“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
กรุ๊ปเลือดสีทอง คืออะไร ? ชวนรู้จักกรุ๊ปเลือดกลุ่มพิเศษที่เราไม่ชินหูกัน !
นอกเหนือจากเพศกำเนิดที่ถูกระบุตั้งแต่วันที่เราปฏิสนธิแล้ว กรุ๊ปเลือดก็ยังเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด ซึ่งโอกาสที่ได้เจอคนกรุ๊ปเลือดเดียวกันมีมากพอกันกับคนที่แตกต่างจากเรา อาจเป็นกรุ๊ปเลือดเอ โอ บี หรือเอบี เป็นกลุ่ม Rh+ และ Rh- หมุนวนกันไป และยังมีความเชื่อว่า นิสัยแต่ละกรุ๊ปเลือด นั้น มีความแตกต่างกันอีกด้วย แต่รู้หรือไม่ว่า ยังมีกรุ๊ปเลือดพิเศษที่เรียกว่า กรุ๊ปเลือดสีทอง ซึ่งได้รับคำกล่าวอ้างว่าเป็นกรุ๊ปเลือดที่มีน้อยมากในโลกใบนี้ เรียกว่าเป็นกรุ๊ปเลือดที่น่าสนใจมากเลยทีเดียว และเราเชื่อว่าหลายคนอาจไม่เคยได้ยินมาก่อน ในบทความนี้ เพื่อสุขภาพจะมาเล่าเรื่องนี้ให้เข้าใจกันมากขึ้นค่ะ
แปลกแต่มีอยู่จริง ! ทำความรู้จักกับ กรุ๊ปเลือดสีทอง กรุ๊ปพิเศษและหายากที่สุด
กรุ๊ปเลือดสีทอง (Golden blood หรือ Rh-null) ที่ว่าหาเจอได้ยากนั้นเพราะพบได้น้อยมาก นับแล้วมีน้อยกว่า 50 คนจากทั่วทุกมุมโลก และที่มีชื่อว่าสีทอง เป็นเพราะ ‘หายากและมีค่าดั่งทองคำ’ นั่นเอง เดิมถูกพบครั้งแรกในชาวอะบอริจิน หรือชาวออสเตรเลียพื้นเมือง กรุ๊ปเลือดสีทองนี้เป็นกรุ๊ปเลือดที่ไม่มีแอนติเจนประเภทไหนเลยในเซลล์เม็ดเลือดแดง
รู้อย่างนี้แล้วทุกคนอาจรู้สึกว่ามีความคล้ายคลึงกันกับกรุ๊ปเลือดลบหรือ Rh negative หรือเปล่า ซึ่งขอบอกตรงนี้เลยว่าต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะ Rh negative นั้นขาดเพียงแค่แอนติเจนดี (Antigen D) เท่านั้น แต่กรุ๊ปเลือดสีทองไม่พบเลยแม้แต่ชนิดเดียว
กรุ๊ปเลือดสี ทองพบได้มากน้อยแค่ไหน เมื่อเทียบกับประเภทอื่น
กรุ๊ปเลือดโดยปกติแล้วนอกจากจะแยกได้เป็น กรุ๊ปเลือดเอ กรุ๊ปเลือดบี กรุ๊ปเลือดเอบี และ กรุ๊ปเลือดโอ เรายังสามารถแบ่งได้ตามแอนติเจนดีได้ทั้งหมด 8 ประเภทหลัก ได้แก่ A positive (A+), A negative (A-), B positive (B+), B negative (B-), O positive (O+), O negative (O-), AB positive (AB+) และ AB negative (AB-) (อ่านเพิ่มเติม กรุ๊ปเลือด AB เกิดจากอะไร)
และแน่นอนว่ากรุ๊ปเลือดที่คนมีมากที่สุดในโลกคือ O positive โดยพบในชาวละตินมากถึง 53% ชาวแอฟริกัน-อเมริกัน 47% รองลงมาเป็นชาวเอเชีย 39% และคนผิวขาวหรือชาวคอเคเซียน 37%
ส่วนกรุ๊ปเลือดที่พบน้อยที่สุดก็คือ AB negative นั่นเอง ที่เทียบแล้วคนกรุ๊ปเลือดนี้มีเพียงประมาณ 1% เท่านั้นในโลกซึ่งพบในคนเอเชียเพียงแค่ 0.1% และพบ 1% ในคนผิวขาว ถือได้ว่ามากที่สุดจากคนชาติอื่น ทั้งนี้ยังพบอีกว่า ประชากรชาวสหรัฐอเมริกาจำนวน 167 คน จะพบเพียงแค่ 1 คนเท่านั้นที่มีกรุ๊ปเลือด AB negative
