X

แพ้อาหาร มีอะไรบ้าง ? อาการเป็นยังไง ปกติคนแพ้อาหารอะไรมากที่สุด !

เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡

แพ้อาหาร มีอะไรบ้าง ? อาการเป็นยังไง ปกติคนแพ้อาหารอะไรมากที่สุด !

สำหรับคนเป็นภูมิแพ้ ไม่ว่าจะเป็นโรคภูมิแพ้อากาศ สาเหตุมาจากมลพิษฝุ่นควันต่างๆ หรือการแพ้ขนสัตว์ แพ้เกสรดอกไม้ อาการแพ้นั้นมักก่อให้เกิดความรำคาญใจ บางคนแพ้มากจนจามน้ำมูกไหล น้ำตาไหล หรือบางคนถึงขั้นหายใจไม่ออก ทั้งนี้ นอกจากการแพ้อื่นๆ แล้ว ยังมีโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่งที่สร้างความลำบากในการใช้ชีวิตและต้องระมัดระวังตัวเองเป็นพิเศษคือ ภูมิแพ้อาหาร หรือการแพ้อาหารนั่นเอง ในคนที่ไม่มีประวัติการแพ้อาหาร อาจสามารถกินอาหารประเภทต่างๆ ได้อย่างสบายใจ แต่สำหรับผู้ที่แพ้อาหาร อาการอาจกำเริบรุนแรง จนถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ หากเผลอรับประทานอาหารชนิดนั้นๆ เข้าไป ซึ่งอาหารที่ทำให้เกิดการแพ้ได้นั้น ก็มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน มาดูกันว่า แพ้อาหาร มีอะไรบ้าง ที่ทำให้แพ้ และผู้ที่แพ้อาหาร ควรดูแลตัวเองอย่างไร จะได้ปลอดภัยและไม่ทำให้เกิดการแพ้ได้ ไปอ่านกันเลยค่ะ

ชวนรู้จัก อาการแพ้อาหาร (Food Allergy) แพ้อาหาร มีอะไรบ้าง ที่ควรระวัง ?!

อาการแพ้อาหาร หรือภูมิแพ้อาหาร เป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีการตอบสนองต่ออาหารบางประเภทมากผิดปกติ ตั้งแต่ระดับเล็กน้อยไปจนถึงระดับรุนแรง เมื่อเรากินอาหารชนิดนั้นๆ เข้าไป ระบบภูมิคุ้มกันจะคิดว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมและอันตราย จากนั้นก็จะกระตุ้นแอนติบอดี้ให้มาจัดการกับอาหารชนิดนั้นๆ ทำให้เราเกิดอาการแพ้ขึ้นมา เช่น ชา คันที่ปาก มีผื่นขึ้น หรือบวมบริเวณใบหน้า ดวงตา เป็นต้น และบางรายถึงขั้นแพ้รุนแรงจนอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ซึ่งการแพ้อาหาร มีอะไรบ้างที่คนส่วยใหญ่มักจะแพ้กัน ไปดูกันเลยค่ะ

1. นมวัว

แพ้อาหาร มีอะไรบ้าง, แพ้อาหาร อาการ
Image Credit : freepik.com

การแพ้นมวัว มักจะพบได้บ่อยในเด็กเล็ก แต่โดยส่วนใหญ่แล้วอาการจะดีขึ้นเมื่ออายุ 3 ขวบ ทำให้อาการแพ้นมวัวพบน้อยมากในผู้ใหญ่ แต่อย่างไรก็ตาม อาจมีในบางรายที่ยังคงแพ้รุนแรง โดยอาการจะเกิดขึ้นเมื่อรับประทานอาหารชนิดนี้ภายใน 5 – 30 นาที และจะเกิดการแพ้ คือ มีอาการบวม มีผื่นลมพิษ อาเจียน เป็นต้น และในบางรายการกินผลิตภัณฑ์จากนมวัวก็ทำให้ท้องอืด ท้องผูก ท้องเสีย ซึ่งเป็นอาการแพ้ที่ไม่รุนแรง ทั้งนี้ ผู้ที่แพ้นมวัว ควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณณ์จากนมวัวทุกชนิด นมผง ชีส เนย มาการีน โยเกิร์ต ครีม ไอศกรีม เป็นต้น และอาจกินผลิตภัณฑ์นมอื่นๆ แทน เช่น Oat Milk คือ นมจากข้าวโอ๊ต ที่มีโปรตีน และผู้ที่แพ้นมวัวสามารถดื่มได้

