X

รวม สมุนไพรแก้ไอ ขับเสมหะ กินไม่ยาก ช่วยได้จริง ดีกับสุขภาพ !

เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡

รวม สมุนไพรแก้ไอ ขับเสมหะ กินไม่ยาก ช่วยได้จริง ดีกับสุขภาพ !

อาการไอ มีเสมหะ เป็นสิ่งที่ชวนรำคาญใจไม่น้อย ในคนที่ป่วยเป็นหวัดน้ำมูกไหล แม้อาการอื่นๆ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม จะบรรเทาลงแล้วก็ตาม แต่อาการไอ มีเสมหะยังคงมีอยู่อย่างยาวนาน บางคนไอร่วมเดือน ซึ่งสร้างความลำบากในชีวิตประจำวันไม่น้อย ทั้งเสียบุคลิกภาพ และรู้สึกไม่สบายคอแล้ว ยังส่งผลต่อการนอนหลับพักผ่อนเนื่องจากการไอหนักๆ ในตอนกลางคืนด้วย เพื่อบรรเทาอาการไอให้ดีขึ้น ในบทความนี้เรามี สมุนไพรแก้ไอ ขับเสมหะ มาฝากกัน เป็นสมุนไพรใกล้ตัวที่หาได้ตามบ้าน ใช้แล้วอาการดีขึ้นอย่างแน่นอน

สมุนไพรแก้ไอ ขับเสมหะ ใช้แล้วบรรเทาอาการไอ ละลายเสมหะ อาการดีขึ้นแน่นอน !

นอกจากยาแก้ไอ ยาอมแก้เจ็บคอที่มีขายกันทั่วไปในร้านขายยาแล้ว สมุนไพรไทยที่อาจมีติดครัวติดบ้านกันมานาน ก็มีฤทธิ์แก้ไอ ละลายเสมหะได้ มาดูกันว่า 10 สมุนไพรแก้ไอ จะมีชนิดใดบ้าง จะได้นำมาใช้กัน เพื่อให้อาการเราดีขึ้น

1. ขิง

สมุนไพรแก้ไอ ขับเสมหะ, 10 สมุนไพรแก้ไอ
Image Credit : pexels.com

ถ้าพูดถึงสมุนไพรแก้ไอ ขับเสมหะ ขิงมักจะถูกนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ เพราะเป็นพืชที่มีสรรพคุณมากมาย เหง้าขิงมีรถเผ็ดหวาน เหมาะสำหรับนำมาใช้บรรเทารักษาอาการไอ เจ็บคอ เนื่องจากขิงมีสารในกลุ่มน้ำมันหอมระเหยอยู่ ไม่ว่าจะเป็นจินเจอรอล (Gingerol) ซิงเจอโรน (Zingerone) และ โชเกล (Shogoal) มีฤทธิ์แก้คลื่นไส้ อาเจียน แก้ไอ และช่วยขับเสมหะได้ดี และยังช่วยขับลม บรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อด้วย

ในการรับประทานขิงนั้น สามารถนำเหง้าขิงสดขนาด 2 นิ้วโป้งมาตำผสมน้ำเล็กน้อย แล้วคั้นเอาแต่น้ำ ผสมเกลือเล็กน้อย แล้วจิบบ่อยๆ หรือจะรับประทานขิงผงชงกับน้ำร้อนก็ได้ โดยเลือกสูตรที่ไม่เติมน้ำตาลเพื่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ควรระวังการรับประทานขิงในผู้ป่วยที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น Warfarin และในผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลไม่ได้ เนื่องจากเหง้าขิงมีสรรพคุณลดน้ำตาลในเลือดได้

2. มะแว้ง

ในมะแว้งมีสารอัลคาลอยด์ (Alkaloid) โซลาโซดีน (Solasodine) และโซลานีน (Solanine) ซึ่งออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทและระบบหายใจ จึงช่วยบรรเทาอาการไอได้ และยังมีสารที่ช่วยลดการอักเสบ ช่วยละลายเสมหะ และขับเสมหะได้ดี ตามภูมิปัญญาดั้งเดิม ใช้มะแว้งเป็นสมุนไพรแก้ไอ ขับเสมหะ โดยการนำมะแว้งสด 5 – 6 ผล ล้างให้สะอาด นำมาเคี้ยวและอมไว้ หรือใช้ผลแก่สด 5 – 10 ผล นำมาโขลกพอแหลก คั้นน้ำ ผสมเกลือเล็กน้อย และจิบบ่อยๆ แก้ไอ หรือจะอมยาอมมะแว้งที่มีขายตามร้านขายยาทั่วไป ก็สามารถบรรเทาอาการไอได้

