X

ไขมันในเลือดสูงเกิดจากอะไร ? เท่าไหร่ถึงเรียกว่าสูง ?! มาดูแนวทางการรักษากัน !

เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡

ไขมันในเลือดสูงเกิดจากอะไร ? เท่าไหร่ถึงเรียกว่าสูง ?! มาดูแนวทางการรักษากัน !

ปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่มีปัญหาโรคไขมันในเลือดสูงโดยไม่รู้ตัว ซึ่งสาเหตุหลักก็มาจากอาหารการกินนั่นเอง และโรคไขมันในเลือดสูงไม่ใช่โรคที่เกิดในเฉพาะผู้ที่มีน้ำหนักตัวเยอะเท่านั้น แต่คนผอมก็มีสิทธิ์เป็นได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ การที่มีไขมันในเลือดสูงยังเป็นภัยเงียบที่นำไปสู่โรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองได้ด้วย แล้ว ไขมันในเลือดสูงเกิดจากอะไร มีแนวทางป้องกันอย่างไรบ้าง? ตามมาดูกันเลยค่ะ

ไขมันในเลือดสูงเกิดจากอะไร ? มาดูกันว่าไขมันในเลือดเท่าไหร่ถึงเรียกว่าสูง และป้องกันได้ยังไงบ้าง?!

ไขมันในเลือดสูงเกิดจากอะไร, ไขมันในเลือดสูง เท่าไหร่
Image Credit : freepik.com

ไขมันในเลือดสูงเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับคนไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายนั้นมีไขมันในเลือดมากกว่าปกติที่ควรจะเป็น และเมื่อร่างกายมีปริมาณไขมันสูงก็จะทำให้ไขมันไปเกาะตามผนังด้านในหลอดเลือดได้ ดังนั้น จึงเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ อีกมากมายตามมา เช่น โรคหัวใจและโรคหลอดเลือด เส้นเลือดตีบตัน ไขมันพอกตับ เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้ไม่เพียงพอจนเป็นอัมพาต และหากปล่อยทิ้งไว้นานๆ อาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ แล้วไขมันในเลือดสูงเกิดจากอะไร ? ภาวะไขมันในเลือดสูงส่วนใหญ่มีสาเหตุหลัก ดังนี้

  1. ความผิดปกติของกรรมพันธุ์ ทำให้ร่างกายเผาผลาญหรือทำลายไขมันได้ไม่ดีพอ
  2. การกินอาหารผิดหลักโภชนาการ กินอาหารที่มีไขมันมากเกินไป หรือกินอาหารมากเกินความจำเป็น
  3. ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในปริมาณมากหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  4. การใช้ยาบางชนิดหรือโรคบางอย่าง เช่น ยาคุมกำเนิด ยาขับปัสสาวะ โรคเบาหวาน โรคไต เป็นต้น

เกร็ดสุขภาพ : หลายคนมีความเข้าใจผิดในเรื่องไขมันในเลือดสูงเกิดจากอะไรว่าเป็น “ภาวะคอเรสเตอรอลสูง” แต่ความจริงแล้วไขมันที่พบในเลือดมี 2 ชนิด ได้แก่ ไตรกลีเซอไรด์ และ คอเลสเตอรอล ซึ่งเป็นไขมันที่มีความสำคัญต่อระบบการทำงานของร่างกาย แต่ถ้ามีปริมาณสูงเกินไปก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้เช่นกัน โดยไขมันไตรกลีเซอไรด์เป็นไขมันที่ร่างกายสร้างขึ้นเองได้หรืออาจได้รับจากอาหารประเภทเนื้อแดง ผลิตภัณฑ์นมที่มีไขมัน รวมทั้งน้ำตาลทราย น้ำตาลฟรุกโตส และแอลกอฮอล์ ซึ่งทำให้เกิดไขมันในเลือดสูง ส่วนไขมันคอเลสเตอรอลเป็นไขมันที่ร่างกายสามารถสังเคราะห์ขึ้นเองจากตับ และพบได้ในอาหารประเภทไข่ เนื้อแดง โดยเฉพาะเครื่องในสัตว์ หนังสัตว์ และชีส เป็นต้น

อันตรายจากภาวะไขมันในเลือดสูง

ภาวะไขมันในเลือดสูงในแต่ละคนนั้นมีอาการแตกต่างกันไปและขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เป็น ในระยะเริ่มต้นร่างกายก็อาจจะไม่แสดงอาการของโรคมากนัก แต่ถ้าเป็นมานานระยะหนึ่งแล้วผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดท้อง มีปื้นเหลืองที่ผิวหนังและหนังตา ข้อศอก เข่า หรือมีอาการเดินเซ กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง ปวดตามข้อต่อต่างๆ เหยียดได้ไม่ถนัด และถ้าได้รับการรักษาช้าก็อาจจะทำให้หลอดเลือดแดงแข็งตัว ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอจนเป็นอัมพาตหรือเสียชีวิตได้ โดยการตรวจวัดว่าไขมันในเลือดสูงสามารถทำได้โดยการเจาะเลือดเท่านั้น แล้วไขมันในเลือดสูง เท่าไหร่ถึงเป็นอันตราย ? มาดูกันเลยค่ะ