2. ไข่

แพ้อาหาร มีอะไรบ้าง ? หนึ่งในอาหารที่พบได้บ่อยคือ ไข่ และมักจะพบในเด็ก โดยโปรตีนส่วนใหญ่ที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้นั้นจะพบได้ในไข่ขาว จึงพบการแพ้ไข่ขาวได้มากกว่า การแพ้ไข่จะทำให้ปวดท้อง มีลมพิษ เป็นผดผื่น หายใจไม่ออก ซึ่งคนที่แพ้ไข่ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนประกอบของไข่ทั้งหมด โดยเฉพาะขนมเบเกอรี่ที่มักจะใช่ไข่เป็นส่วนประกอบโดยหลัก

3. ถั่วเปลือกแข็ง

ถั่วก็เป็นอาหารที่ทำให้เกิดการแพ้ได้ ไม่ว่าจะเป็นถั่วบราซิล ถั่วอัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ถั่วแมคคาเดเมีย พิซตาซิโอ วอลนัท ถั่วลิสง และอื่นๆ ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์จากถั่ว เช่น เนยถั่ว นมถั่ว หรือนำมันจากถั่วด้วย และอาการแพ้ถั่วนั้น มักจะเป็นไปตลอดชีวิต และยังมีผู้ที่มีอาการแพ้ถั่วรุนแรงจนถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตจำนวนไม่น้อย คนที่แพ้ถั่ว ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานถั่วทุกชนิด ไม่ใช่เฉพาะถั่วประเภทที่ตัวเองแพ้เท่านั้น เพราะมีแนวโน้มที่จะแพ้ถั่วชนิดอื่นๆ ได้ด้วย

4. ถั่วเหลือง

นอกจากการแพ้ถั่วเปลืองแข็งแล้ว ก็ยังมีผู้ที่แพ้ถั่วเหลืองด้วย และมักพบในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปี ซึ่งการแพ้ถั่วเหลือง รวมถึงอาหารแปรรูปอื่นๆ ที่มาจากถั่วเหลืองด้วย ไม่ว่าจะเป็นเต้าหู้ นัตโตะ นมถั่วเหลือง ซอสถั่วเหลือง เมนูกากถั่วเหลือง และถั่วเหลืองยังพบได้ในอาหารชนิดอื่นๆ ตามท้องตลาดอีกมากมาย ดังนั้น จึงควรอ่านฉลากอาหารก่อนบริโภคทุกครั้ง เพราะอาหารบางชนิดจะมีการเขียนกำกับว่า “อาหารชนิดนี้มีส่วนประกอบจากถั่วเหลือง” หรือ “มีเลซิทินจากถั่วเหลือง” ซึ่งควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารนั้นๆ ค่ะ

5. แพ้สัตว์ทะเลเปลือกแข็ง

แพ้อาหาร มีอะไรบ้าง, แพ้อาหาร อาการ
Image Credit : freepik.com

อาหารทะเลจำพวกกุ้ง กั้ง ปู ปลาหมึก หอยเชลล์ ก็ทำให้เกิดการแพ้ได้ โดยสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดการแพ้อาหารทะเลประเภทนี้คือ โปรตีนที่เรียกว่าโปไมโอซิน และโปรตีนชนิดอื่นๆ ที่จะไปกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน เช่น โปรตีนอาร์จินีไคเนสและพาร์วาลบูมิน ทั้งนี้ คนที่กินอาหารทะเลแล้วมีอาการท้องเสีย อาเจียน ปวดท้อง อาจเกิดจากสิ่งปนเปื้อนในอาหารเช่น แบคทีเรีย ไวรัส หรือปรสิต หรือมีการปรุงที่ไม่สะอาดได้ ดังนั้น ควรทำการทดสอบการแพ้ที่โรงพยาบาล เพื่อที่จะได้หาสาเหตุที่ชัดเจนค่ะ

