“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
กระดูกคอเสื่อม เวียนหัว ด้วยมั้ย ? มีอาการยังไงบ้าง ?! รู้จักโรคนี้ และดูแลรักษากัน !
สำหรับใครที่นั่งทำงานอยู่กับที่นานๆ โดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศก็คงจะมีอาการปวดคอ บ่า ไหล่ หลังกันอยู่บ้าง ซึ่งแก้ไขได้โดยการลุกยืน หรือลุกเดินเป็นระยะๆ และเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ ไม่นั่งอยู่กับที่นานเกินไป แต่ถ้าใครที่มีอาการปวดคอเรื้อรัง ปวดเป็นประจำ ร่วมกับการปวดสะบัก สะบักจม หรือเริ่มมีอาการชาตามมือ แขน ขา นั่นอาจจะต้องหมั่นสังเกตตัวเองให้มากขึ้น เพราะถ้ามีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่แขนหรือมือร่วมด้วย เป็นไปได้ว่า จะเป็นโรคกระดูกคอเสื่อมได้ และสำหรับใครที่ปวดคอ ร่วมกับอาการปวดหัว เวียนหัว มึนหัว และกำลังสงสัยว่านี่คืออาการของโรคอะไร กระดูกคอเสื่อม เวียนหัว ด้วยมั้ย ? กระดูกคอเสื่อม มีอาการเป็นอย่างไร ? มีวิธีการรักษาหรือดูแลตัวเองยังไงได้บ้าง ไปอ่านกันได้เลยค่ะ
กระดูกคอเสื่อม เวียนหัว ด้วยหรือไม่ ? โรคกระดูกคอเสื่อม มีอาการเป็นยังไง
โรคกระดูกคอเสื่อม หรือ Cervical Spondylosis เป็นการเสื่อมของกระดูกสันหลังบริเวณคอที่ส่วนใหญ่มักพบในผู้ที่มีอายุ แต่ปัจจุบันคนที่อายุน้อยก็มีโอกาสเป็นโรคกระดูกคอเสื่อมได้ ด้วยพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป และอาการจะรุนแรงมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น โดยกระดูกสันหลังบริเวณคอนั้นจะมีกระดูกอ่อนคั่นอยู่ ซึ่งมีความยืดหยุ่น ทำให้คอเคลื่อนไหวไปในทิศทางต่างๆ ได้ และเมื่ออายุมากขึ้น กระดูกส่วนนี้อาจมีการเสื่อมหรือยุบตัวลงไป มีความยืดหยุ่นน้อยลง เกิดการชำรุด และทำให้ข้อต่อของกระดูกคอปล้องนั้นๆ เสียไป และทำให้รู้สึกปวดเมื่อย ปวดคอ คอแข็งเหมือนตอนตกหมอน ปวดท้ายทอย ปวดบริเวณสะบัก บางรายอาการหนักทำให้ชาตามแขน และมือ เนื่องจากเส้นประสาทถูกกดทับ และถ้ามีอาการหนัก ก็มีโอกาสจะทำให้ถึงขั้นเคลื่อนไหวได้ไม่สะดวกและเดินลำบากเลยทีเดียว แล้วอาการกระดูกคอเสื่อม เวียนหัวด้วยหรือไม่นั้น เราไปดูอาการของโรคกระดูกคอเสื่อมแบบลงลึกกันค่ะ
โรคกระดูกคอเสื่อม อาการเป็นยังไง เวียนหัวด้วยหรือไม่ ?
