“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
อาการไข้ทับระดู เกิดจากอะไร ? ชวนหาคำตอบพร้อมรู้จักอาการไข้ทับ 8 ประการ !
ไข้ทับระดู เป็นอาการป่วยที่พบได้ในผู้หญิงที่ยังอยู่ในวัยมีประจำเดือน อาการไข้ทับระดู เกิดจากฮอร์โมนในร่างกายมีความแปรปรวนและไม่สมดุลในช่วงมีประจำเดือน ผู้หญิงที่มีอาการไข้ทับระดูจะรู้สึกไม่สบายตัว มีไข้ต่ำๆ ปวดท้อง ปวดหลัง โดยทั่วไปมีอาการไม่รุนแรงและสามารถหายได้เองจากการกินยาลดไข้ หรือยาแก้ปวด แต่ถ้าหากมีอาการรุนแรง อาทิ ไข้สูง หนาวสั่น รู้สึกคลื่นไส้ และอาเจียน ร่วมกับอาการตกขาวมากกว่าปกติ ควรต้องรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจจะมีการติดเชื้อได้ ไม้ว่าจะเป็นเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อรา ซึ่งแพทย์อาจสั่งยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อเพื่อรักษาอาการ
เรามาดูกันดีกว่าว่า สาเหตุเบื้องลึกเบื้องหลังของอาการไข้ทับระดู เกิดจากอะไร และควรดูแลตัวเองอย่างไรเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการเกิดไข้ทับระดูขึ้น หากสาวๆ คนไหนเคยเป็นมาก่อนก็คงจะรู้ดีว่าไม่สบายตัวเลยสักนิด บางรายถึงขั้นนอนซมทั้งวันเลยทีเดียว และนอกจากไข้ทับระดูแล้ว รู้หรือเปล่าว่ายังมีไข้ทับอื่นๆ อีกด้วยนะ วันนี้ทีมงานเพื่อสุขภาพจะพาไปเจาะลึกสาเหตุของไข้ทับระดูกัน และพาไปรู้จักกับอาการไข้ทับ 8 ประการ จะเป็นยังไงบ้างนั้น ไปดูกันเลย
ชวนชี้ชัด ! อาการไข้ทับระดู เกิดจาก อะไร ?
เป็นไปได้ว่า อาการไข้ทับระดู เกิดจาก ความแปรปรวนของฮอร์โมนในร่างกาย ทั้งฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ซึ่งเกิดความเสียสมดุลในระหว่างช่วงที่มีประจำเดือน ทั้งยังมีผลมาจากสารพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandins) ที่อยู่ในเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นให้มดลูกบีบตัวเพื่อขับเยื่อบุโพรงมดลูกออกมา ส่งผลทำให้รู้สึกปวดท้อง ปวดหัว เวียนหัว และรู้สึกไม่สบายตัวได้
นอกจากนี้ ไข้ทับระดูที่มีอาการรุนแรง อาจเกิดจากภาวะปีกมดลูกอักเสบ ซึ่งมีการติดเชื้อบริเวณปีกมดลูก ท่อนำไข่ และมดลูก ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ และเกิดจากการทำความสะอาดอวัยวะเพศอย่างไม่ถูกวิธีในช่วงที่มีประจำเดือน ก็ทำให้เกิดการติดเชื้อได้เช่นกัน
เกร็ดสุขภาพ : นอกจากไข้ทับระดูแล้ว ในช่วงก่อนมีประจำเดือนผู้หญิงมักจะมีอาการ PMS (Premenstrual Syndrome) ซึ่งจะมีอาการในช่วง 1 – 2 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน ซึ่งมักจะมีอาการอ่อนเพลีย ท้องอืด ตัวบวม น้ำหนักขึ้น รู้สึกคัดตึงเต้านม เป็นสิว ปวดศีรษะ อารมณ์แปรปรวน เครียดและวิตกกังวล อ่อนไหวง่าย บางรายอาจถึงขั้นซึมเศร้า ซึ่งเป็นอาการที่เกิดจากความแปรปรวนของฮอร์โมนในร่างกาย โดยส่วนใหญ่มักจะมีอาการไม่รุนแรง แต่ในบางรายอาจนำไปสู่ภาวะ Premenstrual Dysphoric Disorder (PMDD) ซึ่งส่งผลต่อสภาพจิตใจและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันและอาจกระทบต่อความสัมพันธ์กับผู้คนรอบตัวได้
อาการของไข้ทับระดู
หลังจากที่ทราบแล้วว่า อาการไข้ทับระดู เกิดจากอะไร ? เรามาดูกันว่า อาการป่วยในช่วงที่มีประจำเดือน หรือที่เรียกว่าไข้ทับระดูนั้น มีอาการอย่างไรบ้าง
- ปวดหัว เวียนหัว
- รู้สึกคลื่นไส้ อยากอาเจียน
- ปวดกล้ามเนื้อ ปวดตัว มีไข้ต่ำ