6. แพ้ข้าวสาลี

การแพ้ข้าวสาลี มักเกิดขึ้นได้กับผู้ที่แพ้โปรตีนชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในข้าวสาลี แต่อาการแพ้ข้าวสาลี มักจะถูกสับสนกับโรค Celiac และความไวต่อกลูเตนที่ไม่ใช่โรค Celiac ซึ่งมักมีอาการคล้ายกัน และการทำการทดสอบการแพ้อาหารจะทำให้ทราบสาเหตุที่ชัดเจนได้ โดยผู้ที่แพ้ข้าวสาลีจะต้องหลีกเลี่ยงอาหารทั้งหมดที่ทำจากข้าวสาลี ตลอดจนผลิตภัณฑ์ด้านความงามหรือเครื่องสำอางที่ที่มีข้าวสาลีเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วยเช่นกัน

7. ปลา

แพ้อาหาร มีอะไรบ้าง ? หนึ่งในนั้นคือปลาค่ะ มีคนแพ้ปลาเป็นจำนวนไม่น้อย เช่นเดียวกับการแพ้หอยหรือแพ้กุ้ง และการแพ้ปลาอาจทำให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยจะมีอาการหลักๆ คือ อาเจียน ท้องเสีย ท้องร่วง หรือมีอาการภูมิแพ้อื่นๆ ทั้งนี้ อาการอาจเกิดจากการกินปลาทะเลที่ไม่สะอาด และมีสารปนเปื้อนอย่างแบคทีเรีย ไวรัส หรือสารพิษอื่นๆ ดังนั้น ผู้ที่กินปลาแล้วมีอาการไม่พึงประสงค์อยู่บ่อยๆ ควรไปทำการทดสอบการแพ้อาหาร เพื่อที่จะได้ทราบผลอย่างชัดเจนค่ะ

เกร็ดสุขภาพ : ผู้ที่กังวลว่าตัวเองจะมีอาการแพ้อาหารอะไรบ้างหรือไม่ สามรถทดสอบอาการแพ้อาหารเบื้องต้นได้โดยการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin Prick Tests) โดยผู้ทดสอบจะต้องไม่มีอาการเจ็บป่วยอย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนวันทำการทดสอบ และงดรับประทานยาแก้แพ้ 1 สัปดาห์ ก่อนวันที่ทำการทดสอบ เมื่อทดสอบแล้วจะรู้ผลภายใน 15 – 20 นาที และวิธีที่สองคือ การตรวจเลือด (Blood Test For Specific IgE) โดยไม่ต้องงดยาแก้แพ้ก่อนการทดสอบ ซึ่งจะรู้ผลภายใน 3 – 5 วัน

อาการแพ้อาหารเป็นยังไง ?  มีกี่ระดับ ?

แพ้อาหาร มีอะไรบ้าง, แพ้อาหาร อาการ
Image Credit : freepik.com

จากข้างต้น เราก็ได้รู้กันแล้วว่ามีอาหารอะไรบ้างที่ทำให้เกิดการแพ้ รวมถึงอาการที่แสดงถึงการแพ้ต่างๆ ทั้งนี้ แพ้อาหาร อาการจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ

  1. แพ้ชนิดไม่เฉียบพลัน ซึ่งจะมีอาการแบบช้าๆ และจะแสดงอาการเมื่อผ่านไปหลายชั่วโมงหรือเป็นวันหลังจากรับประทานอาหารชนิดนั้นๆ เข้าไปแล้ว เช่น เป็นผื่นเรื้อรัง มีผื่นแดงคัน และในเด็กมักจะเป็นผื่นบริเวณแก้มหรือข้อพับ นอกจากนี้ อาจมีการอาเจียน อาการถ่ายเหลว และถ่ายเหลวรุนแรงได้ 
  2. แพ้ชนิดเฉียบพลัน จะมีอาการตาบวม ปวกบวม เป็นผื่นลมพิษ ไอ แน่นหน้าอก หลอดลมตีบ หายใจไม่ออก ปวดท้อง อาเจียน โดยอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นภายใน 30 – 60 นาทีหลังจากรับประทานอาหารชนิดนั้นๆ เข้าไป 
  3. แพ้ชนิดรุนแรง เป็นการแพ้อาหาร อาการที่แพ้ในระดับรุนแรงที่สุดและอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ โดยอาการที่เกิดขึ้นคือ มีผื่นแเดงตามผิวหนัง เป็นลมพิษ มีผื่นคัน ผิวหนังแดงหรือซีด รู้สึกเวียนศีรษะ หน้ามืด รู้สึกเหมือนจะเป็นลม คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสียรุนแรง ทางเดินหายใจหดตัว ชีพจรเต้นเร็วผิดปกติ ไปจนถึงขั้นช็อก ความดันโลหิตลดลง และอาจเสียชีวิตได้ ซึ่งคนที่มีอาการแพ้รุนแรง ต้องรีบพบแพทย์ทันทีและไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด

