“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
STDs คือ ? โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีอะไรบ้างที่ควรรู้ ! รู้ก่อน ป้องกันได้มากกว่า !
นอกจากโรคติดต่ออื่นๆ อย่างไข้หวัดใหญ่, COVID – 19, โรคไข้สุกใส และโรคอื่นๆ แล้ว ก็ยังมีกลุ่มโรคติดต่ออีกกลุ่มหนึ่งที่มีความน่ากังวลและเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายของเรามาก ซึ่งก็คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือกลุ่มโรค STDs นั่นเอง และมีผู้ที่ป่วยด้วยกลุ่มโรคเหล่านี้เป็นจำนวนไม่น้อย หนึ่งในกลุ่มโรคนี้ที่เราทุกคนคุ้นเคยกันดีก็คือ โรคเอดส์ หรือการติดเชื้อ HIV ซึ่งสาเหตุหลักๆ ของการติดโรคในกลุ่ม STDs คือ การมีเพศสัมพันธ์โดยที่ไม่ป้องกัน หรือการมีเพศสัมพันธ์อย่างไม่ปลอดภัยนั่นเอง นอกจากการติดเชื้อ HIV แล้ว ยังมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โรคอื่นๆ อีกมากมาย ถ้าเราได้รู้เอาไว้ ก็จะได้ป้องกันตัวเองให้ปลอดภัย และห่างไกลจากกลุ่มโรคเหล่านี้นะคะ
ชวนรู้จัก กลุ่มโรค STDs คือ อะไร ? มีโรคอะไรบ้าง ?!
Sexually Transmitted Diseases หรือ STDs คือกลุ่มโรคที่มีการติดต่อผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่มีเชื้ออยู่ในร่างกาย และได้รับเชื้อมา ไม่ว่าจะเป็นการมีเพศสัมพันธ์ผ่านทางช่องคลอด ทางทวารหนัก หรือทางปากก็ตาม เนื่องจากมีการสัมผัสกับสารคัดหลั่งต่างๆ เช่น เลือด อสุจิ เมือกในช่องคลอด หรือของเหลวอื่นๆ ที่มาจากร่างกาย ทำให้มีโอกาสที่จะติดเชื้อได้ ทั้งการมีเพศสัมพันธ์กับเพศตรงข้าม หรือเพศเดียวกันก็ตาม ทั้งนี้ อาการที่แสดงถึงการติดโรคอาจเกิดขึ้นภายใน 2 – 3 วัน ในขณะที่บางรายอาจใช้เวลาเป็นปีจึงจะมีอาการของโรคต่างๆ ขึ้นอยู่กับสุขภาพร่างกายของแต่ละคน และเชื้อแต่ละชนิดด้วย มาดูกันค่ะว่า โรคติดต่อ เพศสัมพันธ์นั้น มีโรคอะไรกันบ้าง
1. โรคเอดส์ (AIDS)
ถ้าพูดถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หนึ่งในโรคที่ทุกคนจะต้องคิดถึงในกลุ่มโรค STDs คือ โรคเอดส์ แล้วโรคเอดส์ เกิดจากเชื้อโรคชนิดใด ? คำตอบก็คือ เกิดจากเชื้อไวรัส HIV ที่จะเข้าสู่ร่างกายผ่านการมีเพศสัมพันธ์เป็นส่วนใหญ่ โดยผู้ที่ติดเชื้อ HIV หากได้รับยาต้านเป็นประจำก็จะยังคงมีร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพที่ดีไม่ต่างจากคนปกติ แต่ถ้าหากไม่ได้รับยาต้าน ก็อาจจะพัฒนาเข้าสู่การเป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือโรคเอดส์นั่นเอง โดยจะมีอาการคือ น้ำหนักลดลง มีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ปอดอักเสบ ท้องเสียเรื้อรัง มีผื่นตามผิวหนัง ในช่องปาก ในจมูกและตา ร่างกายอ่อนเพลีย และอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด
เกร็ดสุขภาพ : นอกจากการสวมถุงยางอนามัยแล้ว การรับประทานยา PREP ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้ และควรรับประทานยาควบคู่ไปกับการสวมถุงยางอนามัย เพราะจะช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โรคอื่นๆ ได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน และเกรงว่าจะติดเชื้อ HIV สามารถกินยา PEP คือยาต้านฉุกเฉินภายใน 72 ชั่วโมงหลังการมีเพศสัมพันธ์ได้ เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อ HIV ค่ะ