- ปวดตามข้อต่างๆ
- รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว
- ท้องอืด หรือบางรายอาจท้องเสียร่วมด้วย
- ปวดบริเวณท้องน้อย
- ปวดหลัง
และในบางรายที่มีภาวะแทรกซ้อน จะมีไข้สูงหรือรู้สึกหนาวสั่น มีตกขาวปนหนอง ตกขาวมีกลิ่นเหม็น หรือตกขาวผิดปกติ ท้องเสียหรือท้องร่วงอย่างรุนแรง หากมีไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียส และรู้สึกปวดหัว เวียนหัวอย่างรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อบริเวณช่องคลอดได้ หากไม่ได้ทำการรักษา อาจติดเชื้อลุกลามไปยังบริเวณอื่นๆ เช่น รังไข่ ท่อนำไข่ ปีกมดลูก มดลูก จนเกินการอักเสบ ทำให้เสี่ยงติดเชื้อรุนแรงอันตรายถึงชีวิตได้ และอาจเสี่ยงต่อภาวะมีบุตรยากในอนาคตอีกด้วย
เป็นไข้ทับระดู ควรดูแลตัวเองอย่างไร ?
เมื่อรู้แล้วว่า อาการไข้ทับระดู เกิดจากอะไร และมีอาการอย่างไรบ้าง และอาการรุนแรงแค่ไหนถึงต้องรีบไปพบแพทย์ทันที สำหรับสาวๆ ที่มีอาการไข้ทับระดูอยู่เป็นประจำนั้น เรามีวิธีดูแลตัวเองมาฝากกันค่ะ เมื่อเป็นไข้ทับระดูแล้ว ควรดูแลตัวเองดังนี้
- ถ้ามีไข้หรือมีอาการปวดต่างๆ สามารถกินยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยาแอสไพริน (Aspirin) เพื่อบรรเทาอาการปวดหรือลดไข้
เกร็ดสุขภาพ : ยาไอบูโพรเฟน เป็นยาแก้ปวดชนิดหนึ่งที่มีสรรพคุณต้านอักเสบแรงกว่ายาพาราเซตามอล สามารถใช้บรรเทาอาการปวดประจำเดือนแทนยาพอนสแตนได้ แต่ไอบูโพรเฟนมีฤทธิ์กัดกระเพาะอาหาร ดังนั้น จึงควรกินยาทันทีหลังมื้ออาหาร และดื่มน้ำตามมากๆ
- ถ้ามีอาการปวดท้องน้อยสามารถใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบบริเวณท้องน้อยและหลังเพื่อบรรเทาอาการปวดได้ และควรอาบน้ำอุ่นเพื่อให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย บรรเทาอาการปวด
- พักผ่อนให้เพียงพอ โดยนอนหลับให้เพียงพอ อย่างน้อย 7 ชั่วโมงเพื่อบรรเทาอาการต่างๆ และการที่ได้พักผ่อนอย่างเต็มยังช่วยลดการเกิดอารมณ์แปรปรวนและวิตกกังวลได้อีกด้วย
- รักษาความสะอาดโดยการเปลี่ยนผ้าอนามัยอยู่บ่อยๆ อย่างน้อยวันละ 3 – 4 ครั้ง หรือทุกๆ 4 ชั่วโมง และทำความสะอาดของอวัยวะเพศให้สะอาดและเช็ดให้แห้งหลังเข้าห้องน้ำ เพื่อลดความอับชื้นและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรีย
- รับประทานอาหารที่มีสรรพคุณบำรุงร่างกายช่วงมีประจำเดือน เช่น อาหารที่มีธาตุเหล็กสูงจำพวกผักใบเขียว เนื้อสัตว์ อาหารที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเช่นปลา ถั่ว และอาหารจำพวกธัญพืช เช่น โฮลวีต ข้าวกล้อง เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้สมดุล ร่วมกับการรับประทาน วิตามินรวมสำหรับผู้หญิง ก็จะเป็นการเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงอีกทางค่ะ
- งดการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงที่มีประจำเดือน เพราะมีโอกาสติดเชื้อได้มากกว่าปกติ เนื่องจากเวลาที่มีประจำเดือน ปากมดลูกจะเปิด ซึ่งเสี่ยงต่อการที่เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย และอาจทำให้มีอาการไข้ทับระดูรุนแรงมากขึ้น
ตอนนี้เราก็ได้รู้ว่า อาการไข้ทับระดู เกิดจากอะไร และสามารถป้องกันไม่ให้เกิดอาการรุนแรง รวมถึงดูแลตัวเองได้อย่างไรบ้าง ถึงเวลาที่เราจะพามารู้จักไข้ทับ 8 ประการกันแล้วค่ะ
ไข้ทับ 8 ประการ เมื่อไข้ทับไม่ได้มีแค่ ไข้ทับระดูเพียงอย่างเดียว !
