X

โรคเหงาหลับ คืออะไร ? มีพาหะเป็นแมลงวันจริงเหรอ ? ชวนรู้จักป้องกัน และระวังกัน !

เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡

โรคเหงาหลับ คืออะไร ? มีพาหะเป็นแมลงวันจริงเหรอ ? ชวนรู้จักป้องกัน และระวังกัน !

อาการเหงาหลับนั้นเกิดขึ้นได้ถ้าเราพักผ่อนไม่เพียงพอ นอนดึก นอนน้อย หรืออดนอนมาเป็นเวลานานจนมีภาวะ Sleep Deprivation ก็อาจจะมีอาการง่วงเหงาหาวนอนจนเผลอเหงาหลับหรือฟุบหลับได้ แต่รู้ไหมว่า มี “โรคเหงาหลับ” อยู่จริงๆ ที่ถูกบัญญัติว่าเป็นโรคและเป็นอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งเกิดจากเชื้อโรคชนิดหนึ่ง โรคเหงาหลับ อาการเป็นอย่างไร เกิดจากอะไร อันตรายมากแค่ไหน มีวิธีป้องกันหรือไม่ มาอ่านกันเลยค่ะ

โรคเหงาหลับ คืออะไร ? อันตรายมากมั้ย เป็นยังไงกันแน่ มาหาคำตอบกัน !

โรคเหงาหลับ, โรคเหงาหลับ อาการ
Image Credit : nytimes.com

โรคเหงาหลับ (Sleeping Sickness) มีอีกชื่อคือ โรคแอฟริกัน ทริปาโนโซมิเอซิส (African Trypanosomiasis) หรือบางทีก็เรียกว่า โรคไข้เหงาหลับ โดยเกิดจากปรสิตที่ชื่อว่า ทริปาโนโซมา แกมเบียนส์ (Trypanosoma Gambiense) ซึ่งเราจะได้รับเชื้อผ่านการถูกแมลงวันกัด ถ้าหากแมลงวันมีเชื้อปรสิตชนิดนี้อยู่ ก็ทำให้เกิดโรคได้ สำหรับใครที่สงสัยว่า มีแมลงวันเป็นพาหะนำโรคจริงหรือ คำตอบก็คือ จริง โดยแมลงวันที่เป็นพาหะนำโรคก็คือ แมลงวันเซทซีฟลาย (อ่านว่า เซท-ซี-ฟลาย) หรือ Tsetse Fly ซึ่งเป็นแมลงวันที่มีเฉพาะในทวีปแอฟริกาเท่านั้น แมลงวันชนิดนี้มีขนาดใหญ่กว่าแมลงวันในประเทศไทยมาก มีขนาดประมาณ 6 – 15 มิลลิเมตร และจะใช้ปากดูดเลือดสัตว์หรือมนุษย์ มักจะหากินในเวลากลางวัน เมื่อโดนแมลงวันชนิดนี้กัดจะรู้สึกเจ็บมาก ผู้ที่โดนกัดจะรู้สึกได้ในทันที ในณะที่แมลงวันดูดเลือดก็จะปล่อยปรสิตออกมาทางน้ำลาย ทำให้ติดโรคได้นั่นเองค่ะ

เกร็ดสุขภาพ : แม้ว่าแมลงวันที่เป็นพาหะนำโรคไข้เหงาหลับจะพบได้ในทวีปแอฟริกาเท่านั้น และไม่พบในประเทศไทย แต่ปัจจุบันมีคนไทยนิยมไปเที่ยวในทวีปแอฟริกามากขึ้นเรื่อยๆ จึงมีโอกาสที่จะโดนแมลงวันชนิดนี้กัดและเป็นโรคไข้เหงาหลับได้เช่นกัน แมลงวันชนิดนี้มักจะออกหากินในเวลากลางวัน อาศัยอยู่ในบริเวณพุ่มไม้หรืออยู่ใกล้ๆ ฝูงสัตว์ ในระหว่างที่นักท่องเที่ยวกำลังดูสัตว์ป่าอยู่นั้นก็มีโอกาสที่จะโดนแมลงวันชนิดนี้กัดได้

โรคเหงาหลับ อาการเป็นอย่างไร ?