2. โรคเริม (Herpes Simplex)
โรคเริม เกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า Herpes Simplex Virus (HSV) ซึ่งสามารถแพร่กระจายผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ได้ถ้าหากไม่ได้ป้องกัน รวมถึงการสัมผัสผ่านทางผิวหนังด้วยเช่นกัน โดยจะมีอาการคือ มีรอยถลอกบนผิวหนังหรือเยื่อบุอ่อนบริเวณใกล้เคียง หรือมีตุ่มใสขนาด 1 – 2 มม. ขึ้นตรงบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนัก รู้สึกระคายเคือง ปวด แสบ คันที่แผล บางรายมีตุ่มน้ำใสขึ้นที่ริมฝีปากและในช่องปาก อย่างไรก็ตาม ใครที่ได้รับเชื้อชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายแล้ว อาจส่งผลทำให้เชื้ออยู่ในร่างกายตลอดชีวิต และจะมีอาการแสดงเมื่อร่างกายอ่อนแอหรือภูมิคุ้มกันตก ซึ่งทำให้โรคเริมกำเริบขึ้นได้
3. โรคหนองในแท้ (Gonorrhea)
หนองในแท้ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่สามารถเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนในเยื่อบุผิวของร่างกายได้โดยง่าย และลักษณะเด่นของโรคนี้ในกลุ่ม STDs คือ สามารถเติบโตได้ในพื้นที่ที่มีความอุ่นและชื้นอย่างระบบสืบพันธ์ุ บริเวณปากมดลูก มดลูก ท่อนำไข่ และท่อปัสสาวะ รวมถึงบริเวณปาก ลำคอ และทวารหนัก โดยในเพศหญิงจะมีอาการคือ ตกขาวมากผิดปกติ มีลักษณะเป็นน้ำ หรือเส้นบางๆ สีออกเขียวหรือเหลือง ปัสสาวะรู้สึกเจ็บหรือแสบ มีเลือดออกหลังการมีเพศสัมพันธ์ ประจำเดือนมามากผิดปกติ เป็นต้น และในเพศชาย จะมีหนองสีเหลืองหรือสีเขียวไหลออกมาจากส่วนปลายของอวัยวะเพศ โดยอาจเกิดขึ้นหลังการมีเพศสัมพันธ์ รู้สึกเจ็บหรือแสบขณะปัสสาวะ และเกิดการอักเสบบริเวณหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศร่วมด้วย
4. โรคหนองในเทียม (Chlamydia)
โรคที่มีชื่อคล้ายๆ กันในกลุ่มโรค STDs คือ หนองในแท้ และหนองในเทียม แต่เป็นเชื้อคนละตัวกัน ซึ่งอาจทำให้เกิดความสับสนได้ โรคติดต่อ เพศสัมพันธ์ หนองในเทียม อาจไม่แสดงอาการในผู้ป่วยบางราย แต่สามารถแพร่กระจายต่อไปยังผู้อื่นได้ หากไม่ได้มีการป้องกัน และถ้ามีอาการขึ้นมา ในเพศหญิง จะมีการตกขาวที่มีลักษณะคล้ายหนอง มีกลิ่นแรงมาก ระหว่างปัสสาวะจะรู้สึกแสบ และเจ็บ และอาจมีเลือดออกทางช่องคลอดร่วมด้วย ในเพศชาย จะมีน้ำขุ่นใสไหลออกมาบริเวณปลายองคชาตที่ไม่ใช่ทั้งอสุจิและปัสสาวะ จะรู้สึกแสบขัดขณะปัสสาวะ และมีอาการเจ็บ ปวดบริเวณอวัยวะเพศและบริเวณลูกอัณฑะมีอาการปวดบวมร่วมด้วย
5. หูดหงอนไก่ (Condyloma Acuminatum)
หูดหงอนไก่ เกิดจากเชื้อไวรัส HPV ซึ่งเป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้ด้วย หากผู้ที่มีเชื้อในร่างกายแต่มีภูมิคุ้มกันแข็งแรงก็อาจจะไม่ได้มีอาการใดๆ แต่ในบางรายอาจเกิดติ่งเนื้อคล้ายดอกกะหล่ำปลีขึ้นอย่างชัดเจนตรงบริเวณอวัยวะเพศ ช่องคลอด ทวารหนัก หรือบริเวณง่ามขา มีอาการคัน รู้สึกเจ็บ หรือมีเลือดออกร่วมด้วยโดยที่ผู้ป่วยอาจพบรอยโรคในหลายๆ ตำแหน่งได้
6. โรคซิฟิลิส (Syphilis)
