“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
โรคเตียงดูด มีอยู่จริง ?! ชวนเช็กพฤติกรรม สังเกตตัวเองไม่อยากลุกจากเตียงหรือเปล่า ?
การนอนหลับพักผ่อนนั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ โดยทั่วไปแล้ว คนเราควรนอนอย่างน้อย 7 – 9 ชั่วโมง (อ่านเพิ่มเติม คนเราต้องนอนกี่ชั่วโมง) หากนอนน้อยกว่านั้น ก็อาจเสี่ยงต่อภาวะนอนไม่พอ ทำให้ร่างกายไม่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ และส่งผลกระทบต่อสุภาพได้ อย่างไรก็ตาม มีอาการที่เรียกว่า โรคเตียงดูด หรือ Dysania คือ แม้ว่าจะนอนพักผ่อนอย่างเต็มที่แล้วก็ตื่นได้ยาก ไม่อยากลุกจากเตียงในตอนเช้า ซึ่งอาจมีความเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วยทางกายหรือภาวะทางจิตใจ มาทำความรู้จักโรคนี้ให้มากึ้นกันค่ะ
ชวนรู้จัก โรคเตียงดูด หรือ Dysania นอนมากเกินไป อาจหมายถึงสุขภาพกำลังแย่ !
โรคเตียงดูด หรือ Dysania เรียกได้อีกอย่างว่า โรคเสพติดการนอน เป็นภาวะที่รู้สึกอ่อนเพลียและง่วงนอนอย่างรุนแรง ไม่อยากลุกจากเตียงในตอนเช้า แม้จะนอนหลับพักผ่อนอย่างเต็มที่หรือนอนครบชั่วโมงแล้วก็ตาม มีความรู้สึกไม่อยากลุกจากเตียงไปทำภารกิจหน้าที่ของตัวเอง ขอต่อเวลานอนไปเรื่อยๆ ในทางการแพทย์นั้น แม้ไม่ได้ระบุว่าอาการนี้เป็นโรคโดยตรง แต่ก็เป็นภาวะที่อาจเกิดจากโรคทางกาย ทางจิตใจ หรืออาจเกิดจากปัญหาด้านการนอนหลับก็ได้เช่นกัน
ผู้ที่มีอาการของโรคเตียงดูด มักจะรู้สึกไม่อยากลุกจากเตียงในตอนเช้า พบว่าการตื่นนอนเพื่อเริ่มต้นวันใหม่นั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก รู้สึกหนักใจกับการลุกจากเตียงเพื่อเผชิญหน้ากับภาระหน้าที่ความรับผิดชอบในแต่ละวัน ซึ่งอาจนำไปสู่ความรู้สึกเหนื่อยหน่าย เกิดความคับข้องใจ และอาจส่งผลกระทบต่องานหรือต่อการเรียนได้ด้วย
อาการของโรคเตียงดูด เป็นยังไง ?
นอกจากอาการที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว ลองสังเกตตัวเองหรือคนใกล้ชิดว่า มีพฤติกรรมแบบนี้อยู่หรือเปล่า เพราะอาจบ่งบอกว่ากำลังเข้าข่ายเป็นโรคเตียงดูดอยู่ก็ได้
- เมื่อกลับมาจากที่เรียนหรือที่ทำงานแล้วมุ่งตรงไปยังที่นอน ล้มตัวลงนอนทันที
- คิดว่าการนอนบนเตียงเป็นความสุขที่สุดในชีวิต
- คิดถึงการนอนอยู่ตลอดเวลา
- ทำกิจกรรมต่างๆ บนที่นอน เช่น รับประทานอาหาร ทำงาน เล่นโซเชียล ดูหนัง เล่นเกมบนที่นอน
- ถูกคนใกล้ตัวกล่าวหาว่าเป็นคนขี้เกียจ เอาแต่นอน
- กดเลื่อนนาฬิกาปลุกเพื่อขยายเวลานอนไปเรื่อยๆ ทำให้ไปเรียนหรือไปทำงานสาย
เกร็ดสุขภาพ : ผู้ที่เสพติดการนอนและไม่ปรับพฤติกรรมเพื่อให้มีการนอนที่ถูกต้อง อาจมีพฤติกรรมเนือย หรือ Sedentary Lifestyle โดยมีพฤติกรรมนั่งๆ นอนๆ ไม่ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกาย อาจทำให้ระบบการทำงานของร่างกายแปรปรวน เช่น ระบบเผาผลาญทำงานได้ไม่ดี มีภูมิคุ้มกันต่ำ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูกลดลง จนอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมาได้
สาเหตุของโรคเตียงดูด เกิดจากอะไรได้บ้าง ?