โรคเหงาหลับ, โรคเหงาหลับ อาการ
Image Credit : freepik.com

โรคเหงาหลับ หรือ African Sleeping Sickness สามารถแยกออกเป็น 2 ชนิดย่อยๆ คือ

  1. East African Trypanosomiasis ซึ่งโรคนี้จะพบมากในแถบแอฟริกาตะวันออก เช่น แถบประเทศแทนซาเนีย อูกันดา มาลาวี เคนยา แซมเบีย เป็นต้น เกิดจากเชื้อในปรสิตสายพันธ์ุ Trypanosoma brucei  rhodesiense ที่จะมีความรุนแรงสูง มีระยะฟักตัวสั้นๆ ประมาณ 1-3 สัปดาห์ และจะมีอาการรุนแรงมาก ทั้งยังมีอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย หากไม่ได้รับการรักษาอาจเสียชีวิตได้เลยทีเดียว ในระยะแรกนั้นจะมีไข้ รู้สึกปวดศีรษะ คันตรงบริเวณที่ถูกกัด และมีอาการปวดตามข้อ ตับและต่อมน้ำเหลืองโต กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เป็นต้น
    ในระยะที่ 2 จะมีอาการทางประสาท เริ่มมีอาการสับสน มือทำงานไม่ประสานกัน มีอาการชา เมื่อเข้าสู่ระยะสุดท้ายจะมีอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เข้าสู่ระยะโคม่าและเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ อาการสำคัญที่เป็นที่มาของชื่อโรคเหงาหลับก็คือ ผู้ป่วยจะมีพฤติกรรมการนอนที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะง่วงนอนมากในเวลากลางวัน แต่นอนไม่หลับในเวลากลางคืน และยังมีอาการอยากนอนหลับกะทันหันโดยไม่สามารถควบคุมตนเองได้ จึงเป็นที่มาของชื่อโรคนั่นเอง
  2. West African Trypanosomiasis พบในทวีปแอฟริกาฝั่งตะวันตก เช่น ประเทศคองโก กาบอง ซูดาน แอฟริกากาง เป็นต้น เกิดจากเชื้อปรสิตสายพันธ์ุ Trypanosoma brucei gambiense ซึ่งจะมีระยะฟักตัวช้ากว่า อาจกินระยะเวลาเป็นเดือน หรือนานเป็นปี ซึ่งโรคเหงาหลับ อาการแบบชนิด West จะเป็นอาการเรื้อรังแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยจะมีไข้ต่ำๆ และต่อมน้ำเหลืองโต โดยเฉพาะบริเวณคอ และเมื่อเข้าสู่ระยะที่ 2 จะมีอาการสำคัญคือ คอแข็ง การรับรู้ลดลง มีอาการง่วงเหงาหาวนอน โดยส่วนใหญ่แล้ว จะเสียชีวิตจากการติดเชื้ออื่นๆ ร่วมด้วย

เกร็ดสุขภาพ : สถานที่ที่นักท่องเที่ยวชาวไทยนิยมไปเที่ยวซาฟารีกันก็คือ อุทยานแห่งชาติเซเรนเกตีในประเทศแทนซาเนีย และอุทยานแห่งชาติมาไซมาร่า ประเทศเคนย่า ซึ่งทั้งสองประเทศถือว่ามีความเสี่ยงที่จะถูกแมลงวันเซทซีฟลายกัด และอาจทำให้เป็นโรคเหงาหลับได้ ทั้งนี้ หากติดเชื้อมาจากประเทศเคนยาหรือแทนซาเนีย มักจะเป็นโรคในสายพันธ์ุ East African Sleeping Sickness ซึ่งมีความรุนแรงสูงและอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

การวินิจฉัยโรคเหงาหลับ ทำได้อย่างไร ?

โรคเหงาหลับ, โรคเหงาหลับ อาการ
Image Credit : freepik.com

จะเห็นว่าโรคเหงาหลับ อาการนั้น มีความคล้ายกับโรคอื่นๆ อีกมาก ทั้งการเป็นไข้ ปวดศีรษะ ปวดตามข้อ ตับและต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งถ้าไม่รู้ตัวว่าโดนแมลงวันชนิดนี้กัดก็อาจจะไม่รู้ว่า ตนเองมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไข้เหงาหลับได้ ทั้งความผิดปกติในการนอนก็มีความคล้ายกับโรคที่เกี่ยวกับการนอนหลับอื่นๆ เช่น Hypersomnia อย่างไรก็ตาม หากมีประวัติการกลับมาจากประเทศแถบแอฟริกาและไปท่องเที่ยวที่ซาฟารีมา ควรบอกแพทย์โดยละเอียด ซึ่งแพทย์จะทำการเจาะเลือดหรือน้ำหล่อเลี้ยงไขสันหลังไปตรวจในห้องแลป เพื่อดูว่าตรวจพบปรสิตที่ทำให้เกิดโรคหรือไม่ และทำการรักษาต่อไป  สำหรับวิธีการรักษานั้น ปัจจุบันรักษาด้วยยาเป็นหลัก แต่เป็นยาที่มีผลข้างเคียงสูงและหายากในประเทศไทย หากสงสัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคไข้เหงาหลับ มักจะถูกส่งต่อไปยังสถาบันทางการแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญโดยเฉพาะ

โรคเหงาหลับ ป้องกันได้อย่างไร ?