การรับประทานมะแว้งมากเกินไปอาจเป็นพิษ เพราะได้สารโซลานีนมากเกินไป ทำให้ปวดศีรษะ ปวดท้อง อาเจียน ตาพร่ามัว ท้องร่วง และอันตรายถึงชีวิตได้ และไม่ควรใช้เกิน 2 สัปดาห์เพราะจะทำใต้ตับทำงานหนักและเป็นอันตรายต่อร่างกาย

3. ฟ้าทะลายโจร

ในช่วงการระบาดของ COVID – 19 จะเห็นว่ามีการแนะนำให้รับประทานฟ้าทะลายโจรกันอย่างแพร่หลาย และเป็นสมุนไพรแก้ไอ ขับเสมหะที่รู้จักกันดี เนื่องจากมีสารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) และอนุพันธ์ ช่วยรักษาอาการไอ เจ็บคอ ลดอักเสบ ป้องกันและบรรเทาอาการหวัดได้ วิธีรับประทานคือ ใช้ใบฟ้าทะลายโจรสดหรือแห้งประมาณ 5 – 7 ใบใส่ในแก้ว เติมน้ำร้อนแล้วทิ้งไว้ประมาณ 15 – 30 นาที จากนั้นนำมารินดื่มก่อนอาหารและก่อนนอน ครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 – 4 ครั้ง หรือถ้าหากรับประทานแบบแคปซูล ให้รับประทานครั้งละ 2 – 3 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง และไม่ควรรับประทานติดต่อกันเกิน 7 วัน การรับประทานฟ้าทะลายโจรต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจทำให้มีอาการแขนขาชาอ่อนแรง และควรระวังในการใช้กับสตรีมีครรภ์

4. มะขามป้อม

สมุนไพรแก้ไอ ขับเสมหะ, 10 สมุนไพรแก้ไอ
Image Credit : pexels.com

มะขามป้อม เป็นสมุนไพรแก้ไอ ขับเสมหะที่คุ้นเคยกันมานาน มีฤทธิ๋แก้หวัด แก้ไอ กระตุ้นน้ำลาย ช่วยให้ชุ่มคอ ละลายเสมหะ แก้เลือดออกตามไรฟัน ช่วยขับปัสสาวะ โดยมีวิธีรับประทานคือ ใช้ผลแก่สดประมาณ 2 – 3 ผลโขลกพอแหลก ใส่เกลือเล็กน้อย อมหรือเคี้ยว รับประทานวันละ 3 – 4 ครั้ง หรือใช้ผลสดจิ้มเกลือรับประทาน หรือจะจิบเป็นยาแก้ไอผสมมะขามป้อมก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้ ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ไม่ควรกินยาแก้ไอผสมมะขามป้อม เพราะมีส่วนผสมของน้ำตาลอยู่ และถ้าหากกินมากเกินไป ก็อาจทำให้ท้องเสียได้เช่นกัน เนื่องจากมะขามป้อมมีฤทธิ์เป็นยาระบายด้วย

เกร็ดสุขภาพ : มะขามป้อมเป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงมากที่สุดในโลก โดยมะขามป้อม 100 กรัม มีวิตามินซีสูงถึง 276 มิลลิกรัม และถ้านำผลมะขามป้อมไปคั้นน้ำดื่ม ก็ยังมีวิตามินซีสูงกว่าน้ำส้มคั้น 20 เท่า

