“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
เรอบ่อย แน่นท้อง เกิดจากอะไร ? อันตรายหรือไม่ ?
หลังจากที่เรากินอาหารเข้าไป ก็มักจะมีอาการเรอออกมาซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ การเรอส่วนใหญ่เกิดจากการกลืนอากาศมากเกินไป หรือมีการกินหรือดื่มเร็วเกินไป ในขณะที่อาการท้องอืดนั้น เป็นการปล่อยแก๊สส่วนเกินในลำไส้ใหญ่ ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับอาหารที่เรากินเข้าไปนั่นเอง โดยส่วนใหญ่สาเหตุของแก๊ส ท้องอืด และเรอนั้น มาจากความผิดปกติอย่างน้อยหนึ่งอย่าง เช่น ลำไส้แปรปรวน อาหารไม่ย่อย หรือท้องผูกเรื้อรัง แต่หากคุณมีอาการ เรอบ่อย แน่นท้อง แล้วนั้น อาจบ่งบอกถึงโรคและอาการบางอย่างได้ เรามาดูกันค่ะว่า เรอบ่อย เกิดจากอะไร สามารถรักษาและป้องกันได้อย่างไรบ้าง
เรอบ่อย แน่นท้อง สาเหตุเกิดจากอะไร ?
การมีแก๊ส ท้องอืด และเรอ ไม่ใช่อาการที่ผิดปกติหรือภาวะที่เป็นอันตรายอื่นๆ แม้ว่าคุณจะมีอาการปวดท้อง หรือท้องผูกสลับท้องเสียด้วยก็ตาม แต่การเรอร่วมกับท้องอืด อาจรบกวนกิจวัตรประจำวันหรือทำให้เกิดความอับอายได้ หากเรอออกมาในที่สาธารณะโดยไม่ได้ตั้งใจ และอาการเหล่านี้มักไม่บ่งชี้ถึงภาวะที่ร้ายแรง และสามารถลดลงได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ซึ่งสาเหตุของแก๊ส ท้องอืด และเรอนั้น หากไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ก็จัดว่าไม่มีอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย แต่หากมีอาการเรอบ่อย แน่นท้องนั้น บางครั้งอาการเหล่านี้อาจทำให้เกิดปัญหาหรือปวดท้องได้ แล้วเรอบ่อย เกิดจากอะไรได้บ้าง ?
สาเหตุของอาการเรอบ่อย เกิดจากปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. การมีลมอยู่ในกระเพาะอาหารที่มากกว่าปกติ
การมีลมมากกว่าปกตินั้นมาจากการที่คุณกลืนอากาศ หรือที่เรียกว่า การกลืนลม (Aerophagia) เข้าไปเมื่อคุณกินหรือดื่มเร็วเกินไป หรือกินอาหารไปคุยไปด้วย รวมถึงการหายใจเร็วเกินไปที่เกิดจากการหัวเราะ ความวิตกกังวลต่างๆ การหายใจลึก ยาว หรือเร็วกว่าปกติ การเคี้ยวหมากฝรั่ง การสูบบุหรี่ หรือการใส่ฟันปลอมที่หลวมอาจทำให้บางคนได้รับอากาศเข้าไปมากขึ้น การเรอเป็นวิธีการที่อากาศส่วนมากที่ถูกกลืนเข้าไปซึ่งประกอบด้วยไนโตรเจน ออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ ถูกระบายออกจากกระเพาะอาหาร จนเกิดอาการเรอออกมานั่นเอง
2. เกิดจากอาหารหรือเครื่องดื่มบางชนิด
อาหารและเครื่องดื่มบางชนิดอาจทำให้เรอบ่อย แน่นท้องได้ อาทิ น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถั่ว กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บรอกโคลี หัวหอม กล้วย อาหารที่ทำมาจากโฮลเกรนหรือธัญพืชเต็มเมล็ด และยังรวมถึงอาหารที่มีแป้ง น้ำตาล หรือไฟเบอร์สูงอีกด้วย ซึ่งอาหารไม่ย่อยนั้นอาจทำให้ปวดท้องชั่วคราวและเรอบ่อยๆ ได้
3. การมีกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไป
ซึ่งอาจเกิดจากการดื่มกาแฟและได้รับคาเฟอีน การกินอาหารที่มากเกินไปจนมีอาหารตกค้างในกระเพาะ ซึ่งมาจากน้ำย่อยอาหารไม่เพียงพอ รวมไปถึงปัญหาด้านอารมณ์ จิตใจ และความเครียด ก็ก่อให้เกิดกรดในกระเพาะเช่นเดียวกัน
4. เกิดจากการใช้ยาบางชนิด
อาการเรอบ่อย แน่นท้อง อาจเกิดจากการใช้ยาบางชนิดได้ เช่น ยารักษาเบาหวานชนิดที่ 2 ยาระบาย ยาบรรเทาอาการปวด ซึ่งการใช้ยาแก้ปวดในปริมาณมากนั้น อาจทำให้กระเพาะอาหารอักเสบ ซึ่งเป็นภาวะที่ทำให้เรอบ่อยได้
เกร็ดสุขภาพ : นอกจากอาการเรอเมื่อมีแก๊สในกระเพาะมากเกินไปแล้วนั้น อาจทำให้บางคนมีอาการผายลมได้อีกด้วย เพราะแก๊สที่เหลืออยู่เพียงปริมาณเล็กน้อยจะเดินทางเข้าสู่ลำไส้ใหญ่เพื่อปลดปล่อยออกทางทวารหนัก ซึ่งมักเกิดจากการที่ ร่างกายไม่สามารถย่อยและดูดซึมคาร์โบไฮเดรตบางชนิดในลำไส้เล็กได้ ทำให้อาหารที่ไม่ถูกย่อยเหล่านี้ผ่านจากลำไส้เล็กเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ และผลิตเป็นแก๊สไฮโดรเจน คาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงแก๊สมีเทน
เรอบ่อย แน่นท้อง บอกโรคอะไรหรือไม่ ?
อาการเรอ แน่นท้อง ท้องอืด เป็นความรู้สึกของความอิ่มท้อง บางครั้งท้องของคุณอาจดูป่องขึ้น แต่ก็ไม่เสมอไป ซึ่งการเรอบ่อย ร่วมกับอาการแน่นท้องนั้น นอกจากสาเหตุดังกล่าวข้างต้น อาจบ่งบอกถึงโรคประจำตัวต่างๆ ได้ ซึ่งโรคเหล่านี้จะทำให้คุณเรอมากกว่าปกติ ได้แก่
- โรคกรดไหลย้อน
- โรคทางเดินอาหาร
- โรคกระเพาะอาหารอักเสบ
- โรคแผลในกระเพาะอาหาร
- ลำไส้แปรปรวน
ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่พบได้น้อย เช่น โรคเซลิแอค หรืออาการแพ้กลูเตนในอาหารที่มีแป้งเป็นส่วนประกอบ เช่น ขนมปังต่างๆ โรคตับอ่อนทำงานบกพร่อง ซึ่งจะทำให้ร่างกายขาดน้ำย่อยที่ใช้ในการย่อยอาหาร นอกจากนี้ความวิตกกังวล ซึมเศร้า และเหตุการณ์ในชีวิตที่ตึงเครียด แม้ว่าจะไม่ใช่สาเหตุหลัก แต่ก็อาจทำให้อาการแย่ลงและยากต่อการรักษาได้
อาการเหล่านี้รักษาอย่างไร ?
แม้อาการเรอบ่อย แน่นท้องรุนแรงมักจะดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปด้วยการเปลี่ยนแปลงอาหารและวิถีชีวิต แต่ถ้าอาการเรอไม่สามารถควบคุมได้ หรือมีอาการปวดท้องรุนแรงร่วมด้วย หรือปวดท้องนานกว่า 24 ชั่วโมง มีอาการอาเจียน ปวดหัว มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส ปวดหรือแสบร้อนในลำคอหรือปาก และเจ็บหน้าอก ให้ไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา ซึ่งการรักษานั้นจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ โดยแพทย์อาจสั่งจ่ายยาดังต่อไปนี้
- ยาลดกรด และยาขับลม เช่น ยาไซเมทิโคน หรือถ่านกัมมันต์ เพื่อรักษาอาการจุกเสียดแน่นท้องหรือแสบร้อนกลางอก
- ยาระบาย เช่น โพลิเอทิลีนไกลคอล อาจช่วยเรื่องการแน่นท้อง ท้องอืดได้
- อาหารเสริมเอนไซม์ เช่น Alpha-D-Galactosidase ที่สามารถช่วยย่อยน้ำตาลในผักและธัญพืชต่างๆ ที่ย่อยยากและทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะ
เกร็ดสุขภาพ : หากคุณมีภาวะทางเดินอาหาร เช่น โรคโครห์น หรือโรคลำไส้แปรปรวน ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ในด้านอาหารและโภชนาการ เพื่อลดแก๊สในท้องและลดความรู้สึกไม่สบายท้อง และหากคุณมีโรคกรดไหลย้อน ให้รออย่างน้อยสองชั่วโมงหลังกินอาหารก่อนที่จะเข้านอน เพราะการนอนเร็วเกินไปหลังกินอาหารอาจทำให้เกิดอาการเสียดและแน่นท้องได้
วิธีป้องกันและดูแลตัวเอง
การรักษาอาการเรอบ่อย แน่นท้องจะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ส่วนการป้องกันอาการปวดท้องและเรอนั้น แม้ว่าจะไม่สามารถป้องกันสาเหตุของอาการปวดท้องและการเรอได้ทั้งหมด แต่สามารถลดความเสี่ยงและดูแลตัวเองได้ ดังนี้
- หากคุณเรอมากเกินไปหรือรู้สึกแน่นท้อง การนอนตะแคงอาจช่วยได้ ด้วยการวางตำแหน่งเข่าไว้ที่หน้าอก จะช่วยให้แก๊สผ่านไปได้ง่ายขึ้น หรือลองใช้วิธีนอนแก้ปวดท้องกระเพาะดูค่ะ
- หลีกเลี่ยงการกินและดื่มอย่างรวดเร็ว และการเคี้ยวหมากฝรั่ง จะช่วยให้คุณกลืนอากาศได้น้อยลง หากคุณมีอาการปวดท้องและเรอมากเกินไป สิ่งเหล่านี้อาจทำให้ปัญหาแย่ลงด้วย
- งดอาหารบางชนิด ได้แก่ ถั่ว ถั่วลันเตา ถั่วเลนทิล กะหล่ำปลี หัวหอม บรอกโคลี กะหล่ำดอก อาหารไม่ขัดสี เห็ด ผลไม้บางชนิด เบียร์และเครื่องดื่มอัดลมอื่นๆ เพราะอาหารเหล่านี้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้เรอบ่อยได้
- กินอาหารที่มีไขมันน้อยลง เพราะไขมันทำให้การย่อยอาหารช้าลง ทำให้อาหารมีเวลาหมักมากขึ้น และเกิดแก๊สได้
- งดอาหารที่มีเส้นใยสูงชั่วคราว แม้ว่าไฟเบอร์มีประโยชน์มากมาย แต่อาหารที่มีไฟเบอร์สูงก็สามารถผลิตแก๊สได้เช่นกัน
- หลีกเลี่ยงคาเฟอีน เครื่องดื่มอัดลม และสารให้ความหวานเทียม
- อย่าสูบบุหรี่ เพราะเมื่อคุณสูดดมควัน คุณจะหายใจเข้าและกลืนอากาศเข้าไปด้วย
- หากใส่ฟันปลอม หมั่นตรวจสอบฟันปลอมของคุณ เพราะการใส่ฟันปลอมที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้คุณกลืนอากาศส่วนเกินเมื่อคุณกินและดื่ม หรือเคลื่อนไหว
- ออกกำลังกาย การออกกำลังกายเป็นประจำทุกวันจะช่วยลดอาการในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้
- กินอาหารที่มีโปรไบโอติก โปรไบโอติกพบได้ในอาหารเสริมและโยเกิร์ต ซึ่งโปรไบโอติกทั่วไปคือ แลคโตบาซิลลัส และไบฟิโดแบคทีเรียม
อาการเรอบ่อย แน่นท้องนั้น มักเกิดจากแก๊สในลำไส้เล็กหรือลำไส้ใหญ่ ที่มาจากการย่อยอาหารหรือการหมักอาหารที่ไม่ได้ย่อยโดยแบคทีเรียที่พบในลำไส้ และเกิดจากการกลืนอากาศเข้าไปจำนวนมาก ซึ่งโดยปกติแล้วไม่มีอาการที่เป็นอันตราย เพียงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและอาหารที่กินก็สามารถช่วยบรรเทาได้ แต่ถ้าคุณมีอาการท้องเสียด้วยนั้น แนะนำอ่านเพิ่มเติมเรื่อง ท้องเสีย กินผลไม้อะไรได้บ้าง และหากคุณพบว่าตนเองมีอาการเรอบ่อยจนผิดปกติ และมีอาการปวดท้องอย่างหนัก แนะนำให้พบแพทย์เพื่อหาสาเหตุต่อไปว่ามาจากโรคอื่นๆ หรือไม่ เพื่อทำการรักษาตามอาการของโรคนั่นเองค่ะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : healthline.com, mayoclinic.org
Featured Image Credit : freepik.com/benzoix
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