“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
โรคในผู้สูงอายุ มีอะไรบ้าง ? มาเข้าใจผู้สูงอายุ และดูแลผู้สูงอายุให้เก่งกว่าเดิมกัน !
การเข้าสู่วัยสูงอายุ เป็นการผ่านประสบการณ์ชีวิตที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและจิตใจ ผู้สูงอายุมีความหลากหลายทั้งในเรื่องของวิถีชีวิต ประสบการณ์ และภาวะสุขภาพ (อ่านเพิ่มเติม ผู้สูงอายุ มีกี่ประเภท) ผู้สูงอายุมักพบกลุ่มโรคต่างๆ ที่สัมพันธ์กับการเสื่อมของร่างกายและสติปัญญา ซึ่งต้องการการดูแลทางการแพทย์และทางสังคมที่เหมาะสม ถ้าหากลูกหลานเข้าใจ โรคในผู้สูงอายุ ได้มากขึ้น ก็จะดูแลผู้สูงอายุได้ดีขึ้น ทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพแข็งแรงและมีสุขภาวะที่ดีตามมา โรคที่จะเกิดขึ้นในวัยสูงอายุมีโรคอะไรบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ
โรคในผู้สูงอายุ มีอะไรบ้าง ชวนรู้จักเพื่อดูแลผู้สูงอายุให้เหมาะสม
ผู้สูงอายุแต่ละท่านเป็นผู้ผ่านการเปลี่ยนแปลงที่มีเสน่ห์แตกต่างกันไป อาจเป็นผู้ที่พบความสุขในความธรรมดาของกิจวัตรประจำวัน และอาจเป็นคนที่ยังเผชิญกับความเดือดร้อนทุกข์ใจ ประสบการณ์เหล่านี้สร้างเส้นทางของความรู้สึก ความคิด และการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน บางท่านจึงมีการแสดงออกทางสังคมที่แข็งแกร่ง เช่น การร่วมกิจกรรมกับครอบครัวหรือการรับบทบาทของครู หรือเป็นที่พึ่งพาของชุมชน ในทางกลับกัน บางท่านอาจพบว่าตนเองต้องการการสนับสนุนช่วยเหลือเนื่องจากความเหงาหงอย รู้สึกโดดเดี่ยว ไม่ค่อยพูด บางท่านต้องเผชิญกับโรคในผู้สูงอายุ และบางท่านเป็นหนึ่งในผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง 4 กลุ่ม ทั้งนี้ การเข้าใจผู้สูงอายุให้มากขึ้น ก็จะสามารถจัดการดูแลผู้สูงอายุได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาความสุขและคุณภาพชีวิตของทุกคนในครอบครัว โรคที่จะเกิดขึ้นในวัยสูงอายุมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ
เกร็ดสุขภาพ : สาเหตุที่ผู้สูงอายุมีสุขภาพไม่แข็งแรงหรือมีโรคประจำตัว มีภาวะเจ็บป่วยเรื้อรัง หรือผู้สูงอายุ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ก็เนื่องจากความเสื่อมของร่างกายที่มีการเสื่อมสภาพลงไปตามอายุขัย ทำให้อวัยวะต่างๆ ทำงานได้ไม่ดีเหมือนเดิม เป็นสาเหตุทำให้ผู้สูงอายุเจ็บป่วยหรือมีโรคเรื้อรัง ทั้งนี้ หากในวัยผู้ใหญ่มีการดูแลสุขภาพไม่ดีหรือไม่ใส่ใจสุขภาพของตัวเอง ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเจ็บป่วยได้มากขึ้น
1. โรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Diseases)
หนึ่งในปัญหาสำคัญที่ผู้สูงอายุต้องเผชิญคือ โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง จนส่งผลให้เกิดความเสื่อมของระบบอื่นๆ ในร่างกาย นอกจากนี้ ยังเป็นสาเหตุของอาการหัวใจวาย การดูแลเรื่องอาหารและการออกกำลังกายเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกัน รวมทั้งการตรวจร่างกายสม่ำเสมอช่วยลดความรุนแรงของโรคได้
2. ภาวะสมองเสื่อม
โรคในผู้สูงอายุที่พบได้บ่อยอีกโรคหนึ่งคือ ภาวะสมองเสื่อม การเสื่อมลงของฟังก์ชันสมองทำให้ไม่สามารถทำกิจวัตรบางอย่างได้ และทำให้ผู้สูงวัยมีอาการหลงๆ ลืมๆ หรือสับสน พบได้ทั้ง Dementia และ Alzheimer ซึ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้นตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น การให้ความสนใจ เอาใจใส่ และการช่วยเหลือในกิจวัตรประจำวัน ร่วมกับการบำบัดทางสมอง การทำกิจกรรมที่กระตุ้นการทำงานของสมอง และการสนับสนุนทางจิตใจจะช่วยลดความเสี่ยงและลดความรุนแรงของโรคได้
3. โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคในผู้สูงอายุที่เกิดจากหลอดเลือดหัวใจหรือหลอดเลือดสมองมีภาวะตีบตันหรือมีการแตกของหลอดเลือด ทำให้เกิดผลข้างเคียงทางระบบประสาท สูญเสียความสามารถในการดำรงชีวิต ในบางรายอาจกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงหรือเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต การป้องกันโรคนี้ทำได้ด้วยการดูแลเรื่องอาหารการกิน และการออกกำลังกายที่เหมาะสม
4. โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus)
โรคในผู้สูงอายุมักจะหนีไม่พ้นโรคเบาหวาน ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยทั้งพันธุกรรมและพฤติกรรมการดูแลสุขภาพ การใส่ใจเรื่องอาหารการกิน การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด การดูแลสุขภาพอย่างเข้มงวดและการตรวจสุขภาพประจำปีเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อป้องกันการพัฒนาของโรค
5. ภาวะซึมเศร้า (Depression)
ภาวะซึมเศร้าเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในวัยสูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคเรื้อรังทางกาย ขาดสมรรถภาพในการช่วยเหลือตัวเอง และขาดการดูแลเอาใจใส่จากครอบครัว ก็อาจทำให้เกิดโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุได้ โดยผู้สูงอายุจะมีอาการต่างๆ เช่น มีการนอนหลับผิดปกติ เบื่ออาหาร ขาดความสนใจสิ่งรอบข้าง รู้สึกผิด ขาดสมาธิ รู้สึกไม่มีคุณค่า และถ้าหากมีอาการรุนแรงก็อาจมีความคิดอยากฆ่าตัวตายได้ วิธีป้องกันก็คือ ควรดูแลเอาใจใส่ด้านจิตใจของผู้สูงอายุ ไม่ควรให้ท่านรู้สึกเหงาหรือรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่ทอดทิ้งท่าน และถามไถ่ความเป็นอยู่เสมอๆ ไปเยี่ยมเยียนท่านบ่อยๆ เป็นต้น
เกร็ดสุขภาพ : ภาวะทางสุขภาพจิตของผู้สูงอายุก็เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจและให้ความสำคัญไม่แพ้กับสุขภาพกาย ซึ่งโรคทางจิตเวชในผู้สูงอายุก็มีอยู่หลายโรคเช่นกัน อาทิ โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล มีความเครียดสูง อารมณ์แปรปรวน มีปัญหาด้านการนอนหลับ หรือเป็นโรคจิตเภท โดยจะมีอาการหลงผิด หูแว่ว เป็นต้น การสังเกตความผิดปกติในผู้สูงอายุได้เร็วและพาไปพบแพทย์ได้ไว ก็จะเป็นการป้องกันไม่ให้อาการทรุดหนักลงได้
ชวนรู้จัก ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง 4 กลุ่ม และการดูแลผู้สูงอายุอย่างเหมาะสม
การดูแลผู้สูงอายุเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ต้องพิจารณาทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม การสนับสนุนจากครอบครัวและชุมชนมีความสำคัญอย่างมาก รวมทั้งการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยน่าอยู่จะช่วยเพิ่มความสุขของทั้งผู้สูงอายุและผู้ดูแล ซึ่งเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ภาครัฐตระหนักความสำคัญข้อนี้ มีโครงการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุข LTC ( Long Term Care) สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง 4 กลุ่ม มีการแบ่งผู้สูงอายุที่เข้าภาวะพึ่งพิงเป็น 4 ระดับ ตามความต้องการด้านบริการสุขภาพที่มากน้อยต่างกัน ดังนี้
- กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวได้เองบ้าง และอาจมีปัญหาทางกิน หรือขับถ่าย แต่ไม่มีภาวะทางสมอง
- กลุ่มที่ 2 อาการเหมือนกับระดับที่ 1 แต่มีภาวะสับสนทางสมองร่วมด้วย
- กลุ่มที่ 3 เคลื่อนไหวเองไม่ได้ ต้องมีผู้ช่วยเหลือดูแลการกิน การขับถ่าย และมีการเจ็บป่วยรุนแรง
- กลุ่มที่ 4 อาการเหมือนระดับที่ 3 แต่มีโรคในผู้สูงอายุที่ภาวะเจ็บป่วยรุนแรงอยู่ในระยะท้ายของชีวิต
ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง 4 กลุ่มนี้ จะได้รับการสนับสนุนการดูแลด้านสุขภาพที่บ้านจากเงินสนับสนุนและบุคลากรทางภาครัฐ เพื่อลดความตึงเครียดและภาระของครอบครัวที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการดูแลผู้สูงอายุ ทั้งยังเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้ครอบครัวไม่ทอดทิ้งผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยยาวนานอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การรักษาทางการแพทย์และการตรวจสุขภาพเป็นประจำเป็นส่วนสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อตรวจสอบอาการหรือโรคที่อาจเกิดขึ้นและดำเนินการรักษาทันทีเพื่อชะลอเวลาการเข้าสู่ภาวะพึ่งพิง การพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์และเทคโนโลยีการแพทย์เพื่อการดูแลผู้สูงอายุก็เป็นสิ่งสำคัญ เช่น เทคโนโลยีการแสดงข้อมูลทางการแพทย์ผ่านแอปพลิเคชันหรืออุปกรณ์ที่สามารถช่วยในการติดตามสุขภาพและรับข้อมูลต่าง ๆ เป็นต้น
วิธีดูแลผู้สูงอายุให้ดีขึ้นกว่าเดิม ทำได้อย่างไร ?
- การประเมินสุขภาพอย่างต่อเนื่อง : ประเมินสุขภาพโดยรวมเพื่อทราบถึงสภาพร่างกายและสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ
- วางแผนการดูแล : สร้างแผนดูแลที่เหมาะสมตามความต้องการของผู้สูงอายุ ครอบคลุมทั้งทางการแพทย์ จิตใจ และสังคม
- การดูแลร่างกาย : ดูแลเรื่องอาหาร สุขอนามัย การออกกำลังกายที้เหมาะสมเพื่อส่งเสริมสุขภาพร่างกาย
- การดูแลด้านจิตใจ : การสนับสนุนทางอารมณ์และสร้างสิ่งแวดล้อมที่มีความสุข มีกิจกรรมท่องเที่ยว หรือสันทนาการ
- การติดตามการรักษาทางการแพทย์ : ติดตามการนัดหมายทางการแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง และมีการตรวจร่างกายประจำปีอย่างสม่ำเสมอ
- การสร้างสังคม : เข้าร่วมกิจกรรมสังคม งานบุญ งานวัด หรือการจัดงานสำหรับผู้สูงอายุได้พบปะสังสรรค์ เพื่อให้ผู้สูงอายุคลายความเหงา ความโดดเดี่ยว และทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตัวเองยังเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
- การจัดหาการดูแล : หากมีโรคในผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องมีการดูแล ค้นหาและจัดหาบริการที่เหมาะสม เช่น การหาหมอเฉพาะโรคเพื่อติดตามอาการ หรือการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง
- การติดตามและประเมิน : ติดตามผลลัพธ์ของการดูแลและประเมินความต้องการเพื่อปรับปรุงแผนการดูแลต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาวะที่ดีในระยะยาว
โรคในผู้สูงอายุ ไม่ใช่แค่ความท้าทายในด้านสุขภาพเท่านั้น แต่รวมถึงสถาพจิตใจและสังคมด้วย การดูแลผู้สูงอายุจึงควรดำเนินการอย่างรอบคอบ ให้การสนับสนุนทั้งทางทางการแพทย์ จิตใจและสังคมอย่างรอบด้าน สร้างสังคมที่เข้มแข็ง เคารพความต้องการและตัวตนของผู้สูงอายุเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง 4 กลุ่ม ยิ่งต้องเน้นการให้ความรัก ความเข้าใจ การสนับสนุนทั้งทางร่างกายและจิตใจ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และการพัฒนากลยุทธ์ในการรักษาสุขภาพ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายสังคมและระบบสนับสนุนในชุมชนเพื่อให้ผู้สูงอายุได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขตลอดอายุขัย
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : nhso.go.th, who.int, academic.oup.com
Featured Image Credit : vecteezy.com/Mladen Mitrinovic
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