1. ค่าคอเลสเตอรอลชนิดดี หรือ HDL

  • น้อยกว่า 40 มิลลิกรัม/เดซิลิตร = ระดับต่ำ
  • มากกว่า 60 มิลลิกรัม/เดซิลิตร = ระดับสูง

2. ค่าคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี หรือ LDL

  • น้อยกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร = ระดับปกติ
  • 100-129 มิลลิกรัม/เดซิลิตร = ระดับใกล้เคียงปกติ
  • 130-159 มิลลิกรัม/เดซิลิตร = ระดับสูงเล็กน้อย
  • 160-189 มิลลิกรัม/เดซิลิตร = ระดับสูง
  • ค่ามากกว่า 190 มิลลิกรัม/เดซิลิตร = ระดับสูงมาก

3. ค่าไตรกลีเซอไรด์

  • น้อยกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร = ระดับปกติ
  • 150-199 มิลลิกรัม/เดซิลิตร = ระดับสูงเล็กน้อย
  • 200-499 มิลลิกรัม/เดซิลิตร  = ระดับสูง
  • มากกว่า 500 มิลลิกรัม/เดซิลิตร = ระดับสูงมาก

4. ค่าคอเลสเตอรอลรวม (Total Cholesterol)

  • น้อยกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร = ระดับปกติ
  • 200-239 มิลลิกรัม/เดซิลิตร = ระดับสูงเล็กน้อย
  • มากกว่า 240 มิลลิกรัม/เดซิลิตร = ระดับสูง

ใครที่ควรไปตรวจหาภาวะไขมันในเลือดสูง ?

เมื่อได้รู้แล้วว่าไขมันในเลือดสูงเกิดจากอะไรและสงสัยว่าตัวเองกำลังเข้าข่ายเป็นผู้มีภาวะไขมันในเลือดสูงแนะนำให้ไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลทั่วไปได้เลยค่ะ หรือเป็นผู้ที่อยู่ในเกณฑ์ดังต่อไปนี้

  • ผู้ที่มีอายุมากกว่า 45 ปี
  • ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเยอะ
  • ผู้ที่สูบบุหรี่
  • ผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูง หรือ เบาหวาน
  • ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคไขมันในเลือดสูง

วิธีการรักษาเมื่อมีภาวะไขมันในเลือดสูง

ไขมันในเลือดสูงเกิดจากอะไร, ไขมันในเลือดสูง เท่าไหร่
Image Credit : freepik.com

หลังจากตรวจแล้วว่าไขมันในเลือดสูง เท่าไหร่ และพบว่ามีไขมันในเลือดสูงผิดปกติ สามารถทำการรักษาเบื้องต้นได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง ได้แก่

  1. ปรับพฤติกรรมการกินอาหารโดยลดปริมาณอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงลง เช่น เครื่องในสัตว์ ปลาหมึก ไข่แดง เป็นต้น รวมทั้งลดปริมาณอาหารประเภทไขมันด้วย เช่น หนังไก่ ของทอด หรืออาจจะเปลี่ยนการปรุงอาหารเป็นประเภท ต้ม อบ ตุ๋น นึ่งแทน ลดการกินอาหารแปรรูปต่างๆทั้งไส้กรอก แฮม ลูกชิ้น
  2. เพิ่มการกินผักและผลไม้ให้มากขึ้น เพื่อให้เส้นใยอาหารช่วยทำให้ร่างกายดูดซึมไขมันลดน้อยลง
  3. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  4. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ คือค่า BMI ปกติ ระหว่าง 18.5-22.9
  5. ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอหรือใช้ชีวิตประจำวันที่ขยับตัวมากขึ้น เช่น เดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์
  6. งดการสูบบุหรี่
  7. หลีกเลี่ยงภาวะที่ทำให้เกิดความเครียด

วิธีการป้องกันความเสี่ยงภาวะไขมันในเลือดสูง

ถ้าเรารู้แล้วว่าไขมันในเลือดสูงเกิดจากอะไรก็สามารถป้องกันได้ไม่ยากเลยค่ะ และไม่จำเป็นต้องใช้ยาหรืออาหารเสริมอะไรเลย เพียงแค่เราต้องเลือกบริโภคสิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเป็นหลัก และลดการกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น อาหารฟาสต์ฟู้ด ของมัน ของทอด อาหารแปรรูปต่างๆ ขนมหวาน เป็นต้น นอกจากนี้ ควรออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย  นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และไม่ปล่อยให้มีความเครียดมากเกินไป แค่นี้ก็ช่วยให้เราลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไขมันในเส้นเลือดสูงได้แล้ว