โรคซิฟิลิส เป็นโรคติดต่อ เพศสัมพันธ์ที่ถือว่าอันตรายสูง เพราะเชื้อสามารถทำลายอวัยวะภายในต่างๆ ได้ ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย และอาจทำให้ตาบอดได้ด้วย หากรักษาได้ไม่ทันท่วงที และนอกจากจะติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์แล้ว ยังสามารถติดต่อจากแม่สู่ลูกได้ด้วย โดยระยะแรกจะมีแผลที่อวัยวะเพศเป็นขอบแข็ง ไม่เจ็บ ตามด้วยการมีผื่นขึ้นตามตัว และขึ้นในบริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า ทวารหนัก และช่องปาก มีอาการผมร่วง ปวดข้อ และถ้าหากไม่ได้ทำการรักษา จะเข้าสู่ระยะสุดท้ายของโรค คือ มีผิวหนังเป็นก้อนนูน แตกเป็นแผล กระดูกอักเสบ ตาบอด หูหนวก สมองพิการ เส้นเลือดใหญ่ที่หัวใจโป่งพอง และเสียชีวิตได้ในที่สุด
7. โรคตับอักเสบบี (Hepatitis B)
โรคไวรัสตับอักเสบบี ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มโรค STDs คือ โรคที่ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ด้วยเหมือนกัน นอกจากการติดเชื้อผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์แล้ว ก็สามารถติดต่อกันผ่านทางการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การใช้แปรงสีฟัน มีดโกน และที่ตัดเล็บร่วมกัน การติดเชื้อขณะคลอดจากแม่ที่มีเชื้อ รวมถึงการสัมผัสกับเลือด น้ำเหลือง และสารคัดหลั่งในกรณีที่มีบาดแผลอยู่ ก็มีโอกาสที่เชื้อจะเข้าทางบาดแผลได้ โดยจะมีอาการคือ มีไข้ ตัวเหลือง ตาเหลือง ปวดท้องใต้ชายโครงขวา คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดข้อ ในบางรายอาจมีภาวะตับวายได้
เกร็ดสุขภาพ : สาเหตุของการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์นั้น มักมาจากเชื้อโรคต่างๆ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มคือ
1) เชื้อไวรัส ที่ทำให้เกิดโรคเริม (Herpes Simplex) หูดหงอนไก่ (Papilloma Virus หรือ HPV) และ เชื้อไวรัส HIV
2) เชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ หนองในแท้ (Gonorrhea) หนองในเทียม (Chlamydia) และซิฟิลิส (Syphilis)
3) เชื้ออื่นๆ เช่น เชื้อพยาธิ (Trichomonas) เชื้อรา (Candida) เป็นต้น
โรคติดต่อ เพศสัมพันธ์ สามารถรักษาได้หรือไม่ ? รักษาอย่างไร ?
แม้ว่าโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จะดูน่ากลัวและมีอาการรุนแรง แต่กลุ่มโรค STDs คือโรคที่สามารถรักษาได้ และควรรีบทำการรักษาโดยเร็ว เพื่อที่อาการจะได้ไม่ทรุดหนัก โดยสามารถทำการรักษาด้วยวิธีต่อไปนี้
- การจ่ายยาปฏิชีวนะ เนื่องจากหนึ่งในสาเหตุของการเกิดโรค STDs คือ การติดเชื้อแบคทีเรียหรือปรสิต ได้แก่ หนองในแท้ หนองในเทียม ซิฟิลิส ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ โดยจะต้องได้รับยาอย่างต่อเนื่องจนครบกำหนด และผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะได้รับการรักษาจนครบกำหนดและหายป่วยดีแล้ว
- การจ่ายยาต้านไวรัส เช่น โรคเริม ซึ่งสามารถรักษาด้วยการรับยาต้านไวรัส หรือผู้ที่ติดเชื้อ HIV การได้รับยาต้านก็สามารถทำให้อาการทรงตัวและไม่ทรุดหนักลงไปได้ ทั้งนี้ แม้จะได้รับยาต้านไวรัส ก็ควรสวมถุงยางอนามัยถุงครั้งขณะมีเพศสัมพันธ์ เพื่อที่จะได้ไม่แพร่เชื้อให้กับคู่นอนของเรานะคะ
วิธีป้องกันการติดโรคติดต่อ เพศสัมพันธ์ ทำได้อย่างไรบ้าง ?