ถ้ากระดูกคอเริ่มเสื่อมลงช้าๆ จะยังไม่แสดงอาการใดๆ แต่เมื่อเริ่มเสื่อมมากขึ้นจะรู้สึกปวดเมื่อยบริเวณคอ ท้ายทอย สะบัก ขยับหรือเคลื่อนไหวได้ไม่ค่อยสะดวก ทั้งนี้ โรคกระดูกคอเสื่อมเป็นกลุ่มอาการที่พบมากที่สุดกลุ่มหนึ่งในโรคข้อกระดูกอักเสบ และถ้ามีการเสื่อมมากขึ้น ร่วมกับมีการงอกของกระดูกหรือมีหินปูนมาเกาะบริเวณกระดูกต้นคอก็อาจไปกดทับเส้นประสาทและไขสันหลัง รากประสาท หลอดเลือด รวมทั้งเส้นประสาทซิมพาเทติกด้วย และทำให้มีอาการต่างๆ ดังนี้
- มีอาการเวียนหัว ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ในกรณีที่มีกระดูกงอกหรือกระดูกคอเสื่อมจนไปกดทับระบบประสาทซิมพาเทติก สำหรับใครที่สงสัยว่า อาการกระดูกคอเสื่อม เวียนหัวด้วยหรือไม่ ? อาการเวียนหัวก็อาจขึ้นได้ ร่วมกับอาการอื่นๆ โดยจะมีอาการตามัว มีเสียงในหู มือชา หัวใจเต้นเร็ว และปวดร้าวบริเวณหัวใจร่วมด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้ เป็นอาการของโรคกระดูกคอเสื่อม ชนิดกดทับประสาทซิมพาเทติกนั่นเอง
- นอกจากอาการเวียนหัวที่เกี่ยวกับระบบประสาทซิมพาเทติกแล้ว หากบริเวณกระดูกข้อต่อมีกระดูกงอกขึ้น หรือในกรณีที่กระดูกคอเสื่อม ทำให้ข้อต่อกระดูกหลวม ก็อาจมีการเคลื่อนตัวไปกดทับเส้นเลือดที่มาหล่อเลี้ยงไขสันหลังบริเวณนั้น ทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่สะดวก ส่งผลให้มีอาการเวียนหัว ปวดหัว มีเสียงในหู มีการมองเห็นผิดปกติได้
- มีอาการปวดตามรากประสาท ชาตามปลายนิ้วมือ การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อมัดเล็กเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากระบบประสาทถูกกดทับ
- มีอาการปวดคอ บ่า สะบัก หลัง ที่รุนแรงขึ้น
- เป็นเหน็บชาที่แขน ขา มือ หรือเท้า หรือชาบริเวณข้อศอก นิ้วนาง นิ้วก้อย ข้อไหล่ติด ปวดร้าวที่แขน รู้สึกเจ็บเหมือนถูกเข็มตำที่แขน
- กล้ามเนื้อมืออ่อนแรง หรือมีอาการอ่อนแรงหรือรู้สึกหนักที่มือ แขน ขา ถือของแล้วหล่น หยิบจับของไม่สะดวก
- การควบคุมและการประสานงานของร่างกายมีความผิดปกติ ทำให้ติดกระดุมไม่ได้ เดินลำบาก
- ถ้ามีอาการหนักมาก อาจไม่สามารถกลั้นอุจจาระหรือปัสสาวะได้ เพราะไขสันหลังหรือรากประสาทถูกกดทับ
สาเหตุของโรคกระดูกคอเสื่อม คืออะไร ?
อย่างที่กล่าวไปว่า กระดูกคอเสื่อมนั้น เกิดจากความเสื่อมที่เป็นไปตามวัย แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้กระดูกคอเสื่อมได้ ดังนี้
- ได้รับบาดเจ็บบริเวณนั้น ซึ่งอาจเกิดจากการได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยแต่สะสมเป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดการเสื่อมสภาพหนักมากขึ้น พบได้ในผู้ที่เคยได้รับอุบัติเหตุ หรือเล่นกีฬาที่มีการกระแทกอย่างรุนแรง เช่น รักบี้ เป็นต้น
- ทำงานที่ต้องเคลื่อนไหวคอบ่อยๆ หรือมีแรงกดบริเวณคอมากเกินไป หรือมีการเกร็งคอในท่าทางที่ไม่ถูกสรีระเป็นเวลานาน
- ปัจจัยทางพันธุกรรม มีการรายงานว่า โรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวกดทับเส้นประสาทมาจากโรคภายในทางพันธุกรรม ซึ่งอาการหมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาทนั้น ก็อาจทำให้เกิดโรคกระดูกคอเสื่อมได้ด้วย
- มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน เช่น มีการตั้งครรภ์ หรือภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน ก็ทำให้เกิดโรคกระดูกคอเสื่อมได้