5. มะนาว

มะนาวก็ถือว่าเป็นสมุนไพรแก้ไอ ขับเสมหะ ด้วยเช่นกัน เพราะในผลมะนาวมีกรดอินทรีย์หลายชนิด และมีรสเปรี้ยว ทำให้ชุ่มคอ ช่วยลดอาการไอ ละลายเสมหะ ซึ่งวิธีรับประทานก็มีหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นการบีบมะนาวสดชงกับน้ำอุ่นดื่มช่วยขับเสมหะ ใช้มะนาวฝานบางๆ หรือฝานเป็นชิ้นเล็กๆ จิ้มเกลือรับประทานเวลามีอาการไอ เพื่อทำให้ชุ่มคอมากขึ้น นอกจากนี้ ยังสามารถนำเมล็ดมะนาวไปคั่วให้เหลือง บดให้ละเอียด เติมพิมเสน 2 – 5 เกล็ด แล้วชงกับน้ำร้อนดื่ม ใช้เป็นยาขับเสมหะได้ (อ่านเพิ่มเติม วิธีขับเสมหะ จากคอและปอด) ทั้งนี้ การดื่มน้ำมะนาวมากเกินไปอาจทำให้เกิดกรดไหลย้อน เนื่องจากมะนาวมีฤทธิ์เป็นกรด ทำให้จุกเสียดแน่นท้อง คลื่นไส้อาเจียนได้

6. มะขาม

สมุนไพรแก้ไอ ขับเสมหะ, 10 สมุนไพรแก้ไอ
Image Credit : freepik.com

มะขาม ใช้เป็นสมุนไพรแก้ไอ ขับเสมหะได้ เนื่องจากรสเปรี้ยวของมะขามที่มีฤทธิ์เป็นกรดสามารถละลายเสมหะได้ ในเนื้อฝักมะขามมีกรดทาร์ทาริก (Tartaric Acid) สามารถบรรเทาอาการไอได้ หากมีอาการไอ ระคายคอจากเสมหะ ให้ใช้เนื้อในฝักแก่ของมะขามเปรี้ยว หรือมะขามเปียก จิ้มเกลือกินพอประมาณ หรืออาจจะคั้นเป็นน้ำมะขาม ใส่เกลือเล็กน้อย และจิบบ่อยๆ ก็ได้เช่นกัน จะทำให้รู้สึกชุ่มคอ ลดการระคายเคืองคอได้ อย่างไรก็ตาม มะขามก็มีฤทธิ์เป็นยาระบาย หากรับประทานมากเกินไปก็ทำให้มีอาการท้องเดิน ท้องเสียได้

7. ขมิ้น

ขมิ้นเป็น 1 ใน 10 สมุนไพรแก้ไอด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีสารเคอร์คูมีน ที่มีคุณสมบัติต้านอักเสบ ต้านไวรัส และต้านเชื้อแบคทีเรียได้ และยังสามารถรักษาอาการไอแห้ง เจ็บคอได้ด้วย โดยวิธีการรับประทานคือ การนำขมิ้นสดมาทุบแล้วต้ม กรองเอาแต่น้ำดึ่ม หรือขูดขมิ้นสดต้มกับน้ำเปล่า 5 นาที กรองเอาขมิ้นออก เติมน้ำผึ้งเล็กน้อยเพื่อให้ดื่มง่าย หรือจะรับประทานขมิ้นผง 1 ช้อนชา นำมาผสมน้ำอุ่นๆ ดื่ม ก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้ การรับประทานขมิ้นมากเกินไปอาจทำให้ปวดท้อง คลื่นไส้ และมีอาการท้องร่วงได้

8. ชะเอมเทศ

ชะเอมเทศ เป็นสมุนไพรโบราณที่ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ 2100 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งมีสรรพคุณเป็นสมุนไพรแก้ไอ ขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ แก้คอแห้ง น้ำลายเหนียว และยังมีรสหวานขม จึงใช้แต่งกลิ่น แต่งรสหวาน ในอาหารและเครื่องดื่มด้วย ส่วนใหญ่แล้วจะนำส่วนของรากมาใช้เป็นยารักษาโรค โดยนำมาผสมในยาแก้ไอเพื่อบรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ หรือจะใช้รากชะเอมเทศแห้งที่มีขายในร้านสมุนไพรอบแห้งต่างๆ โดยนำมาต้มกับน้ำร้อนเป็นเวลา 5 – 10 นาที และนำมาจิบเป็นชา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การใช้ชะเอมเทศเป็นเวลานานจะทำให้มีระดับโพแทสเซียมในร่างกายต่ำ ส่งผลให้มีความดันโลหิตสูงขึ้น เหนื่อยล้า ปวดศีรษะ อ่อนแรงตามข้อต่อ และบวมน้ำได้