1. กลุ่มอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง หรือ Chronic Fatigue syndrome (CFS)
ผู้ที่มีภาวะเหนื่อยล้าเรื้อรังจะรู้สึกอ่อนเพลียเป็นอย่างมาก รู้สึกเหนื่อยล้าสะสม ไม่มีแรง ไม่อยากทำอะไร ซึ่งอาการนี้จะคงอยู่เป็นเวลานาน ส่งผลให้เสพติดการนอนและไม่อยากลุกจากเตียงไปทำงานหรือไปทำภารกิจของตัวเอง
2. มีภาวะง่วงนอนมากผิดปกติ
ภาวะง่วงนอนมากผิดปกติ (Hypersomnia) หรือโรคหลับเกินพอดี โดยผู้ที่มีภาวะของโรคนี้จะนอนหลับมากเกินผิดปกติ นอนเท่าไหร่ก็ยังรู้สึกว่านอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ นอนหลับแล้วตื่นยาก รู้สึกง่วงนอนอยู่ตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน
3. ภาวะซึมเศร้า
ภาวะซึมเศร้ากับโรคเตียงดูดนั้น มีความเกี่ยวข้องกัน เนื่องจากภาวะซึมเศร้าอาจส่งผลต่อการนอนหลับ อาทิ นอนไม่หลับ สะดุ้งตื่นกลางดึก ทำให้นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอจนตื่นยากในตอนเช้า หรืออาจหมดแรงจูงใจในชีวิตจนไม่อยากตื่นขึ้นมาในตอนเช้า เป็นต้น
4. เกิดจากความเครียดสะสม
ในบางคนอาจมีความเครียดสะสม มีความวิตกกังวลในจิตใจ หรือมีปัญหาชีวิตที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขและเป็นปัญหาเรื้อรัง เช่น ปัญหาเรื่องงาน เรื่องสถานะทางการเงิน ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ ฯลฯ ทำให้เกิดความเครียดสะสม ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพกายได้ อย่างการมีภาวะนอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท หลับๆ ตื่นๆ หรือฝันร้ายบ่อยๆ ก็อาจส่งผลให้มีอาการของโรคเตียงดูดในตอนเช้าได้เช่นกัน
5. ต่อมไทรอยด์ผิดปกติ
หากใครที่เป็นโรคเกี่ยวกับไทยรอยด์ ก็อาจส่งผลให้รู้สึกเหนื่อยล้าเรื้อรังได้เช่นกัน ซึ่งความรู้สึกอ่อนเพลียเมื่อยล้าที่เกิดขึ้นนั้น อาจเกิดขึ้นเป็นเวลานาน หากไม่ได้รักษาความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ก็จะส่งผลต่อพฤติกรรมการนอนที่ผิดปกติได้
6. โรคหัวใจ
โรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด อาจส่งผลทำให้รู้สึกเหนื่อยล้าและอ่อนเพลียได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีความดันโลหิตสูง หรือมีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ก็อาจทำให้รู้สึกอ่อนเพลียเหนื่อยล้าในตอนเช้า และไม่อยากลุกจากเตียงได้เช่นกัน
เกร็ดสุขภาพ : อาการเตียงดูด นอกจากจะมีสาเหตุมาจากโรคทางกายและโรคทางจิตเวชแล้ว ยังเกิดจากปัญหาด้านการนอนหลับได้ด้วย เช่น มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกลั้น (Obstructive Sleep Apnea) โรคขากระตุกขณะหลับ (Periodic Limb Movement Disorder) ส่งผลให้ตื่นนอนในตอนเช้าแล้วรู้สึกไม่สดชื่น รวมถึงผู้ที่นอนไม่หลับเนื่องจากการเปลี่ยนกะทำงาน จากการเดินทาง ซึ่งทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียเพราะพักผ่อนไม่เพียงพอได้เช่นกัน
โรคเตียงดูด รักษาได้หรือไม่ แก้ไขได้อย่างไร ?