โรคเหงาหลับ, โรคเหงาหลับ อาการ
Image Credit : freepik.com

สำหรับใครที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะแมลงวันเซทซีฟลายที่เป็นพาหะนำโรคอาศัยอยู่ในประเทศแถบแอฟริกาเท่านั้น ทั้งนี้ หากใครได้มีโอกาสได้ไปท่องเที่ยวซาฟารี ก็มีโอกาสที่จะเจอแมลงวันชนิดนี้ ซึ่งจะพบมากตามฝูงสัตว์ต่างๆ ที่อยู่ในอุทยาน หากอยากท่องเที่ยวแบบปลอดภัย ควรมีวิธีป้องกันตัวเองดังนี้ค่ะ

  • สวมเสื้อผ้าให้มิดชิด คลุมร่างกายให้ได้มากที่สุด ทั้งข้อมือข้อเท้า เพื่อป้องกันการถูกกัดที่ผิวหนัง
  • ใส่เสื้อผ้าที่มีเนื้อผ้าหนาเวลาไปท่องเที่ยวซาฟารี เพราะแมลงวันชนิดนี้สามารถกัดทะลุเสื้อผ้าบางๆ ได้ 
  • หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สัตว์หรือการอยู่ตามพุ่มไม้ เพราะเป็นที่อยู่ของแมลงวัน
  • ก่อนขึ้นรถควรตรวจดูก่อนว่ามีแมลงวันหรือแมลงอื่นๆ อยู่ในรถหรือไม่ เพราะอาจจะถูกกัดได้ 
  • อย่าสวมเสื้อผ้าสีฟ้าหรือสีน้ำเงิน เช่น เสื้อสีน้ำเงิน กรมท่า รวมถึงกางเกงยีนส์สีน้ำเงิน เพราะจะดึงดูดแมลงวันชนิดนี้ให้เข้าใกล้ ควรใส่เสื้อผ้าสีกลางๆ เช่น สีน้ำตาล สีเทา สีเขียว ไม่ควรใส่สีฉูดฉาด ไม่มืดเกินไป และไม่สว่างเกินไป 
  • ใช้ยากันยุงที่มีส่วนผสมของ DEET คามเข้มข้นสูง ประมาณ 20 – 50% และใช้สารเคมี Permethrin ชุบมุ้ง หากต้องนอนในที่โล่ง เพื่อป้องกันแมลงวัน

วิธีดูแลตัวเอง หากถูกแมลงวันเซทซีฟลายกัด

ต้องบอกก่อนว่า การถูกแมลงวันเซทซีฟลายกัดในขณะไปท่องเที่ยวซาฟารีนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นโรคไข้เหงาหลับกันทุกคน จะมีโอกาสเป็นก็ต่อเมื่อแมลงวันที่กัดเรานั้นมีเชื้อปรสิตอยู่ อย่างไรก็ตาม หากถูกแมลงวันชนิดนี้กัด ให้หมั่นสังเกตตัวเองว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ เช่น มีผื่นคัน แผลเป็นสะเก็ดสีดำ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดตามข้อ มีพฤติกรรมการนอนที่ต่างไปจากเดิม ง่วงในเวลากลางวัน ไม่นอนในเวลากลางคืน หากมีอาการปกติใดๆ ควรไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด และแจ้งแพทย์โดยละเอียดว่ามีประวัติไปท่องเที่ยวที่แอฟริกาและโดนแมลงวันชนิดนี้กัด จะได้ตรวจสอบโรคได้ง่ายขึ้นค่ะ

โรคเหงาหลับ อาการเป็นอย่างไร เกิดจากอะไร ก็ได้ทราบกันไปแล้ว อย่างที่กล่าวไปว่า พาหะนำโรคนั้น คือแมลงวันเซทซีฟลายที่มีเชื้อปรสิตอยู่ในตัว และพบได้ในแถบทวีปแอฟริกาเท่านั้น สำหรับคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยก็ไม่ต้องกังวลไปค่ะ แต่ถ้าใครได้มีโอกาสไปเที่ยวดูสัตว์ที่ซาฟารีในอุทยานแห่งชาติต่างๆ แถบทวีปแอฟริกา ก็ควรจะระวังตัวและป้องกันการถูกแมลงวันชนิดนี้กัดเป็นอย่างยิ่ง เพราะโรคเหงาหลับอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตได้เลยค่ะ ที่สำคัญคือ ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้อีกด้วย ดังนั้นแล้ว ควรป้องกันตัวเองให้ดีที่สุดนะคะ

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : ddc.moph.go.th, thaitravelclinic.com, cai.md.chula.ac.th, who.int, cdc.gov

Featured Image Credit : freepik.com

ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ

ติดต่อโฆษณา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้การวิเคราะห์

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

Save