ไข้ทับ 8 ประการ ได้มีการบันทึกไว้ในหนังสือคัมภีร์ฉันทศาสตร์ แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ซึ่งได้มีการกล่าวถึงโรคต่างๆ ในมุมมองของแพทย์แผนไทย โดยทั่วไปแล้ว ไข้ทับ 8 ประการ มักจะเกิดขึ้นกับเด็กๆ มาดูกันว่า อาการไข้ทับ 8 ประการนั้น มีอาการเป็นยังไง และรักษายังไงได้บ้าง เพื่อที่จะได้เตรียมตัว และป้องกันเอาไว้ก่อนนะคะ
1. ทับสองโทษ
อาการ : มีไข้ ท้องอืด มือเท้าเย็น อุจจาระมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ อาเจียน กระหายน้ำ ปวดหัวตัวร้อน
2. ทับสำรอก
อาการ : อาเจียน โดยมักจะอาเจียนเป็นสีเขียว หรือสีเหลือง มีเสมหะ และมีเม็ดขึ้นในคอ ทำให้มีอาการไอ เบื่ออาหาร นอนผวา รู้สึกร้อนๆ หนาวๆ
3. ทับละออง
อาการ : เด็กทารกจะมีเม็ดขึ้นในคอ ไอถี่ มีอาการท้องเดิน อุจจาระเป็นมูกมีกลิ่นคาว เซื่องซึม ตัวร้อนจัด
4. ทับกำเดา
อาการ : มีไข้ ไอ ปวดหัว ตัวร้อนจัด หายใจแรง หายใจถี่ ปากแห้ง คอแห้ง มีอาการนอนผวา เบื่ออาหาร ท้องอืด ท้องแข็ง
5. ทับกุมโทษ
อาการ : อุจจาระเป็นมูกเลือด มีสีดำหรือมีสีแดง ปวดเบ่ง ตัวร้อน มีไข้ เซื่องซึม หายใจติดขัด
6. ทับเชื่อมมัว
อาการ : ทารกเป็นไข้กำเดา มีอาการเซื่องซึม ปวดหัวตัวร้อน ไข้ขึ้นสูง มีอาการหอบ ไอแห้ง อุดจาระเป็นมูกเลือด ท้องอืดท้องเฟ้อ
7. ทับซาง
อาการ : เป็นไข้ ถ่ายเหลว มีกลิ่นเหม็นเน่า ถ่ายเป็นมูกเลือด มีอาการปวดเบ่ง ตัวร้อน ท้องอืด มือเท้าเย็น หายใจติดขัด มีภาวะตับอักเสบ ขาดโปรตีนและพลังงาน
8. ทับช้ำใน
อาการ : มีอาการเคล็ดขัดยอกอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุหกล้ม และอวัยวะภายในได้รับการกระแทก ทำให้เป็นไข้ ตัวซีด อุจจาระเหลว มีมูกเลือด ปวดเบ่ง หายใจติดขัด มือเท้าเดี๋ยวร้อนเดี๋ยวเย็น อาจทำให้เสียชีวิตได้
และนี่ก็เป็นอาการไข้ทับ 8 ประการตามหลักแพทย์แผนไทย รู้ไว้เป็นความรู้รอบตัว เอาไว้สังเกตอาการเด็กๆ ในบ้านกัน ในสมัยก่อนมักจะรักษาโดยการให้กินยาหอม ยาเย็น ยาน้ำสมอไทย แต่ปัจจุบันถ้าลูกน้อยมีอาการต่างๆ ดังนี้ แนะนำให้ไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุดค่ะ เพราะอาจจะมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา ซึ่งเป็นอันตรายได้
เป็นยังไงกันบ้างคะ ? หลังจากได้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับไข้ทับระดูแล้ว ยังได้รู้จักไข้ทับ 8 ประการเพิ่มขึ้นด้วย แต่ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม ควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ และถ้ามีอาการเจ็บป่วยใดๆ ไม่ต้องเดา ให้ไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษา จะดีที่สุดค่ะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : digital.library.tu.ac.th, sac.or.th, webmd.com
Featured Image Credit : freepik.com/drobotdean
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