จะเห็นได้ว่า สาเหตุของการเสพติดการนอนหรือ Dysania นั้น มีอยู่หลายสาเหตุด้วยกัน หากเกิดจากโรคซึมเศร้าหรือมีภาวะเครียดสะสม วิตกกังวล การพบนักจิตบำบัดหรือนักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์อาจช่วยให้อาการที่เป็นอยู่ดีขึ้นได้ แต่ถ้าหากเกิดจากความเจ็บป่วยทางกาย ก็ต้องทำการรักษาโรคนั้นๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อให้อาการป่วยดีขึ้น อันจะส่งผลให้มีพฤติกรรมการนอนที่ดีขึ้นด้วย ทั้งนี้ เราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง เพื่อให้มีการนอนที่ถูกต้องได้ ดังนี้ค่ะ
- จัดตารางนอนของตัวเองและทำตามอย่างเคร่งครัด เข้านอนและตื่นตอนเป็นเวลาเดิมทุกวันเพื่อปรับเปลี่ยนนาฬิกาชีวิตของตัวเอง
- ปรับช่วงเวลานอนในตอนกลางวัน การงีบหลับนั้นอาจส่งผลดีต่อสุภาพของเรา แต่ถ้านอนกลางวันมากเกินไป ก็อาจกระทบกับเวลาการนอนในตอนกลางคืนได้ ซึ่งอาจทำให้นอนดึกกว่าปกติ และตื่นยากในตอนเช้าได้
- หลีกเลี่ยงคาเฟอีน แอลกอฮอล์และบุหรี่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจส่งผลต่อการนอนหลับได้
- จัดสภาพแวดล้อมในห้องนอนให้เหมาะสมกับการพักผ่อน เช่น ปิดไฟให้มืดสนิท หรือใช้ที่อุดหูถ้าในกรณีที่รอบข้างมีเสียงดังแล้วรบกวนการนอนหลับของเรา รวมถึงปรับอุณหภูมิในห้องนอนให้เหมาะสมกับการนอนหลับพักผ่อนด้วย
- อยู่บนเตียงหรือที่นอนเมื่อรู้สึกง่วงนอนเท่านั้น ไม่ทำกิจกรรมอื่นๆ บนที่นอน เช่น กินข้าว ทำงาน ดูหนัง อ่านหนังสือ เล่นเกม ซึ่งจะช่วยลดการใช้เวลาอยู่กับเตียงได้
- ออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน จะช่วยให้เรานอนหลับได้ดีขึ้นและนอนหลับอย่างมีคุณภาพมากขึ้น
- งดการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีก่อนนอนเป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาที เพราะแสงสีฟ้าจากหน้าจอจะทำให้เรารู้สึกตื่นตัวมากขึ้น และส่งผลทำให้นอนหลับได้ยากมากขึ้น
โรค Dysania หรือภาวะเสพติดการนอน อาจเป็นสัญญาณที่แสดงถึงความผิดปกติทางร่างกายและจิตใจ เพราะมีสาเหตุมาจากความเจ็บป่วยต่างๆ หลายประการด้วยกัน และถ้ารู้สึกว่าพฤติกรรมการนอนที่ผิดปกติของเราส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ทำให้ขาดงาน ขาดเรียน ทำให้การงานเสียหาย หรือส่งผลเสียต่อสุขภาพกายสุขภาพใจของเรา อาจจะต้องปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุให้แน่ชัดและรักษาได้อย่างตรงจุด รวมถึงการปรับพฤติกรรมการนอนที่ถูกต้อง เพื่อให้นอนหลับอย่างมีคุณภาพ และส่งผลดีต่อสุขภาพของเราค่ะ
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