เกร็ดสุขภาพ : ถ้ามีอาการแพ้อาหารเกิดขึ้น หรือพบเจอคนมีอาการแพ้อาหาร สิ่งแรกที่ควรทำคือ ตั้งสติ ไม่ตื่นตระหนก และรีบขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง หรือโทรเรียกรถพยาบาลทันทีก่อนที่อาการจะทรุดหนัก และถ้าผู้ที่แพ้อาหารรู้สึกเวียนศีรษะ หน้ามืด จะเป็นลม ให้นั่งหรือนอนในท่าที่เหมาะสมและรู้สึกหายใจสะดวก และสามารถรับประทานยาแก้แพ้ได้เบื้องต้น แต่ยาที่ใช้ในการรักษาอาการแพ้เฉียบพลันคือ อะดรีนาลีน ซึ่งมีในสถานพยาบาลเท่านั้น แต่สำหรับผู้ที่เคยได้รับการวินิจฉัยยืนยันมาแล้วว่าแพ้อาหารรุนแรง จะได้รับยาชนิดนี้พกติดตัว ซึ่งสามารถใช้ยาตัวนี้ฉีดบริเวณกล้ามเนื้อต้นขาก่อนที่จะมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลได้ และนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดในทันที

สาเหตุของการแพ้อาหาร มีอะไรบ้าง ?

  • คนในครอบครัวเคยมีอาการแพ้อาหารชนิดนั้นๆ มาก่อน และถ้าหากคนในครอบครัวมีประวัติเป็นภูมิแพ้ เป็นหอบหืด หรือเป็นลมพิษ ก็มีโอกาสที่เราจะมีอาการแพ้ หรือเป็นภูมิแพ้อาหารมากขึ้น
  • เคยเป็นภูมิแพ้ประเภทอื่นมาก่อน หรือมีประวัติแพ้อาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง ก็มีโอกาสที่จะเป็นภูมิแพ้อาหารประเภทอื่นๆ เพิ่มเติมได้ 
  • อายุ โดยส่วนใหญ่แล้ว อาหารแพ้อาหารจะพบได้บ่อยในวัยเด็กหรือวัยทารก และเมื่อโตขึ้น ระบบย่อยอาหารจะดูดซึมสารอาหารได้น้อยลง ซึ่งจะทำให้เกิดอาการแพ้น้อยลงด้วย แต่ทั้งนี้ อาการแพ้ถั่ว สัตว์ทะเลเปลือกแข็ง และอาการแพ้แบบรุนแรง มีแนวโน้มว่าจะเป็นตลอดชีวิต

วิธีดูแลตัวเองสำหรับคนที่แพ้อาหาร มีอะไรบ้างที่ควรทำ ?

แพ้อาหาร มีอะไรบ้าง, แพ้อาหาร อาการ
Image Credit : freepik.com

หากทราบว่าตัวเองแพ้อาหารชนิดใดแบบชัดเจนแล้ว ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทนั้นๆ โดยเด็ดขาด เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพร่างกาย อย่างไรก็ตาม อาหารที่แพ้อาจจะผสมหรือถูกแปรรูปอยู่ในอาหารชนิดอื่นๆ ด้วย ดังนั้น จึงควรดูแลตัวเองตามนี้ค่ะ