- อยู่ในท่าทางที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการตึงของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เลือดไหลเวียนได้ไม่สะดวก ซึ่งทำให้เกิดโรคกระดูกคอเสื่อม เวียนหัว มึนงง ปวดศีรษะได้
เกร็ดสุขภาพ : โรคกระดูกคอเสื่อม สามารถตรวจวินิจฉัยได้ด้วยการตรวจเอกซเรย์ หรือเข้ารับการตรวจร่างกาย ตรวจ MRI Scan หรือทำ CT Scan เพื่อหาความผิดปกติ หรือมีการฉีดสารย้อมสีเข้าไปในโพรงกระดูกไขสันหลังก่อนการเอกซเรย์ เพื่อช่วยให้เห็นลักษณะของกระดูกโพรงบรรจุไขสันหลัง หมอนรองกระดูก และเส้นประสาทบริเวณคอได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ อาการของโรคกระดูกคอเสื่อม เวียนหัว คลื่นไส้ ปวดศีรษะร่วมด้วยนั้น จะพบว่ากระดูกต้นคอมีการเสื่อมสภาพลงและไปกดทับเส้นประสาทหรือหลอดเลือด หรือมีหินปูน มีกระดูกงอกขึ้นบริเวณข้อต่อและไปเบียดกดทับเส้นประสาทและหลอดเลือด ซึ่งแพทย์จะพิจารณาวิธีทำการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
กระดูกคอเสื่อม รักษาได้อย่างไร ?
โรคกระดูกคอเสื่อม อาการเป็นยังไง ก็ได้ทราบกันไปแล้ว ถ้าใครเริ่มมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น ควรไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด แม้กระทั่งมีอาการเล็กน้อยอย่างปวดเมื่อยต้นคอ ปวดสะบัก แล้วเริ่มมีอาการชาตามแขน มือ นิ้วมือ หรือมีอาการกล้ามเนื้อมืออ่อนแรง หยิบจับของแล้วหล่น ก็ควรรับไปพบแพทย์ก่อนที่อาการจะทรุดหนักขึ้น ซึ่งโรคกระดูกคอเสื่อม สามารถรักษาด้วยวิธีการต่างๆ ดังนี้
- รักษาโดยการทำกายภาพบำบัด โดยนักกายภาพบำบัดจะสอนท่าทางกายบริหารและท่าทางการออกกำลังกายที่ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคอและไหล่ และช่วยบรรเทาอาการปวดได้ และอาจใช้การประคบเย็นหรือประคบร้อนเพื่อลดการเจ็บปวดร่วมด้วย
- รักษาโดยการฝังเข็ม ซึ่งเป็นการฝังเข็มแบบแพทย์แผนจีน ในกรณีที่มีอาการไม่รุนแรง ซึ่งการฝังเข็มจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และบรรเทาอาการปวดได้
- รักษาโดยการใช้ยา ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาจ่ายยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ยาไอบูโพรเฟน เป็นต้น และอาจจ่ายยาคลายกล้ามเนื้อให้ด้วย
- รักษาโดยการฉีดยา ซึ่งจะเป็นยาสเตียรอยด์และยาแก้ปวดเข้าไปยังข้อต่อคอที่มีอาการปวดหรือตรงบริเวณใกล้ๆ กับกระดูกสันหลัง
- การใส่เฝือกคอ โดยใส่เฝือกอ่อนที่คอเป็นระยะเวลาสั้นๆ เพื่อบรรเทาอาการ ทั้งนี้ ไม่ควรใส่นานเกินไป เพราะอาจมีผลข้างเคียง ทำให้คอไม่แข็งแรงได้
- รักษาด้วยการผ่าตัด ในกรณีที่มีการกดทับเส้นประสาทจากภาวะกระดูกคอเสื่อมมากเกินไป ทำให้มีอาการหนัก เช่น เดินไม่สะดวก เคลื่อนไหวลำบาก อาจจะต้องทำการผ่าตัดรักษา ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นได้
เกร็ดสุขภาพ : การผ่าตัดรักษาโรคกระดูกคอเสื่อม อาการหนักต่างๆ ให้ทุเลาลงนั้น ปัจจุบันส่วนใหญ่จะใช้กล้องในการผ่าตัด เป็นแผลผ่าตัดเล็ก ซึ่งลดผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้ดี และวัสดุที่ใช้ในการผ่าตัดก็มีประสิทธิภาพสูง สามารถใช้วัสดุทดแทนได้ รวมถึงเครื่องมือที่ใช้ในการผ่าตัดก็มีคุณภาพสูง และมีการใช้เครื่องติดตามการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อขณะผ่าตัด (Intraoperative Monitoring) เพื่อเพิ่มความมั่นใจในประสิทธิภาพการผ่าตัดมากขึ้น
แนวทางป้องกันไม่ให้เกิดโรคกระดูกคอเสื่อมเร็วเกินไป ทำได้อย่างไร ?