แต่เมื่อเทียบกันกับกรุ๊ปเลือดสีทองแล้วยังถือว่ากรุ๊ปเลือด AB มีจำนวนมากกว่า เพราะได้ถูกระบุว่ามีแค่ทั้งหมด 43 คนเท่านั้นในโลก ซึ่งจากข้อมูลก็พบอีกว่าใน 6 ล้านคนจะพบเพียง 1 คนเท่านั้น
การมีกรุ๊ปเลือดสีทองผิดปกติหรือไม่ ? เกิดขึ้นได้จากอะไรได้บ้าง ?
Rh-null หรือที่เรียกว่า “golden blood” เป็นลักษณะทางพันธุกรรมที่ผิดปกติและหายากมาก แม้จะไม่ถือว่าเป็นโรคร้ายแรง แต่ก็มีความเสี่ยงและข้อควรระวังทางการแพทย์ ลักษณะแบบนี้ เกิดจากการกลายพันธุ์ที่ทำให้เม็ดเลือดแดงไม่มีแอนติเจน Rh ใดๆ เลย ซึ่งปกติแล้วมนุษย์จะมีแอนติเจน Rh อย่างน้อยหนึ่งชนิดบนผิวเม็ดเลือดแดง การกลายพันธุ์นี้เกิดขึ้นได้เมื่อทั้งพ่อและแม่มียีนที่ผิดปกติและถ่ายทอดให้ลูก ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยากมาก
ผู้ที่มีเลือดชนิด Rh-null สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่อาจมีความเสี่ยงต่อภาวะโลหิตจางและปัญหาในการรับเลือด เนื่องจากสามารถรับเลือดได้เฉพาะจากผู้ที่มีเลือดชนิดเดียวกันเท่านั้น ซึ่งมีน้อยมากทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่มีเลือดชนิดนี้จึงต้องได้รับการดูแลทางการแพทย์เป็นพิเศษ โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องการการรักษาที่เกี่ยวข้องกับเลือด อย่างไรก็ตาม เลือดชนิดนี้มีคุณค่าอย่างมากในวงการแพทย์ เนื่องจากสามารถให้กับผู้ที่มีเลือด Rh-negative ได้ทุกคน จึงมีประโยชน์อย่างมากในกรณีฉุกเฉินหรือการรักษาพิเศษ
แม้ว่า Rh-null จะถือเป็นความผิดปกติ แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่มีเลือดชนิดนี้จะมีปัญหาสุขภาพร้ายแรง อย่างไรก็ตาม พวกเขาควรได้รับการดูแลและคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมและเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้นการเลือกที่จะมีลูกหรือสร้างครอบครัว กรุ๊ปเลือดเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องคำนึงถึง การตรวจเลือดหรือยีนส์ก่อนจึงสำคัญมากเช่นกัน หากเป็นเราหรือคู่ชีวิตที่มียีนเด่นผิดปกติ (Autosomal genes) ลูกที่เกิดมาอาจมีกรุ๊ปเลือดสีทองได้ รวมถึงการแต่งงานหรือมีลูกในเครือญาติที่ใกล้ชิดกันก็สามารถทำให้มีกรุ๊ปเลือดพิเศษนี้ได้เช่นกัน ในกรณีเหล่านี้ พวกเราอาจสามารถดูแลหรือป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นได้ แต่บางครั้งอาจเกิดจากยีนส์ที่กลายพันธุ์ไป และเราอาจไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย
เกร็ดสุขภาพ : แม้ว่ายีนของบรรพรุษจะไม่มียีนของกรุ๊ปเลือดชนิดพิเศษเลยก็ตาม แต่ก็สามารถมีโอกาสที่ลูกหลานจะมีกรุ๊ปเลือดสีทองได้ ซึ่งเกิดจากการวิวัฒนาการแบบสุ่ม (Random Mutations) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมตามธรรมชาติแบบไม่ได้ตั้งใจ
คนที่มีกรุ๊ปเลือดสีทองบริจาคเลือดได้หรือไม่
แม้ว่าจะเป็นกรุ๊ปเลือดพิเศษ แต่ก็สามารถบริจาคเลือดได้เหมือนกรุ๊ปเลือดอื่นๆ เลยค่ะ เลือดในลักษณะนี้เหมาะมากๆ สำหรับการให้เลือดกับคนที่มี Rh positive และnNegative เพราะจุดเด่นที่ว่าขาดแอนติเจนไป ส่งผลให้คนที่รับเลือดไม่เผชิญกับความเสี่ยงหรือผลข้างเคียงจากการถ่ายเลือด
กลับกันในกรณีที่ชาวกรุ๊ปเลือดสีทองต้องการเลือดกะทันหัน การมีเลือดกรุ๊ปนี้อาจไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก ควรจะต้องได้รับเลือดจากคนที่มี Rh null เหมือนกับตนเอง แต่ด้วยที่ว่าเป็นกรุ๊ปที่พบได้น้อยมาก ก็ยากที่จะหาคนที่มีเลือดกรุ๊ปเดียวกัน หากเลือกที่จะรับเลือดจากคนที่มีแอนติเจนในเม็ดเลือดแดง หรือชาว Rh positive และ Rh negative นั่นมีโอกาสสูงมากที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้
เมื่อเทียบกับ AB negative แล้ว กรุ๊ปเลือดนี้ถึงจะดูลำบากเมื่อจำเป็นต้องการถ่ายเลือด แต่ยังสามารถรับเลือดจากกรุ๊ปเลือดอื่นได้ทั้งหมด ใดๆ แล้วควรเป็น Rh negative เหมือนกันจึงจะดีที่สุด
เกร็ดสุขภาพ : วันที่ 14 มิถุนายนของทุกปี ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันบริจาคโลหิตโลก หรือ World Blood Donner Day เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันเกิดของ Dr. Karl Landsteiner แพทย์ผู้ค้นพบการจำแนกหมู่เลือด A B O ตามที่วงการแพทย์ใช้ในทุกวันนี้ และการถ่ายเลือดให้คนกรุ๊ปเดียวกัน ทำให้เซลล์เม็ดเลือดไม่ถูกทำร้าย และไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย
การมีเลือดประเภทนี้ถึงจะแปลกแต่ไม่ใช่สิ่งที่แย่ เพียงแต่กรุ๊ปเลือดสีทองที่หาได้ยากนี้จะต้องดูแลตัวเองมากกว่าคนอื่นเล็กน้อย เพราะหากเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้นมาแล้ว อาจเป็นการยากที่จะพบคนบริจาคเลือดกรุ๊ปเดียวกันได้ จนสุดท้ายแล้วต้องรับความเสี่ยงจากการรับเลือดที่ไม่แมชกันมากพอในการเข้ารับการรักษา ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อร่างกายหรือมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้นั่นเอง และกรุ๊ปเลือดอื่นๆ ก็ต้องดูแลตัวเองด้วยเช่นกัน แม้เลือดจะสามารถหาได้ง่ายกว่าก็ตาม แต่การดูแลสุขภาพตัวเองอย่าง กินตามกรุ๊ปเลือด ก็จะทำให้ร่างกายมีสุขภาพดีค่ะ
Featured Image Credit : freepik.com/atlascompany
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