  1. อ่านฉลากสินค้าก่อนทุกครั้งที่ซื้ออาหารหรือเครื่องดื่ม เพื่อตรวจสอบดูว่ามีส่วนผสมที่เป็นอาหารที่ก่อให้เกิดการแพ้หรือไม่ ซึ่งจะต้องระวังเป็นอย่างมากโดยเฉพาะคนที่มีอาการแพ้แบบรุนแรง ที่อาจรับประทานเข้าไปโดยไม่รู้ว่ามีส่วนผสมนั้นๆ อยู่ ก่อให้เกิดอันตรายได้ 
  2. เวลาไปรับประทานอาหารนอกบ้าน ต้องบอกผู้ประกอบอาหารหรือบอกพนักงานทุกครั้งว่าแพ้อาหารประเภทใดบ้าง เพื่อที่จะได้เป็นการป้องกันไม่ให้คนปรุงอาหารใส่ส่วนผสมนั้นๆ ลงในอาหารของเรา เช่น ในกรณีคนที่แพ้ถั่วลิสง และมักจะถูกใส่ในเมนูผัดไทย ก๋วยเตี๋ยวต้มยำ เป็นต้น 
  3. ทำสัญลักษณ์การแพ้อาหารติดตัว โดยเฉพาะคนที่มีอาการแพ้อาหารอย่างรุนแรง เพราะถ้าเกิดเหตุสุดวิสัยขึ้นมา อาจทำให้เราไม่ได้สติ จึงควรหาสัญลักษณ์ทางการแพทย์ที่บ่งบอกได้ว่าตนแพ้อาหารมาสวมใส่ ไม่ว่าจะเป็นสร้อยข้อมือ สร้อยคอ ที่สามารถพกติดตัวได้ เพื่อที่คนรอบข้างจะได้ทราบว่าเราแพ้อาหารชนิดใดและสามารถโทรเรียกรถพยาบาลได้ ในกรณีที่อาจเกิดอาการแพ้รุนแรงจนเป็นลมหมดสติ ไม่สามารถสื่อสารได้ 
  4. นำอาหารไปรับประทานเอง ในกรณีที่ต้องเดินทางและไม่แน่ใจว่าร้านอาหารหรือร้านค้าต่างๆ จะมีอาหารที่มีส่วนประกอบเป็นสิ่งที่เราแพ้หรือไม่ เพื่อความมั่นใจและความปลอดภัย 100% การนำเอาอาหารไปรับประทานเอง ก็เป็นวิธีที่ดี แต่ถ้าไม่สามารถนำเอาอาหารไปรับประทานเองได้จริงๆ การเลือกร้านอาหารที่ดูปลอดภัยและปราศจากวัตดุดิบที่เราแพ้ ก็เป็นทางออกที่ดีค่ะ เช่น ในกรณีที่แพ้ถั่วลิสง การเข้าร้านอาหารตามสั่งก็น่าจะปลอดภัยกว่าการเข้าร้านก๋วยเตี๋ยวอย่างแน่นอน

การแพ้อาหาร นับเป็นสิ่งที่ควรระวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะในบางรายที่มีอาการแพ้อาหารชนิดนั้นๆ อย่างรุนแรง ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ และแพ้อาหาร มีอะไรบ้างนั้น โดยหลักๆ แล้ว ก็ได้แก่ แพ้นมวัว แพ้ไข่ แพ้ถั่วเปลือกแข็ง แพ้ถั่วเหลือง แพ้สัตว์ทะเลเปลือกแข็งอย่างกุ้ง กั้ง ปู แพ้ข้าวสาลี และแพ้ปลา เป็นต้น ในผู้ที่มีอาการแพ้อย่างรุนแรงอาจจะต้องพกเครื่องฉีดอะดรีนาลินติดตัว ในกรณีที่เผลอกินอาหารที่แพ้เข้าไปโดยไม่ได้ตั้งใจ และสำหรับคนที่สงสัยว่าตัวเองแพ้อาหารอะไรหรือไม่ ก็สามารถไปทำการทดสอบการแพ้อาหารเบื้องต้นที่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลได้ เพื่อความมั่นใจและความปลอดภัย ทั้งนี้ ในผู้ที่แพ้อาหารต่างๆ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารชนิดนั้นๆ และควรอ่านฉลากอาหารทุกครั้งก่อนบริโภค เพื่อความปลอดภัยของตัวเองนะคะ

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : sukumvithospital.com, bangkokhospital.com, mayoclinic.org, healthline.com

Featured Image Credit : freepik.com/bearfotos

ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ

ติดต่อโฆษณา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้การวิเคราะห์

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

Save