สำหรับคนที่อายุยังน้อย และไม่อยากให้กระดูกคอเสื่อมก่อนวัยอันควร สามารถดูแลตัวเองเพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกคอเสื่อมได้ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการรักษาอาการปวดด้วยวิธีการดัดคอ บิดหมุนคอ หรือจัดกระดูกคอ เพราะจะทำให้กระดูกเสื่อมเร็วมากขึ้น
- หลีกเลี่ยงการทำงานโดยการแหงนคอเป็นเวลานานๆ บ่อยๆ และไม่บิดหมุนคอหรือสะบัดคอบ่อยๆ
- ควรนั่งทำงานหรือนั่งอ่านหนังสือให้คออยู่ในลักษณะตรง ไม่ควรก้มคอมากเกินไป รวมถึงจัดโต๊ะทำงานให้ถูกตามลักษณะสรีรศาสตร์ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดออฟฟิศซินโดรมด้วย
- ไม่ควรคุยโทรศัพท์โดยแนบไว้ระหว่างไหล่กับใบหู เพราะทำให้กล้ามเนื้อคอเกร็ง กระดูกคออยู่ผิดรูป อาจทำให้เกิดการเสื่อมของกระดูกได้
- ไม่แบกหรือสะพายกระเป๋าหนักๆ เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง คอ บ่า ไหล่ถูกกดทับได้
- สำหรับการนอน ควรใช้หมอนหนุนศีรษะโดยมีส่วนรองรับใต้คอให้กระดูกคออยู่ในลักษณะปกติ
- บริหารกล้ามเนื้อคอให้แข็งแรงอยู่เสมอ สำหรับผู้สูงอายุ ควรออกกำลังด้วยท่าออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อลดอาการบาดเจ็บที่จะเกิดขึ้นได้
กระดูกคอเสื่อม เป็นโรคที่เกิดขึ้นตามวัย ยิ่งมีอายุมากขึ้น ก็มีโอกาสเสื่อมได้มากขึ้น แต่ก็มีวิธีป้องกันตัวเองโดยไม่ใช้กระดูกคอเสื่อมก่อนวัยได้ด้วยการดูแลตัวเองในเรื่องการนอน การนั่งทำงานให้ถูกสรีระ ไม่สะพายกระเป๋าหนักเกินไป รวมถึงรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ เพราะน้ำหนักเยอะก็มีส่วนทำให้กระดูกคอเสื่อมได้ด้วย สำหรับใครที่สงสัยว่า กระดูกคอเสื่อม เวียนหัวด้วยมั้ย ก็ได้รู้กันไปแล้วว่าอาจมีอาการเวียนหัว ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียนได้ด้วย ร่วมกับอาการปวดเมื่อยต้นคอและสะบัก เนื่องจากมีการกดทับระบบประสาทและหลอดเลือด ซึ่งจะต้องไปพบแพทย์โดยเร็วเพื่อทำการรักษาให้ถูกวิธี และแม้มีอาการเล็กน้อยก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นาน ควรทำการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อสุขภาพที่ดีของเรานะคะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : thonburihospital.com, paolohospital.com, bangkokinternationalhospital.com, huachiewtcm.com, nhs.uk, mayoclinic.org
Featured Image Credit : freepik.com/jcomp
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