แต่ในบางรายอาจจะมีโอกาสเกิดภาวะไขมันในเลือดสูงจากกรรมพันธุ์ที่มาจากคนในครอบครัวก็ได้ ดังนั้นทางที่ดีจึงควรไปเจาะเลือดเพื่อตรวจดูระดับไขมันในเส้นเลือดเป็นประจำทุก 1-2 ปี/ครั้ง เพื่อจะได้สามารถรักษาให้หายขาดได้ทันท่วงที

อาหารที่ช่วยให้ป้องกันการเกิดภาวะไขมันในเลือดสูง

ไขมันในเลือดสูงเกิดจากอะไร, ไขมันในเลือดสูง เท่าไหร่
Image Credit : freepik.com

นอกจากมีอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงแล้ว การกินอาหารบางชนิดก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงของภาวะไขมันในเลือดสูงได้ด้วย แต่ก็ควรบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะ หากกินเยอะเกินไปอาจจะส่งผลเสียต่อร่างกายได้เช่นกัน ซึ่งเราก็ได้นำเมนูอาหารลดไขมันในเลือดมาฝากกันด้วยค่ะ

  1. พริกไทยดำ ช่วยลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลในลำไส้เข้าสู่กระแสเลือดและช่วยเพิ่มการเผาผลาญไขมัน เช่น อกไก่ผัดพริกไทยดำ ไก่ย่างพริกไทยดำ สเต็กปลาราดซอสพริกไทยดำ
  2. อัลมอนด์ ลดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีหรือ LDL ในเลือด และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ เช่น อัลมอนด์อบ
  3. กระเทียม ช่วยยับยั้งกระบวนการสร้างคอเลสเตอรอลในร่างกาย ลดระดับไขมันในเส้นเลือด เช่น อกไก่ผัดกระเทียม ไก่อบกระเทียม หรือจะกินกระเทียมสดก็ได้เช่นกัน
  4. ชาขาว มีสรรพคุณเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และช่วยลดระดับไขมันในเส้นเลือด เช่น น้ำชาขาว
  5. อะโวคาโด ช่วยเพิ่มระดับไขมันดีให้กับร่างกายและลดไขมันชนิดไม่ดีในเส้นเลือด เช่น ไข่อบอะโวคาโด สลัดอะโวคาโดอกไก่ แซนด์วิชทูน่าอะโวคาโด น้ำอะโวคาโด้ปั่นไม่ใส่น้ำตาล

เกร็ดสุขภาพ : ผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนได้หลายอย่าง และในผู้ที่มีอาการหนัก การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอาจไม่เพียงพอต่อการรักษา ซึ่งในกรณีนี้แพทย์อาจสั่งจ่ายยาที่ช่วยให้ตับลดการผลิตคอเลสเตอรอลลง เช่น กลุ่มยาสเตติน เพื่อช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือด หรือกรดนิโคตินิก เพื่อช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีรวมทั้งช่วยลดไตรกลีเซอไรด์ และยาไฟเบรต เพื่อช่วยลดไตรกลีเซอไรด์หรือเพื่อเพิ่มปริมาณไขมันดี หากแพทย์ต้องสั่งจ่ายยาผู้ป่วยก็จะต้องกินยาอย่างต่อเนื่องไปเป็นระยะเวลานานเลยหรืออาจจะต้องกินยาไปตลอด เพื่อรักษาระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

จะเห็นได้ว่าภาวะไขมันในเลือดสูงนั้นสามารถป้องกันได้ไม่ยากเลยค่ะ ในเมื่อเราได้รู้แล้วว่าไขมันในเลือดสูงเกิดจากอะไรก็สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อป้องกันโรคต่างๆ ที่จะตามมาได้ โดยเฉพาะการเลือกกินอาหารและการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ยังควรเข้ารับการตรวจวัดระดับไขมันในเลือดเป็นประจำด้วย เพื่อจะได้รู้ว่าระดับไขมันในเลือดของเราสูงหรือไม่ ยิ่งรู้เร็วก็ยิ่งปรับพฤติกรรมได้เร็ว จะได้ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพค่ะ

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : siphhospital.com, chulalongkornhospital.go.th, samitivejhospitals.com

Featured Image Credit : vecteezy.com/YES Studio

ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ

ติดต่อโฆษณา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้การวิเคราะห์

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

Save