จะเห็นว่าโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์นั้น มีอยู่หลายโรคด้วยกัน และถ้าไม่ระวังหรือป้องกันตัวเองให้ดี ก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ และทำให้เกิดความเจ็บป่วยทั้งทางร่างกาย และเกิดความรู้สึกไม่สบายใจ อับอาย และเป็นกังวลเกี่ยวกับอาการป่วยได้ ซึ่งถ้าไม่อยากติดโรคในกลุ่ม STDs ควรจะป้องกันตัวเอง ตามนี้
- ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทางทวารหนัก หรือทางปากก็ตาม และไม่ควรใช้ถุงยางอนามัยซ้ำ ไม่ควรใช้ปิโตรเลียมเจลลี่ร่วมกับการใช้ถุงยางอนามัย เนื่องจากจะทำให้ถุงยางอนามัยขาดได้ รวมถึงการใส่ถุงยางอนามัยสองชั้นก็ห้ามทำโดยเด็ดขาด เพราะทำให้ประสิทธิภาพลดลง ไม่ได้ป้องกันอย่างที่ควรจะเป็น จะเสี่ยงติดโรคได้นะคะ
- ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ หรือใครที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ควรดูแลตัวเองและป้องกันทุกครั้ง และควรตกลงกับคู่นอนก่อนมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้งในสิ่งที่สามารถทำได้ และทำไม่ได้เมื่อทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อความปลอดภัยทั้งสองฝ่าย
- ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป หรือใช้สารเสพติดก่อนการมีเพศสัมพันธ์ เพราะอาจทำให้ขาดสติ ไม่มีสติ และเกิดพฤติกรรมที่เสี่ยงจะได้รับเชื้อได้
- รักษาความสะอาดของร่างกาย และอวัยวะเพศอยู่เสมอ หากพบความผิดปกติใดๆ ควรปรึกษาแพทย์ทันที
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำ และฉีดวัคซีนป้องกันการเชื้อ HPV ตั้งแต่เนิ่นๆ รวมถึงเพศหญิงควรมีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และตรวจภายในตามที่แพทย์แนะนำ (อ่านเพิ่มเติม ตรวจภายใน ตรวจอะไรบ้าง) เพื่อคัดกรองโรคอื่นๆ ร่วมด้วย
- หากสงสัยว่าตัวเองอาจติดโรคทางเพศสัมพันธ์ ควรปรึกษาแพทย์ทันที อย่าเขินอาย เพราะถ้าอาการหนักอาจจะทำการรักษาได้ไม่ทันท่วงที และใช้เวลานานกว่าปกติ
เพศสัมพันธ์ เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ แต่ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม ก็ต้องป้องกันตัวเองให้ดีที่สุดและมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ ควรขึ้นอยู่กับความพร้อมและความเต็มใจของทั้งสองฝ่ายด้วย และการป้องกันตัวเองนั้น ไม่ได้เกี่ยวกับความรักไม่รักหรือไม่เชื่อใจแต่อย่างใด เพราะเราทุกคนมีสิทธิ์ที่จะปกป้องดูแลร่างกายของเราเองและตัวของเราเองอย่างเต็มที่ การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยกับทั้งสองฝ่าย ก็ถือเป็นการแสดงความรักต่อกันเช่นเดียวกัน เพราะนั่นหมายถึง เราไม่อยากให้คนรักของเราต้องเจ็บป่วยหรือติดโรค และคงไม่มีใครอยากติดโรคติดต่อในกลุ่มนี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าเกิดเหตุสุดวิสัย มีความเจ็บป่วยขึ้นแล้ว ควรรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อทำการรักษาให้ทันท่วงทีนะคะ ซึ่งในทางการแพทย์แล้วนั้น การมารักษานั้นก็ไม่ใช่เรื่องน่าอายแต่อย่างใด และแพทย์ก็ยินดีจะรักษาเพื่อให้เราหายป่วยได้ไวที่สุด เพื่อสุขภาพของเราเองค่ะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : medlineplus.gov, mayoclinic.org, pidst.or.th, bumrungrad.com, healthline.com
Featured Image Credit : freepik.com/Racool_studio
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