เกร็ดสุขภาพ : ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุว่าการใช้รากชะเอมเทศในตำรับ “ยาเลือดงาม” มีส่วนประกอบของรากชะเอมเทศร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำหรับ ซึ่งมีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือน และช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติได้

9. สะระแหน่

สมุนไพรแก้ไอ ขับเสมหะ, 10 สมุนไพรแก้ไอ
Image Credit : freepik.com

สะระแหน่ สมุนไพรไทยที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะนำมาทำอาหารหรือตกแต่งในเครื่องดื่มก็ตาม ในใบสะระแหน่มีเมนทอลซึ่งช่วยลดการระคายเคืองในคอจากอาการไอ และช่วยบรรเทาอาการไอให้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและต้านไวรัสได้อีกด้วย วิธีรับประทานคือใช้ใบสะระแหน่สดแช่ในน้ำร้อน รอประมาณ 5 นาทีแล้วนำมาจิบ จะทำให้รู้สึกชุ่มคอมากขึ้นได้ หรือจะดื่มเป็นชาเปปเปอร์มินต์สำเร็จรูปก่อนนอนเพื่อบรรเทาอาการไอตอนกลางคืนก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้ หากรับประทานมากเกินไปอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น แสบร้อนกลางอก หน้าแดง ปวดศีรษะ เป็นแผลในปาก เป็นต้น

10. กะเพรา

ใบกะเพรา มีฤทธิ์เป็นสมุนไพรแก้ไอ ขับเสมหะอีกชนิดหนึ่ง เพราะในใบกะเพรามียูจีนอล (Eugenol) มีฤทธิ์ต้านอักเสบ ต้านเชื้อแบคทีเรีย ทำให้บรรเทาอาการเจ็บคอ และแก้ไอได้ โดยสามารถนำเอาใบกะเพราสด ไม่ว่าจะเป็นกะเพราแดงหรือเขียวก็ได้เช่นกัน ปริมาณ 1 – 2 กำมือ ใส่น้ำพอท่วมและนำไปต้ม โดยต้มให้เหลือน้ำเพียงครึ่งเดียว และนำมาดื่มวันละ 2 – 3 แก้ว ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการไอได้ และสามารถต้มดื่มได้เรื่อยๆ จนกว่าอาการจะดีขึ้น ทั้งนี้ ควรต้มใบกะเพราเพียงครั้งเดียวเท่านั้น และไม่ควรนำใบกะเพราที่ต้มแล้วกลับมาต้มซ้ำ อย่างไรก็ตาม การรับประทานใบกะเพรามากเกินไป ก็อาจจำให้เกิดร้อนในได้

และนี่ก็เป็น 10 สมุนไพรแก้ไอที่ได้นำมาฝากกัน ซึ่งเป็นสมุนไพรไทยที่คุ้นเคยกันมานาน และมีติดครัวไว้หลายๆ บ้าน ใครที่มีอาการไอ มีเสมหะ นอกจากจะรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งแล้ว การใช้สมุนไพรต่างๆ ก็จะทำให้อาการทุเลาลงได้เช่นกัน ร่วมกับการใช้สเปรย์พ่นคอแก้ไอ ก็จะช่วยได้ แต่ถ้ามีอาการไอเรื้อรังมานาน มากกว่า 1 เดือนขึ้นไป ร่วมกับอาการเจ็บหน้าอก หายใจไม่สะดวก อ่อนเพลีย หรือไอเป็นเลือด แนะนำให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อที่จะได้ทำการวินัจฉัยเพิ่มเติม และรักษาให้ทันท่วงทีค่ะ

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : healthline.com, gingen.com, verywellhealth.com, pharmacy.mahidol.ac.th

Featured Image Credit : freepik.com/fanjianhua

ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ

ติดต่อโฆษณา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้การวิเคราะห์

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

Save