูปแบบการเดิน ช่วยให้พัฒนาการด้านการเดินของเด็กดีขึ้น ทั้งยังเป็นการออกกำลังกาย ลดความรู้สึกเกร็ง และเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออีกด้วย

เกร็ดสุขภาพ : ถึงแม้อาชาบำบัดจะมีประโยชน์ในการรักษาหลายๆ ด้าน แต่ก็อาจจะไม่เหมาะกับทุกคน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อาการไม่คงที่ หรือผู้ที่ไม่สามารถทรงตัวด้วยตัวเองได้ รวมถึงในกลุ่มเด็กที่มีอาการลมชัก ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งจะไม่สามารถเข้ารับการฟื้นฟูด้วยอาชาบำบัดได้ เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายอย่างการพลัดลงจากหลังม้า รวมถึงผู้ที่กลัวสัตว์ พรือแพ้ขนสัตว์ ก็อาจจะไม่เหมาะกับการบำบัดแบบนี้เช่นกัน

การทำกิจกรรมอาชาบำบัด ไม่ได้จำกัดอยู่ในกลุ่มเด็กที่มีปัญหาทางด้านการพัฒนาด้านร่างกายหรือสมองดังที่กล่าวไปในข้างต้นเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ต่อการฟื้นฟูสุขภาพของผู้ป่วยหลายกลุ่ม อย่างผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกจากโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งท่อนจากไขสันหลังบาดเจ็บ เป็นต้น สำหรับใครที่กำลังกังวลว่า การนั่งบนหลังม้าจะมีอันตรายไหม เพราะม้าค่อนข้างตัวใหญ่ ก็หายกังวลได้เลยค่ะ เพราะม้าที่มักจะนำมาใช้ในการบำบัดส่วนใหญ่จะเป็นม้าโพนี่ (Pony) ซึ่งเป็นสายพันธ์ุที่ตัวไม่ใหญ่มากนัก ความสูงไม่เกิน 140 เซนติเมตร เหมาะสำหรับเด็กๆ และการทำกิจกรรมบำบัดจะอยู่ในความดูแลของผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี ซึ่งมีความปลอดภัย ถ้าใครสนใจเรื่องอาชาบำบัด หรือ Hippo Therapy ก็ลองสอบถามสถานที่บริการใกล้พื้นที่อาศัยดูนะคะ

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : happyhomeclinic.com, physio-pedia.com, ncbi.nlm.nih.gov

Featured Image Credit : freepik.com/prostooleh

ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ

ติดต่อโฆษณา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้การวิเคราะห์

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

Save